ทุกการปรากฏตัวในพื้นที่สาธารณะ และเสียงการตอบรับของทัวร์คอนเสิร์ต The 1975: At Their Very Best สร้างการพูดคุยเกี่ยวกับวงและนักร้องนำอยู่เสมอ
แมตตี้ ฮีลีย์ (Matty Healy) นักร้องนำของวงดนตรีร็อคจากแมนเชสเตอร์ ตกเป็นที่พูดถึงอยู่เสมอไม่ว่าในมุมใด ทั้งวิดีโอไวรัลจูบกับแฟนคลับอายุ 22 ปีบนเวที ไปจนถึงชายผิวขาวมาดร็อคสตาร์สูบบุหรี่ ขี้หลี และหน้าราวกับเมาแอ๋ตลอดเวลา เป็นภาพที่โดนกระแสตีกลับเป็นประจำเมื่อโลกและค่านิยมของสังคมดำเนินมาถึงปัจจุบัน
แต่ในจำนวนตัวหนังสือที่เรามี คงไม่อาจวิเคราะห์ แจกแจงการกระทำและแนวคิดทั้งหมดตลอดเวลาที่ผ่านมาของแมตตี้ เพื่อประกอบร่างใหม่และพิพากษาว่าคนคนนี้เป็นคนดีหรือไม่ดี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราเห็นจากทัวร์คอนเสิร์ตครั้งนี้รวมไปถึงอัลบั้มล่าสุดของพวกเขา ไม่ว่าจะดีหรือแย่ แต่สิ่งที่ปฏิเสธได้ยากคือความซื่อสัตย์ที่แสดงออกมาผ่านมุกตลกลามก การเสียดสีที่ตรงไปตรงมา และคาบอยู่บนเส้นของความเกือบล้มที่ยังไม่ล้ม
ก่อนคอนเสิร์ตเริ่มราวๆ 30 นาที เราเห็นทีมงานจำนวนหนึ่งในความมืดจัดแจงปูพรม วางเครื่องเล่นแผ่นเสียง กระถางต้นไม้ และขวดไวน์ ซึ่งกลายเป็นเพื่อนรักติดมือของเขาตลอดการแสดงหลังจากจอฉายภาพขาวดำจับภาพเขาเดินออกจากห้องแต่งตัวมาบนเวที แม้จะไม่มีพื้นหลังเป็นฉากบ้านเหมือนการตกแต่งเวทีในประเทศอื่นๆ แต่เราอาจมองได้ว่านี่คือการผายมือเพื่อบอกว่าพื้นที่บนเวทีแห่งนี้จะเป็นพื้นที่ที่แมตตี้และวงกำลังจะแสดงอย่างเป็นส่วนตัวที่สุด ไม่ว่าจะเซอร์และดูแปลกประหลาดขนาดไหน
ตั้งแต่เพลงแรกในเซ็ตลิสต์ The 1975 ซึ่งเป็นเพลงแรกในอัลบั้มล่าสุด Being Funny in A Foreign Language ก็ป่าวประกาศโทนของการแสดงครั้งนี้และอัลบั้มได้อย่างชัดเจน เป็นเพลงที่แม้จะมีโทนดนตรีที่ร่าเริงสดใส เนื้อหาคือมุมมองของชายวัย 33 ปีที่ตกอยู่ในโลกเดินเร็วและตกลงไปอยู่ในโลกที่เขาเข้าใจได้ไม่ทันท่วงที การพูดอย่างไม่ทันคิด วิธีที่คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตกับความโศกเศร้าและเจ็บปวด
“ฉันเห็นใจเธอ หากเธอยังมีชีวิตและอายุสิบเจ็ดปี”
(I’m sorry if you’re living and you’re seventeen)
ในเพลงนี้เราแทบจะเห็นความงุนงงของเขาต่อโลกอันเชื่อมต่อกันผ่านโซเชียลมีเดีย พื้นที่ที่แมตตี้เรียกว่า “การไถหน้าจอนรก” เราเห็นการใช้คำใหญ่โตต่อกันเป็นพรืด การขุดชิ้นส่วนของตัวเองเพื่อนำไปทำกำไร การเล่นคำที่อาจเป็นคำวิพากษ์เกี่ยวกับการวิ่งตามความสำเร็จและชีวิตที่คงที่ผ่านสกุลเงินคริปโต ซึ่งเป็นดั่งการวิ่งสับขาหลอกจนเราไม่มั่นใจแน่ว่าเสียงที่เขาพูดเขาอยู่ฝั่งใด ประชดประชันหรือจริงใจ (หรือทั้งสองอย่างต่างกันขนาดไหน) แต่คำที่ยืนยันได้อย่างแน่นอนคือ
“คนรุ่นใหม่ได้รับลูกหลง”
(with young people as collateral)
นอกจากนั้น เพลงใน Being Funny in A Foreign Language นี้ยังพูดถึงการเมืองและสภาพสังคมของสหรัฐอเมริกาอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งชุนชนทฤษฎีสมคบคิดขวาจัด QAnon หรือการวิพากษ์ว่าฝันอเมริกันดูดกลืนความพึงพอใจในตัวเองของเขาไป ซึ่งอาจจะยกมือเถียงขึ้นมาได้ว่าแล้ววงแมนเชสเตอร์จะไปรู้อะไรเกี่ยวกับการเมืองอเมริกา? แต่คำถามจริงๆ อาจจะเป็นแล้วเราคนไหนจะไม่รู้สึกถึงมัน เมื่อโลกของเราเชื่อมต่อกับมหาอำนาจเช่นนั้น และค่านิยมของพวกเขาก็แทรกซึมออกไปทั่วโลกผ่านสื่อออนไลน์และระบบทุนนิยม?
เช่นเดียวกันกับเพลงที่ดูชื่อแล้วนึกว่าจะเป็นเพลงรักหวานจ๋อยอย่าง Looking For Somebody (To Love) แต่เมื่อฟังและอ่านเรื่องราวของมัน เราจึงรู้ว่าเบื้องหลังเพลงจังหวะซินธิไซเซอร์ถี่กระชับสไตล์เพลงปี 80s นี้ซ่อนไปด้วยความเจ็บปวดของวัยรุ่นตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา นั่นคือการเล่าถึงเหตุการณ์กราดยิงและเหตุที่มันเกิดขึ้นในมุมมองของพวกเขา
ในขณะที่เพลงพูดถึงผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งผู้เสียชีวิต ญาติ เพื่อน หรือคู่รักที่เพิ่งพบกัน สิ่งที่วง The 1975 พูดถึงอีกอย่างคือผู้ก่อเหตุ แม้จะพูดถึงอยู่ในไม่กี่บรรทัด แต่เราเข้าใจได้ทันทีว่าเขาหมายถึงกลุ่มหัวรุนแรงที่เชื่อว่า โครงสร้างสังคมเฟมินิสต์ทำให้คนที่มีรูปร่างหน้าตาแบบพวกเขาไม่มีที่ยืน หรือที่เราเรียกว่า Incel นั่นเอง
“ใครบางคนที่ไร้แรงปรารถนา ไอ้คนที่ไม่มีใครเอา ท่านสุภาพบุรุษที่มือกำปืน มองหาใครสักคนที่จะรัก”
(Somebody lacking in desire. The type you just don’t fuck. A supreme gentleman with a gun in his hand, looking for someone to love.)
ตามแต่วิธีการที่คนจะอ่านและตีความ ด้วยข้อจำกัดของรูปแบบในการเขียนเพลง อาจมองเนื้อเพลงท่อนนี้ได้ว่า ‘สงสาร’ ผู้ก่อเหตุมากเกินไป แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นมุมมองที่แสดงถึงความเข้าใจในธรรมชาติของเหล่าผู้ก่อเหตุที่ไม่ห่างไกลจากความเป็นจริงมากนัก เพราะการเข้าใจนั้นไม่เท่ากับการเห็นใจ เพราะความเข้าใจนั้นเป็นก้าวแรกสู่การป้องกันที่มีประสิทธิภาพและการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในปัญหาที่เกิดขึ้นจากมนุษย์เช่นนี้
ในโปรเจ็กต์ The Violence Project โดย จิลเลี่ยน ปีเตอร์สัน (Jillian Peterson) และ เจมส์ เดนส์ลี (James Densley) นักอาชญาวิทยาที่ศึกษาเรื่องการกราดยิงโดยเฉพาะ เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการกราดยิงในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1966 จนถึงปัจจุบัน พบว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุมักเป็นคนที่ไปถึงจุดวิกฤต ผ่านความสิ้นหวัง ความเกลียดชังในตัวเอง การตัดขาดจากผู้คน การโดนสังคมขับออก ซึ่งหากไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที คนที่ตกอยู่ในสภาวะนั้นอาจจบลงด้วยการฆ่าตัวตาย แต่สำหรับกรณีของนักกราดยิง แทนที่ผู้กระทำจะจบชีวิตตัวเอง พวกเขานำความเกลียดชังที่มีหันสู่ผู้อื่นแทน
บ่อยครั้งความเกลียดชังเหล่านั้น จะหันไปยังกลุ่มคนที่พวกเขาเกลียดชังแต่แรกอยู่แล้ว ความคิดเห็นทางการเมืองของพวกเขามักเป็นส่วนหนึ่งของการก่อเหตุ เหยื่อจำนวนมากจึงเป็นผู้หญิงหรือคนชายขอบ
แม้จะเป็นเพลงและอัลบั้มที่ดูหดหู่ แล้ว The 1975 มีทางออกจากสถานการณ์หดหู่เหล่านี้ยังไง? จริงๆ มันก็อาจจะเป็น sub-text ที่อยู่ใจกลางของเพลงเมื่อครู่แล้ว ตามสไตล์ของวงที่เป็นที่รู้จักในประเด็นของเพลงรักสำหรับเหล่า hopeless romantics ทางออกของพวกเขาคือความรัก
แน่นอนว่าอ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆ คนอาจจะพับคอมหรือโยนโทรศัพท์ไปให้ไกล แต่สภาวะของโลกในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน การประชดประชันถากถาง การด่วนสรุป และความขัดแย้งหลากหลายรูปแบบไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ การขวานผ่าซากชูสัญลักษณ์สันติภาพพร้อมป้าย Make Love, Not War แบบฮิปปี้ แม้จะดูเชยและหวานเลี่ยน แต่มันอาจจะเป็นสิ่งที่เราหลายคนตามหา? จะเสียหายอะไรถ้ามนุษย์รักกันมากขึ้น? จะเสียหายอะไรหากเราแต่ละคนเป็นมนุษย์อย่างซื่อสัตย์ต่อกันมากขึ้น? ไม่ว่าจะด้านที่สังคมยอมหรือไม่ยอมรับก็ตาม
ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ ทั้งหมดนี้ก็ล้วนเป็นสารที่มีความ The 1975 สุดๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Graphic Designer: Krittaporn Tochan
Proofreader: Taksaporn Koohakan