ปีปีหนึ่งนี่มันผ่านไปไวเหมือนกันเนอะ ไม่ทันทำอะไรก็ปลายปีแล้ว ไอ้ที่ตั้งเป้าหมายไว้เมื่อต้นปีว่าจะออกกำลังกาย จะอ่านหนังสือให้ได้เยอะๆ จะไปนู่นทำนี่เปลี่ยนนั่น อ้าว… ยังทำได้ไม่ครบเลยนี่นา
แต่เราก็เข้าใจแหละ เพราะเราก็เป็น (ฮา!) แล้วเราก็สังเกตว่าคนอ่าน The MATTER นี่ก็ชอบอ่านหนังสือกันเยอะเหมือนกันนะ สังเกตจากเสียงตอบรับจากคอนเทนต์เรื่องหนังสือต่างๆ ที่เราทำ ใกล้ปีใหม่นี้เราเลยจะมาคืนความสุขให้กับเหล่าคนชอบอ่านแต่ไม่มีเวลาอ่านทั้งหลาย ไม่ต้องไปสุ่มอ่านอะไรที่หว่านไปทั่วอีกต่อไป เพราะทีม The MATTER จะมาแนะนำหนังสือที่ประทับใจที่สุดในปีนี้ ใครใคร่อ่านเล่มไหนตาม ก็ไปหาอ่านกันตามสะดวก
ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
Homo Deus : A Brief History of Tomorrow
โดย Yuval Noah Harari
เป็นหนังสือของคนเขียน Sapiens หนังสือที่เราชอบมากๆ ในปีที่แล้ว ใน Sapiens คนเขียนเขาพาเราย้อนไปในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่เล่มนี้เขาพาเราไปไกลกว่านั้นด้วยการพาเราไปในอนาคตเลย โดยเขาตั้งสมมติฐานว่าหลังจากที่มนุษย์เอาชนะปัญหาด้านสงคราม ความขาดแคลน และโรคภัยได้แล้ว โจทย์ถัดไปของพวกเราคือการให้กำเนิดสิ่งที่เหนือกว่าเผ่าพันธุ์ของตน ซึ่งเขาก็ตั้งธงไว้ว่าน่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์นี่เอง ทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอที่ฟังแล้วอาจจะดู radical หรือสุดโต่งมากๆ แต่วิธีการถกเถียงของ Harari ก็น่าสนใจอยู่เสมอ และถึงแม้สุดท้ายคุณอ่านแล้วอาจจะไม่เห็นด้วยกับเขา 100% แต่หนังสือเล่มนี้ก็จะเปิดโลก และให้ข้อมูลใหม่ๆ เพื่อให้คุณนำไปใช้ต่อได้อยู่ดี
ณัฐชนน มหาอิทธิดล
Future ปัญญาอนาคต
โดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา (สำนักพิมพ์ openbooks)
เป็นหนังสือ ‘บันทึกการเดินทาง’ ของคนทำสื่อที่แท้จริง มุมมองและเรื่องที่นำมาเล่าระหว่างการไปเยี่ยมชมเมืองต่างๆ ในหลากหลายประเทศนั้นแพรวพราวไปกับการสลับหยิบยกเรื่องของยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงของโลกในแต่ละระดับชั้นทั้งยังหลายแวดวง ทำให้ตอนที่อ่านรู้สึกว่าแง่คิดที่ถูกเล่าออกมาสะท้อนไปทั่ว จับตรงไหนก็ได้คิด ได้นำไปปะติดปะต่อ ได้ตรวจสอบตัวเองไปพร้อมกับผู้เขียนที่ก็เหมือนกำลังพิจารณาสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ กำลังยืนอยู่ตรงไหนในยุคสมัยที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านผลัดใบ นี่อาจเป็นคู่มือในการทำธุรกิจ การใช้ชีวิต การพัฒนาตัวเอง และการทำความเข้าใจโลกที่น่าสนใจที่สุดในปีนี้เล่มหนึ่ง
ธเนศ รัตนกุล
The Incredible Unlikeliness of Being : Evolution and the Making of Us
โดย Alice Roberts ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6
ทุกหน้าที่พลิกอ่านทำให้เราต้องกลับมาย้อนดูตัวเองทุกครั้ง เรื่องราวของเราอยู่ในหนังสือเล่มนี้ เรื่องราวของวิวัฒนาการร่างกายกว่า 100 ล้านปีผ่านการลองผิดลองถูกมาอย่างตึงเข้ม อ่านแล้วคุณจะรักตัวเองและคนรอบข้างแบบอึ้งทึ่ง
หนังสือเล่มนี้พาเราไปทัศนาเรื่องราวของร่างกาย ตั้งแต่อยู่ในภาวะเอ็มบริโอ จากชีวิตที่เป็นเพียงหน่วยย่อยจากไข่ใบเดียวจนพัฒนาเป็นร่างกายที่ซับซ้อน มันเหมือนเสียงสะท้อนอันแผ่วเบาของวิวัฒนาการจากอดีตกาลที่เราแชร์ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
จากงานวิชาการล่าสุด ถูกเรียงร้อยอย่างกินใจและน่าตื่นตาโดยศาสตราจารย์ Alice Roberts เธอใส่ความเป็นแม่และความเป็นมนุษย์ลงไปในการอธิบายวิวัฒนาการ
ร่างกายมนุษย์ห่างไกลจากคำว่าสมบูรณ์แบบ อวัยวะของเรามีทั้งเก่าและใหม่ผสมปนเปกัน ความไม่สมบูรณ์แบบถูกส่งต่อมาจากบรรพบุรุษอันไกลโพ้น แม้คุณจะเป็นมนุษย์ แต่ตอนเป็นเอ็มบริโอ คุณยังมีอวัยวะที่คล้ายเหงือกเหมือนปลา พอแก่ตัวเข้าวัยกลางคน อาการปวดหลังก็ถามหา (ก็พวกเราพึ่งมายืน 2 ขาได้ไม่นานเท่าไหร่หรอก อย่างน้อยก็ 8 ล้านปี)
อีกอย่าง ในวงการหนังสือวิทยาศาสตร์ไม่มีนักเขียนหญิงให้อ่านมากนัก เราว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ความเป็นแม่ก็สามารถเล่าเรื่องวิวัฒนาการได้อย่างออกรสออกชาติเช่นกัน
วณัฐย์ พุฒนาค
Creative Schools โรงเรียนบันดาลใจ
โดย Ken Robinson and Lou Aronica
เป็นงานของ Sir Ken Robinson หนึ่งในผู้พูดของ TED ที่ทรงพลังคนหนึ่ง ประเด็นเรื่องการศึกษา
โดยเฉพาะแง่ที่ว่าโรงเรียนไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ส่งเสริม ‘ความคิดสร้างสรรค์’ กับประเด็นเรื่องการเรียนรู้ สติปัญญาและความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่น่าสนใจอยู่เสมอ หนังสือโรงเรียนบันดาลใจเป็นงานเขียนที่ผสานทั้งประสบการณ์ตรง กรอบความคิด งานศึกษาและกรณีศึกษาต่างๆ ที่ในที่สุดความรู้ความเข้าใจหรือการชวนคิดพวกนี้ก็อาจจะช่วยนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงได้บ้าง
ปรีดิ์ปณต นัยนะแพทย์
สูญสิ้นความเป็นคน
โดย ดะไซ โอซามุ (สำนักพิมพ์ JLIT)
หนังสือยอดเยี่ยมในใจของผมในปีนี้ เป็นหนังสือวรรณกรรมคลาสสิคของญี่ปุ่นที่จริงๆ ออกตีพิมพ์ในบ้านเกิดตั้งแต่ปี 1948 เพิ่งมีโอกาสได้ออกฉบับแปลไทยในปีนี้ เป็นงานระดับมาสเตอร์พีซของ ดะไซ โอซามุ นักเขียนผู้เก่งกาจ ที่เขียนงานให้กำลังใจผู้คน และในขณะเดียวกันเขาก็อุดมไปด้วยความมืดมิดในใจ
เราได้ลิ้มรสความประโลมโลกหรือความบันเทิงเชิงชิลมาเยอะแล้ว การพบยาขมระดับสุดอย่างวรรณกรรมเรื่องนี้ ทำให้เราได้มองชีวิตตัวเองใหม่ ว่าเราอาจจะไม่ได้ ‘แย่’ ในระดับที่เราเคยคิดไว้ และอีกประการหนึ่งคือความฝืดแค้นของหนังสือเรื่องนี้ทำให้ผมต้องอ่านมันอย่างแช่มช้าและคุ้มค่าบ้าง (ผมเป็นคนอ่านเร็วระดับทีปกรเคยแดกดันมาแล้วครับ ฮ่าๆ)
เอื้อบุญ จงสมชัย
คนึงแมนชั่น
โดย วรรษชล ศิริจันทนันท์ ร่วมด้วย ฉัตรวี เสนธนิสศักดิ์
เรื่องสั้นว่าด้วยความสัมพันธ์อันคลุมเครือเป็นของวรรษชล 4 ฉัตรรวี 1 ทั้ง 5 เรื่องถูกจัดเรียงในแบบที่เดาเอาว่าน่าจะคิดมาแล้ว เมื่อเริ่มต้นอ่านเราจะรู้สึกอึดอัด ด้วยเนื้อเรื่องและความสัมพันธ์อันไม่ชัดเจนของตัวละคร ไปจนตัวอักษรที่ตั้งใจพิมพ์ให้ไม่คมชัดจนต้องหรี่ตา แต่การออกแบบที่ไม่ฟังก์ชั่นต่อสายตากลับมีผลต่ออารมณ์อย่างมาก แน่นอนว่าไม่สามารถหุ้มความเก่งกาจทางภาษาของวรรษชลเอาไว้ได้ ดีจนเผลอรำพึงรำพันเพียงลำพังขณะอ่าน และเมื่อถึงเรื่องที่ 4 วรรษชลก็โบยตีเราจนร้องไห้ไม่เป็นท่า แม้ดวงตาเริ่มคุ้นชินกับความเลือนลางของตัวหนังสือจนไม่ต้องหรี่ตาอ่านอีกต่อไปก็ตาม ก่อนปิดท้ายด้วยเรื่องร่วมด้วยของฉัตรวีที่คลุมเครือทว่าผ่อนคลาย ไม่ฟูมฟาย และไม่ทำร้ายผู้อ่านจนเกินไป เอาเป็นว่าอ่านจบเล่มแล้วอยากจะกล่าวสปีชขอบคุณคนเขียนที่เขียนมันออกมา #เอามือตบอก
วรรษมน โฆษะวิวัฒน์
Abstract Bar ความจริงเพียวเพียว
โดย ปอ เปรมสำราญ (สำนักพิมพ์ P.S.)
เรื่องราวที่ดำเนินไปด้วยบทสนทนากับบรรยากาศที่ชวนให้อึดอัดในความคลุมเครือ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรานึกไม่ชอบในหนังสือเล่มอื่นๆ แต่กับเล่มนี้กลับรู้สึกว่ามีเสน่ห์ แล้วก็หลงไปในเรื่องราวสั้นๆ นั้นง่ายมาก มันไม่ได้เรียกร้องให้เราต้องเข้าใจ ไม่กดดันให้เราต้องตัดสิน เพราะอย่างนั้นเลยเข้าถึงง่ายมั้ง แม้มันจะดูเหมือนยากจะเข้าใจในความสัมพันธ์อันหลากหลาย บวกกับความเซอร์เรียลที่ยากจะเกิดขึ้นจริงในชีวิตของหลายคน แต่ถ้าลองอ่าน จะรู้ว่าอารมณ์ในแต่ละเรื่องนั้นมันโคตรจริงตามชื่อเรื่องเลย ตอนแรกก็นึกไม่ถึงเหมือนกันว่าแค่หนังสือเล่มเล็กๆ บางๆ จะทำให้เกิดความรู้สึกได้มากขนาดนี้
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
The Sixth Extinction: An Unnatural History ประวัติศาสตร์นับศูนย์ สู่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6
โดย Elizabeth Kolbert (สำนักพิม์ openbooks)
เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ไปได้สักบทสองบท ผมก็เริ่มถึงบ้างอ้อว่าทำไมปัญหาเรื่องผักตบชวาในหลายประเทศมันถึงแก้ไขไม่ได้สักที ทั้งๆ ที่ในหนังสือขนาดกำลังเหมาะมือเล่มนี้ ไม่ได้พูดถึงผักตบชวาเลยสักนิด และพออ่านต่อไปอีกสักสี่ห้าบท ผมก็เริ่มตระหนักเพิ่มขึ้นว่า การที่ครั้งหนึ่งเคยมีผู้เสนอให้รัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกา (ในช่วงเวลาเดียวกันกับต้นสมัยรัชกาลที่ 6 ของสยาม) นำเข้าฮิปโปโปเตมัสจากแอฟริกาไปกำจัดผักตบชวาให้หมดจากแม่น้ำหลุยเซียน่า เป็นวิธีการที่ผิดถนัด (น่าดีใจที่ข้อเสนอนี้ไม่ผ่านที่ประชุม) เพราะแทนที่จะมีแค่ปัญหาผักตบชวา ชาวอเมริกันอาจจะมีปัญหาฮิปโปฯ จรจัดล้นแม่น้ำ จนพืชและสัตว์น้ำพื้นเมืองชนิดอื่นลดจำนวนลง และเสียหายหนักไปถึงระบบนิเวศน์วิทยาเพิ่มขึ้นมาอีกหลายเรื่องเลยแหละ
และเมื่ออ่านไปจนจบเล่ม ผมก็ตระหนักได้ว่านอกเหนือจากการเป็นผู้ล่าที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมาแล้ว การที่มนุษย์นำสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ เดินทางข้ามทวีปพลัดจากถิ่นที่อยู่ของมัน ไปยังถิ่นที่อยู่อื่นนี่แหละครับ ที่ทำให้สิ่งมีชีวิตหลายๆ ชนิดพากันสูญพันธุ์ลงไป และกำลังนำโลกของเราเข้าไปสู่การสูญพันธุ์ครั้งมโหฬารครั้งที่ 6 ในประวัติศาสตร์ของโลก
ผมปิดหนังสือลงพร้อมกับมองดูเจ้าแมวเหมียวสี่ตัวในบ้าน เปอร์เซีย หิมาลายัน สก็อตติชโฟลด์ แล้วก็บริติช ช็อตแฮร์ อืมมมม นะ…
คาลิล พิศสุวรรณ
Revenge
โดย Yoko Ogawa (สำนักพิมพ์ไจไจbooks)
แม้ Revenge จะไม่ใช่หนังสือที่ผมชอบที่สุดในปีนี้ แต่มันเป็นหนึ่งในเล่มที่ผมดีใจที่ได้รู้จัก เป็นอีกครั้งที่สำนักพิมพ์ไจไจได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความพิถีพิถันในการคัดเลือกวัตถุดิบดีๆ มาแนะนำให้นักอ่านได้รู้จัก ซึ่งก็แน่นอนว่า Revenge เองจัดว่าให้รสชาติที่อร่อยลิ้นอยู่ทีเดียว
Revenge บรรจุสิบเอ็ดเรื่องสั้นที่เวียนว่ายอยู่ในวังวนอันมืดดำของจิตใจมนุษย์ พาเราไปสำรวจความกักขฬะโสมมที่หมักบ่มอยู่ภายในใจซึ่งเฝ้ารอที่จะระเบิดออกมาในสักวัน แม้ทั้งสิบเอ็ดเรื่องสั้นนั้นจะแตกต่างและสามารถยืนอย่างสันโดษได้ด้วยขาของตัวเอง แต่เช่นกันที่ผู้เขียนก็ได้ทำหน้าที่ประหนึ่งแมงมุมที่คอยชักใยเพื่อเชื่อมรายละเอียดพันละน้อยที่ปรากฏในแต่ละเรื่องสั้นเข้าหากัน เธอสร้างโครงข่ายอันแน่นหนา มั่นคง และแข็งแรงที่ยึดจับเรื่องเล่าทั้งสิบเอ็ดไว้ได้อย่างน่าสนใจ
การอ่าน Revenge ในทางหนึ่งจึงเป็นเหมือนการเล่นเกมจับผิดภาพ เพียงแต่ไม่ใช่จุดผิดพลาดที่โอกาวะเย้ายวนชวนเชิญให้มองหา หากแต่เป็นรายละเอียดเล็กๆ ที่เธอหย่อนไว้เพื่อบอกใบ้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเรื่องสั้นตอนถัดๆ ไปซึ่งที่เรายังอ่านไม่ถึง หรือบางครั้งเธอก็เลือกจะล้อเล่นกับความนิ่งนอนใจที่เกิดขึ้นกับเราเมื่ออ่านหนังสือไปได้สักพักหนึ่ง แล้วใช้ช่วงที่เราเผลอตลบเข้าข้างหลังจนเราล้มก้นจ้ำเบ้า ได้แต่ส่ายหน้าและแค่นหัวเราะในความร้ายกาจของหนังสือเล่มนี้
Revenge คือความไม่ไว้วางใจ สภาวะการณ์ที่ได้แต่เหลียวหลังแลข้างระวังหลังเพราะรู้สึกถึงอันตรายที่หายใจรดคุณอยู่ตลอดเวลา เมื่อคุณก้าวต่อมันก็จะก้าวตาม หากก็รักษาระยะห่างอย่างระมัดระวัง เพียงแต่เมื่อไรที่คุณเกิดเหนื่อยหรือนึกอยากจะหยุดเดินขึ้นมาก็จงอย่าได้คิดว่ามันจะหยุดตามคุณเสมอไป
จงหวาดระแวงเอาไว้ ผมเตือนคุณได้แค่นี้แหละครับ
อินทิรา เจริญปุระ
Génitrix มาตา
โดย François Mauriac (สำนักพิมพ์ Library House)
มาตา เป็นความรักในแบบที่เรารู้ว่ามีแต่ไม่กล้าพูดออกมา ความรักที่ลึกซึ้งรุนแรง และครอบงำทำลาย ทิ้งเศษซากความเสียหายไว้พร้อมบาดแผลในใจของคนรอบตัว
ฉากบ้านที่แบ่งฝั่งกันอยู่ระหว่างความรักที่ถือกันว่าสูงส่งและไม่ครอบครอง กับด้านที่ตั้งข้อสงสัยในความเป็นเจ้าของ เหมือนเป็นอีกตัวละครสำคัญหนึ่งในเนื้อเรื่อง
นี่คือหนังสือเล่มบางๆที่จะสร้างความหวาดระแวงให้แก่คุณ
ชานันท์ ยอดหงษ์
The Technology of Orgasm: “Hysteria,” the Vibrator, and Women’s Sexual Satisfaction
เทคโนโยนี: ประวัติศาสตร์ไวเบรเตอร์ ฮิสทีเรีย และออร์กัสซั่มของผู้หญิง
โดย Rachel P. Maines (สำนักพิมพ์พารากราฟ)
แม้ว่าหนังสือจะสั่นไม่ได้เหมือนชื่อและเนื้อหาข้างใน แต่มันก็เขย่าได้ เขย่าความคิดให้เราว่าฮิสทีเรียไม่ใช่ความเจ็บป่วย แต่เป็นเพียงโรคของความไม่เท่าเทียมทางเพศ ออร์กัสซัมไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะผู้ชาย พอๆ กับที่การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองก็ไม่ได้มีผู้ชายเท่านั้นที่ทำได้ แถมมันยังมีประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการยาวนานพอๆ กับอุปกรณ์ช่วย ซึ่งเป็นนวัตกรรมอีกชิ้นที่ยกระดับคุณภาพชีวิตเช่นเดียวกับสมาร์ตโฟน ด้วยภาษาของผู้แปลและบทกล่าวนำโดยธเนศ วงศ์ยานนาวา อ่านแล้วก็ฟินตาม
โตมร ศุขปรีชา
Our Mathematical Universe : My Quest for the Ultimate Nature of Reality
โดย Max Tegmark
เขาอธิบายความลี้ลับทุกอย่างด้วย Cosmology หรือจักรวาลวิทยา เพื่อพยายามค้นหา ‘ความจริง’ ของการดำรงอยู่ของทุกสรรพสิ่งที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นจักรวาล บทแรกตั้งคำถามก่อนว่า อะไรคือความจริง ที่ทางของเราในจักรวาลคืออะไร แล้วก็ผ่าเอกภพออกมาเป็นตัวเลขให้เห็น พาเราไปหา Multiverse ซึ่งตลกดี เพราะเล่นกับเลเวลต่างๆในชีวิตจริงของเขา เพื่อค่อยๆ สร้างความเข้าใจให้เราว่าความจริงภายใน ความจริงภายนอก เวลา ความเป็นอมตะเชิงควอนตัม ฯลฯ คืออะไร คือชวนเราถอยห่างออกไปหาอะไรที่ใหญ่มากๆ เช่นจักรวาล ก่อนจะดึงเข้ามาหาอะไรที่เล็กมากๆ โดยผ่านคณิตศาสตร์แบบไม่เครียด ทั้งหมดนี้เล่าแบบมีลีลาวรรณกรรมชั้นดีกึ่งอัตชีวประวัติของผู้เขียน ยกตัวอย่างต่างๆ ในชีวิตมาเทียบแบบมีอารมณ์ขัน ภาพประกอบอาจจดูเนิร์ดไปหน่อย แต่ว่าถ้าค่อยๆ อ่านจะสนุกมาก เป็นหนังสือดีที่สุดที่ได้อ่านในปีนี้ครับ