“อยากเห็นเด็กมีคุณค่ามากขึ้นในทุกๆ ด้าน เช่น การเชื่อมั่นในตัวเด็กว่าเด็กนั้นใช้เหตุผลเป็น ไม่จำเป็นต้องลงโทษด้วยกำลัง เชื่อมั่นในการตัดสินใจของเด็ก ให้เด็กเป็นผู้ร่วมคิดร่วมวางแผนในเรื่องต่างๆ และไม่มองเด็กเป็นแค่ ‘เด็กน้อยน่ารัก’ ค่ะ”
นี่คือความเห็นของ ‘กระติ๊บ-วริษา สุขกำเนิด’ นักเรียนชั้น ม.5 เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เมื่อ The MATTER ถามเธอว่า อยากเห็นอะไรในปี 2017
คำตอบของเธอชวนเอาเราทึ่ง พร้อมกลับมานั่งตั้งคำถามว่า เราเผลอมองเด็กเป็นแค่เด็กน้อยน่ารักอยู่บ่อยๆ หรือเปล่า The MATTER จึงพาไปรู้จักเด็กสุดเจ๋งอีก 6 คน ที่หากรู้จักแล้วต้องรำพึงรำพันกับตัวเองอีกว่าว่า “ตอนอายุเท่ากันนั้นเราทำอะไรอยู่”
เรไรเรไร สุวีรานนท์
อายุ : 8 ปี
หลายคนคงเป็นแฟน เรไรรายวัน เพจบันทึกประจำวันของเด็กหญิงคนหนึ่งซึ่งมียอดไลก์เป็นแสน เบื้องหลังบันทึกน่ารักน่าเอ็นดูคือคุณแม่ของน้องเรไร
คุณแม่ของเรไรพาน้องเขียนไปสักระยะ ก็เริ่มปล่อยให้ลูกคิดเองว่าจะเขียนอะไร แต่มีการกระตุ้นถามว่า ไหน มีอะไรสนุกบ้างนะวันนี้ แล้วให้เรไรเล่าออกมาแล้วจึงลงมือเขียน จนปีที่ผ่านมาหนังสือ ‘เรไร รายวัน’ (บันทึกประจำวันของ เรไร สุวีรานนท์ กรกฎาคม 2558 ถึง กุมภาพันธ์ 2559) ก็ได้วางขายในงานหนังสือ
เห็นแล้วก็นึกถึงตอนเด็กๆ ที่แม่จ้างให้เขียนบันทึกประจำวันแบบนี้เลย พอเขียนจนสะสมเงินซื้อสีไม้ระบายน้ำกล่องเหล็ก 36 สีของเฟเบอร์ คาสเทลล์ได้ก็บ๊ายบายเลยจ้า
เพ้นท์ฟ้า ชาญชุติวาณิช
อายุ : 10 ปี
สาวน้อยนักวาดสมชื่อคนนี้ เคยมีนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองตั้งแต่อายุหกเจ็ดขวบ และล่าสุดปีที่ผ่านมากับนิทรรศการ ‘แม่ฉันธรรมดา(ซะที่ไหน) 555’ ซึ่งเป็นนิทรรศการภาพพอร์เทรตและภาพนู้ดของแม่ ที่เห็นแล้วต้องเปลี่ยนจากที่เรียกว่านักวาดในตอนต้นเป็นศิลปินแทน
ความฝันของเพ้นท์ฟ้าคือเติบโตมาเป็นศิลปินใหญ่ที่มีคนชื่นชอบผลงาน เธอเริ่มวาดรูปตั้งแต่อายุ 2 ปี ก่อนที่พ่อของเธอตัดสินใจจัดโฮมสคูลให้ลูกเอง ชอบวิชาศิลปะใช่ไหม ก็เน้นเป็นวิชาหลักไปเลย วิชาอื่นๆ ค่อยต่อยอดออกไปจากวิชาหลัก อย่างการเรียนคณิตศาสตร์ผ่านขนาดของกระดาษและสัดส่วนของการวาดภาพเสมือนจริง และถ้าหากเห็นงานของเพ้นท์ฟ้าแล้ว จะไม่รู้สึกเว่อร์เลยหากเห็นเธอให้สัมภาษณ์ตามสื่อว่า “ถ้าพรุ่งนี้ไม่มีศิลปะก็ไม่รู้จะทำอะไร”
Malala Yousafzai
อายุ : 19 ปี
มาลาลา ยูซาฟไซ ชาวปากีสถานคนนี้แหละ ถือเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลที่อายุน้อยที่สุด เพราะเธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพตั้งแต่ตอนอายุ 17 ปี มาลาลาต่อสู้เพื่อการเข้าถึงการศึกษาและสิทธิสตรีตั้งแต่อายุได้ 11 ปี ต่อมาในปี 2555 มาลาลาถูกกลุ่มตาลีบันยิงเข้าที่ศีรษะตอนอยู่บนรถโดยสารขณะกำลังกลับจากโรงเรียน
หลังจากรอดชีวิตมาได้ เธอและครอบครัวต้องใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เธอบอกว่าไม่ขอเป็นปรปักษ์กับตาลีบันหรือกลุ่มก่อการร้ายใดๆ เพียงขอโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กๆ เท่านั้น ทั้งยังกล่าวสปีชในวันรับรางวัลโนเบลไว้ว่า “ฉันบอกเล่าเรื่องราวของฉันไม่ใช่เพราะว่ามันไม่เหมือนใคร แต่เพราะว่ามันเป็นเรื่องของเด็กผู้หญิงอีกมากมายต่างหาก” และสหประชาชาติยังประกาศให้วันที่ 12 กรกฎาคม เป็นวันมาลาลา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องสิทธิทางการศึกษาของเด็กทั่วโลก
Jack Andraka
อายุ : 19 ปี
หนุ่มน้อยชาวอเมริกันคนนี้สูญเสียญาติสนิทไปด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน ภายหลังความโศกเศร้าเขาจึงอุทิศเวลาให้กับการคิดค้นเครื่องมือเพื่อตรวจหาโรคนี้ให้ได้ ในระยะต้นๆ แจ็คเริ่มค้นคว้าออนไลน์และทำแผนวิจัยเสนอไปยังมหาวิทยาลัยต่าง กว่า 200 แห่ง แต่มีเพียง Anirban Maitra ด็อกเตอร์จากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ให้เขาใช้สถานที่เพื่อค้นคว้า
ในที่สุดเขาก็ได้รับรางวัลจาก Intel International Science and Engineering Fair ด้วยผลงานแผ่นเซ็นเซอร์ตรวจมะเร็งตับอ่อนแบบง่ายๆ และราคาถูก แถมยังแม่นยำถึง 90% เรื่องราวของแจ็คเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง รวมถึงมีนักวิทยาศาสตร์หลายคนจากหลายมหาวิทยาลัยออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าผลงานของเขานั้นน่าเชื่อถือจริงหรือ
Taylor Wilson
อายุ : 22
“ถ้าศึกษาจนรู้จริง และลงมือทำ อายุเท่าไรก็สำเร็จได้”
เทย์เลอร์ วิลสันเชื่อว่า เชื่อว่าปฏิกริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น คือคำตอบของปัญหาพลังงานในอนาคต เทย์เลอร์สร้างปฏิกริยานิวเคลียร์ฟิวชั่นที่ใช้การได้ในโรงรถที่บ้านตอนอายุ 14 เมื่ออายุ 17 เขาเสนอโปรเจกต์ให้โอมาบา และได้รับทุน Thiel Fellowship ของ Peter Thiel ผู้ก่อตั้ง PayPal
พออายุ 19 ปี เทย์เลอร์ก็ออกแบบเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูแบบแยกส่วนขนาดเล็กขึ้นมา เป็นเตาที่ประหยัดพลังงานได้ถึง 15% ของเครื่องที่ใช้กันทุกวันนี้ เก่งแบบนี้แต่รู้ไหมว่าสิ่งเดียวที่ทำให้เทย์เลอร์ประหม่าได้ก็คือการขอเบอร์สาวจ้า
Flynn McGarry
อายุ : 18 ปี
ถ้าเป็นเราหากไม่ชอบรสมือแม่ในเมนูไหนก็คงไปซื้อกินเอา แต่ไม่ใช่น้องฟลินน์คนนี้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘จัสติน บีเบอร์ แห่งวงการอาหาร’ เพราะแม่ของน้องเห็นว่า เออ ไม่ชอบใช่ไหม พาไปซื้อตำราอาหารมาให้ฝึกทำกินเองซะเลย
ฝึกไปฝึกมาก็เปิดโฮมสตูดิโอของแม่ให้กลายเป็นร้านชื่อ Eureka สนนราคา 160 เหรียญต่อคนตั้งแต่ตอนอายุ 13 ยังไม่หมด เพราะน้องได้ขึ้นปก The New York Times Magazine ปี 2014 แถมพอปี 2015 น้องฟลินน์ก็ติดอันดับ 30 วัยรุ่นผู้มีอิทธิพลที่สุดของ Time magazine ด้วยนาจา
ไม่พูดมากนะ ไปส่องต่อได้ในไอจีน้องเด้อสาวๆ www.instagram.com/diningwithflynn