ท่ามกลางคำถามมากมายทั้ง “ทำไมถึงต้องสนับสนุน” และ “ทำไมไม่สนับสนุน” แต่ eSports จู่ๆ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ก็พรวดพราดออกมติมาให้ได้ตื่นตาตื่นใจว่า “บรรจุ eSports ให้เป็นกีฬา”
ข่าวนี้ทำให้ผู้เล่นน้อยใหญ่ในวงการเกมตื่นเต้นกันถ้วนหน้า เพราะคิดว่าจะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้คนอื่นซึ่งอยู่นอกวงการได้มองวงการเกมอย่างเข้าใจ(ขึ้นบ้าง)เสียที รวมถึงรัฐที่ถูกตราหน้าว่าต้วมเตี้ยมมาตลอดหลายปีดีดัก
ถึงจะต่างรู้อยู่แก่ใจเถอะว่าเกมอยู่รอบตัวเรา อยู่ในสังคมอย่างแยกไม่ออก อยู่ที่อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ตึกแถวริมถนน อยู่ตรงย่านมหาวิทยาลัย อยู่ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัว กระทั่งอยู่ในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งล่าสุด ‘เกมมือถือ’ ก็กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ทำเงินมากที่สุดในโลกอุตสาหกรรมเกมไปแล้ว
สำหรับประเทศไทย การมาของ ‘เกมมือถือ’ ถือว่าเป็นการปรับภูมิทัศน์ของเกมครั้งใหญ่ จากเดิมที่ทุกคนเคยชินว่ามันจะต้องอยู่บนเครื่องคอนโซล หรือต้องใช้คอมพิวเตอร์ (ซึ่งก็ใช้สเปคที่ดีระดับหนึ่ง) เพื่อความเข้าถึง แต่ทุกวันนี้มีแค่โทรศัพท์สมาร์ทโฟนเครื่องเดียว แถมยังไม่ต้องสเปคสูงนัก ก็สามารถเข้าถึงเกมได้แล้ว และหากไล่ดูตามกระแสสังคม การมาของเกมเกมหนึ่ง ซึ่งทำให้ทุกคนได้หันมาสนใจเกมที่มีลักษณะการเล่นที่ ‘ซับซ้อน’ ได้มากขึ้นเกมหนึ่งก็คือ Realm of Valor หรือ RoV เกมแนว MOBA ที่คนเล่นเกมอยู่แล้วจะคุ้นเคยจาก DOTA หรือ League of Legend
RoV ได้มาเปิดประตูให้คนที่ไม่เคยรู้จักเกมที่ต้องอาศัยการเล่นเป็นทีม ใช้คาแรคเตอร์ที่มีสกิลแตกต่าง บนสนามที่ปกติน่าจะงงกันว่า ท็อปเลนคืออะไร มิดเลนคือตรงไหน ครีปป่าเป็นยังไง ฆ่ามังกรเพื่ออะไร เกมนี้ได้ใจ และทำให้คนเล่น enjoy กับเกมแนวนี้ได้มากขึ้น มากขึ้น และมากขึ้น RoV ได้กลายเป็นเกมที่มีลักษณะไวรัล เข้าถึงผู้เล่นแทบทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเพราะความสนุกของเกมเอง หรือจะเล่นเพราะเพื่อนชวนเล่นก็ตามที
หลักฐานสำคัญที่แสดงถึงความฮิตของ RoV ก็คือการที่มีคนดูถ่ายทอดสดการแข่งขันนัดชิงแชมป์ที่มีทีม Minori Bacon ซึ่งเป็นตัวแทนจากประเทศไทยเป็นผู้เข้าชิง ถึงจำนวนกว่า 200,000 คน ซึ่งพบเห็นได้ไม่บ่อยนักในเมืองไทย กระทั่งเห็นได้น้อยนักในการแข่งขัน eSports บนโลกนี้
The MATTER จึงพาไปพบกับ ‘อัลเลน ซู’ ผู้จัดการอาวุโสด้านพันธมิตรทางธุรกิจเกม บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อพูดคุยถึงภูมิทัศน์ของการเล่นเกมในประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงที่เขาได้เห็น และทิศทางที่ควรจะเป็นไป หากไทยอยากจะมีวงการ eSports ที่แข็งแรงมากพอจะไปแข่งขันในระดับโลก
The MATTER : การมาของเกม RoV ค่อนข้างสั่นสะเทือนวงการเกม โดยเฉพาะเกมมือถือมากพอสมควร เพราะมันเป็นการแข่งบนมือถือ คิดว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก่อให้เกิดอะไรบ้าง
อัลเลน : ถ้าพูดถึงเกมหรือ eSports เกมแนว MOBA เป็นประเภทของเกมที่ถูกยอมรับว่าเป็นประเภทหลักของ eSports อาจเป็นกระแสหลักกว่า FPS (First Person Shooting) เสียอีก เพราะในเกม FPS ระดับโลกก็มีแค่ CS:GO (Coounter Strike: Global Offensive) แต่ MOBA มีทั้ง League of Legend และ DOTA เพราะถ้าเรานับจำนวนของผู้เล่นที่มีมากกว่า เพราะเอาแค่ LoL ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นเกมที่มีผู้เล่นเยอะที่สุดในโลก และมี prize pool ของการแข่งขันมากที่สุดในโลกอีกต่างหาก
และถ้าเจาะจงลงไป แต่ละประเทศก็มีเกม MOBA ของตัวเองไปอีก อย่างเช่นในไทย เกม MOBA ที่มีผู้เล่นมากที่สุดก็ยังเป็น HoN นะครับ ไม่ใช่ LoL หรือ DOTA
The MATTER : หมายความว่า MOBA เป็นแนวเกมที่คนค่อนข้างมีความเข้าใจอยู่แล้วพอสมควร RoV จึงเกิดได้ไม่ยาก
อัลเลน : ใช่ครับ อย่างหนึ่งก็คือมันเป็นเกมแนวที่คนสนใจมากที่สุดเป็นทุนเดิม ทุกคนเข้าใจและรู้จัก บางคนอาจไม่เคยเล่นเกม แต่พอเปิดวิดีโอให้ดูเวลาทำเซอร์เวย์ เขาก็เคยเห็น และคุ้นเคยอยู่บ้าง เพราะรู้จักจาก LoL หรือ DOTA นี่แหละ
และตัวเกม (content) ของ gameplay มันก็น่าสนใจกว่า เพราะตัวละครเยอะกว่า ไม่ใช่แค่คนเดิมๆ หน้าตาเดิมๆ มาให้เลือกเล่น เราสามารถเลือกตัวละครที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งในแต่ละตัวละครก็ยังมีสกิลที่ไม่เหมือนกัน ทั้งหมดนี้ทำให้ความคิดที่เขาคิดว่ามันเป็นเกมที่เล่นยาก ก็เพราะว่ามันอยู่บน PC แต่พออยู่บนโทรศัพท์มือถือ กลายเป็นการคอนโทรลแบบ mobile ก็ทำให้รู้สึกว่ามันไม่ยากได้ หรือจากเดิมที่ใช้เวลาเยอะ มันก็น้อยลงมาก จากเดิมบน PC อาจใช้เวลาถึง 60-90 นาที แต่ RoV ก็อยู่ระหว่าง 5-10 นาที แป๊ปเดียวจบ
สังเกตว่า ปัจจุบันนี้ทุกคนชอบทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน เราไม่ได้มีเวลาเยอะ นอกจากจะเป็น professional หรือคนที่เอาจริงเอาจังกับเกมมากๆ เท่านั้นที่จะเปิดคอมพิวเตอร์มาเพื่อเล่นเกมอย่างเดียว ดังนั้น การที่ให้เวลา LoL 2 ชั่วโมง กับ RoV 10 นาทีมันก็ให้ความสุขได้ไม่ต่างกันนัก
The MATTER : ฟังดูเหมือนเกมนี้ถูกออกแบบมาให้เป็นเกมแนว ‘อดิเรก’ แต่ทำไม Garena ถึงยังพยายามผลักดันให้มันออกมาเป็นลักษณะ serious gaming
อัลเลน : ไม่ใช่อย่างนั้นเสียทีเดียว ประเด็นนี้เราเอาฟุตบอลเป็นตัวอย่างก็ได้ ฟุตบอลคือ 11 คนต่อทีม จริงๆ มันอาจจะมี 7 คน 5 คน หรือ 3 คนก็ได้ใช่ไหมครับ ตรงนี้ถามต่อว่า ฟุตบอล 3 ต่อ 3 คนนี่จริงจังระดับมีลีกการแข่งขันเป็นของตัวเองได้ไหม หรือ 5 ต่อ 5 คนนี่มันมีได้ไหม มันก็ได้นี่นา
ผมว่าคนเล่นเกม มันก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาเล่นเก่งหรือไม่เก่ง ถ้าเขาเล่นวิ่งทั้งฟีลด์ไม่ไหว เขาก็เล่น 5 ต่อ 5 ก็ได้ แค่นี้ก็พอ และถ้า 5 ต่อ 5 เขาเล่นจริงจัง และเขาเก่ง เขามีฝีมือ เขาก็อยากมีเวที อยากมีโอกาสได้เล่น มันก็เหมือนกับ RoV นี่แหละ เพราะมันไม่ได้หมายความว่าแค่มัน casual มันจะจริงจังไม่ได้ เกมนี้มันสามารถทำให้คนที่ไม่ค่อยมีเวลาเล่นเกมได้ และคนที่อยากจริงจัง อยากไปให้ถึงระดับโปร ก็ทำได้ด้วยเหมือนกัน
The MATTER : แสดงว่า RoV เป็นการขยายความเข้าใจ หรือขยายกลุ่มคนเล่นเกมแนว MOBA ให้มากขึ้นได้ด้วย เพราะความเข้าถึงง่ายและความง่ายของมัน
อัลเลน : ใช่ครับ และผมเชื่อว่าคนที่เล่นเกมในมือถือ น่าจะเล่น RoV
The MATTER : ในเวลานี้ ถ้าเปิดการแข่งเกม RoV ในย่านศูนย์การค้า จะมีคนดูและเก็ตมันได้ถึงขั้นมุงดูไหม
อัลเลน : ผมเชื่อว่าคนจะรู้เรื่อง และมีคนดูแน่นอน
The MATTER : หากถามในแง่ของการตลาด การเกิดของ RoV สร้างโอกาสอะไรให้กับธุรกิจบ้าง
อัลเลน : อย่างแรกคือ Garena เรามีชื่อเสียงอยู่ในวงการเกมอยู่แล้ว คนที่เล่นเกมรู้จัก Garena หมดแหละ แต่คนที่อยู่ข้างนอกอาจไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าคืออะไร แต่ตอนนี้ทุกคนก็เริ่มรู้แล้วว่าคือบริษัทที่ทำ RoV ถึงหลังจากนี้เขาอาจจะไปสนใจเกม MOBA ที่อยู่บน PC ก็ตาม
เราชักชวนให้คนเข้ามาสู่วงการเกมได้มากขึ้น เพราะ RoV ตอนนี้กลายเป็น mass ไปแล้วเพราะคนเล่นเยอะมาก ยิ่งตอนนี้คอนเทนต์บางอย่างมันก็กลายเป็นไวรัลไปด้วย แสดงให้เห็นว่าคนเริ่มเข้าใจในตัว gaming และความเป็น eSports มากขึ้นว่ามันคืออะไร เช่น หลังจากการแข่งขัน RoV ระดับประเทศ เราสังเกตว่าก่อนหน้านี้เวลาจัดงานลักษณะนี้ คนที่เข้ามาในงานมักจะเป็นเกมเมอร์อยู่แล้ว แต่ปัจจุบันเราก็ได้เห็นคนที่ไม่เคยเป็นเป้าหมาย เป็นผู้ใหญ่เสียด้วยซ้ำ ทั้งชายและหญิง คือเขาเริ่มรู้แล้วว่าทำไมมันถึงมีการแข่งขันแบบนี้ ยิ่งถ้าได้ลองเล่นแล้วจะยิ่งเข้าใจว่าในวงการเกมเนี่ย พวกเรากำลังพยายามทำอะไรกันอยู่ เกมไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไร้สาระ หรือเป็นเรื่องความบันเทิงของเด็กเพียงอย่างเดียว มันเป็นความจริงจังและต้องการ professionalism เยอะ ผมว่ามันก็เป็นสิ่งที่ดีทีจะเป็นช่องทางที่สอดคล้องว่า gaming episode คืออะไร
The MATTER : ทุกวันนี้มีเกมเกิดใหม่ขึ้นเยอะมาก จะว่าเกิดใหม่ทุกวันก็ได้ RoV เอาชนะคนอื่นอย่างไร
อัลเลน : ถ้าคุณสังเกต จะพบว่า Garena มีเกมน้อยมาก ปีนึงเต็มที่เราอาจเปิดเกมแค่หนึ่งหรือสองเกม ผ่านมา 5-6 ปีเรายังมีไม่ถึง 10 เกม นี่ก็เพราะว่าเราต้องเลือกเกม และต้องมั่นใจในตัวผู้พัฒนาเกม พวกเขาต้องมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าต้องการอะไร เกมของเขาจะต้องไม่ได้พัฒนามาเพื่อหาเงินอย่างเดียว ยกตัวอย่าง LoL ก็เป็นเกมที่ผู้พัฒนาเกมนั้นพัฒนามาจากความสนใจ ความรู้สึก เน้น user experience ของผู้เล่นมากที่สุด เขาอยากให้คนที่ได้เล่นมันมีความสุขจริงๆ เขาจึงเต็มที่กับมัน มันถึงไม่ใช่เกมที่เกิดมาแล้ว 3-6 เดือนแล้วก็ตายไป จากนั้นก็หันไปผลิตเกมใหม่ เราไม่ใช่ยังงั้น เราเลือกเกมที่มีอนาคต
eSports ก็เหมือนกีฬาทั่วไป ที่เรามองว่าเกมนี้ดังที่ประเทศไทย แต่ออกไปต่างประเทศไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเกมนี้ไม่มีอนาคต ถามว่า ประเทศไทยเรามีตะกร้อ ถามว่ากีฬาตะกร้อเนี่ย ไต้หวันหรือประเทศอื่นเขาก็อาจไม่รู้จัก แต่หันมาที่ไทย ที่นี่มีคนเล่นตะกร้อ และเล่นแบบเป็น professional เขามองตัวเองว่าเป็นนักฬาไหม ก็ต้องเป็นสิ เป็นแน่นอนอยู่แล้ว มีการแข่งขันด้วย มีลีกที่จริงจัง มีรายได้ที่หาเลี้ยงตัวเองได้ด้วย ดังนั้นเราจึงมองว่าการเล่นเกมเป็น eSports และทุกเกม ไม่ว่าเกมอะไรก็เรียกตัวเองว่า eSports ได้
เจ้าของเกมและผู้ให้บริการ คือส่วนที่สำคัญที่สุดสำหรับ eSports ที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ พูดตรงๆ ว่าเราทำ eSports ก็ไม่ใช่เรื่องของรายได้ แต่ทุกกอย่างที่เราจัดคือเราอยากให้คนมาดูการแข่งขัน เราไม่ได้ขายตั๋ว พยายามไม่ขายของ เพราะอยากสนับสนุนมันจริงๆ
The MATTER : คำว่า eSports จะกลายเป็นแค่คำทางการตลาดไหม เพราะทุกเกมก็พยายามเรียกตัวเองว่าเป็น eSports เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรคือ eSports
อัลเลน : ก็ต้องดูว่าสิ่งที่เขาทำมาจะเป็นสิ่งที่พัฒนาวงการต่อไปได้จริงไหม ไม่ใช่ว่าจัดแข่งขันและก็มีเงินรางวัลก็เรียกตัวเองว่า eSports เพราะเกมต้องมีการพัฒนาต่อเนื่อง และมีอายุต่อไป ไม่ใช่ว่าเกิดมาแค่ไม่นานก็ตาย
The MATTER : แสดงว่า eSports ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้เล่นเกมเพียงอย่างเดียว
อัลเลน : ไม่ใช่ เจ้าของเกมและผู้ให้บริการ คือส่วนที่สำคัญที่สุดสำหรับ eSports ที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ พูดตรงๆ ว่าเราทำ eSports ก็ไม่ใช่เรื่องของรายได้ แต่ทุกกอย่างที่เราจัดคือเราอยากให้คนมาดูการแข่งขัน เราไม่ได้ขายตั๋ว พยายามไม่ขายของ เพราะอยากสนับสนุนมันจริงๆ แต่ในอนาคต ผมเชื่อว่า เราจะมีการแข่งขันที่ขายตั๋วได้ แต่ตอนนี้เรายังไม่พัฒนาไปถึงจุดที่คนรู้สึกว่าจะต้องจ่ายตังค์เพื่อมาดูการแข่งขัน แต่ถามว่า เมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว ลองถามว่าถ้าจะต้องจ่ายเงินมาดูคนไทยเตะฟุตบอลแข่งกัน จะมีคนยอมจ่ายไหม ไม่มีแน่นอน ก็มันเป็นคนไทยอะ เขาไม่เก่ง ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไร ไม่ใช่พรีเมียร์ลีก ไม่ใช่นักเตะของยุโรป ดังนั้นเราจะต้องพัฒนา และผ่านจุดนี้ให้ได้ ผมคิดว่าคงอีกไม่นาน
The MATTER : เมื่อเทียบกับบอลไทย เรามักจะได้ยินจนชินหูว่า “บอลไทยจะไปบอลโลก” แต่จนวันนี้ยังไม่เห็นวี่แวว สำหรับ eSports แล้ว ตอนนี้ไทยอยู่ตรงไหน
อัลเลน : จริงๆ ตอนนี้นักกีฬา eSports ของไทยก็ชนะเป็นแชมป์โลกหลายเกมอยู่แล้วนะครับ เหมือนที่ผมอธิบายว่า ไม่ใช่ว่าคนไทยไม่เก่ง และการที่เขาเป็นระดับโลกเนี่ย มันไม่ควรแค่เราไปบอกเขาว่าเขาเป็นระดับโลก แต่เขาควรต้องรู้สึกว่าเขาเป็นระดับโลกจริงๆ คือเมื่อเขากลับมาสู่ประเทศไทย เขาควรถูกมองว่าเขาคือแชมป์โลก เขาเอาชนะทีมที่เก่งกาจอย่างสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ หรือชนะจีน เขาเป็นผู้ชนะเลิศ แต่ความจริงคือ เมื่อเขากลับมาถึงประเทศไทย ก็ไม่มีใครสนใจ ความรู้สึกภูมิใจของเขาก็หายไป สุดท้ายเขาก็ไม่รู้สึกหรอกว่าเขาเป็นระดับโลกจริง
The MATTER : เมื่อพูดถึงการยอมรับ ต้องถูกยอมรับขนาดไหนถึงจะเรียกว่าเหมาะสม
อัลเลน : ถ้าจะให้คนรู้จักเขา ผมว่าสื่อมวลชนก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องให้พื้นที่กับพวกเขาบ้าง เช่น ถ้าเป็นทีมกีฬาที่ชนะเลิศรางวัล 2-3 ล้านบาท เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย ผมเชื่อว่ามันจะต้องเป็นข่าวอยู่แล้ว ทีนี้เราก็จะรู้จักว่าคนนี้เขาเตะบอล เขาตีกอล์ฟ เขาชกมวย แล้วได้เงินมหาศาลกลับมา แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นกับวงการ gaming เขาชนะอะไรมาก็เงียบ ไม่มีใครพูดถึง
The MATTER : ปัญหาคืออะไรกันแน่ หลายคนโทษรัฐที่ไม่สนับสนุน หรือมันเป็นทั้งสังคมที่ไม่ยอมสนใจ
อัลเลน : เพราะว่าส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจมากกว่า เพราะถ้าเราไม่เข้าใจ ก็ไม่จำเป็นต้องพูดถึงก็ได้ ใช่ไหม? เมื่อไม่พูดถึง ไม่สนใจ ก็หมายความว่าพวกเขาไม่รู้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมันมีมูลค่าหรือเปล่า ผมไม่ได้คิดว่าผู้ใหญ่หรือสังคมทำอะไรผิด แค่ไม่ยังไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ ไม่รู้สึกว่า eSports ควรจะถูกยอมรับ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ดี แต่ประเด็นคือไม่ว่าอย่างไร ทั้งผู้ใหญ่และสังคมก็ควรเปิดใจ ค่อยๆ ทำความรู้จักกับ eSports ไม่สนับสนุนแต่ก็อย่าปิดหรือห้าม ซึ่งตอนนี้มันเป็นแบบนั้น เกมคือความ negative
ตรงนี้ก็ต้องอธิบายกันก่อนว่า เราไม่ได้เชียร์ให้ทุกคนมาเป็นนักกีฬา eSports นะครับ แต่การเล่นเกมมันก็มีประโยชน์ที่หลากหลายอยู่แล้ว ซึ่งมันก็แล้วแต่มุมมองของคน แต่สำหรับผมจะบอกว่า ตอนนี้ตลาดของ eSports มันใหญ่มาก และมีมูลค่าสูงมาก อย่างในไทย มูลค่าตลาดเกมปีที่แล้วคือราว 9 พันล้านบาท
The MATTER : แล้วมูลค่าของตลาดเกมเหล่านั้นมาจากอะไร
อัลเลน : จากทุกเกมและทุกแพลตฟอร์มครับ แต่ด้วยมูลค่านั้น เรายังนับเป็นเปอร์เซ็นต์นิดเดียวของโลกเองนะครับ ซึ่งปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะทำงานอะไร เราก็ไม่ควรมองแค่ในประเทศเราอย่างเดียวแล้ว เราต้องมองเป็น global คู่แข่งของเราคือคนที่อยู่นอกประเทศ เรายังมีโอกาสอีกเยอะมากที่จะหารายได้
จากไหนบ้าง? อย่าง hardware ปัจจุบันนี้ที่เราเห็นว่าขายดีมาก จะสังเกตได้ว่าแทบทุกยี่ห้อก็จะไปทาง eSports กันหมด ต่างจากเมื่อ 10 ปีก่อนที่บางยี่ห้อไม่เคยพูดอะไรถึง gaming เสียด้วยซ้ำ
The MATTER : ชัดเจนขนาดนี้ ทำไมรัฐหรือเอกชนในไทยถึงยังไม่รู้
อัลเลน : ผมไม่ทราบ ยิ่งผมเป็นชาวต่างชาติด้วยก็ยิ่งไม่รู้ว่ารัฐบาลคิดยังไงกับเรื่องพวกนี้
The MATTER : บ้านเกิดของคุณที่ไต้หวัน รัฐบาลเขามองเรื่อง eSports อย่างไร
อัลเลน : 4-5 ปีที่ผ่านมา แวดวงเกมเมอร์ ของไต้หวันเปลี่ยนไปเยอะมาก ตั้งแต่รัฐบาลที่ได้รับคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่สังเกตเห็นว่า ‘กลุ่มเด็ก’ เป็นกลุ่มที่วันหนึ่งจะโตขึ้นมาโหวตการเลือกตั้งได้ในไม่ช้า ดังนั้นถ้าไม่จับกลุ่มนี้แล้วจะไปจับใคร ในไต้หวันมีประชากร 20 ล้าน คนที่เล่นเกมอาจจะ 10 ล้านไปแล้ว เพราะมันเป็นกิจกรรมที่ทุกคนเล่นประจำวันอยู่แล้ว มันจึงเป็นเรื่องที่ประเทศยอมรับ คนส่วนใหญ่สนใจและพร้อมจะทำอยู่แล้ว เมื่อเขาออกแคมเปญหาเสียงมาก คนก็เลยสนับสนุนเยอะ
ที่ไต้หวันเวลาทีมที่เป็นตัวแทนของประเทศแล้วไปแข่ง นายกฯ ก็จะไปเชียร์นะครับ การที่ผู้นำประเทศไปให้กำลังใจ มันทำให้ความรู้สึกแตกต่างออกไปเลยนะครับ เพราะถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ เวลาลูกของครอบครัวไหนไปแข่งขันไกลบ้าน ไปต่างประเทศ คุณพ่อคุณแม่ก็อาจกังวลคิดไปว่าต่างประเทศอันตรายหรือเปล่า ต้องจ่ายตังค์ไหม มีค่าใช้จ่ายแค่ไหน จะมีคำถามประมาณนี้ทันที แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ได้เห็นลูกในทีวี แถมมีนายกฯ มาเชียร์ ความคิดของผู้ปกครองก็จะเปลี่ยนทันที
The MATTER : ผู้ใหญ่ที่ไต้หวันเขาคิดเหมือนไทยไหมว่า เกมเป็นสิ่งที่อันตราย
อัลเลน : สมัยก่อนก็อาจจะคิด แต่ปัจจุบัน eSports ไปอยู่ในข่าวกีฬาของสถานีโทรทัศน์แล้ว หรืออย่างในเว็บไซต์ การแข่งขันเกมอาจอยู่ในหมวด life style หรือ entertainment หรือ IT แต่ตอนนี้มันคือ sport
และในไต้หวันก็มี Professional League แล้ว นักกีฬามีเงินเดือน มีการแข่งขันเป็นประจำเหมือนกีฬาทั่วไป
The MATTER : ไต้หวันใช้เวลานานไหม กว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น
อัลเลน : ที่เห็นผลชัดๆ ก็ราว 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่ก่อนหน้านี้ก็ใช้เวลาพอประมาณ
The MATTER : คุณเล่นอัลเลนเกมไหม
อัลเลน : เล่นนะครับ แต่ทุกวันนี้ไม่ค่อยมีเวลาเล่นแล้ว (หัวเราะ)
เกมเมอร์ชาวไทยมีหน้าที่ที่สำคัญมาก เพราะพฤติกรรมของพวกเขามีผลต่อทัศนคติและความรู้สึกของผู้ใหญ่ จะคิดแค่ว่าตัวเองชอบเล่นเกมและผู้ใหญ่ต้องตามมาสนับสนุนมาซัพพอร์ตทันทีมันไม่ได้ เพราะถ้าคุณทำตัวไม่ดี เขาก็ไม่ช่วยนะครับ
The MATTER : คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ผิดไหมที่ห่วงลูก เพราะความสำเร็จด้านการศึกษาก็ชัดเจนกว่าการเล่นเกมอย่างชัดเจน
อัลเลน : ต้องมองอย่างงี้ คนที่เล่นเกม เขาก็รู้แหละว่าเขาได้อะไรบ้าง แต่ผู้ปกครองเขาโตมากับโลกที่ยังไม่มี แต่ก็อาจเป็นหน้าที่ของเขาด้วยเช่นกันที่จะต้องเปลี่ยนความคิดว่า เด็กที่เล่นเกมเขาก็มีความรู้และความเข้าใจในเกม เป็นสิ่งที่มีมูลค่าเยอะมาก เพราะตอนนี้ตลาดในโลกที่เปลี่ยนไปเนี่ยยังต้องการความรู้เกี่ยวกับตัวเกม แต่ไม่นะ พวกคุณไม่ได้ผิดหรอกที่ไม่รู้ เพราะรุ่นคุณไม่มี ไม่มีอาชีพแบบนี้ แต่นี่คือรุ่นของเขา
คนเป็นพ่อเป็นแม่ไม่ผิดหรอกที่ห่วงลูก ซึ่งผมก็บอกตลอดมาว่าเกมเมอร์ชาวไทยมีหน้าที่ที่สำคัญมาก เพราะพฤติกรรมของพวกเขามีผลต่อทัศนคติและความรู้สึกของผู้ใหญ่ จะคิดแค่ว่าตัวเองชอบเล่นเกมและผู้ใหญ่ต้องตามมาสนับสนุนมาซัพพอร์ตทันทีมันไม่ได้ เพราะถ้าคุณทำตัวไม่ดี เขาก็ไม่ช่วยนะครับ ดังนั้นผู้เล่นเองก็ต้องช่วยเหลือตัวเองด้วย ต้องมองว่าตัวเองเป็นเกมเมอร์ เป็นนักกีฬา eSports เป็นตัวอย่างที่ดีพอจะให้ผู้ใหญ่เห็นว่าคนที่เล่นเกมไม่ได้เป็นคนไม่ดี ไม่เรียนหนังสือ ทำอะไรไร้สาระ แล้วก็มาบ่นว่าผู้ใหญ่ไม่ช่วย มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ผมถึงอยากให้เกมเมอร์ทั้งหมดคิดแบบนี้ ว่าเราอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ สิ่งแวดล้อมของเราเป็นแบบนี้ เราถึงต้องมีเป้าว่าอยากให้ eSports เป็นเรื่องที่สำคัญ gaming เป็นสิ่งสำคัญ
The MATTER : ว่ากันว่า ปัญหาของ eSports ไทยส่วนหนึ่งมาจากความไม่มีวินัยของตัวเกมเมอร์เอง คุณมีวิธีดีลกับพวกเขาอย่างไร
อัลเลน : ยกตัวอย่างนะครับ เรามีการแข่งขันที่แยกออกไปสำหรับนักเรียนนักศึกษา เราจะมีมาตรฐานว่า GPA ไม่ถึงเท่าไหร่ ก็คือจะไม่ผ่านเกณฑ์ในการลงแข่งขัน
The MATTER : ต่างประเทศเขามีไหมที่จะต้องจำกัดเกรดการเรียนเพื่อลงแข่งเกม แล้วการทำแบบนี้มันประหลาดไหม
อัลเลน : ผมว่าไม่แปลกนะ แต่ละประเทศจะมีสถานการณ์ที่แตกต่างกันไปอยู่แล้ว เราอยู่ในประเทศไทย มีสถานการณ์แบบนี้ เราก็ตั้งกฎที่เหมาะสมกับที่นี่ ซึ่งมันก็โอเค เพราะคนที่เกรดน้อยก็สามารถแข่งได้
The MATTER : ในโลกของเกมที่ต้องการ Pro-player ต้องการคนเก่ง การที่เรียนได้เกรดไม่ถึง 2.5 การ qualify ในลักษณะนี้มีผลอย่างไร
อัลเลน : คือยังงี้ครับ เราไม่ได้ห้ามเขาลงแข่งนะ คนที่ GPA ไม่ถึง เข้ามาเล่นได้ไหม คำตอบคือได้ แต่ไม่มีสิทธิได้รับรางวัล นี่คือทุกคนเท่าเทียมกันหมด เข้ามาเล่นเพื่อมีความสุขได้ แต่คนที่สามารถรับรางวัลได้คือต้องเป็นคนที่มีฝีมือและผ่านมาตรฐานด้วย คือผมว่ามันจะเฟลมากนะครับ ว่าคนนี้ทำไมเขาได้พิเศษกว่าคนอื่น เพราะเขาก็ได้เกรดด้วย เขาทำหน้าที่ตัวเองได้ดีกว่า เขาก็ควรมีสิทธิ แต่คนที่เล่นเกมเก่งอย่างเดียว ไม่ได้ทำหน้าที่อื่นของตัวเองได้ดีด้วย ก็มีสิทธิเล่นได้ แต่สิทธิพิเศษต้องให้คนที่เหมาะสม
The MATTER : ในไต้หวันมีการสนับสนุนอนาคตของผู้เล่นที่ในที่สุดแล้วพวกเขาจะต้องถูกรีไทร์ออกจากการแข่งขันอย่างไรบ้าง
อัลเลน : เราจะสามารถพัฒนาถึงไหน ยังไม่มีใครพูดได้ แต่ก็ยังมีหลายอาชีพที่อยู่รายล้อมวงการนี้ อาชีพที่เรายังไม่รู้ว่าจริงๆ เราต้องการคนแบบนี้ เขาต้องมีหน้าที่แบบนี้ เรายังเลือกไม่ถูก เราแค่รู้ว่ามันจะต้องมีงานบางอย่างที่ต้องมีคนทำ และต้องมีคนที่ความสามารถสูง แต่ถ้าถามว่าอาชีพนี้ชื่ออะไร มันยังไม่มีหรอก เพราะมันยังไม่มี มันเป็นโลกใหม่ที่ยังไม่เกิดขึ้น
ยกตัวอย่าง ตอนนี้ startup เยอะแค่ไหน มีคนเขียนแอพลิเคชั่นเยอะมาก แต่เมื่อ 10 ปีมีอาชีพเขียนแอพฯ ไหม ไม่ มือถือสมาร์ทโฟนก็ยังไม่มีเลย ถามคนเล่นเกมก็เช่น อาชีพอย่าง caster หรือ streamer เมื่อก่อนก็ไม่มี เพราะแบบนี้ คนที่ไม่รู้จัก ก็ไม่รู้จะพูดยังไง เขายังไม่เข้าใจ
The MATTER : แล้วถ้าผู้เล่นที่เล่นเกมเก่งอย่างเดียว ไม่เก่งอย่างอื่นเลย เขาควรทำอย่างไร
อัลเลน : ผมว่าปัญหาก็คือ ทุกคนจะถามแบบนี้กับผู้เล่นที่ไม่เรียน แต่ถ้าผมเปลี่ยนคำถามใหม่ว่า ถ้าผมทำอะไรไม่เป็นเลย แต่ผมเก่งมาก จะทำอะไรได้ คำตอบคือ ถ้าเก่งจริงก็ไปแข่ง เนี่ย ถ้าถามแบบนี้ผมว่าจะไม่เป็นปัญหา ถ้าเด็กคนนั้นไม่เก่งอะไรเลยนอกจากเกม คำถามต่อไปคือเขาเก่งจริงไหม ถ้าเก่งจริงเขาอาจจะได้เงินหลายล้านแล้ว ถ้าเก่งก็ไปแข่ง เก่งจริงจะไม่มีปัญหาแบบนี้หรอก ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเก่งจริงให้ได้
The MATTER : แต่ในประเทศไทยดูเหมือนจะไม่มีหนทางให้เรื่องแบบนี้เลย
อัลเลน : ผมว่าตรงนี้เด็กเขาก็คิดเองด้วยนะ เขาคิดว่าตัวเองเก่งแล้ว แต่ที่จริงไม่ใช่หรอก ถ้าเก่งจริงมันต้องมีวิธีให้เขาอยู่แล้ว มีต้องมีโอกาสและได้อยู่ในสนาม ได้รางวัล เพราะในโลกมีคนมองพวกนี้อยู่แล้ว
แต่บางคนที่เก่งจริงๆ แต่ไม่อยากแข่งขัน ไม่มีมีความมุ่งมั่นอยากจะเป็นนักกีฬา ไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะไปแข่ง ก็มีเหมือนกัน
แต่จริงๆ ผมก็ไม่อยากให้ทุกคนมองว่า eSports เป็นสิ่งที่พิเศษมาก ควรมองว่าก็เป็นกีฬาทั่วไป ยกตัวอย่าง ตอนนี้เราเห็นการแข่งขันฟุตบอลที่ไทยเยอะมาก ถึงเด็กผู้ชายแทบทุกคนเคยเตะบอล แต่ถามว่าใครที่สามารถเข้าไปแข่งบอลโลกระดับสูงๆ หรือกลายเป็นโปร เป็นนักกีฬาที่มีสัญญาเป็นเรื่องเป็นราว มีเงินเดือนที่จะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ก็มีน้อย
เช่นกันครับ เราต้องมอง eSports หรือวงการ gaming เขาแค่เก่งกีฬาอีกประเภทนึง คนที่เล่นเก่ง คนที่ชอบเล่นกีฬานี้ก็เยอะมาก คนที่เล่นเพื่อความสุขก็เยอะมาก แต่คนที่มีฝีมือมากกว่าก็จะมีโอกาสที่มากกว่า สามารถจะเป็นโปรได้ เมื่อเขาเก่ง เขามีคนรู้จัก เขามีแฟนคลับ เขาได้เงินรางวัล เขาอาจอายุแค่ 20 กว่าปีเอง แต่ได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปแข่งที่ต่างประเทศ นี่เป็นสิ่งที่คนอื่นไม่มีโอกาส ซึ่งเขาได้รับมัน นี่ก็เหมือนกีฬาทุกประเภท เพราะอย่างงั้นเราต้องไม่มองว่า eSports เป็นสิ่งที่พิเศษกว่ากีฬาทั่วไป
นี่คือสิ่งที่เราพยายามสนับสนุน เรามีหน้าที่ จัดการแข่งขัน เพราะว่าถ้าไม่มีใครจัดแข่ง ไม่มีใครเตรียมเงินรางวัล ก็ไม่มีโอกาสส่งไปถึงต่างประเทศ เขาก็จะได้แค่เล่นเป็นเอนเตอร์เทนอย่างเดียว มีความสุข ฆ่าเวลาอย่างเดียว เราจะสร้างโอกาสมากกว่านี้ สร้างเวทีให้คนที่อาจจะมีฝีมือ
The MATTER : คุณคิดว่าเด็กที่จริงจังกับเกม ที่มีทักษะด้านนี้ แตกต่างจากเด็กคนอื่นอย่างไร
อัลเลน : ผมว่า เราต้องมองว่า เวลาเราเล่นเกม ส่วนใหญ่คนที่เล่นก็จะไม่ได้คิดอะไร มองว่าเกมเป็นเรื่องบันเทิงเฉยๆ ซึ่งมองอย่างงั้นผิดไหม มันก็ไม่ผิด เหมือนเราเล่นฟุตบอล เล่นบาส ถามว่ามีความสุขไหม ก็มี ยกมันเป็นเรื่องเอนเตอร์เทน บางคนหรือผู้เล่นบางกลุ่มมองว่าแค่นี้ก็พอแล้ว
แล้วจะมีบางกลุ่มที่ว่า เราเล่นเก่งกว่านิดนึง ถามว่าเก่งกว่าแล้วได้อะไร ก็อาจได้ผลงานอยู่ในเกม เมื่อได้ผลงาน ก็ได้ความมั่นใจ ได้สร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง เพราะว่าเกมมีผู้เล่นเยอะ หมายความว่ามีคอมมูนิตี้ที่ใหญ่ ผมเชื่อว่าทุกคนก็อยากได้ชื่อเสียง อยากให้คนอื่นมาชอบ เมื่อ gaming มีคอมมูนิตี้ ก็มีโอกาสที่จะสร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง คือสามารถหาประโยชน์จากตัว gaming ได้ เพราะว่ามีตลาด เราต้องมองยังงี้ ไม่ว่าเราเล่นหรือไม่เล่น ไม่ว่าเราเป็นเด็ก หรือเราเป็นผู้ใหญ่ เราชอบหรือไม่ชอบ เราก็ต้องยอมรับว่าตลาดเกมนั้นใหญ่ มีมูลค่าสูง แต่ใครที่สามารถหาประโยชน์จากตัวตลาดได้ล่ะ ถ้าคนที่เล่นเก่ง มีฝีมือ เขาอาจจะแค่ชอบอย่างเดียวก็ได้ แต่ถ้าถามอีกคนเขาก็อาจรู้สึกว่าเขาสามารถที่จะเล่นเกม และผลักดันให้ตัวเองได้มีสิทธิไปรับอะไรๆ ที่มีมูลค่าจากตัวตลาดเกมอยู่แล้วก็ได้ แต่คนทั่วไปที่ไม่ได้เล่นเกม แน่นอนว่าเขาก็อาจไม่สามารถ เพราะว่าอะไร เพราะว่าเค้าไม่มีสิทธิ ต้องบอกว่าเขาไม่มีสิทธิเพราะเขาเล่นไม่เป็น
The MATTER : ในสถานการณ์แบบนี้ Garena จะมาอยู่ในจิ๊กซอว์ชิ้นไหนของ eSports ไทย
อัลเลน : ผมคิดว่าตอนนี้เราเป็นที่สุดอยู่แล้ว เพราะทั้งหมดนี้เราพยายามสร้างเวทีขึ้นมา
The MATTER : อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดของการสร้างเวทีเหล่านี้
อัลเลน : พื้นฐานที่สุดเลยคือเราต้องให้บริการเกมที่ดี
ถ้าถามว่างานของเราสู้ต่างประเทศได้ไหม เราใหญ่ที่สุดใน South East Asia รัฐบาลสิงคโปร์ส่งคนมาเรียนรู้งานจากเรา เรามีคนมาร่วมงานกว่า 180,000 คน เราใหญ่ที่สุด
The MATTER : อีเวนต์ของ Garena ดูอลังการ และเกินมาตรฐานของงานเกมไปไกล ถามว่าทำไมต้องลงทุนขนาดนั้นในประเทศที่คนส่วนใหญ่ยังตามไม่ทัน
อัลเลน : เราทำมาหลายปีแล้ว ทุกปีก็มีข้อสงสัยแบบนี้ ทำไมต้องจัดงาน มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ถามว่าเราทำเพื่ออะไร ก็เพื่อจะพิสูจน์จริงๆ ว่าเราทำได้ เราอยากทำให้ผู้เล่นรู้สึกว่า เขาไม่ได้ทำสิ่งที่ไร้สาระ สิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ professional มาก เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และมีคนลงทุนอยู่ เป็นสิ่งที่มีอนาคต ถ้ามันไม่มีอนาคต ไม่มีใครลงทุนขนาดนี้หรอก เราก็พยายามจะส่งให้ข้างนอกเห็น ว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ทำไมถึงมีพาร์ตเนอร์เยอะขนาดนี้ ทำไมมีรัฐบาลมาสนับสนุน ก็คือเป็น showcase ให้คนที่ยังไม่รู้จักวงการเกมได้เห็น
The MATTER : มันเกี่ยวข้องกันไหม ที่ถ้ารัฐไม่สนับสนุน เอกชนก็ไม่สามารถอัดฉีดได้
อัลเลน : เอกชนส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ใหญ่ eSports มันเกิดขึ้นไม่กี่ปีเอง ผู้ใหญ่บางท่านอาจจะยังใช้คอมพิวเตอร์ไม่ค่อยเป็น เราต้องทำให้เขาเข้าใจว่ามันมีอนาคตมากน้อยแค่ไหน อุตสาหกรรมของ eSports ใหญ่ขนาดไหน ซึ่งจะให้เขาเข้าใจก็ค่อนข้างยากอยู่แล้ว
ทำไมเราต้องจัดการแข่งขันตลอด ต้องมีรางวัลให้ เราต้องจัดงานใหญ่ เชิญสื่อมวลชนมาทำประชาสัมพันธ์ แล้วก็ทำมาร์เก็ตติ้ง เพราะเราอยากให้สังคมเห็นว่านี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่อนาคต คือเกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ถ้าถามว่างานของเราสู้ต่างประเทศได้ไหม เราใหญ่ที่สุดใน South East Asia รัฐบาลสิงคโปร์ส่งคนมาเรียนรู้งานจากเรา เรามีคนมาร่วมงานกว่า 180,000 คน เราใหญ่ที่สุด เรามีพาร์ตเนอร์จากต่างประเทศ จากญี่ปุ่น จากไต้หวัน จากจีน เขามาเขาก็ตกใจว่าประเทศไทยจัดงานใหญ่ขนาดนี้หรอ ใหญ่กว่าไต้หวัน ใหญ่กว่าญี่ปุ่นอีก ซึ่งเราใหญ่มีใครรู้ไหม คนในวงการรู้ คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการเกมก็ไม่ได้สนใจ กระทั่งสื่อมวลชนบางเจ้า ถึงจะมาแล้วเห็นว่างานใหญ่ แต่สังคมไม่ค่อยยอมรับอยู่แล้วก็ไม่ต้องเขียนถึง ไม่ต้องโปรโมตก็ได้ สังคมก็ไม่รู้ตามกันไป เราได้แค่พยายามใช้เพาเวอร์ของเราให้เกิดประโยชน์ ทำให้ทุกคนได้เห็น
ทำไมผู้ใหญ่ไม่คิดว่าจะใช้เกมให้เป็นประโยชน์ยังไง… เด็กใช้เวลากับเกมเยอะก็หมายความว่าเกมเป็นช่องทางที่สามารถสื่อสารกับเขาได้ แล้วทำไมสถาบันการศึกษาถึงไม่ใช้เรา ร่วมมือกับเราแล้วพยายามสื่อสารกับเด็ก
The MATTER : แสดงว่าสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ก็เหมือนเป็นการปิดทองหลังพระ
อัลเลน : ใช่ อีกส่วนหนึ่งก็คือ ผู้ใหญ่ต้องเปลี่ยนความคิด เขาต้องชอบเกมไหม ต้องสนับสนุนเรื่องของ gaming หรือเปล่า มันไม่จำเป็น แต่เขาต้องยอมรับก่อนว่า eSports เป็นสิ่งที่กำลังโต เป็นอุตสาหกรรมที่โตมาก มีมูลค่าใหญ่มาก ตลาดใหญ่มากด้วย ตลาดของเกมและของ eSports ใหญ่กว่าหลายอุตสาหกรรม เทียบกับ box office ตลาดเกมใหญ่กว่า 3 เท่าเลยนะครับ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่รู้
ทำไมผู้ใหญ่ไม่คิดว่าจะใช้เกมให้เป็นประโยชน์ยังไง ยกตัวอย่าง ผมคุยกับพาร์ตเนอร์ คุยกับรัฐบาล คุยกับโรงเรียน มหาวิทยาลัย ผู้ปกครอง ผมบอกว่าทำไมพวกเขาไม่ใช้ Garena เราเป็นช่องทาง เราเป็นเครื่องมือ มองเราเป็นอย่างงี้ก็ได้ เพราะเด็กๆ ยังไงก็เล่นเกมอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นธรรมชาติของเด็กที่อยากเล่นอะไรที่มีความสุข เด็กใช้เวลากับเกมเยอะก็หมายความว่าเกมเป็นช่องทางที่สามารถสื่อสารกับเขาได้ แล้วทำไมสถาบันการศึกษาถึงไม่ใช้เรา ร่วมมือกับเราแล้วพยายามสื่อสารกับเด็ก เพราะบางทีการที่จะส่งข้อความไปให้ถึงเด็ก เป็นเรื่องที่ยากสำหรับผู้ใหญ่ เพราะพูดแล้วเด็กไม่ฟัง แต่ถ้าใช้ช่องทางที่เหมาะสม ใช้ช่องทางที่ถูกต้อง เด็กก็ยอมรับอยู่แล้ว อันนี้ก็คือเป้าหมายว่าทำไมเราถึงจัดงาน แล้วเราต้องมี message ส่งให้เด็กตลอดว่า ต้องทำอย่างงี้ ต้องมีระเบียบวินัย ต้องบริหารตัวเอง ต้องบริหารเวลาทุกอย่างให้ดี เพราะเราคิดว่าเวลาเราพูด เขาฟัง เขาเชื่อ และเราอยากให้ความร่วมมือกับผู้ใหญ่ กับสังคม กับรัฐบาลอยู่แล้ว
The MATTER : แล้วตอนนี้รัฐบาลสนับสนุนอะไรบ้าง
อัลเลน : ก็มีบ้าง เช่น ที่ผ่านมาเราก็มีความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำหรับงานอินเตอร์เราก็ได้การสนับสนุนด้วย เพราะได้ภาครัฐให้ความร่วมมือจากรัฐบาลบางที่ เราหวังว่าเมื่อสังคมเห็น หรือผู้ใหญ่เห็นว่าเป็นงานที่รัฐบาลสนับสนุนด้วย ก็น่าจะไม่ได้มองว่าเป็นงานที่ไม่ดี
The MATTER : ในประเทศที่ยังไม่มีแม้ gaming house บริษัทระดับยูนิคอร์นอย่าง Garena จะรอให้มันเกิดนิเวศน์ของ eSports จริงๆ ไหวไหม
อัลเลน : อย่าง gaming house จริงๆ มันก็ไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น มันก็เหมือนออฟฟิศของนักกีฬา ไม่ได้มีอะไรแตกต่าง อย่างนักบอล มันก็เป็นที่ที่เขามาอยู่รวมกันเท่านั้น เป็นสถานที่ฝึกซ้อม อย่างในไทยที่จริงก็มีหลายที่ แต่ทุกคนจะโฟกัสว่า gaming house สำคัญที่สุด ต้องเป็นบ้าน ต้องดูดี แต่ผมว่านั่นไม่ใช่จุดสำคัญที่สุด เพราะเราควรจะคิดว่ามันคือศูนย์กลางที่ทุกคนมาเจอกัน มาฝึกซ้อม ไม่ต้องถึงขั้นเป็นบ้านมากินนอนก็ได้ ทำไมนอนที่บ้านตัวเองไม่ได้ล่ะ แล้วก็มา 10 โมงเช้าก็เจอกัน ทำงาน 8-10 ชั่วโมงแล้วก็กลับบ้าน มีชีวิตของตัวเอง ผมว่าแบบนั้นคือความโปร
แต่ทำไมจำเป็นจะต้องมี gaming house อาจเพราะต้องสร้างภาพลักษณ์ให้ดูพิเศษขึ้นหน่อย เพราะสังคมเรายังไม่ถึงจุดที่ถูกยอมรับอะไรขนาดนั้น ดังนั้นการที่คนมาเห็น ก็อาจจะอ๋อว่า เห็นไหม มี gaming house ด้วย เขาโปรนะ
The MATTER : เกมเมอร์ไทยจะได้เห็นอะไรจาก Garena ในอนาคต
อัลเลน : หนึ่งก็คือ เกมที่เราให้บริการอยู่ เราก็จะพยายามทำให้มันดีที่สุด เพราะว่าเป็นพื้นฐานของ eSports อยู่แล้ว เกมต้องดี บริการต้องดี user experience ต้องดี เราต้องเป็นเกมที่มีอนาคต แล้วก็เป็นเกมที่พัฒนาต่อได้ ไม่ใช่เป็นเกมที่ไม่มีอนาคต สังเกตว่าเกมของเราที่อยู่ถึง 5-6 ปีนี่เยอะมาก หลายเกมดังอยู่แล้วและมีอัพเดท มีคอนเทนต์ มีการแข่งขันอยู่ตลอด คือไม่ต้องห่วง ไม่ว่าจะคุณจะเป็นคนที่เล่นเกมเพื่อความสุขอย่างเดียว หรือเล่นเป็นอาชีพ อันนี้จะเป็นประเภทของกีฬาที่มีอนาคต เป็นเรื่องสำคัญที่เราสัญญาให้ผู้เล่นของเรา และเป็นสิ่งที่ทำอยู่ เป็นหน้าที่ของ Garena อยู่แล้ว
อีกอย่างคือเราต้องรู้ว่ามีเกมอะไรเข้ามาด้วย เพราะโลกของเกมไม่เคยอยู่ที่เดิม มันมีเกมใหม่ เทคโนโลยีพัฒนาอยู่ตลอด เกมก็พัฒนาไปด้วย เราก็ต้องรู้ว่าประเทศไทยเป็นตลาดแบบไหน ผู้เล่นชอบเกมแบบไหน
แล้วเราก็ต้องพัฒนาต่อ คือพยายามให้คนที่มาเล่นเกม ไม่ได้ถูกยัดเยียดให้เป็นนักกีฬา eSports แต่ให้เขามีทางเลือก ให้เวลาเขาเล่นเกมที่เราบริการอยู่ได้รับประโยชน์ ไม่ว่าจะประโยชน์ด้านไหน ความสุขก็ได้ เงินก็ได้ เป็นอาชีพก็ได้ แล้วแต่ เพราะว่าเราตัดสินใจให้เขาไม่ได้ แต่ว่าเวลาที่เขาเล่นเกมของเรามันไม่ใช่แค่เรื่องบันเทิงเท่านั้น แต่มันมีหลายทางที่เขาเลือกได้