การเป็นแม่ที่ดีคืออะไร ?
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์ The Good Bad Mother*
คำถามว่าการเป็นแม่ที่ดีคืออะไร คงเป็นสิ่งที่แม่ๆ หลายคน เมื่อมีลูกแล้ว ตั้งคำถามกับตัวเอง ไปถึงตั้งเป้าว่า จะเป็นแม่ที่ดีของลูก แต่ระหว่างทางนั้น ความหวังและเป้าหมายที่แม่ตั้งให้ลูก เพราะหวังให้ลูกได้ดี ก็อาจจะไปกดดัน และเผลอทำร้าย จนทำให้ลูกมองแม่ว่าเป็นแม่ที่ร้าย หรือแม่ที่ไม่ดีขึ้นมาได้ จนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก
ภาพสะท้อนนี้ ก็เกิดขึ้นใน 나쁜 엄마 หรือ ‘The Good Bad Mother’ ซีรีส์เกาหลี 14 ตอน จากทางช่องโทรทัศน์ JTBC ที่เพิ่งออกอากาศจบไป และทำเรตติ้งสูงถึง 12% และทำสถิติสูงที่สุดตั้งแต่ออกฉาย และยังเป็นสถิติของช่องในสล็อตซีรีส์ทีออกอากาศวันพุธ และพฤหัสบดีด้วย
โดยซีรีส์เรื่องนี้ เล่าถึงความสัมพันธ์ของแม่ลูก ของชเวคังโฮ (อีโดฮยอน) อัยการหนุ่มที่แม้จะมีหน้าที่การงานดี ประสบความสำเร็จในชีวิต แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ ถูกเลี้ยงมาอย่างเข้มงวด และกดดันมากมาย จนความสัมพันธ์ของเขากับจินยังซุน (รามีรัน) ผู้เป็นแม่นั้นห่างเหิน แต่แล้ววันหนึ่ง คังโฮกลับประสบอุบัติเหตุ จนความคิด ความทรงจำกลายเป็นเด็ก 7 ขวบอีกครั้ง ซึ่งสำหรับยังซุนนั้น เป็นเหมือนโอกาสแก้ตัว ในการเลี้ยง และรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับลูกชายอีกครั้ง
ระหว่างการดูซีรีส์เรื่องนี้ เราคงได้เห็นวิธีมากมาย ในการเลี้ยงลูกของยังซุน ที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า เธอคือแม่ที่ดี หรือไม่ดี หรือจริงๆ แล้วการจะให้ลูกได้ดีนั้น แม่จะต้องยอมเป็นแม่ที่ไม่ดีกันนะ? และการยอมเป็นแม่ที่ไม่ดี เพื่อให้ลูกได้ดี สุดท้ายแล้ว มันดีกับลูกจริงๆ หรือไม่?
แม่ที่วางแผนชีวิตลูกทุกอย่างแบบยังซุน และลูกที่เชื่อฟังแม่ทุกอย่างแบบคังโฮ
“ฉันขังแกไว้ในเล้าหมูและบังคับให้แกหายใจไม่ออก เอาแต่สั่งให้แกเรียน เรียน เรียน แล้วก็เรียน ฉันตั้งใจให้แกรวยและเป็นคนมีอำนาจ แต่กลับทำให้เป็นปีศาจไร้หัวใจแทน” – ยังซุน
ชื่อภาษาไทยของซีรีส์เรื่องนี้ คือแม่ดี แม่ร้าย หรือในภาษาอังกฤษก็คือ The Good Bad Mother แต่ถ้าเราดูที่ชื่อภาษาเกาหลี 나쁜 엄마 นั้นแปลได้เพียงแค่ว่า แม่ที่เลวร้าย หรือไม่ดีเท่านั้น ซึ่งหลังจากดูซีรีส์ไปเรื่อยๆ จนถึงตอนจบ คิดว่าทุกคนคงเห็นตรงกันว่า ยังซุนไม่ใช่แม่ที่เลวร้ายแบบในชื่อเรื่อง ทั้งชีวิตของเธอมีแต่ความปรารถนาดี และอุทิศใช้ทั้งชีวิตเพื่อเลี้ยงคังโฮให้ได้ดี เพื่อที่จะมีอำนาจ ร่ำรวย และไม่ถูกดูถูกแบบที่เธอ และสามีเคยโดน
แต่สุดท้าย ระหว่างทางการเติบโตของคังโฮ แม้สุดท้ายเขาจะกลายเป็นอัยการดังที่แม่วางเป้าหมายไว้ให้ แต่เขากลับเต็มไปด้วยบาดแผลมากมายระหว่างเขากับแม่ มีปมบางอย่าง ขาดประสบการณ์วัยเด็กกับเพื่อนๆ และไม่รู้ว่าความฝันที่แม่ฝากฝังให้เป็นของเขาอย่างการเป็นอัยการนั้น เป็นไปเพื่ออะไร รวมไปถึงไม่รู้ว่า ความฝัน และความต้องการจริงๆ ของตัวเองคืออะไร
“ตอนที่ฉันเห็นเด็กๆ เปลี่ยนความฝันกันทุกเทอม ฉันคิดว่ามันไร้สาระ แต่ปรากฎว่าฉันเป็นคนที่ไร้สาระ” – ชเวคังโฮ
สุดท้ายแล้ว หลังคังโฮประสบอุบัติเหตุ และกลับเป็นเด็กอีกครั้ง ยังซุนที่ได้ดูแลลูกอีกครั้ง และหวังจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ของเธอกับคังโฮ ก็กลับยังคงเป็นแม่แบบเดิมอีกครั้ง วางแผนชีวิตของคังโฮทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการที่คิดจะฝากเขาไว้ที่สถานพยาบาล และฆ่าตัวตาย หรือหลังจากนั้น ที่คิดหาคู่หมั้น จับคังโฮแต่งงาน หรือการปั้นเขาให้เป็นคนเลี้ยงหมู เจ้าของฟาร์มแสนสุข โดยการที่คิดว่า ทั้งหมดเป็นแผนที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตของคังโฮ โดยไม่ถามความเห็นของคังโฮ ในฐานะลูกเลย
จนสุดท้าย คังโฮยืนยันกับแม่ว่าเขาอยากเป็นอัยการอีกครั้ง และอยากให้แม่ได้ยอมให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขาชอบบ้าง
“ผมทำตามที่แม่สั่งทุกอย่างแล้วไงครับ ทั้งกินข้าวเยอะๆ ตั้งใจออกกำลังกาย ขยับขา ขยับมือได้แล้วนะครับ ทั้งกินยา ทั้งฝังเข็ม ที่ผ่านมาผมเจ็บปวดมากๆ ตอนที่แม่โยนผมลงไปในน้ำ ผมกลัวมากๆ แต่ผมก็อดทนไว้ครับแม่ เพราะแม่มีความสุข เพราะผมอยากให้แม่มีความสุข แต่ทำไม แม่ไม่ให้ผมทำสิ่งที่ผมชอบครับ ทำไมแม่ทำตามใจแม่ตลอด หรือเพราะในสายตาแม่ ก็เห็นผมเป็นไอบื้อหรอครับ” – คังโฮ
เบื้องหลังของความใจร้าย และการเป็นแม่เจ้าวางแผนของยังซุนนั้น เธอไม่เคยได้อธิบาย หรือบอกเหตุผลให้กับลูกชาย ไม่ว่าตอนที่อยากให้เขาเป็นอัยการ หรือตอนที่ไม่ยอมให้กลับไปเป็นอัยการอีกครั้ง เธอรับบทเป็นแม่ที่ใจร้าย เข้มงวด ซึ่งแม้เราจะรู้กันว่าเธอไม่ใช่แม่ที่ร้าย หรือมีเจตนาที่ร้าย แต่ก็สุดท้ายแล้ว ความเป็นแม่ที่ไม่ดีของยังซุนนั้น ก็อาจเป็นการที่เธอไม่ให้โอกาสคังโฮได้ใช้ชีวิต และมีความชอบของเขา ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูป หรือรักผู้หญิงที่เขารัก และยังผูกความสำเร็จในชีวิตของเขา เป้าหมายที่เธอวางไว้ เป็นเสมือนเป้าหมายในชีวิตของตัวเธอเองด้วย
“ลูกคือผู้ตัดสินผลงานของเราในฐานะพ่อแม่”
ในซีรีส์เรื่องนี้ ยังซุนมีลูกชายคือคังโฮ ในขณะที่รามีรันผู้รับบท ยังซุนนั้น ในชีวิตจริงของเธอก็เป็นแม่ของลูกชายเช่นกัน หลังจากซีรีส์ออนแอร์ เธอให้สัมภาษณ์ว่า ตั้งแต่ได้อ่านบทนั้น เธอคิดว่าเธอรู้สึกเข้าใจตัวละครนี้มาก ทั้งยังมองตัวละครยังซุน ในฐานะแม่ด้วยกันว่า ยังซุนคือแม่ที่น่าสงสาร มากกว่าจะเป็นแม่ที่เลวร้ายด้วย
“คุณจะเป็นแม่ที่ดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับลูกของคุณ ถ้าลูกคิดว่าคุณเป็นแม่ที่ดี คุณก็เป็นแม่ที่ดี ถ้าลูกเรียกคุณว่าแม่ที่ไม่ดี คุณก็คือแม่ที่ไม่ดี ลูกคือผู้ตัดสินผลงานของเราในฐานะพ่อแม่ อย่างไรก็ตาม ฉันไม่ต้องการให้บรรดาแม่ๆ รุนแรงกับตัวเองเกินไป โดยคิดว่าพวกเขาเป็นแม่ที่ไม่ดี และไม่ดีพอสำหรับลูกๆ ของพวกเขา คุณอาจทำเพื่อลูกมากเกินพอแล้ว และบางครั้งหากคุณพยายามมากเกินไปที่จะเป็นพ่อแม่ที่ดี สิ่งที่คุณคิดว่าทำเพื่อลูกอาจส่งผลย้อนกลับและกลายเป็นภาระสำหรับพวกเขา”
ตัวละครยังซุนนั้นเสียใจที่ลูกชายห่างเหิน เพราะสิ่งเดียวที่เป็นเหมือนเป้าหมายของเธอ คือให้เขามีอำนาจมากพอที่จะไม่ถูกเหยียบย่ำ แต่เธอนึกไม่ถึงว่าความสัมพันธ์ของเราทั้งคู่นั้น จะเจ็บปวดขนาดไหน
รามีรันยังให้สัมภาษณ์อีกว่า “นั่นเป็นส่วนหนึ่งว่าทำไมการเลี้ยงดูจึงเป็นเรื่องยาก มันเป็นปริศนาที่ไม่มีใครไขได้ ในซีรีส์ ยังซุนต้องผ่านจุดสูงสุดและจุดต่ำสุดตลอดชีวิตของเธอ ซึ่งทำให้ตัวละครของเธอมีความสัมพันธ์กัน ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นอกเห็นใจและเห็นอกเห็นใจเธอมากขึ้นเมื่อซีรีส์ดำเนินไป โดยส่วนตัวแล้วฉันอยากจะคิดว่า ยังซุนเป็น ‘แม่ที่น่าสงสาร’ มากกว่าเป็นแม่ที่ไม่ดี”
ไม่ว่าจะเป็นแม่ที่น่าสงสาร หรือแม่ที่ไม่ดี ถ้านี่ไม่ใช่ซีรีส์เกาหลีเรื่องแรกของคุณ คุณคงเคยเห็นตัวละครแม่แบบยังซุนในซีรีส์เกาหลีมานับไม่ถ้วน ซึ่งเป็นแม่ที่เข้มงวด ตีกรอบ วางแผนชีวิตทุกสเต็ป การเรียน เพื่อน สถานที่เรียนพิเศษ วางอาชีพในฝันให้ลูก ที่มักเป็นภาพคาแร็กเตอร์แม่ๆ ที่เราเห็นเป็นประจำในซีรีส์เกาหลี จนเคยเกิดกระทู้ในเว็บไซต์ Quora เลยว่า แม่เกาหลีนั้น เข้มงวดแบบในซีรีส์เหล่านี้จริงๆ ไหม?
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เกาหลีใต้ยังคงเป็นประเทศที่ให้ความสัมพันธ์กับสถาบันครอบครัว และบทบาทหน้าที่ของพ่อและแม่ ไปถึงลูกๆ และการถ่ายทอดเหล่านั้นเอง ก็สะท้อนออกมาในอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างซีรีส์ หรือภาพยนตร์อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะหน้าที่ของแม่ ที่นอกจากกิจกรรมภายในบ้านแล้ว ก็ต้องเป็นคนดูแลลูกเป็นสำคัญ ทั้งสนับสนุนพวกเขาในทุกด้านของความพยายาม และมองว่าลูกของพวกเขาต้องได้รับการศึกษามากกว่าตัวเอง ควรได้เกรดที่ดี เป็นผลให้เด็กมักถูกคาดหวังให้ทำงานได้ดี เพื่อให้พ่อแม่บรรลุเป้าหมาย และในซีรีส์เรื่องนี้ ก็เหมือนที่คังโฮถูกคาดหวัง
มีวิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตด้านจิตวิทยาในหัวข้อว่า ‘แม่ชาวเกาหลีมีความผูกพันทางอารมณ์กับลูกอย่างไรในช่วงมัธยมต้นและมัธยมปลายในลักษณะเชิงกลยุทธ์’ เนื่องจากลูกๆ เติบโตห่างจากพ่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในช่วงวัยนี้ และโดยไม่รู้ตัว แม่ได้เข้ามาสร้างสายสัมพันธ์แห่งความไว้เนื้อเชื่อใจที่สมดุลระหว่างการเลี้ยงดูและความกลัว ยิ่งเมื่อความห่างเหินทางอารมณ์ที่เพิ่มขึ้นของพ่อ (จากทั้งภรรยาและลูก) เกิดขึ้น
ในช่วงนี้ จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘สุญญากาศทางอำนาจและความปลอดภัย’ ที่ผู้เป็นแม่ย้ายเข้ามาครอบครองอย่างรวดเร็ว และต่อมากลายเป็นเบี้ยต่อรองสำหรับเธอ เมื่อลูกๆ ก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งในประเด็นนี้ ก็คล้ายคลึงกับคังโฮและแม่ ที่แม้จะเติบโตมาโดยไม่มีพ่อ แต่ความสัมพันธ์ของคังโฮกับแม่ ก็ห่างเหินไป เมื่อเขาเข้าสู่วัยผู้ใหญ่จริงๆ
ถึงอย่างนั้น ในเรื่องก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ของแค่คังโฮ กับยังซุนให้เราเห็น แต่ยังฉายภาพแม่ที่หลากหลาย อย่างมิจูเอง หรือแม่ของมิจู และซัมชิก ที่ไม่ว่าลูกจะทำผิดอะไรมา ก็พร้อมจะเคียงข้าง ให้โอกาส และอภัย แม่อย่างเลขาฮวังซูฮยอน ที่เสียสละตัวเองเพื่อปกป้องลูกด้วย
ทุกคนต่างทั้งเคยมีช่วงเวลาที่คิดว่าตัวเองเป็นแม่ที่แย่ และผิดพลาดไปเช่นกัน แต่สุดท้ายแล้ว อย่างที่นักแสดงรามีรัน กล่าวไวว่าคนที่ตัดสินว่าคุณแม่เป็นแม่ที่ดีหรือแย่นั้น ก็คงเป็นลูกๆ ผู้ที่ตัดสินผลงานของเราในฐานะพ่อแม่
อ้างอิงจาก