“ร้องไห้ทำไม ไหนมีอะไรบอกกันได้นะ”
ประโยคที่เราอยากได้ยินจากคนสำคัญในวันที่ใจรู้สึกอ่อนล้า ไม่จำเป็นต้องยื่นมือมาช่วยหาทางออกให้กันก็ได้ แต่ขอแค่อยู่เคียงข้างกันแบบนี้ก็อบอุ่นใจแล้ว
ในวันที่เราหกล้มเข่าแตก เราก็ต้องเปิดกล่องปฐมพยาบาลมาทำแผลและปิดด้วยพลาสเตอร์ให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้แผลเกิดการติดเชื้อและอาการแย่ลง ในวันที่เราใจสลาย การมีใครสักคนที่สามารถนั่งอยู่เป็นเพื่อนเราจนกว่าจะรู้สึกดีขึ้นก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน เพราะเมื่อแผลใจลุกลามแล้ว มันสามารถทำร้ายเราได้มากกว่าที่คิด
สายสัมพันธ์จะแน่นแฟ้นขึ้น เมื่อเราปฐมพยาบาลใจให้กัน
การซัปพอร์ตใจกันคือการแสดงความเข้าใจและห่วงใยให้ใครอีกคน จะเป็นในรูปแบบคำพูดหรือการกระทำก็นับเป็นการซัปพอร์ตใจทั้งสิ้น การช่วยเพื่อนจองคิวนักบำบัด การสวมกอดคนรักในตอนที่เขาร้องไห้ หรือแม้แต่การยื่นช็อกโกแลตร้อนให้เพื่อนจิบหลังจากที่เขาเล่าสิ่งไม่สบายใจออกมาจนหมดก็ใช่ จากรายงานเรื่องความเครียดในปี 2022 ของสมาคมจิตวิทยาอเมริกันพบว่า การซัปพอร์ตใจกันมีผลกับการลดความเครียดลงและทำให้ความเป็นอยู่โดยรวมของเราดีขึ้นด้วย
ในทุกความสัมพันธ์ที่สำคัญกับเรา ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ของเพื่อนสนิทหรือคนรัก การซัปพอร์ตใจกันและกันจะช่วยดึงให้คนสองคนเข้ามาให้ใกล้กันยิ่งขึ้น เข้าใจความคิดและการกระทำของกันและกัน รวมไปถึงเพิ่มความเชื่อใจให้สนิทกันอย่างเหนียวแน่นขึ้นไปอีก หลายคนพบว่าเพื่อนสนิทที่อยู่ด้วยกันมายาวนาน ก็คือคนที่เราคอยปลอบใจกันและกันเวลาร้องไห้ พากันไปร้องคาราโอเกะสุดเสียงในเวลาที่อกหัก และจับมือไว้ให้แน่นในเวลาที่เจอปัญหา
เพราะเราต่างคนต่างรู้สึกถึงความรัก ความห่วงใย และการได้รับการยอมรับที่มีให้กันและกันในวันที่เหนื่อยล้า ทำให้ความสัมพันธ์ของเราแข็งแรงขึ้น ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรก็ตามที่จะมาทำร้ายสายใยระหว่างเรา เราจะจัดการมันไปให้พ้นทางได้ดียิ่งขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเจอคนสำคัญที่คอยกอดเราเอาไว้ในวันที่ร่วงหล่นเจอแล้ว ให้รักษาเขาไว้ให้ดีที่สุดเลยนะ
ไม่จำเป็นต้องดึงให้ลุกขึ้นยืน แต่นั่งอยู่ด้วยกันจนกว่าจะลุกไหว
ความเข้าใจคือสิ่งสำคัญในการซัปพอร์ตใจใครสักคน ลองมองปัญหาในมุมมองของอีกฝ่ายว่าถ้าเราเป็นเขา เราจะเข้าใจมันไหม เราจะรู้สึกอย่างไร นอกจากเราจะช่วยปลอบโยนจิตใจเพื่อนหรือคนรักได้แล้ว การมองปัญหาอย่างรอบด้านนั้นช่วยให้เราเข้าใจพวกเขาได้มากขึ้น และทำให้ความสัมพันธ์แข็งแกร่งขึ้นด้วย
สิ่งแรกที่หลายคนลงมือทำในเวลาที่มีคนต้องการการซัปพอร์ตใจ คือการช่วยหาทางออกให้ แต่ความจริงแล้ว ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเจอกับปัญหาอะไรมา อย่าเพิ่งรีบแนะนำวิธีแก้ปัญหา และเมื่ออีกฝ่ายกำลังพูดสิ่งที่ตัวเองกำลังรู้สึกอยู่ เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเป็นผู้เล่าอยู่ฝ่ายเดียว การตอบโต้อย่างเข้าอกเข้าใจก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะความเงียบอาจทำให้เขารู้สึกแย่กับการเลือกจะมาเปิดใจให้เราฟังได้
มีงานศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าการรีบลงมือแก้ปัญหาหรือให้คำปรึกษาโดยที่อีกฝ่ายยังรู้สึกแย่อยู่ จะไม่เกิดการรับคำปรึกษาเหล่านั้นไปใช้จริง เหตุผลคือคนที่ใจพังมาก็แค่ต้องการใครสักคนมารับฟัง หรือใครสักคนที่สามารถแสดงออกให้เห็นได้ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร และสิ่งที่แย่กว่านั้นคือ ถ้าเรารีบให้คำปรึกษามากจนเกินไป บางครั้งอีกฝ่ายอาจรู้สึกว่าพวกเขาไม่มีความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยตัวเองจนต้องให้คนอื่นมาช่วยเลยเหรอ
เจนนิเฟอร์ พรีม (Jennifer Priem) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ศึกษาด้านการสื่อสารและความเครียด ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการซัปพอร์ตใจใครสักคนเอาไว้ว่า การรีบเข้าไปช่วยแก้ปัญหาหรือแนะนำว่า “ทำอย่างนั้นสิ ทำอย่างนี้สิ” จะยิ่งทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอึดอัดใจ หรือรู้สึกว่าเป็นเรื่องผิดที่จะรู้สึกแย่กับเรื่องนี้ได้ ไม่ว่าเรื่องราวของอีกฝ่ายจะสามารถแก้ปัญหาได้ง่ายเพียงใด เก็บคำแนะนำของเราเอาไว้ก่อน จนกว่าเขาจะถามหาคำแนะนำของเรา
การซัปพอร์ตใจที่ได้ผลดี คือการปล่อยให้เขาพูดสิ่งที่รู้สึกออกมาทั้งหมด และตอบโต้ให้เขารู้สึกว่าเราเข้าใจว่าทำไมเขาถึงรู้สึกแย่ และความรู้สึกลบในใจของเขานั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ อาจใช้คำพูดแสดงให้พวกเขาเห็นว่าถ้าเป็นเราเจอเหตุการณ์แบบนั้น เราก็คงจะรู้สึกแบบเดียวกัน เน้นการนั่งปล่อยอารมณ์เป็นเพื่อน ยังไม่ต้องเน้นการหาทางออก รอให้เขาพร้อมที่จะลุกขึ้นเดินต่อก่อนค่อยว่ากันก็ได้
ทำอย่างไรหากเรายังไม่เจอคนที่เรารู้สึกสบายใจ
ถ้าไม่ค่อยได้รับการซัปพอร์ตใจจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่าเรายังไม่เจอคนที่เรารู้สึกโอเคที่จะเล่าเรื่องราวให้ฟัง หรือไม่มีใคร ความรู้สึกว่าเราไม่ควรค่ากับการถูกรักและเชื่อว่าตัวเองคือเหตุผลของเรื่องแย่ที่เกิดขึ้นทุกอย่างก็จะเกิดขึ้นมาในใจได้ และความรู้สึกเหล่านี้จะกัดกินความนับถือในตัวเองและสุขภาพจิตของเรา และทำให้มุมมองที่มีต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไปได้ด้วย
ดังนั้นถ้าไม่มีใครให้เกาะเกี่ยวไว้ในยามล้มจะทำยังไงดี สิ่งสำคัญที่สุดในยามที่ใจเราพังไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม คือการไม่ซ้ำเติมตัวเองว่าเราไม่เหลือใคร อย่าปล่อยให้การที่เราไม่มีใครให้คุยด้วยมาทำร้ายใจเราซ้ำ ลองหาอะไรที่ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นมาทำ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลตัวเอง ขอบคุณร่างกายตัวเองที่พาให้เรามาถึงจุดนี้ด้วยการไปออกกำลังกาย โยคะ นวดผ่อนคลาย ทำอะไรที่เราชอบ ขอบคุณจิตใจตัวเองที่ยังแข็งแกร่งได้อยู่ด้วยการนั่งสมาธิ ฟังเพลง อ่านบทความเยียวยาใจ
ถ้ารู้สึกอยากร้องไห้ ก็ร้องไห้ออกมาได้เช่นกัน ในยามที่เราใจพัง เราก็อยากร้องไห้เป็นเรื่องปกติ เพราะการได้ร้องไห้สามารถช่วยให้ใจเราผ่อนคลายด้วยสารเคมีที่หลั่งมาพร้อมกับน้ำตาอย่างออกซิโทซิน และเอนโดรฟิน เหมือนการได้เอาความทุกข์ใจออกไปผ่านทางน้ำตานั่นเอง
การได้มีใครสักคนที่คอยห่วงใยจิตใจเราอยู่เสมอ นับเป็นเรื่องที่โชคดีมากเรื่องหนึ่งเลย
อ้างอิงจาก