ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเมื่อมีข่าวว่า The Lion King Musical จะมาจัดการแสดงที่ประเทศไทย หลายคนก็คงตั้งตารอคอยเพราะละครเวทีเรื่องนี้ได้รับการโปนโมตว่าเป็นละครเวทีอันดับ 1 ของโลก ในปัจจุบันได้ทำรายได้ทั่วโลกเกือบพันล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังจากเปิดทำการแสดงมาตั้งแต่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1997 หรือ 22 ปีก่อน หรืออีกทางหนึ่งอาจพูดได้ว่ากลายเป็นสิ่งที่ทำเงินให้กับทางดิสนีย์ได้ไม่แพ้หนังเลยทีเดียว
นอกจากนี้ The Lion King ยังเป็นละครบรอดเวย์ที่แสดงมายาวนานเป็นอันดับสาม เป็นรอง The Phantom of the Opera ที่ครองอันดับหนึ่ง และ Chicago ที่ตามมาในอันดับสอง
แม้ว่าเราจะคุ้นเคยกับ The Lion King ในเวอร์ชั่นอนิเมชั่นของทางดิสนีย์เป็นอย่างดี แถมในปีนี้ยังมี The Lion King ในเวอร์ชั่นที่เป็น Live Action ให้เราดู แต่ The Lion King ในเวอร์ชั่นละครเวทีที่กำกับโดย จูลี่ เทย์มอร์ (Julie Taymor) ก็ได้ให้ประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป
จากฉากเปิดตัวด้วย Circle of Life และเสียงร้องอันทรงพลังของ Ntsepa Pitieng ที่แสดงเป็น ‘ราฟิกิ’ ก็ชวนทำให้รู้สึกขนลุกไปกับความอลังการที่มาพร้อมฉากและเหล่าบรรดาสัตว์ต่างๆ ที่ค่อยๆ เรียงเท้าเข้ามาจากทางเดินในโรงละคร ชวนให้ตื่นต้าตื่นใจ และให้เห็นนักแสดงกันอย่างใกล้ชิด
ดนตรีที่ใช้ในการแสดงในละครเวทีแห่งนี้ก็เป็นการออกแบบระหว่างเครื่องดนตรีท้องถื่นของแอฟริกาผสมผสานเข้ากับดนตรีร่วมสมัยของทางตะวันตกซึ่งเป็นไปอย่างลงตัวและชวนให้เพลิดเพลินไปอีกแบบ โดยมีไวทยากรในครั้งนี้เป็น Andy Massey
การออกแบบเสื้อผ้าของแต่ละตัวละครก็ชวนให้สนใจวิธีการสร้างให้ออกมาสวยงามและมีลูกเล่นมากมาย ซึ่งการออกแบบเหล่านี้ทางทีมงานได้เน้นไปที่การใช้ของจากธรรมชาติเพื่อให้เข้ากับความเป็นทุ่งหญ้าแห่งสะวันนาตามเนื้อเรื่อง พยายามรักษาความเป็นธรรมชาติ และต้องการแสดงให้เห็น Circle of Life ที่เป็นธีมหลักของเรื่อง The Lion King เข้าไว้ด้วยกัน
แม้ว่าเมื่อตอนที่แสดงเราจะไม่ได้เห็นรายละเอียดของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย แต่จริงๆ แล้ว การออกแบบนี้ต้องใช้ความละเอียดและปราณีตไม่น้อย เพื่อให้เครื่องแต่งกายออกมาฟังก์ชั่น สวยงาม และเคลื่อนไหวได้ดีที่สุด อย่างเช่นหน้ากากของมูฟาซาและสการ์ที่เราได้เห็นกันนั้นมีน้ำหนักเพียงกล้วยลูกเดียว
เครื่องแต่งกายในละครเวทีนี้ยังมีความสำคัญตรงที่ไม่ได้ทำมาเพื่อตัวละครที่มีชีวิตเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเป็นส่วนหนึ่งของฉาก เป็นต้นไม้ เป็นทุ่งหญ้า ซึ่งทั้งหมดนี้ทำงานร่วมกันจนเกิดเป็นละครเวทีที่มีความยิ่งใหญ่ด้าน Production จนน่าประทับใจ ซึ่งการสร้างหุ่นเชิดและหน้ากากในการแสดงใช้เวลามากถึง 37,000 ชั่วโมง เลยทีเดียว
รวมไปถึงการสร้างฉากสีสันของท้องฟ้าที่ดูสมจริงและสวยงาม การไล่ระดับสีไม่ว่าจะเป็นท้องฟ้ายามเช้า ยามเย็น หรือค่ำคืน ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นความเป็นสะวันนาได้อย่างดี ฉากเหล่านี้ก็ยิ่งทำให้งานแสดงดูน่าตื่นตาตื่นใจมากขึ้นไปอีก
เรื่องราวดำเนินไปอย่างที่หลายคนก็น่าจะจำได้ขึ้นใจ ไม่ว่าจะเป็นความดื้อรั้นของซิมบ้าที่ไปถึงสุสานช้าง หรือฉากที่ยังคงเศร้าเสมออย่างการตายของมูฟาซา (แสดงโดย Mthokozisi Emkay Khanyile) จนกระทั่งซิมบ้าที่ถูกสการ์ (แสดงโดย Antony Lawrence)ไล่ออกจากผาทรนง แม้เรื่องเล่าจะยังคงเดิม แต่ด้วยฉากที่อลังการและมีลูกเล่นชวนให้ตื่นตาตื่นใจ จึงไม่ได้รู้สึกเป็นการดูหนังซ้ำแต่อย่างไร
และแน่นอนว่าเมื่อเสียงเพลง Hakuna Matata ขึ้นและการปรากฏตัวของ ทิโมน ซึ่งแสดงโดย Nick Mercer และพุมบ้า แสดงโดย Pierre van Heerden และซิมบ้าในวัยหนุ่มที่แสดงโดย Jordan Shaw ก็ชวนทำให้คึกครื้นมากขึ้น รวมถึงความน่ารักของสองเพื่อนซี้อย่างทิโมนและพุมบ้าที่ยังคงสร้างสีสันได้ไม่แพ้ในเวอร์ชั่นอื่นๆ แถมในครั้งนี้ยังมีการเซอร์ไพรส์เล็กๆ จากทิโมนที่ต้องลองไปชมกัน
และแน่นอนว่าเมื่อทิโมนพูดขึ้นด้วยประโยคอันคุ้นเคยอย่าง “I can see what’s happening” ก่อนที่พุมบ้าจะคอยเป็นลูกคู่ส่งเสียงให้ และเพลง Can you feel the love tonight ก็บรรเลงขึ้น ท้องฟ้าถูกระบายให้เป็นยามค่ำคืนจริงๆ ตามบทเพลง ก็ชวนให้รู้สึกอินไปกับบรรยากาศได้ไม่ยาก
จนกระทั่งถึงเพลง He lives in you ที่เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่น่าประทับใจมากที่สุด ด้วยฉากที่อลังการ การแต่งแต้มด้วยดวงดาว และการพรางตัวของเหล่านักแสดงที่ค่อยๆ เคลื่อนตัวกลายเป็นมูฟาซาที่พูดกับซิมบ้าที่กำลังหลงทางในใจตัวเอง นับได้ว่าเป็นฉากที่ควรไปดูสักครั้ง เพราะชวนให้ตื่นตาตื่นใจกับการออกแบบเวทีที่อาจจะหาดูได้ยาก
โดยรวมแล้ว The Lion King Musical ก็เป็นอีกหนึ่งละครเวทีระดับโลกที่หากมีโอกาสก็น่าไปลองชมกันสักครั้ง ด้วยความยิ่งใหญ่ของฉาก เครื่องแต่งกาย และเสียงเพลง ที่จะให้ประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากเวอร์ชั่นอื่นๆ และทำให้เราสัมผัสกับ Circle of Life ผ่านองค์ประกอบต่างๆ ที่ใช้ในการแสดงในครั้งนี้