จะมีสักกี่คนที่กล้าบอกคนอื่นอย่างหน้าชื่นตาบานว่า ‘ทำพลาดไปแล้วจ้า’ มีแต่จะพยายามปกปิดความผิดพลาดนั้นให้เนียนกริบที่สุด เพื่อที่จะประกาศถึงผลลัพธ์อันสมบูรณ์แบบที่สุดจากความตั้งใจอันเกินร้อย
แต่ก็นั่นแหละ ความสมบูรณ์แบบไม่มีวันเกิดขึ้นจริง หากไม่พบเจอกับความผิดพลาดเสียก่อน แม้กระทั่งคนที่ประสบความสำเร็จระดับโลกก็เคยผิดพลาดมาก่อนกันทั้งนั้น เบียร์สัญชาติเบลเยี่ยมที่ประสบความสำเร็จทั่วโลกอย่าง Hoegaarden จึงได้ตั้งคำถามนี้กระทั่งสูตรเบียร์ของตนเอง ว่าทดลองสูตรพลาดกันมาเท่าไรแล้วหนอ ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 700 ปีก่อน บาทหลวงชาวเบลเยี่ยมท่านหนึ่งได้ทดลองหมักเบียร์โดยใช้ส่วนผสมมากมายหลายต่อหลายครั้ง ลองผิดลองถูก พลาดแล้วพลาดอีก จนค้นพบรสชาติเปรี้ยวอมหวานอันเป็นเอกลักษณ์ที่ได้มาจากเปลือกส้มและผักชี!
จึงเป็นที่มาของแคมเปญ The (Secret) Process ที่ว่าด้วยเคล็ดลับ (ที่พร้อมเปิดเผย) อันนำไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งหนึ่งในเคล็ดลับความสำเร็จที่แคมเปญเขาอยากบอกเล่าก็คือ ‘ความผิดพลาด’ นั่นเอง โดยบอกเล่าผ่านศิลปินที่ประสบความสำเร็จอย่าง บัว-วรรณประภา ตุงคะสมิต Papercut Artist เจ้าของผลงานโฆษณาชุด Artquarium ที่ดังไกลจนคว้ารางวัลจาก Cannes Lions 2016 แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ถ้าเธอไม่เคยผิดพลาด แคมเปญนี้คงไม่เลือกเธอมาเล่า
บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการตัดกระดาษพลาด อย่างที่บอกมีไม่บ่อยหรอกที่ใครจะมานั่งเล่าความผิดพลาดของตัวเองให้คนอื่นฟัง
เพราะความผิดพลาดคือครูที่ดีที่สุด ถ้าไม่อยากพลาดก็มาเรียนรู้จากความผิดพลาดกันเถอะ
รู้สึกอย่างไรที่ต้องเอาความผิดพลาดของตัวเองมาเล่าให้คนอื่นฟัง
ถ้าพูดถึงความผิดพลาดหลายๆ คนไม่ค่อยอยากเอามาโชว์อยู่แล้ว เราพยายามจะปกปิดความผิดพลาดให้เนียนที่สุด แต่แคมเปญนี้เหมือนเอาความผิดพลาดมาเล่า ถ้าเราเจอความผิดพลาดพวกนี้เราจะทำยังไงกับมัน ซึ่งโดยส่วนตัวงานเราก็อยู่กับความผิดพลาดเสมออยู่แล้ว การตัดงานต้องตัดขาด ไม่ขาดก็หล่น โดนขยำ น้ำหกใส่ มีเหตุผลเกิดขึ้นได้เยอะ แต่พอผิดพลาดแล้วจะยังไงต่อไป
จริงๆ สบายใจขึ้นนะ แทนที่เราจะมานั่งปกปิดว่าฉันผิดพลาด แต่นี่มาแบให้เห็นเลย ว่าฉันพลาดก็เป็นแบบนี้ ฉันไม่ได้เพอร์เฟกต์ คือเราชอบความเพอร์เฟกต์ แต่ก็รู้ว่าเราเป็นแค่มนุษย์ มันก็ได้เท่าที่ได้
กว่าจะออกมาเป็นผลงาน Papercut แต่ละชิ้น ขั้นตอนไหนยากที่สุด
ขั้นตอนทั้งหมดเหมือนการวาดรูป คือร่าง ตัด จบ แค่นี้เลย เพียงแต่ว่าในระหว่างนั้น อาจมีเพิ่มตรงนั้นตรงนี้นิดนึง ซึ่งการร่างเป็นกระบวนการที่ยากที่สุด เพราะเราไม่ได้มีกระบวนการคิดที่ดีมาก ไม่ได้เรียนทางด้านศิลปะมาโดยตรง ออกแนวครูพักลักจำมากกว่า คือพอไปสู่กระบวนการตัดอาจจะไม่ยากแล้ว หนึ่ง เราอาจจะชินด้วย สอง คือเราชอบตอนตัด คือทำยังไงให้ไม่ขาด หรือตัดให้ขาดแต่ไม่ให้พลาด ต้องดูว่างานนี้ต้องการความละเอียดแค่ไหน ถ้าละเอียดมากก็ต้องพลาดน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
จริงๆ แล้วสามารถหลีกเลี่ยงความผิดพลาดได้ไหม
ได้นะ แต่ต้องมีสติ บางทีเราก็ทำเพลินๆ เปิดยูทูบดูละครไปด้วย จริงๆ คือไม่ได้ดู แต่ให้มีเสียงเหมือนมีคนคุยด้วย เพราะทำงานคนเดียวจะเหงา ต้องแยกประสาทนิดหนึ่ง แต่ถ้าบางงานต้องจดจ่อหน่อยก็อาจจะฟังเพลงหรือปิดไปเลย เพราะบางทีถ้าจดจ่อกับเพลงหรือไดอาล็อกจะดีกว่าเสียงข้างนอก เพราะเสียงข้างนอกคาดเดาไม่ได้ แต่สิ่งที่เราเปิดคาดเดาได้ เพราะเราทำงานแล้วไม่ได้เจอกับสิ่งที่เป็นมนุษย์ เลยขออะไรที่เป็นมนุษย์เข้ามาในหัวบ้าง ไม่อย่างนั้นสมองจะทื่อ
อยากให้เล่าถึงอารมณ์ตอนตัดพลาด
รู้สึกเซ็ง ร้องโวยวายออกมา ดิ้นพล่านกับตัวเอง ขอย้อนกลับไปสัก 5 วิก่อนตัดได้ไหม (หัวเราะ) ต้องหาวิธีการกลับมา ถ้าเวลาไม่พอก็ต้องรีบคิดให้เร็วว่าจะทำยังไงต่อดีนะ ซึ่งบางทีก็ถามเพื่อนบ้าง เช่นมีกาวอะไรที่สามารถติดได้ไหม ถ้าไม่ได้ก็หาดูในยูทูบหรือเปิดหนังสือว่ามีวิธีแก้ไหม แต่ส่วนใหญ่เขาไม่ได้บอกวิธีแก้ตรงๆ เราก็เข้าใจว่าสงวนนิดหนึ่ง บางทีเราก็เดาเอาเองบ้าง ถ้าเป็นลายธรรมชาติๆ ก็ไม่ได้เป๊ะมากจะมีวิธีแก้อยู่ แต่ถ้าเป็นลายสมมาตรก็ต้องแก้ให้เท่ากันทั้งสองข้าง
ความผิดพลาดเป็นครูของเราจริงไหม แตกต่างจากการที่มีครูมาสอนอย่างไร
คนมาบอกเราไม่ค่อยเชื่อ เพราะเราเป็นคนดื้อมากๆ ชีวิตที่ผ่านมีคนบอกให้ทำอะไรก็ไม่ค่อยทำ ดื้อเงียบ รู้ว่ามันดีแต่ก็ไม่ทำ พอได้ทำผิดเองจะเข้าใจกระบวนการมากกว่าว่าทำไมถึงผิด จะรู้ได้จากผลกระทบที่ตามมา สมมติเราเขียนงานแล้วมีคนมาบอกเราว่ามันไม่ดี แต่เราเชื่อว่าเขียนแบบนี้แหละดีแล้ว แต่ปรากฏว่าผลมันไม่ใช่อย่างที่เราคิด คือมันไม่ดีจริงๆ ผลสะท้อนกลับมาทำให้เราจำได้มากกว่ามีคนมาบอก
เชื่อในการทำซ้ำ แล้วจะทำให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นไหม
เชื่อแค่บางส่วน คิดว่าบางเรื่องทำซ้ำมากก็ไม่ดี ต้องดูด้วยว่ามีกรอบเวลาไหม จะทำซ้ำเรื่อยเปื่อยจนเลยเวลาหรือเปล่า หรือจะไม่ซ้ำเลยก็ไม่ได้ อาจจะพูดได้ไม่เต็มปากว่าซ้ำๆ จะดี แต่เราเชื่อในการฝึกมากกว่า การซ้ำคือการทำไปเรื่อยเปื่อย ไม่ได้เรียนรู้อะไรเท่าไร แต่ถ้าฝึกจะมีกระบวนการ ว่าถ้าตัดรอบแรกไม่สวยเพราะอะไร รอบสองแก้ตรงนี้ รอบสามตบจากรอบแรก การฝึกจึงดีกว่าการทำซ้ำ
ได้เรียนรู้อะไรจากความผิดพลาด
อย่างน้อยก็ได้เรื่องสติ ว่าต้องมีสติกว่านี้หน่อย อย่างเราเล่นเกมมาริโอ้รัน แล้วกระโดดไปตาย หรือพลาดเหรียญสำคัญ คราวหน้าเราก็ต้องเล็งใหม่ เพราะมันวิ่งกลับมาไม่ได้ การตัดกระดาษเราใช้เวลากับมันเยอะมาก เราชอบเวลาที่ตัดมาก แต่จะมาพังเพราะเส้นที่เราตัดพลาดแค่นั้นได้ยังไง ถ้าซ่อมแล้วไม่เวิร์กก็เอาอย่างอื่นมาเสริมเข้าไปแทน บางทีมันดันสวยกว่าเดิมด้วยซ้ำ ขึ้นอยู่กับเราว่าปิดตัวเองหรือเปล่า ทุกอย่างสามารถดิ้นได้ ถ้าเราไม่หยุด
สมัยนี้อะไรๆ ก็มีแต่ shortcut ไปสู่ความสำเร็จ ทางลัด รวดเร็ว ฉับไว ส่วนตัวเชื่อแนวคิดพวกนี้ไหม
ไม่ค่อยเชื่อมาก แต่จริงๆ ใจเราก็ชอบอยู่แล้วอะไรที่ได้ง่าย ได้เร็ว มันก็ดี แต่อย่างงานเราต้องใช้เวลา ไม่มีอะไรที่ได้เลย เสร็จเลย เจ๋งเลย นอกจากจะเป็นอัจฉริยะจริงๆ และขึ้นอยู่ว่างานนั้นๆ อยู่ในมือใครด้วย คือทุกคนไม่เท่ากัน ถ้างานอยู่ในมือคนนี้อาจจะไปได้ไวกว่า หรือบางคนอาจช้าหน่อย แต่ก็ไปถึงจุดมุ่งหมายพร้อมกันก็ได้ เหมือนสมัยก่อนที่เป็นเด็กเรียน คิดว่าเพื่อนที่ไม่เรียนจะดีกว่าได้ไง แต่ตอนนี้มันดีกว่าแล้ว (หัวเราะ)
เพราะฉะนั้นต้อง Hard work ใช่ไหม
ทำงานพอดีๆ ดีกว่า เพราะสุขภาพจะแย่ เหมือนแต่ก่อนรู้สึกว่าทำงานหนักก็ดี แต่จริงๆ เราเป็นคนขี้เกียจมาก เพราะฉะนั้นเราทำงานหนักไม่ได้ งั้นเราทำงานเท่าที่เราจะทำได้ ณ จุดนั้น เท่าที่เวลาจะมีดีกว่า แต่ไม่ถึงขั้นไม่ทำเลยเพราะมัวแต่เลือกงานที่สบาย เพราะเราก็ไม่ใช่ศิลปินดัง แต่ไม่ได้หมายความว่าศิลปินดังจะทำอะไรก็ได้ เพราะเขาได้สะสมมาแล้ว เขาได้ใช้เวลาของเขามาแล้ว อาจจะเป็นศิลปินอายุมากหรือศิลปินอายุน้อยก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นที่เขาได้อยู่กับสิ่งนั้นเยอะกว่าคนอื่น
หลังจากที่แคมเปญออกมา มีฟีดแบ็คอย่างไร
มีฟีดแบ็คในคอมเมนต์บอกว่า ทำไมไม่ใช้เลเซอร์ตัด (หัวเราะ) เราก็คิดอยู่ว่าเออก็จริง แต่ก็เพราะเราชอบใช้มือตัดก็แค่นั้นเอง เรื่องความลำบากก็เป็นของเราเอง ต่อให้เราใช้เลเซอร์สุดท้ายเราก็รู้สึกว่าขอตัดหน่อยได้ไหม อย่างน้อยก็ให้เขาเห็นว่ากระบวนการนี้ยังมีอยู่นะ อย่างศิลปินที่เราชอบ เขาก็ตัดมือ บางงานที่ต้องโชว์เยอะมากก็ต้องใช้เลเซอร์มาช่วย แต่คอนเซปต์เขายังเหมือนเดิม ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรนะ แล้วแต่วิธีการแก้ปัญหาของแต่ละคน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็เป็นงานที่ออกมาจากเรานั่นแหละ ก็แค่เปลี่ยนรูปแบบไป แต่มีร้านเลเซอร์แนะนำไหมล่ะ (หัวเราะ)
ถ้ามีคนมาหัดทำทีหลัง แต่ผลงานตามทันแล้ว จะรับมืออย่างไร
ต้องยอมรับว่ามีอยู่แล้ว คือ Papercut เป็นของที่ไม่ได้เกินเอื้อม แค่ฝึกใครๆ ก็ทำได้ เพราะเราก็ไม่ได้เป็นคนแรก เราดูงานคนอื่นมาเหมือนกัน ก็แค่ทำงานของเราต่อไป แต่แรงกดดันแบบนี้ดี ทำให้เรารู้สึกอยากทำงานเยอะขึ้นกว่าเดิมหรือดีขึ้น ทำให้เราไม่ย่ำอยู่กับที่ เพราะการเปรียบเทียบเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว เราต้องอยู่กับมันให้ได้
สุดท้ายแล้วคนเราจะยอมรับความผิดพลาดของตัวเองได้ยังไง
บางทีเราก็ไม่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเองเหมือนกันนะ พอเราคิดว่าเราดีเราเก่งก็อาจจะยอมรับยาก แต่ถ้าคิดว่าเราไม่ได้เก่ง แล้วยอมรับคนอื่นว่าเขาดีกว่าก็อาจจะยอมรับได้ ไม่ใช่อยู่แต่กับตัวเอง พยายามให้อคติน้อยลง เปรียบเทียบมากไปก็ไม่ดี เปรียบเทียบน้อยไปก็ไม่ดี อย่างถ้าเราเอาพลังตอนนี้ย้อนกลับไปทำเมื่อสิบปีที่แล้ว งานก็ต้องสวยมากใช่ไหม เพราะเราเอาเวลาและประสบการณ์ที่สะสมตอนนี้กลับไปทำ ต้องพยายามยอมรับว่า เราทำได้เต็มที่แล้ว ณ ตอนนั้น แต่ก็ไม่ลืมว่ามันไม่ได้ดีที่สุด