ช่วงล็อกดาวน์รอบที่ผ่านมา คุณอาจจะเป็นคนหนึ่งที่เลื่อนผ่านหน้าฟีดและเห็นคนแชร์เรื่องราวของแบรนด์นี้ผ่านตา เพราะ Freshket ถูกพูดถึงในฐานะแพลตฟอร์มส่งวัตถุดิบออนไลน์ที่แฟร์กับเกษตรกรและไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ตอบรับความเชื่อของคนรุ่นใหม่ที่ว่า ธุรกิจที่พวกเขาอยากอุดหนุนคือธุรกิจที่สร้างอิมแพ็กให้กับสังคม
ประโยคดังกล่าว เป็นเรื่องเดียวกับที่อยู่ในหัวของ ‘เบลล์—พงษ์ลดา พะเนียงเวทย์’ ซีอีโอของ Freshket นับตั้งแต่วันแรกที่เธอเริ่มต้นธุรกิจนี้
เบลล์เป็นเจ้าของสตาร์ตอัพในตลาดไทยที่ก็รู้กันดีว่าเป็นตลาดที่ท้าทาย และไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายเท่าไหร่นัก แต่ Freshket ก็ยังคงได้รับเงินลงทุนอย่างต่อเนื่องจากนักลงทุนในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา
ก่อนหน้าจะทำธุรกิจสตาร์ตอัพ เบลล์เองก็เป็นพนักงานออฟฟิศคนหนึ่งที่ฝันอยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเองตั้งแต่เด็ก ไม่ได้มาจากครอบครัวที่มีฐานะ และจากวันแรกจนถึงวันนี้ ไม่มีวันไหนที่เบลล์ลุยกับความฝันของเธอน้อยลงเลย
เอาล่ะ … ไปรู้จักเธอให้มากขึ้นกัน
*สัมภาษณ์ก่อนล็อกดาวน์มิถุนายน พ.ศ.2564
เริ่มต้นก่อนเลย อยากให้เล่าให้ฟังว่าโมเดล หรือนิยามของ Freshket คืออะไร
ถ้านิยามของเรามันคือ food supply chain platform เนอะ แต่มันฟังยากนิดหนึ่ง ถ้ามองในกลุ่มของที่เป็นคนซื้อกับคนขายแล้วกัน เราเป็นตรงกลางที่ช่วยเชื่อมระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย แล้วก็เน้นสินค้าทางด้านการเกษตรเป็นหลัก ให้เกิดธุรกรรมที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
ก่อนจะเริ่มทำสตาร์ตอัพ Freshket คุณทำอะไรมาบ้าง
เล่ายังไงก่อนดีนะ เอาตั้งแต่ตอนเด็กๆ เลยแล้วกัน เราก็เป็นคนที่อยากจะทำธุรกิจส่วนตัวอยู่แล้ว อาจจะเพราะที่บ้าน ทุกคนทำธุรกิจส่วนตัวหมดเลย แล้วพอเรียนจบมา เราก็รู้สึกว่าอยากหาประสบการณ์ก่อน เลยเข้าทำงานบริษัทเหมือนทุกคนทั่วไป ทำงานด้าน marketing consultant กับพวกรีเสิร์ช ก็ได้รับการฝึกฝนได้เรียนรู้อะไรเยอะ จากนั้นก็คิดอยากจะทำธุรกิจของตัวเอง
ตอนนั้นจุดที่ออกมาแล้วคิดว่าอยากทำธุรกิจของตัวเองเนี่ย ก็รู้สึกว่า เออ มันเป็นช่วงเวลาที่เราสะสมวิชามาได้ในระดับหนึ่ง ยังไม่ได้เก่งมาก แต่ว่าก็ต้องออกไปลุยจริงถึงจะรู้ว่ามันเป็นยังไง เพราะสาย consult เนี่ย บางทีมันก็ทำได้แค่ให้คำปรึกษา ก็เลยตัดสินใจออกมาลองทำของจริง ซึ่งตอนนั้นโมเดลตั้งต้นยังไม่ได้เป็น Freshket เลยนะ เราทำเหมือนกับเป็นซัพพลายของสด แล้วเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่แบบตลาดไท ทำโรงงานตัดแต่งวัตถุดิบ
เริ่มต้นมาจากการเป็นผู้ประกอบการ SME ทั่วไป?
ก็เริ่มจากเล็กๆ เลย เริ่มกับเพื่อน ทำตั้งแต่หาที่เอง ทำเลย์เอาต์ คือทำเองทุกอย่างจริงๆ หาลูกค้าเองอะไรเอง แล้วพอทำไปเนี่ยเราก็รู้สึกว่า เฮ้ย เราที่ไปอยู่ตรงนั้นเราเจอสองอย่าง หนึ่งคือ pain point ที่เราเจอกับตัวเองคือ ธุรกิจในนี้สเกลยากมาก เพราะเป็น labor intensive [พึ่งพาแรงงาน] และมีกระบวนการเยอะ
สองคือ ในธุรกิจในนี้มีธุรกรรมเยอะจริงๆ คือเรานั่งอยู่ที่โน่น 24 ชั่วโมง มีธุรกรรมเกิดขึ้น 24 ชั่วโมง เราเลยรู้สึก เฮ้ย จริงๆ แล้วมันเป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจมากๆ โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นสินค้าเกษตร แต่ว่ามันไม่ค่อยมีใครเหลียวแลสักเท่าไหร่
และจริงๆ มันก็มีเหตุผลที่สามด้วยก็คือ เพราะเรารู้สึกว่าสินค้าเกษตรหรือว่าเกษตรกรเกี่ยวข้องกับคนแบบประมาณเกินครึ่งหนึ่งของประเทศ แต่ว่ามีซัพพลายเชนที่ยังไม่ได้มีประสิทธิภาพ มันทำให้มีผู้ซื้อกับผู้ขายหลายทอดที่เกิดขึ้นมากเกินไประหว่างทาง เราก็คิดว่าถ้าสมมติเราทำธุรกิจที่มันสามารถสร้างอิมแพ็กตรงนี้ได้ สร้างอิมแพ็กให้กับคนหมู่มากในประเทศได้เนี่ย มันก็น่าจะดี เราอยากจะเป็นคนที่เริ่มสร้างซัพพลายเชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เลยรู้สึกว่าจาก pain point ที่เจอกับโอกาสธุรกิจที่อยากจะไป มันแมตช์กันพอดีก็เลยเปิดเป็นไอเดียของ Freshket ซึ่งตอนนั้น เราก็รู้สึกว่าตอนนั้นมันก็มีตลาดเกิดขึ้นที่เมืองนอกเยอะแยะ มีเทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่เข้ามาช่วยละ เราก็เลยคิดว่า เฮ้ย ถ้ามันจะขยายธุรกิจได้เร็ว มันจะต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย
ซึ่งตอนแรกธุรกิจของคุณเริ่มเป็นตัวกลางส่งวัตถุดิบระหว่างร้านอาหารก่อน แต่ตอนนี้ได้ยินว่าขยายมาให้บริการลูกค้าทั่วไปแล้ว
ต้องบอกว่าปีที่แล้วเป็นโอกาสมากกว่า ที่มี COVID-19 ก็มีการล็อกดาวน์ แน่นอนว่ากระทบกับธุรกิจร้านอาหารเต็มๆ เลย 100% แล้วร้านอาหารส่วนใหญ่ที่ใช้ Freshket ส่วนใหญ่เป็นแบบกินในร้านมันกระทบถึงเราด้วย
ดังนั้นเลยต้องหาโมเดลมาทดแทน เพื่อที่จะรักษารายได้เอาไว้ให้ปลอดภัย ก็เลยเปิดแพลตฟอร์มให้กับลูกค้าทั่วไป บุคคลทั่วไปที่เข้ามาซื้อของกับเรา ซึ่งบุคคลทั่วไปเองก็ต้องหาซื้อของเหมือนกัน เขาก็ต้องอยู่บ้าน ต้องหาซื้อของสดเพื่อทำอาหาร ปีที่แล้วมีความต้องการเยอะมากจนเราเกือบรับมือไม่ทัน แต่ก็ผ่านมาได้ ข้อดีที่มีมาจนถึงปีนี้คือมีลูกค้าทั่วไปที่ติดใจ ชอบสินค้าที่มีคุณภาพ ยังคงสั่งซื้อกับ Freshket อยู่
คุณทำธุรกิจมาก็เข้าปีที่ 4 แล้ว ที่เรียกตัวเองในฐานะสตาร์ตอัพ เล่าให้ฟังหน่อยว่าวงการสตาร์ตอัพมันรถไฟเหาะแบบเขาพูดกันไหม
จากตอนแรกเราทำงานด้านการให้คำปรึกษา เราก็ไม่รู้วงการสตาร์ตอัพเป็นยังไง พอเข้ามาเรามองว่า SME หรือสตาร์ตอัพ มันเป็นแค่วิธีการแล้วกัน ที่มันแตกต่างกัน แต่สุดท้ายทุกคนมีเป้าหมาย ในการทำธุรกิจหมด ว่าเราอยากทำเพื่ออะไร
แต่ว่าสิ่งที่เราเรียนรู้จากตอนที่เคยเป็น SME มาก่อนแล้วก็เข้ามาในวงการสตาร์ตอัพเนี่ย สิ่งที่เรารู้สึกว่าแตกต่างแล้วกัน คือ เหมือนเราอยู่ในอีกมิติหนึ่งที่ทุกอย่างเกิดขึ้นไวมากๆ มากจริงๆ (เน้นเสียง) แต่ในขณะเดียวกันก็มีความท้าทาย ให้เราได้เรียนรู้ ยิ่งเราเรียนรู้ได้เร็ว ความเร็วของธุรกิจก็จะไวด้วยตามกัน
แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่รู้สึกว่าเป็นประโยชน์มากเลยทั้งกับตัวเองและกับทีม มันคือการได้เรียนรู้นั่นแหละ แล้วเราก็เอนจอยกับเส้นทางนะ ถามว่ารู้สึกเหนื่อยไหม เหนื่อยอยู่แล้ว มันขึ้นลงๆ ตลอดหรือเปล่า มันใช่อยู่แล้ว แต่พอมองกลับไปทุกๆ สเต็ปที่ผ่านมา เรารู้สึกว่าเราได้เรียนรู้ เราได้สนุกกับทุกความท้าทายที่เราเจอ
มันล้มเร็ว แล้วต้องลุกเร็วด้วยหรือเปล่า
ใช่ ถูกมากเลย ก็บอกน้องๆ เสมอว่า ไม่รู้ว่าต้องเรียนมหาวิทยาลัยไหนนะ ที่จะสอนได้ขนาดนี้จริงๆ กับเส้นทางแบบนี้
รับมือกับความรู้สึกล้มเหลวอย่างไร
รับมือกับความรู้สึกล้มเหลว … ก็ไม่นิยามความล้มเหลว คือเบลล์ว่าสำเร็จกับล้มเหลวอยู่ที่เราให้คำจำกัดความมันนะ
เบลล์ทำ Freshket มีเรื่องแฮปปี้มาก คือ ทุกครั้งที่ได้ทดลองทำอะไร ผลลัพธ์มันออกมาแค่เวิร์กกับไม่เวิร์ก เวิร์กก็ทำต่อ ไม่เวิร์กทำใหม่ เบลล์ว่าลูปนั้นคือการเรียนรู้ มันไม่ใช่ความล้มเหลว แล้วทุกครั้งที่มีการเรียนรู้มันคือความก้าวหน้าแล้วล่ะ อาจจะเป็นนิสัยเบลล์ เบลล์เป็นคนแฮปปี้กับความก้าวหน้า ถ้าระหว่างทางที่เดินมันมีเป้าหมายมันชัด แล้วมันเกิดความก้าวหน้า เลยรู้สึกว่าเราไม่ได้ล้มเหลว แต่เรารู้สึกว่ามันคือการพัฒนาไปเรื่อยๆ เพื่อให้เข้าถึงเป้าหมายได้เร็วที่สุด
แล้วคุณนิยามลักษณะคนแบบสตาร์ตอัพได้ไหม
แตกต่างกันไปตามนิสัยแต่ละคน แต่เบลล์ว่าสิ่งร่วมต้องเป็นคนเรียนรู้ไว ในหลายธุรกิจเราไม่รู้หรอกสิ่งที่กำลังพัฒนาอยู่จะออกมาเป็นแบบไหน เพราะฉะนั้นมันคือการเรียนรู้ที่ไวมากๆ
สองคือ อดทน อดทนจริงๆ เพราะว่าเรามีทรัพยากรทุกอย่างที่จำกัด แต่ก็เป็นข้อดีตรงที่ว่ามันจะเกิดความสร้างสรรค์ตลอดเวลา แล้วต้องทำธุรกิจในขณะที่เราเองต้องหาทุนด้วย เพื่อเติมพลัง เชื้อเพลิงเข้าซึ่งมันไม่ได้ง่าย แล้วมันใช้เวลาในการหาทุน สุดท้ายเลยคือต้องสู้แบบไม่เลิก เบลล์เชื่ออย่างหนึ่งว่าถ้าเราสู้ เราไม่เลิก สุดท้ายแล้วจะมีทางออกเสมอ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สามอันนี้คือเรื่องสำคัญ
Freshket ถือเป็นสตาร์ตอัพที่คนพูดถึงเยอะขึ้นเรื่อยๆ แชร์ให้ฟังได้ไหมว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้สตาร์ตอัพอยู่รอด เพราะสตาร์ตอัพมีแสนเจ้าอาจจะรอดแค่หยิบมือ
สิ่งที่มันมีความสำคัญก็คือ execution [วิธีดำเนินการ] บางคนไอเดียเหมือนกัน แต่ execution ออกมาไม่เหมือนกันแน่นอน
ดังนั้นสิ่งที่เบลล์ให้คุณค่า คือ เหตุผลที่สตาร์ตอัพต้องผ่านไปทีละสเตจ ตั้งแต่เรามองหาปัญหา ไปถึงวิธีการแก้ไขปัญหา ไอ้ปัญหาเนี่ยก็เกิดจาก pain point เหมือนกัน และเราก็กำลังแก้ปัญหาที่มันอยู่ในพื้นที่จริงหรือเปล่า ไอ้ปัญหานี้มันเป็นปัญหาของเราคนเดียวไหม หรือว่ามันเป็นปัญหาของคนทั่วๆ ไป ซึ่งมันก็จะสะท้อนถึงขนาดตลาดนั่นเอง
เพราะถ้าแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมใหญ่ ตลาดใหญ่ นักลงทุนก็สนใจใช่ไหมคะ
แล้วอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญเลยคือเรื่องทีม เบลล์ว่าสำคัญที่สุดเลย ประมาณ 80% ของสตาร์ตอัพที่ไม่ได้ไปต่อคือเรื่องทีม มันต้องเป็นทีมที่ใช่ แล้วต้องอยากจะไปด้วยกันแบบไม่ยอมแพ้ แล้วพอมีแพชชั่นเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวที่จะไปด้วยกัน สุดท้ายแล้วเรื่องระหว่างทางมันคือการเรียนรู้ เพราะว่าเราสร้างสิ่งใหม่ เราไม่รู้หรอกว่าโปรดักต์จะออกมาหน้าตาแบบไหน และสุดท้ายคือว่า เราเรียนรู้มันได้เร็วแค่ไหน
ความท้ายทายของ Freshket หลักๆ ในการทำธุรกิจเลยคืออะไร
ซัพพลายเชนอาหาร มันเป็นเรื่องกว้างมาก ไม่มีทางที่เราจะเข้าใจได้ทั้งหมด แล้วของเราเน้นของสดด้วย มันละเอียดอ่อนมากจริงๆ อย่างเช่น ผัก คือ 3 ชั่วโมง 6 ชั่วโมง มันเสียไปแล้ว การที่เราทำซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นทางมาปลายทาง การควบคุมคุณภาพสินค้า แต่ละสเตจการทำงาน ต้องขนส่งเองหรือจัดเก็บยังไงก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากๆ
เบลล์เป็นเพื่อนสนิทปัญหาเลยก็ว่าได้ ตั้งแต่วันแรกที่ทำจนถึงวันนี้ เบลล์ว่าสิ่งสำคัญที่สุดและท้าทายที่สุดคงเป็นเรื่องทีม เพราะอย่างที่เบลล์ล์บอก ไอเดียมันมีเต็มไปหมดเลย แต่ว่าการดำเนินการสำคัญที่สุด แล้วสิ่งที่ดำเนินการมันคือคนไง ต่อให้เรามีเทคโนโลยีที่ล้ำแค่ไหนก็ตาม แล้วด้วยธุรกิจแบบ Freshket มันยังต้องมีโอเปอร์เรชั่นอยู่ เพราะฉะนั้นคนสำคัญมากๆ ในสเตจหนึ่งเราอาจจะต้องการคนที่มีทักษะรูปแบบหนึ่ง อีกสเตจเราอาจจะต้องการคนในแบบที่แตกต่างกันออกไป
ดังนั้นเนี่ยเรื่องของการฟอร์มทีม เรื่องของการพัฒนาทีม มันเลยเป็นงานประจำของเบลล์ไปแล้ว
พอทำงานกับธุรกิจที่มันละเอียดอ่อนมากๆ คุณเป็นคนเป๊ะไหม
อยากให้ถามน้องๆ มากกว่า (หัวเราะ)
คือสองพื้นฐานก็แล้วกัน คิดว่าพื้นฐานเป็นคนเป๊ะ แต่ว่าตอนแรกที่มาทำสตาร์ตอัพแล้วรู้ว่าเป๊ะมันไม่ช่วย มันจะทำให้ช้านิดหนึ่ง เพราะว่าเราคงไม่สามารถรออะไรที่มัน 100% แล้วค่อยไปได้ อย่างเบลล์แค่ 50-60% เบลล์ก็ไปต่อแล้ว แล้วเดี๋ยวเราก็จะไปเรียนรู้ต่อ แต่ประเด็นคือเรียนรู้ให้เร็วแล้วกัน แล้วก็ปรับท่าให้เร็ว อันนั้นคือช่วงแรก ต้องหาท่าที่ใช่
พอมาสเตจนี้ ก็เปลี่ยนไปนิดหนึ่งแล้วกัน บางอย่างที่เราเรียนรู้มาแล้ว มันไม่จำเป็นที่ต้องไปลองใหม่เพราะเริ่มมีประสบการณ์ แค่ให้ต้องทำอะไรรอบคอบมากขึ้น แล้วก็ด้วยตอนนี้มีผู้เล่นในตลาดอยู่เยอะ เพราะฉะนั้นต้องวางแผนมากขึ้น แต่เบลล์ล์ก็ไม่ให้ประสบการณ์เป็นกับดักนะ เพราะเบลล์ล์ก็คอยระวังตัวเองตลอดเวลา บางครั้งประสบการณ์เนี่ยแหละคือกับดัก เบลล์ก็จะพยายามจะรับฟังน้องใหม่ๆ ฟังคนหน้างานให้มากขึ้น แล้วก็พยายามให้พวกเขาได้ลอง ให้ทุกคนได้เรียนรู้เร็วที่สุดเหมือนกัน แล้วก็พยายามไม่ใส่ความเห็นของตัวเองเยอะจนเกินไป
แล้วคิดว่าตัวเองเป็นหัวหน้าแบบไหน
เป็นหัวหน้าแบบไหน? ถ้าถามเบลล์เมื่อหนึ่งปี สองปีที่แล้ว กับปีนี้ไม่เหมือนกัน เบลล์คงเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลาเหมือนกันว่า เออ สุดท้ายอะไรก็ได้ที่มันดีกับ Freshket เราวิเคราะห์บริบทของธุรกิจอะไรก็ได้ที่มันดีกับ Freshket เบลล์ล์ก็จะเป็นหัวหน้าแบบนั้น
แต่ถ้าถามว่าวันนี้เบลล์เป็นแบบไหน เบลล์เป็นคนที่ชอบ lead by example แต่ว่าความต่างคือ เฟสที่แล้ว คำจำกัดความของ lead by example มันอาจจะเป็นแบบที่เราลงไปทำเยอะ เพราะว่าเฟสแรกคือมันต้องดูทุกอย่าง เฟสนี้ lead by example ก็ระวังตัวเองแล้วว่าอะไรคือ example แล้วก็เป้าหมายคือเพื่อโค้ชคน ไม่ใช่ลงไปทำ
แสดงว่าเป็นคนเชื่อมั่นในทีมตัวเองมากประมาณหนึ่ง
ใช่ ก็เพราะว่ามันสำคัญมาก เบลล์มองว่า lead by example ตอนนี้ก็คือเพื่อโค้ช เพื่อสร้างความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันนะ เราต้องเชื่อกับเขา ให้เขาเชื่อมั่นเราด้วยเหมือนกัน เบลล์เชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้บริษัทเติบโต
สนิทกันไหมกับทีมงาน
สนิทกันนะ มันจะต้องมีรุ่นแรกนะสนิทกันมาก คือเมื่อก่อนเราทำทุกวัน เราทำหน้างานเองกับทั้งน้องๆ คนทำงานด้วยกัน มันก็สนิทกันอยู่แล้ว
เชื่อในการทำงานเป็นครอบครัวไหม หรือว่าเชื่อความเป็นทีมเวิร์กมากกว่า
เป็นคำถามที่ดีมาก เพราะว่าเคยคุยกับทีม management ว่าวัฒนธรรมบริษัทจะเซ็ตแกนประมาณไหนดี mood and tone อะไร เบื้องต้นเลยเฟสแรกครอบครัวแน่นอน โอย สนิทกันแทบจะกินอยู่ด้วยกันตลอดเวลาเลย พอเฟสถัดมา เราก็เริ่มจ้างคนระดับผู้จัดการเข้ามา เขาจะมาพร้อมกับกระบวนการ มันจะเริ่มมีระยะห่าง ซึ่งจะทำยังให้ระยะไม่ห่างจนเกินไป แล้วก็ทำให้น้องๆ ได้พัฒนาตัวเองขึ้นมาด้วย
สำคัญคือทำยังไงให้วัฒนธรรมของความที่เราสนิทกันมันยังอยู่ แต่แน่นอนว่าเบลล์ล์ตอบได้อย่างหนึ่งว่า มันไม่ใช่ครอบครัวแล้ว มันจะจัดการแบบครอบครัวไม่ได้ เพราะว่าครอบครัวในความคิดของเบลล์ล์มันคือความรักที่ไม่มีเงื่อนไข แต่ในการทำธุรกิจ ในการผลักดันองค์กรให้โต มันคงไม่มีเงื่อนไขไม่ได้
มันก็เลยทำให้เราต้องหาจุดสมดุลในแกนว่า เราก็ไม่ได้อยากเป็น corporate แต่ว่าเราก็จะบอกน้องแล้วกันว่า เหมือนเราเล่นกีฬาเนอะ ให้เราเป็นทีมที่เราเล่นกีฬาด้วยกันดีกว่า รู้แพ้รู้ชนะนะ รู้จักส่งลูก ร่วมมือกัน สุดท้ายเป้าหมายอันเดียวกัน คือที่เราจะยิงประตูตรงนั้นนะ ขอให้มองที่ตรงนั้น
ภาพจำทั่วไป คนคงจะมองว่าสตาร์ตอัพเป็นโลกเทคโนโลยีของผู้ชาย แต่ปัจจุบันก็มีสัดส่วนผู้หญิงที่เป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจมากขึ้น
เบลล์ว่าเห็นมากขึ้น อย่างน้อยก็ประมาณ 20% ของสตาร์ตอัพที่มีผู้ก่อตั้งเป็นผู้หญิง ถ้าเทียบกับเมื่อสี่ปีที่แล้ว
คุณคิดว่าความเป็นผู้หญิง ทำให้เผชิญความท้าทายมากกว่าผู้ชายหรือเปล่าในวงการนี้
เบลล์ก็ไม่ได้เป็นคนที่มีพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยี แต่มันอาจจะไม่ได้เกี่ยวกันนะสำหรับเบลล์ มันอาจจะไม่ได้เกี่ยวว่าผู้หญิงกับวงการไหนแล้วกัน ซึ่งถ้าพูดถึงสตาร์ตอัพมันอาจจะเป็นตัวตนของคนมากกว่าที่พร้อมจะเข้ามา ไม่ว่าจะผู้หญิงหรือผู้ชายที่ต้องพร้อมจะเข้ามาในสนาม
เข้ามาแล้วต้องลุย แล้วต้องใส่พลังแบบเต็มที่มากๆ รับได้กับไดนามิกที่มันขึ้นลงตลอดเวลา บางครั้งผู้หญิงเองก็อาจจะรู้สึกว่า เอ้ย สนามแบบนี้อาจจะ aggressive เกินไปหรือเปล่า อันนี้เบลล์ไม่แน่ใจ แต่สุดท้ายเบลล์ว่ามันก็อาจจะไม่ได้เกี่ยวที่ว่าเป็นผู้หญิงผู้ชาย มันคือตัวตนของคนมากกว่า แล้วก็เป้าหมายของเขาว่า เขาอยากจะสร้างอะไร ด้วยจังหวะ [pace] แบบไหน
เป็นสนามที่ไม่เกี่ยวว่าเป็นใคร แต่ถ้าพร้อมก็เข้ามาลุย
ใช่ค่ะ
เล่าเรื่องการ pitching งานกันบ้างดีกว่า เพราน่าจะผ่านการ pitching หาทุนมาเยอะมาก
เบลล์ก็ pitch มาเยอะมากจริงๆ ทั้งบนเวที หรือว่าการที่คุยกับนักลงทุน น่าจะกว่าร้อยครั้ง
มีเทคนิกยังไงบ้าง
เบลล์ว่าจุดหลักๆ หนึ่ง มันคงเป็นเรื่องที่เราต้องรู้จักธุรกิจของเราให้ได้ดีที่สุด แล้วก็มากที่สุด มันก็จะทำให้คนที่ฟังเขามั่นใจด้วย ว่าเค้ากำลังคุยกับคนที่รู้จักธุรกิจดีกว่าเขา
อันที่สองน่าจะเป็นเรื่องของการวางโครงสร้างการเล่าแล้วกัน มันคือ story tellingวางโครงสร้างยังไงให้คนเข้าใจง่าย แล้วก็สื่อสารออกมายังไงให้คนเข้าใจง่าย
แล้วก็อันที่สามก็คือ ความมั่นใจ เราต้องมั่นใจว่าสิ่งที่เรากำลังพูดอยู่ สิ่งที่เรากำลัง pitch อยู่ มันคือสิ่งที่เราตั้งใจ มั่นใจว่ามันจะเกิดขึ้นจริง
ถ้าย้อนกลับไปจากสี่ปีที่แล้วจนถึงวันนี้ คิดว่ามาตามความฝันได้กี่เปอร์เซ็นต์แล้ว
โอ้โห เรียกได้ว่าสัก 20% แล้วกัน ใช่ ยังอีกยาวมาก เพราะแบบที่หลายๆ คนบอก เรื่องซัพพลายเชนมันเป็นเรื่องใหญ่ แล้วพอเล่นตลาดที่เป็นอาหาร มันยิ่งใหญ่เข้าไปอีก พอไม่ได้มี base practice หรือโมเดลอะไรให้เราเห็นมาก่อน ก็เลยเป็นของใหม่ เราต้องมาหาไอเดียไปเรื่อยๆ ว่าท่าที่ใช่มันคืออะไร แต่สุดท้ายคือเราอยากสร้างอิมแพ็ก ที่จะทำยังไงในวงการอาหารตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางสามารถมีซัพพลายเชนที่คล่องตัว และมีประสิทธิภาพมากที่สุด
แล้วถ้ามองไปอีกสามปีข้างหน้า คุณคาดหวังอะไรกับธุรกิจนี้บ้าง
เราก็กลับไปมองว่าเราสร้าง Freshket มาเพื่ออะไร เราอยากสร้างอิมแพ็กในเรื่องของ fairness [ความเท่าเทียม] ในซัพพลายเชน ถึงระดับว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนสายอาหารก็ต้องได้รับประโยชน์ในแพลตฟอร์มเรา ตั้งแต่กลุ่มที่เป็นผู้ปลูก ทั้งเกษตรกรหรือกลุ่มผู้ผลิต สามารถที่จะขายสินค้าตรงเข้าผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไปจนถึงโรงงานตัดแต่ง โลจิสติกส์
ดังนั้น สิ่งที่เราจะทำในปีนี้และก็ถัดไป ก็คือเราจะทำให้แพลตฟอร์มมันแข็งแรงแล้วก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามากขึ้น และขยายออกไปนอกกรุงเทพฯ มากขึ้น
ซึ่งตอนนี้ถ้าพูดถึงแพลตฟอร์มคล้ายๆ Freshket ก็มีเจ้าใหญ่ๆ เข้ามาลงสนามด้วย เรามองเป็นคู่แข่งไหม
สิ่งที่เราอยากสร้างคือในมุมของการทำให้เกิดเรื่องของ fairness ในส่วนของซัพพลายเชน ก็ไม่รู้ว่าเป้าหมายเหมือนกับเขาหรือเปล่า แต่นี่คือเป้าหมายที่ Freshket ตั้งใจเอาไว้ เพราะฉะนั้นพอเป้าหมายเรามีชัดเจน มันก็เลยมีสิ่งหนึ่งที่ขับเคลื่อนธุรกิจไปได้ เราคือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่มารวมตัวกันเพื่อที่จะเปลี่ยนหรือสร้างบางอย่างแล้วอยากเห็นอิมแพ็กของเป้าหมายนั้น มันเลยทำให้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะไม่เลิก คือเราพร้อมเรียนรู้ และเราจะไปให้เร็วที่สุด
ส่วนตัวคิดว่าธุรกิจแบบสตาร์ตอัพเหมาะกับคนรุ่นใหม่ไหม
เบลล์ว่าตอนนี้เด็กรุ่นใหม่เขาไม่ได้อยากให้เราบอกว่าให้เขาทำอะไร แต่ว่าเขาอยากให้เราบอกว่าสิ่งที่เขาทำมันอิมแพ็กอะไร
เบลล์ชอบเด็กรุ่นใหม่เรื่องของความกล้ามาก กล้าคิดกล้าแสดงออก แล้วมันง่ายนะ มันตรงไปตรงมา เบลล์ก็คงเป็นคนตรงไปตรงมาเหมือนกัน แล้วด้วยความที่เขากล้า ในมุมกลับกัน เขาก็ฟังนะ เพราะเขาก็อาจจะอยู่ในวงที่ถกเถียงกันกับเพื่อนที่ทุกคนกล้าหมด มันแปลว่า กล้าพูดก็กล้าฟัง
เบลล์ว่าในปีนี้มีโอกาสในหลายอย่างอยู่นะ ในหลายๆ ธุรกิจด้วยซ้ำ ถ้าสมมติว่า คนรุ่นใหม่ๆ มีไอเดียใหม่ๆ เห็นโอกาสตรงนั้น แล้วอยากที่จะเข้ามาทำ หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงปีนี้เป็นปีที่เหมาะ ก็อยากให้มีหน่วยรบแนวหน้าออกมาเยอะๆ เพราะเห็นต่างประเทศเขาก็มี [สตาร์ตอัพ] เยอะแยะ โตขึ้นไปเรื่อยๆ ก็อยากเห็นประเทศไทยมีแบบนั้น เบลล์ก็เชื่อว่าคนไทยเก่งนะ
สุดท้ายอยากให้คุณให้คำแนะนำสำหรับคนที่อยากปั้นสตาร์ตอัพของตัวเอง
ถามตัวเองก่อนว่า จะทำสิ่งนี้ มันเป็นสิ่งที่เราจะแฮปปี้เราอยากอยู่กับมันตลอดเวลาหรือเปล่า แล้วอีกอันหนึ่งที่ต้องถามตอบคำถามตัวเองก็คือ ทำไปเพื่ออะไร ถ้ามันใหญ่พอ มันชัดเจนพอ มันก็จะเป็นตัวขับเคลื่อนที่ทำให้เราตัดสินใจว่า ทำสิ่งนี้แหละ
หรือว่าปลายทางคือต้องยอมรับทั้งความสุข ความทุกข์ ความผิดหวัง?
ใช่ๆๆ ก็เหมือนแต่งงานกันเลย what it takes เลย อะไรจะเกิดก็คือ โอเค ไปด้วยกันนะ แน่นอนมันไม่มีอะไรที่มันสมหวังตลอดเวลา ถ้าผิดหวังแล้วรับได้หรือเปล่า ยอมเรียนรู้กับมันไหม เพื่อที่จะพัฒนาต่อไป ก็คือต้องอยากอยู่กับเขาตลอดเวลานะ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตามก็ต้องอยู่กับเขา
แน่นอนว่าสตาร์ตอัพทำงานหนัก คุณทำงานมีวันหยุดบ้างไหม
ถ้าถามว่าทำงาน 7 วันไหม คงทำ 7 เพราะว่าต่อให้ก่อนนอน เราก็คิดถึงเรื่องงานตลอดเวลา แต่ว่าบางครั้งเราก็อยากมีเวลาที่หัวโล่งๆ ใจโล่งๆ ไปทำนู่นทำนี่อยู่เพื่อจะคิดอะไรออก คิดงาน คิดภาพ คิดกลยุทธ์ มันอยากที่จะมีเวลาแบบนั้นให้มากขึ้นมากกว่า
ถ้าถามเบลล์ ทำ 7 อยู่แล้ว ที่ผ่านมา 7 มาตลอด แต่ว่าอยู่ที่การใช้เวลาแต่ละชั่วโมงเอาไปทำอะไรมากกว่า งานเยอะขึ้นเรื่อยๆ แหละ แต่ว่าต้องฟิลเตอร์งานที่ทำ จัดความสำคัญ
แต่ก็ยังอยู่กับมันได้?
ไม่ซัฟเฟอร์ [suffer, ทรมาน] เป็นคนชอบทำงานก็เลยไม่ได้ซัฟเฟอร์ ไม่เคยเหนื่อยเพราะการทำงานเลย เหนื่อยอะเหนื่อยคน เหนื่อยจิตใจอะไรอย่างนี้มากกว่า แต่ว่างานไม่เคยเหนื่อย แค่อยากจะกันเวลาสำหรับการคิดหรืออยู่กับตัวเอง ทั้งในเรื่องของจิตใจด้วยนะ เพราะบางครั้งเราเจออะไรมามากเกินไป ต้องเอามันออกไปนิดนึง ให้มันเกิดความโล่ง ถ้าไม่โล่งก็ไม่สามารถคิดอะไรในมุมของกลยุทธ์ให้องค์กรได้มากขึ้น มองภาพให้มันเป็นระดับใหญ่ได้มากขึ้นกว่านี้
Photo by Watcharapol Saisongkhroh