ทุกวันนี้คำว่า ‘คอร์รัปชั่น’ กลายเป็นคำทั่วไปที่ใครๆ คงรู้จัก และน่าจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่พอได้ยินต้องรู้สึกขยาด พร้อมปฏิญาณตนว่าในชีวิตนี้คนอย่างพวกเขาไม่มีทางโกงใครเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองแน่นอน แต่วาจาที่ลั่นไว้จะเป็นจริงได้สักแค่ไหนถ้าพวกเขาได้มาลองเล่นบอร์ดเกมที่ชื่อ The Trust : Anti-corruption Game
The Trust : Anti-corruption Game มีความน่าสนใจตรงที่ ผลงานชิ้นนี้เป็นบอร์เกมฝีมือคนไทยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในการแข่งขันออกแบบบอร์ดเกมต้านคอร์รัปชั่น จัดโดย สำนักงานสนับสนุนกองทุนวิจัย (สกว.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ : TDRI) จัดขึ้นเพื่อใช้บอร์ดเกมเป็นสื่อกลางให้คนรุ่นใหม่เข้าใจถึงปัญหาคอร์รัปชั่น
ในเกมผู้เล่นแต่ละคนจะได้รับบทเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มารับดูแลโครงการต่างๆ ของเมือง ‘Trust Land’ เมืองที่ต้องการจะพัฒนาความเจริญให้เกิดขึ้นในหลายด้าน นโยบายมากมายถูกนำเสนออย่างน่าสงสัยไร้ที่มาที่ไป รายละเอียดไม่ชัดเจน ใครกันแน่ที่เป็นผู้รับผิดชอบ และที่น่ากลัวที่สุดคือ มูลค่าที่แท้จริงของโครงการนั้นไม่เป็นที่เปิดเผย แต่การคอร์รัปชั่นจะเกิดขึ้นได้มากแค่ไหนในเมืองแห่งนี้ที่ทุกคนสามารถตรวจสอบกันเองได้
เกมนี้สามารถเล่นได้ตั้งแต่ 3-6 คน ใช้ระยะเวลาการเล่นเพียง 15-30 นาที โดยเกมจะแบ่งลำดับการเล่นเป็น 5 เฟส วิธีเล่นคร่าวๆ ก็คือ เฟสที่ 1 เริ่มเกมผู้เล่นแต่ละคนจะต้องหยิบ ‘การ์ดโครงการ’ คนละ 1 ใบ (ไม่ต้องให้คนอื่นเห็นว่าได้การ์ดอะไร) ต่อมาใน เฟสที่ 2 แต่ละคนประกาศว่าตนเองได้โครงการอะไรและมีมูลค่าเท่าไหร่ แล้วหยิบเงิน (ไม่จำเป็นต้องประกาศมูลค่าจริง)
เฟสที่ 3 ผู้เล่นสามารถฟ้องร้องกันเองได้หากเชื่อว่าอีฝ่ายทำการทุจริต หลังจากนั้นใน เฟสที่ 4 จะเป็นการตรวจสอบ ใครโกงสำเร็จก็ได้เงินไป ใครทุจริตหรือฟ้องผิดก็เสียเงิน และสุดท้ายคือ เฟสที่ 5 ที่ทุกคนจะสามารถประมูลเพื่อซื้อ ‘การ์ดผลประโยชน์’ เพื่อใช้เป็นตัวช่วยในการเล่นรอบถัดไปได้ เกมจะเล่นทั้งหมด 6 รอบ จบสุดท้ายผู้เล่นคนไหนมีเงินมากที่สุดคือผู้ชนะ
ด้วยกติกาที่เอื้อให้ทุกคนสามารถโกงได้ (โกหกมูลค่าโครงการให้เกินจริง) มันจึงท้าทายผู้เล่นในทุกๆ รอบว่า คุณจะเลือกทำตัวเป็นคนดีคงศีลธรรมได้เงินตามโครงการที่ตัวเองจั่วได้ หรือบอกว่าโครงการตัวเองราคาแพงแล้วกอบโกยผลประโยชน์จากการโกงเพื่อไปถึงเป้าหมายสุดท้ายคือ ‘การชนะ’
ความสนุกของเกมไม่ได้อยู่ที่ความตื่นเต้นหากเราเลือกโกงแล้วกลัวว่าจะถูกจับได้ (ต้องเสียเงิน) เพียงเท่านั้น แต่คนที่เลือกฟ้องคนที่ตัวเองรู้สึกว่าไม่น่าไว้ใจ ก็ต้องเสี่ยงที่จะเสียเงินด้วย หากคนที่โดนฟ้องดันสุจริตขึ้นมาจริงๆ การบลัฟกันระหว่างผู้เล่นจึงจำเป็น แล้วยิ่งถ้าแต่ละคนแสดงบทบาทเหมือนเป็นตัวแทนของบุคคล ไม่ว่าจะจากชีวิตจริงหรือสมมติขึ้นมาเอง ก็จะทำให้บรรยากาศของการเล่นมีสีสันขึ้นในอีกระดับหนึ่งเลย
คำถามที่เกิดระหว่างเล่น คือ ถ้าเกมบอกให้โกงได้ แล้วเล่นเกมนี้จะช่วยต้านโกงหรือทำให้เราไม่คอร์รัปชั่นได้ยังไง? เท่าที่ลองเล่นดู หากเล่นครั้งแรกหรือเล่นในรอบแรก (มี 6 รอบ ในการเล่น 1 ครั้ง) การโกงมีโอกาสเกิดขึ้นบ่อยและทำได้ง่าย แต่พอเล่นไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในรอบหลังๆ ผู้เล่นส่วนใหญ่จะระวังตัว เพราะการ์ดโครงการหลายใบซ้ำกัน และการ์ดที่ถูกเล่นไปแล้วในรอบก่อนหน้าจะต้องนำมาแสดงให้ทุกคนเห็น นั่นแปลว่า หากผู้เล่นประกาศมูลค่าโครงการไม่ตรงกับการ์ดโครงการที่เคยเล่นไปแล้ว ผู้เล่นคนนั้นจะถูกสงสัยในทันที
นอกจากนี้ ตัวเกมก็ไม่ได้บอกว่า ‘การโกง’ จะทำให้คุณชนะเสียทีเดียว แล้วยิ่งมีกลไกที่ผู้เล่นสามารถฟ้องร้องกันเองได้ การเลือกโกงแต่กลับถูกตรวจสอบอาจทำให้คุณเสียมากกว่าได้ ยังไม่นับอีกว่ามีการ์ดผลประโยชน์ที่ส่วนใหญ่ดูจะช่วยให้การฟ้องร้องง่ายขึ้น สุดท้ายกลไกและข้อมูลที่คอยป้อนให้ระหว่างเล่นจะกลายเป็นสิ่งที่คอยป้องกันไม่ให้ผู้เล่นเลือกเส้นทางคอร์รัปชั่น
หากย้อนกลับมามองถึงโลกความเป็นจริงสักหน่อย ‘คอร์รัปชั่น’ ก็ไม่ได้เป็นปัญหาของใครบางคน ไม่ใช่แค่ปัญหาของคนโกง และก็ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลเพียงคนเดียวที่จะต้องแบกรับภาระแก้ไขเรื่องนี้ บอร์ดเกม The Trust : Anti-corruption Game แสดงให้เราเห็นว่าทุกคนสามารถมีส่วนแก้ปัญหานี้ได้ ทั้งเป็นคนเลือกที่จะไม่โกง หรือเป็นแม้กระทั่งคนที่สามารถตรวจสอบผู้อื่นได้ ในชีวิตจริงเราร่วมกันแก้ปัญหานี้ได้ แค่เราเข้าใจสิทธิและกฎหมายของบ้านเมืองมากพอ
ถึงจะเป็นแค่เกม แต่สถานการณ์จำลองสามารถเอื้อให้เราโกงและบังคับให้เราไม่โกงได้ในเวลาเดียวกัน ระหว่างที่เล่นเราจะได้สำรวจตัวเองไปด้วยว่า จริงๆ แล้วเรา ‘โกง’ แค่ไหน? และยังได้เห็นว่า ในสภาวะที่โกงได้สังคมปราศจากคอร์รัปชั่นก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน
ไม่ว่าใครคนไหนจะโกงหรือไม่ แต่เกมก็คือเกม ยังไงก็เล่นกันอย่างมีสตินะครับ