“Music gives a soul to the universe, wings to the mind, flight to the imagination and life to everything.” – Plato
ดนตรีมีความสำคัญต่อโลกมาตั้งแต่โบราณกาลและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์มาโดยตลอด โดยมนุษย์เราใช้ดนตรีเป็นส่วนประกอบในการทำกิจกรรมต่างๆ เรื่อยมา ในยุคแรกๆ เราเริ่มใช้ในการประกอบพิธีกรรม จนปัจจุบันนี้ดนตรีได้กลายเป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่งที่แตกแขนงออกไปได้หลากหลายแนว และการที่ดนตรีพัฒนาควบคู่ไปกับพัฒนาการของมนุษย์จึงไม่แปลกเลยที่ดนตรีจะมีส่วนผสมของ ‘การเมือง’ แทรกซึมเป็นส่วนประกอบหนึ่งใน 4 นาทีแห่งท่วงทำนองเพลง
โดยดนตรีนั้นมีบทบาททางการเมืองอยู่ในหลายๆ เหตุการณ์ ที่ใกล้ตัวคนไทยเรามากที่สุด ก็คือเสียงเพลงที่ถูกเปิดในเวลา 8 โมงเช้าและ 6 โมงเย็นอย่าง ‘เพลงชาติ’ ซึ่งชาติอื่นๆ บนโลกก็ได้ใช้เพลงชาติในการแสดงความเป็นตัวตนของแต่ละชาติ (National Identity) นอกจากนี้ ‘เพลงปลุกใจ’ ของแต่ละรัฐก็เป็นเพลงประเภทหนึ่งที่แฝงไปด้วยพลังทางการเมืองของบรรดาผู้นำที่ต้องการให้คนในชาติรู้สึกฮึกเหิมและคล้อยตามนโยบายหรือการกระทำต่างๆ ของตน
หากหันกลับมามองในมุมของดนตรีกระแสนิยม (Popular Music) ที่ค่อนข้างมีเนื้อหาในแง่มุมความรัก เป็นเรื่องของอารมณ์สุข ทุกข์ ต่างๆ แหลายเพลงก็มีนัยยะทางการเมืองอย่างโจ่งแจ้ง หรืออาจต้องผ่านการตีความ หรือบางเพลงอาจไม่ได้มีความหมายทางการเมืองอะไร แต่ก็ดันถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบหนึ่งของการเมืองซะอย่างนั้น Young MATTER จึงขอแนะนำ 10 บทเพลงที่มีเหตุการณ์ทางการเมืองซ่อนอยู่
The Cranberries – Zombie
เพลง Zombie ถูกแต่งขึ้นในปี 1994 เพื่อประณามเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในเมือง Warrington ประเทศอังกฤษ และรำลึกถึงเยาวชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้คือกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (Irish Republican Army: IRA) เป็นขบวนการของชาวไอริชที่นับถือศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกในไอร์แลนด์เหนือ โดยมีจุดประสงค์เรียกร้องเอกราชจากสหราชอาณาจักรเพื่อรวมชาติไอร์แลนด์ให้สำเร็จ และการก่อการร้ายนี้เป็นการกระทำในนามของชาติไอร์แลนด์
Dolores O’Riordan นักร้องนำของ The Cranberries รู้สึกสะเทือนใจอย่างหนักและลงมือแต่งเพลงนี้เพื่อตอบโต้ทันที เพราะเธอเองก็เป็นชาวไอร์แลนด์แต่ไม่ได้เห็นด้วยกับการกระทำของ IRA “It’s not Ireland. I am not IRA and my family are not.”
ซึ่งหลังจากปล่อยเพลงออกไปไม่นาน IRA ก็ได้ประกาศข้อกำหนดหยุดยิงแบบไม่มีกำหนด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนของกระบวนการสร้างสันติภาพถาวรในไอร์แลนด์เหนือในเวลาต่อมา เพลง Zomebie จึงถูกใช้เป็นเพลงใช้สดุดีเหยื่อผู้บริสุทธิ์จากความรุนแรงเรื่อยมา
John Lennon – Imagine
ช่วงเวลาแห่งความเบื่อหน่ายสงคราม ในปี 1971 John Lennon ได้ลงมือแต่งเพลง Imagine ขึ้นมา เพราะเขาต้องการให้มีสันติภาพที่ไร้กำแพงการแบ่งแยกทางศาสนาและเชื้อชาติ พร้อมตั้งคำถามเกี่ยวกับวัตถุนิยม เพราะในขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่สงครามเวียดนามกำลังร้อนแรงที่สุด โดยสงครามเวียดนาม (Vietnam War) นั้นเป็นสงครามตัวแทนระหว่างสองขั้วอำนาจทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต
ประเทศที่เข้าร่วมสงครามต่างส่งกำลังทหารเข้าไปช่วยรบเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนในประเทศนั้นๆ เบื่อหน่ายและต้องการให้ยุติสงครามในเร็ววัน เช่นเดียวกับ John Lennon ผู้ฝักใฝ่สันติภาพ ที่ลงมือแต่งเพลงนี้ขึ้นเพื่อเรียกร้องให้มนุษย์หันมาสนใจในประเด็นสันติภาพกันมากขึ้น
โดยเขาเชื่อว่าเนื้อเพลงที่มีเนื้อหาทางการเมืองเข้มข้น แต่มีทำนองที่นุ่มนวลจะส่งผลให้ผู้ฟังรับฟังสารที่เขาต้องการจะสื่อได้ดียิ่งขึ้น เพลงนี้จึงมักนำมาใช้ในแง่ของการเรียกร้องสันติภาพจนถึงปัจจุบัน
Marvin Gaye – What’s Going On?
อีกหนึ่งเพลงที่ถูกปล่อยออกมาในช่วงของสงครามเวียดนามก็คือเพลง What’s Going On? ที่ Marvin Gaye ได้รับแรงบันดาลใจในการแต่งเนื้อร้องจากเหตุการณ์การณ์สลายการชุมนุมประท้วงต่อต้านการทำสงครามเวียดนามในสหรัฐอเมริกา หรือ ‘Bloody Thursday’
แม้ว่าในตอนแรกเพลงนี้นั้นถูกคัดค้านอย่างหนักโดยค่ายเพลง เนื่องจากผู้บริหารมองว่าเพลงโซลไม่ควรมีเนื้อหาที่รุนแรงและสุ่มเสี่ยงต่อการวิพากษ์วิจารณ์มากเกินไป แต่เมื่อปล่อยออกมา What’s Going On? ก็ได้รับความนิยมอย่างมากทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก แถมยังถูกใช้เป็นเพลงต่อต้านสงครามเวียดนามอย่างเป็นทางการในที่สุด เพราะเพลงนี้นั้นชวนให้เราตั้งคำถามต่อท่าทีของสหรัฐฯ ในการเข้าร่วมสงครามเวียดนาม
Green Day – Wake Me Up When September Ends
เพลงนี้ถูกแต่งขึ้นในปี 2005 โดย Billie Joe Armstrong เพื่ออุทิศให้แก่พ่อของเขาที่เสียชีวิตไปด้วยโรคมะเร็งตั้งแต่ปี 1982 ด้วยเนื้อเพลงที่สะท้อนความสูญเสียจนอยากจะลืมเลือนในเดือนกันยายน หลายคนจึงได้นำเพลงนี้มาอุทิศให้แก่เหตุการณ์เครื่องบินพุ่งชนตึก World Trade Center ในปี 2001 หรือ 9/11
โดยเหตุการณ์ 9/11 ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on Terror) ที่นำทัพโดยสหรัฐอเมริกาเจ้าเดิม ซึ่งในมิวสิควิดีโอของเพลงนี้ก็เป็นเรื่องราวของคู่รักคู่หนึ่งที่ต้องจากกันเพื่อไปทำสงครามในอิรัก
ไม่เพียงแต่เหตุการณ์ 9/11 เท่านั้น Wake Me Up When September Ends ยังถูกนำมาใช้พูดถึงความสูญเสียอีกหลายต่อหลายครั้ง เช่น เหตุการณ์เฮอริเคนแคทรินา ในเดือนกันยายน ปี 2005 เพลงนี้ได้กลายเป็นเพลงที่ใช้อธิบายความรู้สึกสูญเสียและความทรงจำอันแสนโหดร้ายของชาวอเมริกันที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายนเรื่อยมา
Lily Allen – F*ck You
หลังจากที่อดีตประธานาธิบดี George W. Bush ได้ออกมาต่อต้านการแต่งงานของชาวเกย์ Lily Allen ก็ตั้งใจแต่งเพลงนี้ให้กับเขา โดยเพลงนี้ถูกปล่อยออกมาในปี 2009 ซึ่งก็คือปีสุดท้ายในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ George W. Bush
ซึ่งชาวอเมริกันเองต่างก็เบื่อหน่ายเขาเต็มทน เห็นได้จากเรตติ้งความนิยมที่ตกต่ำลงไปถึง 22 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ขณะออกจากตำแหน่งที่น้อยที่สุดในรอบ 70 ปี ซึ่งระหว่างการดำรงตำแหน่ง 2 วาระ ที่ยาวนานของเขา สหรัฐฯ ได้ประสบกับปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หนี้ต่อ GDP พุ่งทะยานสูงขึ้นจาก 56% เป็น 84%
ในตอนที่ขึ้นแสดงเพลงนี้ครั้งแรก เธอถึงกับกล่าวออกมาว่า “เพลงนี้เป็นเพลงเกี่ยวกับ George W. Bush ซึ่งฉันดีใจมากที่เขาไม่ได้เป็นประธานาธิบดีอีกแล้ว”
Rachel Platten – Fight Song
เพลง Fight Song นั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์ของ Rechel Platten เองถึงความยากลำบากและการแข่งขันในอุตสาหกรรมบันเทิงสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลังจากปล่อยเพลงนี้ออกมาในปี 2015 เธอก็สามารถเข้าสู่ Billboard Hot 100 ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว
ซึ่งในปีต่อมา Hilary Clinton ได้นำเพลงนี้มาใช้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เนื่องจากเนื้อหาของเพลงนั้นสอดคล้องกับสโลแกน ‘Fighting for Us’ ของเธอ
Rachel ก็ได้ออกมายอมรับว่าตอนแรกเธอเองก็รู้สึกกังวลที่ Fight Song ถูกนำไปใช้ทางการเมือง เพราะเธอมองว่าการเมืองมักทำให้คนแตกแยกกันเสมอ แต่อย่างไรก็ตามบทเพลงของเธอก็ได้ฉายภาพนักสู้ในตัว Hillary ออกมาให้ชัดมากขึ้น แม้จะไม่ได้รับชัยชนะก็ตาม
P!nk – What About Us?
เพลงใหม่ล่าสุดของ P!nk ที่เพิ่งปล่อยออกมาเมื่อปี 2017 อย่าง What About Us? ที่แม้เนื้อหาของเพลงก็ดูเหมือนเพลงรักทั่วไป แต่หลายคนกลับมองว่าเพลงนี้เป็นการแสดงความไม่พอใจกับการบริหารประเทศในยุคสมัยของ Donald Trump
โดยเฉพาะท่อน ‘What about all the plans that ended in disaster?’ ที่หลายคนเชื่อว่า เป็นการแสดงความไม่พอใจและต้องการตอบโต้ความเชื่อของ Trump ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความขัดแย้งและอาจขยายตัวไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3
เพราะหลังจากเขาขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ต้นปี 2017 ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานและนโยบายของเขาต่าง ๆ นานา โดยเฉพาะนโยบายแบนผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศมุสลิมและการกีดกัดผู้อพยพ แต่ตัว P!nk เองก็ไม่ได้ออกมายอมรับแต่อย่างใด
Namewee – Tokyo Bon 東京盆踊り2020 (Makudonarudo)
ในปี 2020 ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ในงาน โตเกียว 2020 (Tokyo Bon 2020) Cool Japan TV ช่องโทรทัศน์ของญี่ปุ่น จึงได้จัดทำบทเพลงนี้ขึ้นมาเพื่อให้ชาวต่างชาติเข้าใจและเรียนรู้ภาษาอังกฤษสำเนียงญี่ปุ่น
ด้วยลักษณะการออกเสียงของภาษาญี่ปุ่นที่มักออกเสียงสั้นๆ จึงทำให้คำศัพท์ภาษาอังกฤษหลายคำถูกทำให้เข้าปากคนญี่ปุ่นมากขึ้น จนกลายเป็นอุปสรรคทางภาษาที่สำคัญอย่างยิ่งเมื่อนักท่องเที่ยวต้องการจะสื่อสารด้วย เพลงนี้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ชาวต่างชาติเข้าใจและเรียนรู้ภาษาอังกฤษสำเนียงญี่ปุ่น หรือ Japanglish ได้มากขึ้น ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการเป็นเครื่องมือของรัฐที่ส่งออกวัฒนธรรมของตนเองในระดับโลก โดยเน้นไปถึงระดับปัจเจกบุคคลเลยทีเดียว
Luis Fonsi – Despacito ft. Daddy Yankee
บทเพลงที่โด่งดังที่สุดในปี 2017 กับการครองตำแหน่งที่ 1 บนชาร์ต Billboard Hot 100 ติดต่อกันยาวนานกว่า 16 สัปดาห์ และเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีที่บทเพลงภาษาสเปนกลับขึ้นไปครองอันดับหนึ่งได้สำเร็จ แถมมิวสิควิดิโอของเพลงนี้ก็เป็น MV ที่ยอดคนดูทะลุ 2,000 ล้านวิวได้เร็วที่สุดในโลก
ซึ่งในเดือนกรกฎาคม 2017 Nicolás Maduro ประธานาธิบดีของเวเนซูเอลา ได้อาศัยความสำเร็จของบทเพลงนี้ โดยการนำมาใช้ในการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเขาได้ดัดแปลงท่อนฮุกของเพลงเป็น ‘Slowly, take your vote rather than weapons, and express your ideas. Always in peace and calm.’
เมื่อเจอการกระทำนี้เจ้าของเพลงอย่าง Luis Fonsi ก็อกมาตอบโต้และตำหนิการกระทำของประธานาธิบดีแห่งเวเนซูเอลาอย่างรุนแรง เพราะเขาไม่เห็นด้วยกับการนำเพลงไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แถมยังเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
Big Bang – Bang Bang Bang
ผลงานการแต่งเพลงของ G-Dragon หนึ่งในสมาชิกของวงบอยแบนด์สัญชาติเกาหลีใต้ Big Bang ซึ่งเพลงนี้ได้รับความนิยมอย่างมากจนสามารถคว้ารางวัล ‘Song Of The Year’ จากงาน 2015 Mnet Asian Music Awards และเป็นหนึ่งในดิจิทัลซิงเกิ้ลที่ขายดีที่สุดตลอดกาล ดูเหมือนว่าเพลงนี้จะไม่ได้มีจุดประสงค์ทางการเมืองแอบแฝง แต่ก็ไม่วายถูกนำมาตีความใหม่เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
ในปี 2016 ฝั่งเกาหลีเหนือได้ทำการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์บริเวณตอนเหนือของประเทศขึ้น ทางรัฐบาลเกาหลีใต้จึงตัดสินใจตอบโต้การทดลองของเกาหลีเหนือด้วยการเปิดเพลงนี้บริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศเพื่อขมขู่เกาหลีเหนือ ซึ่งในเวลาต่อมา กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยโซล ก็ได้นำเพลงนี้มาใช้ในการประท้วงขับไล่อดีตประธานาธิบดี ปาร์ค กึน เฮ
อ้างอิงข้อมูลจาก
en.wikipedia.org/wiki/Imagine_(John_Lennon_song)
en.wikipedia.org/wiki/What%27s_Going_On_(Marvin_Gaye_album)
en.wikipedia.org/wiki/Wake_Me_Up_When_September_Ends
en.wikipedia.org/wiki/Fuck_You_(Lily_Allen_song)
en.wikipedia.org/wiki/Fight_Song_(Rachel_Platten_song)
en.wikipedia.org/wiki/Bang_Bang_Bang_(Big_Bang_song)