แต่ละคนมักจะนึกถึงหนังในแบบที่แตกต่างกันออกไป หลายคนอาจจะมีภาพจำหนังของเก่าๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังขาว-ดำ หนังเงียบ หรืออาจจะเป็นหนังพากย์ในอดีต รวมถึงหนังแบบที่เราได้ดูได้เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ลองนึกไปก็คล้ายกับว่าสิ่งนี้ให้ความบันเทิงกันเรามานานแล้ว แต่ใครจะรู้ว่าเส้นทางของหนังมีอายุแค่เพียงร้อยกว่าปีเท่านั้น
กว่าจะมาเป็นหนังให้เราได้ดื่มด่ำอรรถรสกันจนถึงทุกวันนี้ เทคโนโลยีการถ่ายทำได้เริ่มที่ โทมัส อัลวา เอดิสัน คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า ‘คิเนโตกราฟ’ (Kinetograph) เป็นกล้องบันทึกสิ่งที่ปรากฏบนแผ่นฟิล์ม โดยมองผ่านรูเล็กๆ ในลักษณะของการถ้ำมองบนสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า ‘คิเนโตสโคป’ (Kinetoscope)
ต่อมาเหล่านักประดิษฐ์ก็พยายามสร้างเครื่องที่จะฉายภาพเคลื่อนไหวให้ผู้ชมหลายคนเห็นพร้อมกันได้ จนกระทั่งสองพี่น้องชาวฝรั่งเศส หลุยส์และออกุสต์ ลูมิแอร์ นำเสนอเครื่องฉายที่เรียกว่า ‘ซีเนมาโตกราฟ’ (Cinematograph) ในวันที่ 28 ธันวาคม 2438 นับเป็นการออกฉายบนจอและเก็บค่าเข้าชมเป็นครั้งแรก นับแต่นั้นเป็นต้นมา หนังและเทคโนโลยีถ่ายทำก็ได้รับการพัฒนามาโดยตลอด
แน่นอนว่าในระยะเวลาร้อยกว่าปี มีหนังมากมายทั้งไทยและต่างประเทศออกฉายให้ความบันเทิง และยังสะท้อนแง่มุมของยุคสมัยนั้นๆ ไปในตัว แต่ในจักรวาลหนังนับแสนล้านเรื่อง จะมีสักกี่เรื่องที่ควรค่าแก่การดู?
The MATTER จึงชวนคนในแวดวงหนังไทย ตั้งแต่ผู้กำกับภาพยนตร์ อาจารย์วิชาภาพยนตร์ และคนที่หลงรักในการดูหนัง มาแนะนำหนังในดวงใจว่า พวกเขาประทับใจเรื่องไหนบ้าง และเรื่องไหนที่ชีวิตนี้ต้องหามาดูให้ได้สักครั้ง
อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
อาชีพ : ผู้กำกับภาพยนตร์
The Unchanging Sea (1910, D. W. Griffith)
“สายน้ำทะเลที่ไม่เคยเปลี่ยน เป็นหนังสั้นขาว-ดำ พูดถึงผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกแยกจากสามี เพราะว่าต้องออกไปหาปลา ทุกปีเธอจะมารอที่ชายหาดแห่งนี้ ทั้งเรื่องรู้สึกว่ามัน sense มาก
เรารู้สึกว่ามันทึ่ง หนังมันทำเมื่อเกือบร้อยปีมาแล้ว แต่ยังสามารถทำให้เราสะเทือนใจได้ หนังเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกว่า จริงๆ หนังมันยังอายุน้อยอยู่เลย มันยังมีอะไรที่เป็นไปได้อีกเยอะ มันจะมีรูปแบบอื่นๆ อีกมั้ย เลยเป็นแรงบันดาลใจให้เราตรงนั้น”
The Conversation (1974, Francis Ford Coppola)
“เป็นหนังเล็กๆ เกี่ยวกับช่างคนหนึ่งที่เชี่ยวชาญด้านเสียง เขาคิดเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมา คือ เทคโนโลยีดักฟัง หนังพูดถึงความตึงเครียดและความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกันในช่วง Nixon ของอเมริกา
หนังมันคลาสสิกมาก พูดถึงได้ทุกสังคม เรื่องของความจริง เรื่องที่ถูกสร้างขึ้นมา เรื่องของสังคมที่ไม่มีเสรีภาพ ทุกอย่างถูกมองไปหมด ในด้านศิลปะภาพยนตร์มันเป็นการเล่าภาษาหนังที่คลาสสิกและกบฏในเวลาเดียวกัน หนังเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับหนังลูกผสม ระหว่างหนังที่เรียกว่าหนังอาร์ตกับหนังเล่าเรื่อง”
Goodbye, Dragon Inn (2003, Tsai Ming-liang)
“มันเป็นประสบการณ์ร่วมที่คนยุคเราโตขึ้นมาในพื้นที่ของโรงหนังใหญ่ๆ พอเข้าไปแล้วก็เป็นม่านสีแดงเปิดขึ้น มันเป็นพิธีกรรมที่ไม่มีแล้วในสมัยนี้ การสลายไปของหนังบางประเภท การสลายไปของพื้นที่ที่ใหญ่ เหมือนถ้ำยักษ์ การสลายไปของกลุ่มคนที่มาดูหนัง ซึ่งเมื่อก่อนจะหลากหลายมากกว่านี้ มีทั้งคนแก่ มีเด็กตัวเล็กๆ มีเต็มไปหมด ซึ่งมันหายไปแล้ว เดี๋ยวนี้เป็นวัยรุ่น วัยทำงาน ไปทั้งหมด”
ชลสิทธิ์ อุปนิกขิต
อาชีพ : นักตัดต่อภาพยนตร์
Happy Hour (2015, Ryusuke Hamaguchi)
“บางทีการไปเทศกาลหนัง เรามักชอบกดดูเล่นๆ ว่าหนังเรื่องไหนยาวที่สุดในเทศกาล แล้วก็ไปดูเรื่องนั้น…อาจดูประสาทนิดนึง หนังเรื่องนี้ยาว 5 ชั่วโมง และฉายเพื่อประกวดที่เทศกาลหนังสิงคโปร์ ปี 2015 ซึ่งปีนั้นเราลงทุนบินไปเพื่อดู ‘รักที่ขอนแก่น’ ของพี่เจ้ย ที่แม้จะไม่ได้อยู่ในลิสต์นี้ แต่เป็นหนังที่ควรดูเช่นเดียวกัน แล้วก็เลือกหนังเรื่องนี้เป็นของแถม ปรากฏว่าชอบมาก แบบไม่คาดคิดมาก่อน
“หนังเล่าเรื่องที่ฟังดูเรียบง่าย เกี่ยวกับชีวิตของกลุ่มเพื่อนผู้หญิงญี่ปุ่นวัยสามสิบ 4 คน ซึ่ง 2 คนแต่งงานมีครอบครัว อีกคนเคยแต่งงาน ส่วนอีกคนกำลังจะหย่าร้างกับสามี หากแต่ว่าในความง่ายของเรื่อง กลับเต็มไปด้วยรายละเอียดมากมายที่เรียกได้ว่า ‘จำเป็น’ อย่างยิ่งที่หนังต้องยาว 5 ชั่วโมง 17 นาที เพื่อที่จะบอกเราว่ามนุษย์เราล้มเหลวในการสื่อสารและเข้าหากันและกันยังไงบ้าง
“ในแง่การ filmmaking คนทำหนังเรื่องนี้ทุ่มเทเป็นอย่างมาก ในการที่จะบันทึกภาพของการแสดง ‘ที่ดีที่สุด’ หรืออาจจะเรียกว่าเป็นมนุษย์ที่สุด และกล้าที่จะเลือกใช้มันในตอนตัดต่อ ไม่ว่าเทคนั้นกล้องมันเบลอ มันจะสั่น มันจะอันเดอร์ แต่ถ้านักแสดงเล่นดีจริงๆ สิ่งนั้นมันจะทะลุทะลวงความ out of focus ออกมาให้เราเห็นได้เสมอ”
Norte, the End of History (2013, Lav Diaz)
“เราค้นพบ Lav Diaz ในงานฉายหนังที่หอสมุดเล็กๆ แห่งหนึ่ง บนชั้นสามของตึกแถวในซอยสีลม 19 ที่ภาพขาวดำถูกฉายลงบนกำแพงเปล่า หนังของเขามักจะถูกถ่ายเป็นขาวดำ และมีความยาวที่หลายคนเกินจะรับไหว (ยาวที่สุดของเขาคือ 12 ชั่วโมง นี่เราต้องใช้เวลาครึ่งวันในการดูหนังเรื่องหนึ่งเลยหรือ) แต่ไม่ว่าเราจะเผลอหลับไปสัก 10 นาที หรือตั้งใจลืมตาดูจนจบได้ ก็จะพบว่าหนังของเค้ามีเมจิคอะไรบางอย่างที่ทำให้เราชื่นชอบเสมอๆ
“Norte, the End of History น่าจะเป็นหนังแบบลาฟๆ ที่ดูง่ายที่สุด หนังเรื่องนี้ถ่ายเป็นหนังสี…สวยซะด้วย) โปรดักชั่นดี แต่ยังคงความลาฟไว้อย่างเต็มที่ และที่สำคัญคือ เป็นเรื่องสั้นที่สุดของเขาด้วยความยาว 4 ชั่วโมง รวมถึงเล่าเรื่องที่ค่อนข้างเข้าใจง่าย แต่ว่าดำดิ่งในทางอารมณ์
“อาจจะปฏิเสธไม่ลง ถ้ามีใครบางคนเดินมาบอกว่าหนังของ Lav Diaz นั้นมีการแช่ช็อตที่ยาวเกินความจำเป็น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านั่นเป็นความตั้งใจและจำเป็น ของเขา และบางครั้งมันก็ทำงานกับอารมณ์ของเราอย่างมาก อะไรที่จะทำให้เราเข้าใจและรู้สึกกับความแตกสลายของตัวละครมากไปกว่าการนั่งดูไอ้ช็อตแช่ยาวๆ เหล่านั้นนั่นแหละ”
Children of Men (2006, Alfonso Cuaron)
“จำไม่ได้ว่าอะไรที่ทำให้ดูหนังเรื่องนี้ คุ้นๆ ว่าเราเข้าไป hi5 ของผู้กำกับท่านหนึ่ง ซึ่งเขาลงรูปของหนังเรื่องนี้ เราเลยไปหาดีวีดีมาดู ตอนนั้นอยู่แค่ปี 1 เอง
“Children of Men เล่าเรื่องของโลกอนาคตดิสโทเปีย ที่ไม่มีทารกเกิดใหม่เลยเป็นเวลา 18 ปี ปรากฏว่าดันมีหญิงสาวแอฟริกันคนหนึ่งตั้งท้องขึ้นมา พระเอกจึงต้องหาทางพาหลบหนีออกนอกประเทศอังกฤษ
“ความพิเศษคือ มันไม่ได้เป็นหนังฮอลลีวูดยิงกันตูมตามหรือมีระเบิดทุก 2 วินาที แต่ว่ากลับกัน หนังพยายามเล่าด้วยความเรียลลิสติกที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นถ่ายแบบ handheld หรือการถ่ายซีนแอ็กชั่นเป็นลองเทคก็ตาม ทำให้หนังถูกผลักขึ้นไปอีกขั้นนึง ด้วยความที่มันไม่ได้ใช้เลนส์ชัดตื้น แต่ปล่อยให้เราซึมซับบรรยากาศ กลับทำให้เรารู้ซึ้งถึงความหายนะที่ไม่ใช่แค่บ้านเมือง แต่ยังเกิดจากมนุษย์ด้วยกันเองอีกด้วย
“สารภาพโดยแท้จริงว่าเราค่อนข้างประทับใจการเคลื่อนกล้องของ Emmanuel Lubezki ในเรื่องนี้มากๆ เราพึ่งค้นพบว่าการที่ตากล้องเดินไปข้างหน้า 3 ก้าวอย่างช้าๆ นั้นสำคัญต่อช็อตยังไง นอกจากซีนลองเทคอันลือลั่นทั้งหลายแล้ว การก้าวขาเดินไปเดินมาของนายลูเบซกี้เนี่ยแหละที่สร้างความพิเศษให้หนังเรื่องนี้เป็นอย่างมาก”
อ.พิชัยวัฒน์ แสงประพาฬ
อาชีพ : อาจารย์สอนวิชาภาพยนตร์
The Lovers on the Bridge (1991, Leos Carax)
“หนังพูดถึงคู่รักคู่หนึ่งที่เป็นคนเร่ร่อน ทั้งสองคนมีชีวิตร่วมกันท่ามกลางความไม่พร้อมทุกประการ ภายในพื้นที่ที่พิเศษมากๆ คนไร้บ้าน มี ‘บ้าน’ เป็นสะพานที่มีชื่อว่า Pont-Neuf สะพานชื่อว่าใหม่ แต่เก่าที่สุดในปารีสและถูกปิดซ่อม
“ในฉากครบรอบ 200 ปีแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส มีการเฉลิมฉลอง จุดพลุพราวไปทั้งเมือง ทั้งสองคนเต้นรำกันอย่างสุดเหวี่ยงราวกับจะลืมความทุกข์ทั้งปวง สำหรับผม ความหมายของคำว่า เสรีภาพ ภราดรภาพ ความเท่าเทียม และแน่นอน ความรักได้ถูกชีวิตบ้าคลั่งของคนคู่นี้ตอกย้ำอย่างชัดเจน และมีพลังมากๆ
“ความรัก ความคิดถึง ความสงสาร ความทรงจำ อะไรก็ตามที่มันเป็นนามธรรมขนาดนี้ คงไม่สามารถนิยามด้วยคำไม่กี่คำได้ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องการภาษาพิเศษ เพื่อที่จะพาเราไปหาความหมายของสิ่งเหล่านี้ ด้วยการปลดเปลื้องพันธนาการของรูปแบบภาษาเดิมๆ บางคนว่า ความรักคือความเข้าใจ ใช่แหละ จะว่าไปก็ถูก แต่มันกว้างไกลกว่านั้นเยอะ ก็คงต้องใช้ภาษาภาพยนตร์ที่มันมีชั้นเชิงกวี นำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะอธิบายถึงสิ่งนี้”
Amour (2012, Michael Haneke)
“ผมรู้สึกว่าหนังพาผมไปสำรวจชีวิตดี สำรวจความรัก ความเป็นมนุษย์ ความเจ็บปวด ซึ่งมันคละๆ กันไป มันนิยามไม่ได้ว่าอันไหนคือพื้นที่ของความรัก อันไหนคือพื้นที่ของความเจ็บปวด สิ่งสำคัญในชีวิตมนุษย์ทั้งหลายไม่มีพรมแดนที่มันชัดเจน มันพร่าเลือนไปหมด
“มันมีอยู่ฉากหนึ่งสั้นๆ ตัวละครคุณยายเริ่มมีอาการหนักขึ้น มือข้างหนึ่งใช้การไม่ได้ ระหว่างที่กำลังกินข้าวมื้อกลางวัน อยู่ดีๆ แกบอกให้สามีเอาอัลบั้มรูปมาให้ดู ฝ่ายชายก็รู้สึกงงๆ ในขณะที่คุณยายเปิดดูแล้วเห็นรูปตัวเองตอนเด็กๆ ก็พูดขึ้นมาว่า ‘มันงดงามดีนะ’ ฝ่ายชายถามด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ว่าเธอพูดถึงอะไร ‘ชีวิต ชีวิตที่ยาวนาน’ เธอตอบ
“ชิ้นส่วนความทรงจำมันมีพลัง มันมีนับแสนนับล้านแล้วไม่เคยปะติดปะต่อเป็นเส้นตรง แต่วันใดที่เรานึกถึงมัน แล้วนิ่งพอให้มันมาปรากฎชัดขึ้นในสำนึกของเรา เราคงพูดคำเดียวกับคุณยายว่า ‘มันงดงาม’ ซึ่งวันนั้นอาจจะไม่ใช่วันที่ชีวิตผุพัง แต่มันอาจจะเป็นวันปกติ สิ่งเหล่านี้มันเกื้อหนุน มันขับเคลื่อนให้ชีวิตเป็นชีวิต”
แก้ว (1980, เปี๊ยก โปสเตอร์)
“แก้วเป็นตัวละครผู้หญิงคนหนึ่ง (แสดงโดย ลินดา ค้าธัญเจริญ) เป็นผู้หญิงที่ผมรู้สึกว่าน่าจะเป็นเพื่อนที่ดีของผมได้ เราคงจะเล่าเรื่องอะไรต่ออะไรให้กันฟังอย่างมีความสุข นั่งคุยกันได้นานๆ คงเพราะความละเอียดอ่อนในการมองโลกของเธอ
“แก้วเป็นเมียน้อยของเสี่ยคนหนึ่ง เธอไม่ได้ต้องการเงิน เธอต้องการความรัก ที่สุดแล้วเธอก็จำใจเดินจากเขามา จนได้เจอผู้ชายอีกคนหนึ่ง เป็นนักดนตรี หนังมันเล่าเรื่องของชีวิตสมัยใหม่ ทุกอย่างมันใหม่หมด รูปแบบการตัดสินใจ วิถีชีวิตแบบหนุ่มสาว สถานที่ที่อยู่ด้วยกัน ฯลฯ
“มีประโยคหนึ่งที่ผมรู้สึกประทับใจมากๆ เลย แก้วพาแฟนนักดนตรีไปหาแม่ที่บ้าน เป็นบ้านไม้เก่าๆ แก้วเดินรอบๆ จนเจอแม่นั่งซักผ้าอยู่ เธอนั่งยองๆ แล้วพูดว่า ‘สวัสดีจ้ะแม่ วันนี้แก้วพาแฟนมาหาแม่ เขาจะมาบอกแม่ว่าเขารักแก้วมาก’ มันเป็นประโยคที่ธรรมดาๆ แต่น่าประทับใจมาก รู้สึกวูบวาบทุกครั้งที่นึกถึง คุณค่าของสิ่งที่เรียกว่าความรักมันพิเศษมากสำหรับผู้หญิงคนนี้”
เป็นเอก รัตนเรือง
อาชีพ : ผู้กำกับภาพยนตร์
“เราไม่อยากแนะนำหนังเป็นเรื่องๆ เพราะหนังที่เราชอบมันมีเยอะมาก เราจะบอกชื่อผู้กำกับที่เราสนใจ เขาชื่อ Aki Kaurismäki เป็นผู้กำกับชาวฟินแลนด์ หนังเขาจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนที่ถูกสังคมกระหน่ำ เป็นเรื่องคนตัวเล็กๆ เป็นยามบ้าง เป็นคนขับรถไฟฟ้าบ้าง เป็นคนขับแท็กซี่บ้าง เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนพวกนี้ แล้วหนังเขานี่ใช้เงินน้อยมาก แต่มันมีความเป็นศิลปะสูงมาก เขาถ่ายภาพสวย ตัดต่อดี การแสดงน้อยๆ มินิมอลมาก
“เรื่องแรกเราชอบเปิดในคลาสให้นักเรียนดู ทุกคนจะชอบมาก เป็นหนังที่กินใจมาก ชื่อว่า Drifting Clouds (1996, Aki Kaurismäki) เป็นเมฆที่ลอยแล้วล่องไป อีกเรื่องที่ชอบ คือ The Man Without a Past (2002, Aki Kaurismäki) คือคนที่ไม่มีอดีต พระเอกแม่งโดนฟาดกบาล แล้วความจำแม่งหายไป อีกเรื่องชื่อว่า Leningrad Cowboys Go America (1989, Aki Kaurismäki) เป็นหนังวงร็อคในประเทศฟินแลนด์ที่เป็นเพื่อนกับผู้กำกับคนนี้ แล้วเขาก็สร้างหนังเกี่ยวกับวงนี้แต่ไม่ได้เป็นหนังสารคดีนะ เป็นหนังฟิกชั่น
“3 เรื่องนี้ขอให้ดูนะ จะได้รับความบันเทิงชนิดที่เทียบ… อาจจะน้อยกว่า Samui Song หน่อย แต่ว่าเรียกว่าอยู่ในระดับนั้นเลยล่ะฮะ (หัวเราะ)”
จิตร โพธิ์แก้ว
อาชีพ : ผู้หลงรักในการชมภาพยนตร์
The Death of Maria Malibran (1972, Werner Schroeter)
“เราชอบหนังทดลองน่ะ โดยเฉพาะหนังไม่เล่าเรื่อง และ The Death of Maria Malibran ก็ถือเป็นหนึ่งในหนังที่เราชอบมากที่สุดในชีวิต หนังมันสร้างจากประวัติชีวิตของ Maria Malibran นักร้องโอเปร่าในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่หนังไม่เล่าเรื่องเลย คือดูจบแล้วเราก็แทบไม่ได้รับข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับชีวิตของเธอเลย แต่เรากลับได้รับประสบการณ์ที่สุดยอดที่สุดในการชมภาพยนตร์ เพราะทุกอย่างในหนังมันเข้าทางเรามากๆ
“เราได้เห็นผู้หญิงและผู้ชายแต่งหญิงกลุ่มหนึ่งโพสท่าแรงๆ ตลอดทั้งเรื่อง พวกเขาทำกิริยาบ้าๆ บอๆ ไร้ที่มาที่ไปตลอดทั้งเรื่อง และลิปซิงก์เพลงป็อปกับเพลงโอเปร่าไปเรื่อยๆ ฉากแต่ละฉากในหนังเรื่องนี้น่าประทับใจมากๆ ถึงแม้เราจะไม่รู้ว่าแต่ละฉากมันเกี่ยวข้องกันยังไง, แต่ละฉากมันเกี่ยวข้องกับชีวิตของ Maria Malibran ตรงไหน และแต่ละฉากมันจะสื่อถึงอะไร คือดูจบแล้วเรารู้สึกเหมือนเพิ่งหลุดออกมาจากความฝันที่งดงามที่สุดที่ไม่ต้องอาศัยตรรกะใดๆ หรือรู้สึกเหมือนเพิ่งไปร่วมงานปาร์ตี้ของเพื่อนกะเทยจากแดนสนธยา และเราก็ได้ค้นพบว่าภาพยนตร์มันสามารถให้ความสุขที่สุดยอดที่สุดแก่ผู้ชมได้โดยไม่ต้องเล่าเรื่องหรือสร้างความเข้าใจใดๆ แก่ผู้ชม
“ภาพยนตร์เรื่องนี้มันอาศัยภาพที่งดงาม, การเรียงร้อยภาพอย่างประณีต, การโพสท่าของนักแสดง, ดนตรีที่ไพเราะ และวิสัยทัศน์ที่แรงกล้าและเป็นตัวของตัวเองของผู้สร้าง แล้วพอรสนิยมของผู้สร้างหนังมันตรงกับรสนิยมของเรา เราก็เลยได้รับความสุขจากหนังไปอย่างเต็มที่”
India Song (1975, Marguerite Duras)
“นอกจาก ‘หนังที่ไม่เล่าเรื่อง’ แล้ว หนังอีกกลุ่มที่เราชอบสุดๆคือ ‘หนังที่เล่นสนุกกับวิธีการเล่าเรื่อง’ หรือใช้วิธีการเล่าเรื่องที่ไม่ธรรมดาด้วย และ India Song ก็ถือเป็นหนึ่งในหนังที่เราชอบที่สุดในกลุ่มนี้ เพราะในขณะที่หนังทั่วไปเล่าเรื่องผ่านทางภาพเคลื่อนไหว และนำเสนอภาพเคลื่อนไหวกับเสียงที่สอดคล้องกัน หนังเรื่องนี้กลับเล่าเรื่องส่วนใหญ่ผ่านทางเสียงนินทาของตัวละคร 3-4 คนที่เราไม่รู้ว่าคือใครตลอดทั้งเรื่อง
“ในขณะที่ภาพของหนังนำเสนอตัวละครนางเอกที่มีชื่อว่า Ann-Marie Stretter ขณะเดินเยื้องย่างไปมาด้านในและด้านนอกอาคาร, เต้นรำกับผู้ชายบางคน หรือโพสท่า โดยเราจะรับรู้เรื่องราวประวัติชีวิตของ Ann-Marie กับผู้ชายกลุ่มนี้ผ่านทางเสียงนินทา โดยที่เจ้าของเสียงนินทาบางเสียงก็เป็นเหมือนคู่รักเลสเบี้ยนด้วย นอกจากนี้ก็มีเสียงของหญิงขอทานที่ตะโกนเป็นภาษาลาวแทรกเข้ามาในหนังเป็นระยะๆ อีก
“เราว่าภาพของหนังเรื่องนี้มันทรงพลังและตราตรึงเรามากๆ และการเล่นกับ ‘ช่องว่าง’ ระหว่าง ‘ภาพ’ กับ ‘เสียง’ ในหนังเรื่องนี้ก็ก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงมากๆ สำหรับเรา โดยเฉพาะในฉากที่ตัวละครโพสท่านิ่งๆ ขณะแสงอาทิตย์เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เป็นเวลาราว 5 นาที ในขณะที่เสียงนินทาพูดถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำคงคา หรืออะไรทำนองนี้ ฉากที่ภาพกับเสียงมันไม่สอดคล้องกันฉากนี้เป็นฉากที่ทำให้เราเข้าสู่สภาวะทางจิตหรือฌานที่แปลกประหลาด และทำให้เราแทบจะ ‘ลืมหายใจ’ ทุกครั้งขณะที่ดูฉากนี้ และเราก็ดูหนังเรื่องนี้ไปแล้ว 7 รอบ”
เมืองในหมอก (1978, เพิ่มพล เชยอรุณ)
“ถ้าหากพูดถึง ‘หนังเล่าเรื่อง’ แล้ว หนังที่เราชอบมากๆ ก็คือหนังที่นำเสนอตัวละครหญิงแรงๆ หรือโรคจิตน่ะ โดยเฉพาะหนังอย่าง Bremen Freedom (1972, Rainer Werner Fassbinder), In the Realm of the Senses (1976, Nagisa Oshima), ผู้หญิงแย่งสับ (1989, David Chung), La Cérémonie (1995, Claude Chabrol), Monster (2003, Patty Jenkins) และ Maps to the Stars (2014, David Cronenberg) แต่ในส่วนของหนังไทยนั้น เรามักไม่ค่อยเจอตัวละครหญิงที่เราชอบสุดๆ ยกเว้นในหนังเรื่อง ‘เมืองในหมอก’ ที่นำเสนอตัวละครหญิงที่เราชอบสุดๆ ถึง 6 ตัวด้วยกัน ซึ่งได้แก่ตัวละครแม่และลูกสาวที่เป็นสองฆาตกรต่อเนื่อง, หญิงสาวที่ชอบการแลกเปลี่ยนคู่นอน และสามสาวลึกลับในหมู่บ้านที่ทำให้เรานึกถึงเทพ Erinyes หรือ the Furies ในตำนานกรีก
“เราชอบหนังเรื่องนี้ทั้งเนื้อหาและสไตล์ โดยเนื้อหาของหนังพูดถึงแม่และลูกสาวที่เคยตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง และทั้งสองก็ได้กลายเป็นฆาตกรต่อเนื่องในเวลาต่อมา ในขณะที่สไตล์ของหนังนั้นสะท้อนความหลอกหลอนมืดมนหดหู่ออกมาได้อย่างทรงพลังมาก เราว่าหนังเรื่องนี้มันไม่ได้ทำเพียงแค่ ‘เอาด้านมืดของมนุษย์มาเล่าเรื่องให้เป็นหนังสนุกตื่นเต้น แบบหนังทั่วๆ ไปน่ะ แต่มันสามารถเจาะเข้าสู่ด้านมืดและความเจ็บปวดของมนุษย์ได้อย่างทรงพลังจริงๆ
“หนังเรื่องนี้ให้ความสำคัญกับจิตวิญญาณที่เจ็บปวดของตัวละครมากกว่าการสร้างความสนุกตื่นเต้นทางเนื้อเรื่องน่ะ และมีหนังไทยไม่กี่เรื่องที่เลือกเส้นทางแบบนี้ โดยล่าสุดก็คือเรื่อง อนธการ (2015, Anucha Boonyawatana) ที่เน้นลงลึกจิตวิญญาณด้านมืดของตัวละครได้อย่างทรงพลังเหมือนกัน”
สยมภู มุกดีพร้อม
อาชีพ : ผู้กำกับภาพ
Kagemusha (1980, Akira Kurosawa)
“ส่วนใหญ่เราชอบหนังของ Akira Kurosawa เราเป็นคนดูหนังแบบซิมเปิล ไม่ได้วิเคราะห์ ไม่ได้อะไร แต่มันสื่อสารกับเราได้ เราว่ามันเท่ ในแง่ของการตัดต่อ การแสดง จะบอกไม่เป็นธรรมชาติก็ไม่เชิง แต่จังหวะที่เขาถ่าย เขารู้จักหยุดในจังหวะที่บางทีเรานึกไม่ถึง เขาตัดต่อในองศาที่มันน่าสนใจ”
The Mirror (1975, Andrei Tarkovsky)
“หนังมันมีพื้นที่เยอะ ทำให้เราจินตนาการได้เยอะแยะเต็มไปหมด มันเป็นตัวอย่างให้เราเห็นว่า ภาพยนตร์มันก็ไปได้ไกลว่าหนังเล่าเรื่องธรรมดา นั่นคือสิ่งที่เราคิดว่าบางทีเราอาจจะไม่เข้าใจว่าเหตุการณ์เป็นยังไง แต่มันมีพื้นที่ให้เราเยอะ มีช่องว่างเยอะ นั่นแหละที่เราชอบ”
The Turin Horse (2011, Béla Tarr)
“หนังพูดถึงเรื่องความจน มันทำให้เรารู้สึกจริงๆ ว่าความจนที่เขาพูดถึงคืออะไร ไม่ใช่แค่ฟังนักเศรษฐศาสตร์พูดทางโทรทัศน์หรือนักการสื่อสารทางหนังสือพิมพ์ ที่จะพูดถึงความจนเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของสังคม มันเป็นแค่ข้อมูลเลย แต่ความจนที่เราสัมผัสได้ในหนังเรื่องนี้ มันเป็นความรู้สึกของคนๆ นั้นจริงๆ ความรู้สึกของการไม่มีทางออก การที่ยังอยู่ในวังวนนั้น แล้วจะให้ทำยังไงล่ะ”
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.fapot.org/th/event.php?mid=30