พอถึงวันเสาร์แบบนี้ The MATTER ก็ย้อนคิดไปว่า เนี่ย ถ้าเป็นตอนเด็กๆ ก็คงจะตื่นเช้า รีบลุกมายึดทีวีเพื่อเปิดการ์ตูนก่อนที่พ่อแม่ของเราจะเปิดช่องไปดู อย่างอื่นที่เราไม่อยากดู ผลพลอยได้จากการเปิดทีวีรอดูการ์ตูนกันเนิ่นๆ ก็คงไม่พ้นการที่เราจะได้ฟังเพลงการ์ตูนที่ทำนองเฉพาะตัวและน่าจดจำ แถมพอมาอยู่ในบ้านเราก็มีเวอร์ชั่นไทยๆ ให้กันอีกด้วย (ไหนใครจำพี่นัทน้องนพได้บ้างยกมือเร็ว)
เอ้า เรามาย้อนวัยเด็กแล้วมาเสวนาชวนรีแลกซ์ในวันนี้ กับเพลงการ์ตูนไทยที่ผ่านมาพอจะคุ้นกันบ้างไหม เราจะลองค่อยๆ ย้อนระลึกชาติเพลงพวกนี้กัน
ปีกรัก จากเรื่อง ดิจิมอน แอดเวนเจอร์
มั่นใจว่าเด็กไทยยุค ’90s รวมถึงแฟนการ์ตูนยุคอื่นๆ ต้องเคยฟังเพลงนี้กันแน่ๆ เวลามีงานการ์ตูนใด หรือ วงดนตรีไหนที่เล่นเพลงการ์ตูนเพลงนี้ขึ้นมาได้ เราจะได้ยินเสียงผู้ชมตะโกนในท่อนสร้อยของเพลงนี้อย่างพร้อมเพรียง โอ้ มาย เลิฟฟฟฟฟฟฟฟฟ (ยื่นไมค์ไปค่ะ)
ชินจัง จากเรื่อง ชินจัง จอมแก่น
ก่อนที่ เห่นโหลวอิทส์มี จะยึดคำพูดทักทายของหลายๆ คน ก็มี ‘เห่นโล้วสวัสดีกระผมนี้จะบอก’ ของเพลงชินจังนี่แหละที่หลายคนใช้กันจนติดปากเวลาทักทาย คนอื่นแบบลัลลาๆ สักหน่อย เพราะคำพูดน่ารักๆ แบบนี้มันฟังดูสดใสอยู่ไม่น้อย (คนร้องเพลงนี้ไปแข่ง The Voice ด้วยนะ) แต่ถ้าเต้นเป็น มนุษย์ต่างดาวครึ่งก้นมาในชีวิตจริงนี่ขอถอยออกห่างๆ ก่อนนะคะ คุณผู้โชมมมม
ชาลาลา จากเรื่อง หนูน้อยจอมซ่า มารูโกะ
ตีคู่มากับชินจัง ก็ต้องเพลงของ จิบิมารูโกะ นี่ล่ะ เพลงสดใสน่ารัก จนหลายคนอาจจะไม่เชื่อว่าเพลงการ์ตูนก็สามารถสนุกสนานแบบที่ชวนให้ขยับตัวกันทั้งบ้านได้อย่างนี้ นอกจากเพลงนี้ที่ใช้เป็นเพลงปิดแล้ว เพลงเปิดเรื่องก็น่ารักสดใสเหมือนฝันของเด็กหญิงมารูโกะอันใสสดด้วยนะ
อิคคิวซัง จากเรื่อง อิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา
แน่ะ คงจะคิดว่าเรื่องนี้ไม่มีเพลงไทยล่ะสิ แต่จริงๆ แล้วเคยมีการทำเพลงของอิคคิวซังออกมาในเทปคาสเซ็ต (แค่กๆ ตัววัดอายุ) ‘เพลงดังหนังเด็ก’ ที่แม้ว่า เสียงผู้ร้องอาจจะไม่ตรงกับเสียงพากย์อิคคิวซังที่เราคุ้นหูเท่าไหร่นัก แต่ตัวเพลงก็พยายามจับประเด็นของการ์ตูนเรื่องนี้ที่คงจะฉายทางโทรทัศน์ต่อไปอีกนาน จนคิดว่าลูกหลานของเราก็คงจะได้ดูต่อแน่ๆ เลย
มาครอสจ้าวเวหา จากการ์ตูนเรื่อง Super Fortress Dimension Macross
อีกเพลงที่อยู่ในเทปชุด ‘เพลงดังหนังเด็ก’ สิ่งที่น่าจดจำของเพลงนี้ นอกจากเนื้อหาเพลงที่อธิบายพล็อตคร่าวๆ และความพิเศษของเครื่องบินในเรื่อง ที่แปลงร่างเป็นหุ่นยนตร์ได้ ก็คือการออกเสียง S ที่คำว่ามาครอสยาวๆ ของคุณมีศักดิ์ นาครัตน์ อดีตนักร้องนักแสดงที่ร้องเพลงแปลงจากภาษาอื่นอีกหลายเพลง
โกลด์ไลตันอัศวินทองคำ จากเรื่อง โกลด์ไลตั้น หุ่นทองคำ
ก็ยังวนอยู่กับ ‘เพลงดังหนังเด็ก’ อีกหนึ่งเพลง (เพลงสุดท้ายละ แก่เกินพอละ) เรียนตามตรงว่าผู้เขียนเกิดไม่ทันเรื่องนี้ตอนฉาย แต่เจอเปิดเพลงนี้ให้ฟังจนต้องสะดุดหูกับท่อนแรกของเพลง ‘สำมะคัญจริง’ แล้วก็ยังร้องซ้ำอีกครั้ง แถมยังมีบอกด้วยว่า ‘สู้เค้าไม่ได้เพื่อนช่วยสบาย’ …เล่นเอาคนไม่เคยดูรู้เลยว่าเรื่องนี้ฝั่ง
พระเอกรุมศัตรูชัวร์ๆ
ไฟในฝน จากเรื่อง โมบิลสูท กันดั้ม W
น่าจะถือว่าเป็นช่วงหลังๆ ของเพลงการ์ตูนช่อง 9 ยุค ’90s กับความสะดุดหูเพราะการนำเอาเพลงดังจากญี่ปุ่นอย่าง Two-Mix มาปรับทำนองให้ด้อยลงกว่าต้นฉบับอย่างชัดเจน และเนื้อหาก็ออกจะมึนๆ สักหน่อย แต่ถ้ามองว่านี่เป็นเพลงกันดั้มฉบับภาษาไทยที่ก็ถือว่าแปลกใหม่อยู่ไม่น้อย
เพราะฉันนั้นมีแต่เธอ จากเรื่อง ฮิคารุ เซียนโกะ
ข้ามเวลามาอีกนิด กับการ์ตูนอนิเมชั่นที่ตอนนั้นถูกพาดพิงไปทางการเมืองเล็กน้อย เนื่องจากบริษัทที่จัดทำการฉายเรื่องนี้คือบริษัทของพานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายของอดีตนายกคนดัง ที่แปลกและถือว่าแหวกกฏจากการ์ตูนเรื่องอื่นๆ คือ เพลงเปิดของการ์ตูนเรื่องนี้ ใช้บริการ บอย โกสิยพงษ์มาแต่งเพลงใหม่หมดจดโดยไม่แปลหรือแปลงเพลงจากเพลงญี่ปุ่นเลย ถือว่าได้รับความสนใจจากผู้ชมการ์ตูนและผู้ไม่ชมการ์ตูนอยู่ไม่น้อย
Climax Jump (เวอร์ชั่นภาษาไทย) จากเรื่อง มาสค์ไรเดอร์ เดนโอ
อย่ามองชื่อเรื่องแล้วหันมาค้อนอ่อนๆ ว่า ‘นี่มันไม่ใช่การ์ตูน’ เลย ให้ถือว่าฉายติดกับการ์ตูนช่อง 9 แล้วจับเป็นพวกเดียวกันละกันนะ (แถ)
ก่อนอื่นเลยต้องบอกว่าเพลงนี้ไม่ใช่เพลงของฝั่งไอ้มดแดงเพลงแรกที่ใช้เพลงไทย (เรามีเพลงไอ้มดแดงเวอร์ชั่นเก่ากว่านี้ในอัลบั้ม ‘เพลงดังหนังเด็ก’ นั่นล่ะ) แล้วนี่ก็ไม่ใช่เพลงแรกที่ได้นักร้องที่มีชื่อมาร้อง (ส่วนนี้มี พี่เจ เจตริน เคยมาร้องให้ใยเพลง Some Day Some Where) แต่นี่น่าจะเป็นเพลงแรกที่จับนักร้องมีชื่อ มาร้องที่แปลงเนื้อหาและใช้ทำนองใกล้เคียงเดิมที่สุด แม้แต่ท่อนประสานที่ก็ปรับมาให้เหมาะสมด้วย
ไก๊ไก่ไกมุ จากเรื่อง มาสค์ไรเดอร์ ไกมุ
ที่อยากจะย้อนความหลังเล่าความแก่ขึ้นมาในวันนี้ก็เพราะ เพลงนี้เพิ่งปรากฏตัวในโลกอินเทอร์เน็ตเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานี่เอง แม้ว่าจะถูกแฟนของมาสค์ไรเดอร์หลายคนติงว่าเพลงไม่เข้ากับโทนเรื่องเท่าไหร่ หรือความรู้สึกที่ว่าตัวเพลงไม่ช่วยให้ทำให้จดจำตัวละครใหม่เท่าไหร่ แต่เนื้อหาก็สนุกสนานและน่าจะถูกใจเด็กๆ อยู่ไม่น้อยนะ
อย่างที่เห็นว่าเพลงการ์ตูนแปล(ง)ไทยนั้นอยู่มานานตั้งแต่ช่วงปลายยุค ’80s แล้ว แม้อาจจะหายห่างลดลงไปบ้างเป็นบางช่วง แต่สุดท้ายเพลงเหล่านี้ก็ยังคงกลับมาอีกครั้ง แล้วประเทศไทยก็ไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่มีการแปลเพลงแบบนี้เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นชาติใกล้เคียงอย่าง ฟิลิปปินส์, อินโดนิเซีย หรือจะข้ามไปฝั่ง สเปน, บราซิล แม้แต่อเมริกาก็มีเพลงลักษณะนี้เช่นกัน (ตัวอย่างด้านบนเป็นเพลง เซเลอร์มูน เวอร์ชั่น Jazz ไงล่ะ) ไหนจะยังมีเพลงที่แปลอย่างเป็นทางการแบบเพลงจากการ์ตูนของทาง วอลท์ ดิสนีย์ อีกด้วยนะ