นับตั้งแต่อนิเมชั่นแบบสากลเข้าถึงชาวไทยเมื่อราวปี พ.ศ. 2488 – 2489 จากเรื่องไร้สาระ กลายเป็นสาระบันเทิง และกลายเป็นเรื่องบันเทิงที่ผู้คนคุ้นเคยไปในที่สุด เหมือนอย่างช่วงปีนี้ที่มีแอนิเมชั่นจำนวนมากออกฉายทั้งทางโรงหนังและทีวี
เห็นเกริ่นมาเป็นเรื่องราวแต่เก่าก่อนขนาดนี้ เปล่านะครับ วันนี้เราไม่ได้จะย้อนไปเสวนาอดีตอันไกลโพ้นขนาดนั้น แต่ก็ไม่ปฏิเสธครับว่าวันนี้เราจะมาคุยกันถึงเรื่องสมัยก่อนตอนที่เรายังเด็ก เมื่อครั้งที่อนิเมชั่นทีวีเป็นเรื่องที่เราต่างรอคอย ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนหลังข่าวของทางช่อง 3 หรือช่อง 7 / การ์ตูนตอนเย็นๆ ของทั้งช่อง 3 5 7 9 และแน่นอนว่าการ์ตูนเช้าทางทีวีช่องต่างๆ ทุกวันเสาร์อาทิตย์ โดยเฉพาะทางช่อง 9 การ์ตูน
ในปัจจุบันนี้รายการการ์ตูนสามารถหาดูได้ง่ายขึ้น ช่องทีวีดาวเทียมมีช่องการ์ตูนโดยเฉพาะอยู่หลายช่อง บางเรื่องก็ยังฉายอยู่ ทั้งในลักษณะการฉายยาวนาน หรือการทำป็นเวอร์ชั่นใหม่ (อย่างโดราเอมอน ดราก้อนบอล เซนต์เซย์ย่า เป็นอาทิ) และช่วงหลังๆ ก็นำการ์ตูนมาฉายเร็วทันประเทศต้นทางมากขึ้นอีกต่างหาก กระนั้นด้วยดวงใจที่โหยหาอดีต เราเลยอยากจะยกการ์ตูนทีวีส่วนหนึ่งที่อยู่ในดวงใจของผู้เขียนมาพูดถึงกันสักหน่อย
1. อิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา
ฉายครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2518 ว่ากันว่าฉายครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2525 ทางช่อง 3
ถ้าถามว่าการ์ตูนทีวีญี่ปุ่นเรื่องไหนวนฉายผ่านหน้าจอทีวีมากที่สุด อิคคิวซัง คงคว้าตำแหน่งนี้ไปได้โดยง่าย เพราะเมื่อปี 2559 ทางช่อง 3 ก็ยังนำการ์ตูนเรื่องนี้มาฉายในช่วงบ่ายๆ อยู่เลย การ์ตูนจับเอาโครงเรื่องจากชีวิตส่วนหนึ่งของ พระอิคคิว พระสงฆ์ชื่อดังของญี่ปุ่น มาบอกเล่าเป็นการ์ตูนสอนใจเด็กๆ สดใสแทบจะไร้ความรุนแรง ซึ่งนี่อาจจะเป็นเหตุผลที่มันยังวนเวียนมาฉายอยู่เรื่อยๆ ในบ้านเรา
ป.ล. อนิเมชั่นเรื่องนี้มีจำนวนตอนทั้งหมด 296 ตอน ฉะนั้นจงอย่าแปลกใจเลยที่รู้สึกว่าดูเท่าไหร่ก็ไม่จบเสียที
2. ครูโต้ เจ้าชายอภินิหาร / พิกมาริโอ้
ฉายครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2533 ฉายครั้งแรกในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2535 ทางช่อง 9
การผจญภัยของเจ้าชายครูโต้ ลูกครึ่งเทพผู้ทรงพลังที่ออกเดินทางเพื่อกำจัดเมดูซ่า ปิศาจร้ายที่ทำให้แม่เขากลายเป็นหิน ทว่าระหว่างการเดินทางก็มีอุปสรรคมากมายขวางทางเจ้าชายน้อยอยู่ ความน่าเจ็บปวดที่สุดก็คือฉบับอนิเมชั่นของเรื่องนี้ตัดจบไม่เท่ากับหนังสือการ์ตูนต้นฉบับนี่แหละ
3. อูเทน่า สาวน้อยนักปฏิวัติ
ฉายครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2540 ฉายครั้งแรกในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2541 ทางช่อง 9
การ์ตูนทีวีที่ดัดแปลงมาจากหนังสือการ์ตูนของ อ.ไซโต้ จิโฮ เกี่ยวกับ อูเทน่า เด็กสาวที่เคยรอเจ้าชายมาช่วย แต่นานไปเจ้าชายไม่มาสักทีเธอจึงตัดสินใจเทิร์นตัวเองเป็นเจ้าชายแทน โดยหลักก็เหมือนว่าจะเป็นการต่อสู้เพื่อช่วยเหลือ แองจี้ เพื่อนสาวคนสนิท แต่ตอนหลังกลายเป็นการต่อสู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติโลกที่มีแองจี้เป็นเดิมพัน แถมน่าจะเป็นการ์ตูน LGBTQ แบบเปิดเผยที่ได้ฉายลงช่วงการ์ตูนเด็กอีกต่างหาก
4. เซเลอร์มูน
ฉายครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2535 ฉายครั้งแรกในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2537 ทางช่อง 9
การ์ตูนขวัญใจเด็กหญิงและเพื่อนสาวหลายท่านที่จะต้องมาเลียนแบบท่าแปลงร่างแข่งกันที่โรงเรียน แม้จะมีฉบับใหม่ฉายอยู่ตอนนี้ แต่เด็กยุค 90 หลายๆ คนก็ยังชื่นชอบภาคเก่าอยู่ไม่น้อย ถึงเรื่องหลักจะเป็นการ์ตูนแนวสาวน้อยเวทมนตร์คอยปราบเหล่าร้ายที่มีแผนพยายามชิง ‘ผลึกเงินมายา’ แต่ประโยค “ตัวแทนแห่งดวงจันทร์จะลงทัณฑ์แกเอง” ก็ติดหูติดปากทั้งหญิงและชายที่ได้รับชม
5. ซากุระ มือปราบไพ่ทาโรต์
ฉายครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2541 ฉายครั้งแรกในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2542 ทางช่อง 9
คิโนโมโตะ ซากุระ ได้พบกับหนังสือผนึกการ์ดเวทมนตร์ลึกลับแล้วทำให้มันกระจายออกไปทั่วเมือง เธอจึงรับผิดความผิดนี้ด้วยการเป็น ‘การ์ดแคปเตอร์’ เพื่อรักษาความสงบที่เกี่ยวพันกับเวทมนตร์ที่สั่นคลอนโลกทั้งใบได้ การ์ตูนสาวน้อยเวทมนตร์อีกเรื่องที่ตอนนี้หลายคนคงสังเกตแล้วว่าเป็นการ์ตูน Unisex แถมยังสนับสนุน LGBTQ แทบจะทุกรูปแบบอีก ปีหน้านี้ก็จะมีการ์ตูนทีวีภาคต่อออกมาให้ชมกันแล้วด้วย อดใจรอแทบจะไม่ไหวแล้วล่ะ
6. DuckTales
ฉายครั้งแรกในอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2530 ฉายครั้งแรกในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2535 ทางช่อง 7
นี่เป็นการ์ตูนเรื่องหนึ่งที่ฉายในรายการดิสนีย์คลับ สมัย พี่นัท-พี่แนน ยังเป็นพิธีกรอยู่ กับการผจญภัยของเป็ดอภิมหาเศรษฐีอย่าง สกรูจ เป็ดแฝดสาม ฮิวอี้ ดิวอี้ และ ลูอี้ ในการตามสมบัติลับที่กระจายอยู่ทั่วโลก ความดังของเรื่องนี้มีมากพอที่จะทำให้ปีนี้จะมีภาครีบูตมาให้เด็กโข่งแบบเราได้ชมกันทีเดียว
7. เทพอสูรเซนกิ
ฉายครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2530 ฉายครั้งแรกในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2531-2532 ทางช่อง 3
การ์ตูนเกี่ยวกับเทพอสูรเซนกิที่ถูกปลุกจากผนึก โดย จิอากิ หลานสาวของจอมเวทที่เคยผนึกอสูรตนนี้ไว้ ซึ่งปกติเซนกิจะอยู่ในร่างเด็กจนกว่าจิอากิจะยอมปลดผนึกเมื่อเข้าต่อสู้กับอสูรร้าย ถึงเนื้อหาจะธรรมดาแต่เด็กชายหลายคนก็นิยมตื่นเช้ามาดูการ์ตูนเรื่องนี้ด้วยเหตุที่ว่ามีฉากเซ็กซี่แฝงอยู่นั่นแหละ
8. นิทานชีวิต
ฉายครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2530 ฉายครั้งแรกในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2533 ทางช่อง 7
การ์ตูนสาระความรู้จากฝรั่งเศสเรื่องนี้ ความจริงแล้วเป็นหนึ่งในสารคดีชุด Il était une fois… หรือ Once Upon A Time… ซึ่งในประเทศไทยทางช่อง 7 ก็นำมาฉายหลายชุดแต่ชุดที่ถูกจดจำได้มากที่สุดก็คือ Life ที่เล่าเรื่องระบบอวัยวะของมนุษย์ด้วยภาพที่เข้าใจง่ายและสาระครบครัน หลายๆ บ้านจึงต้อนรับการ์ตูนเรื่องนี้ด้วยความเต็มใจ น่าเสียดายที่ซีรีส์หลังๆ ของเรื่องนี้ไม่ได้ถูกนำมาฉายในไทยอีกเลย ไม่ว่าจะช่องทางใดก็ตาม
9. บาร์บาร์ปาป้า
ฉายครั้งแรกในอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2516 ปีที่ฉายในไทยครั้งแรกไม่ชัดเจนนัก
การ์ตูนแนวเป็นมิตรกับผู้ชมทุกเพศทุกวัยที่มีต้นฉบับมาจากหนังสือภาพสำหรับเด็กของคู่รักชาวฝรั่งเศสกับอเมริกา Annette Tison และ Talus Taylor เล่าเรื่องของครอบครัวสิ่งมีชีวิตที่แปลงร่างได้ ตัวหนังสือได้รับความนิยมจนถูกสร้างเป็นอนิเมชั่นออกฉายทั้งในยุโรป อเมริกา และบ้านเราด้วย ซึ่งในไทยนั้นมีการฉายอยู่หลายครั้งทั้งทางช่องลับ และช่อง 11 และช่อง 5
10. ธันเดอร์แคทส์
ฉายครั้งแรกในอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2528 ฉายครั้งแรกในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2530 ทางช่อง 9
ผลงานอนิเมชั่นที่ชาวอเมริกาแต่งแต่ถูกผลิตที่ญี่ปุ่น บอกเล่าเรื่องราวของมนุษย์ต่างดาว ธันเดอร์แคทส์ นำทีมโดยไลโอเนล (หรือไลอ้อน-โอ) ที่มีดาบวิเศษที่ปล่อยแสงเพื่อเรียกพลังพิเศษ (มั้ง… คือดูในเรื่องก็ไม่ได้พิเศษมากนะ) เข้าต่อสู้กับ มัมมาร่า ด้วยตัวละครสาย ‘เคโมะ’ ที่มีเสน่ห์ กับโลกที่ถูกสร้างขึ้นนั้นน่าสนใจ การ์ตูนเรื่องนี้เลยโดนรีเมคแบบปรับโฉมใหม่ไปเมื่อไม่นานมานี้นี่เอง
11. ดิจิมอนแอดเวนเจอร์
ฉายครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2542 ฉายครั้งแรกในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2543 ทางช่อง 9
แรกเริ่มการ์ตูนเรื่องนี้ก็เหมือนเกาะเทรนด์สัตว์เลี้ยงดิจิทัลอย่างทามาก็อตจิกับโปเกมอน รวมถึงคอนเซ็ปท์ของ ‘เด็กที่ถูกเลือก’ ที่มีสิ่งมีชีวิตดิจิทัลที่วิวัฒนาการได้คอยช่วยต่อสู้เพื่อปกป้องโลกดิจิทัลและโลกแห่งความจริง แค่นี้ก็สนุกมากพออยู่แล้ว แต่พอมีเพลงภาษาไทยอย่าง ‘ปีกรัก’ กับ ‘ออกอาวุธ’ (เพลงของภาค 2) เชื่อเหลือเกินว่าทั้งสองเพลงได้ฝังลงในจิตใต้สำนึกของเด็ก 90 ที่เปิดชมช่อง 9 การ์ตูนในตอนนั้นอย่างแน่แท้
12. กุหลาบแวร์ซายส์
ฉายครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2522 ฉายครั้งแรกในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2528 ทางช่อง 9
อนิเมชั่นที่ยกประวัติศาสตร์จริงของฝรั่งเศสมาปรุงแต่งอย่างดี จนกลายเป็นเรื่องราวของ ออสการ์ นายทหารที่ความจริงเป็นหญิงสาวแต่ถูกตระกูลชุบเลี้ยงในฐานะผู้ชาย เขาเก่งกาจจนได้รับเป็นทหารคนสำคัญ กับ มารีอองตัวเน็ต เรื่องบอกเล่าทั้งความลำบากของสตรีในยุคนั้นรวมถึงเกร็ดหลายประการที่มาจากประวัติศาสตร์จริง จนทำให้โศกนาฏกรรมรักเรื่องนี้ได้รับความนิยมในหลายประเทศจนถึงปัจจุบัน
13. 3 เหมียวยอดนินจา
ฉายครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2533 ฉายครั้งแรกในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2534-2535 ทางช่อง 7
“ด่วนจี๋ ไปรษณีย์จ๋า” เป็นสำนวนที่หลายคนเคยได้ยินจากเรื่องนี้ กับกลุ่มนินจาแมวที่ปกติทำงานร้านพิซซ่า แต่เมื่อเกิดเหตุด่วนพวกเขาก็จะออกทำหน้าที่เป็นนินจาคอยปกป้องเมืองจากภัยร้าย นอกจากการ์ตูนที่ดังพอตัว ตัวเกมบนเครื่องแฟมิคอมที่ทั้งยากทั้งสนุกก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายคนจำการ์ตูนเรื่องนี้ได้ดี
14. แม่มดน้อยจอมแก่นยะดาม่อน
ฉายครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2535 ฉายครั้งแรกในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2537-2538 ทางช่อง 7
หนึ่งในการ์ตูนหลังข่าวและการ์ตูนเย็นจำนวนมากของช่อง 7 (และโดนวนฉายกับตัดต่อตอนให้สั้นลงอยู่บ่อยครั้ง) เรื่องราวเกี่ยวกับ แม่มดน้อยยะดาม่อน ที่ถูกราชินีขับไล่ออกมาให้เรียนรู้ชีวิตในโลกมนุษย์ซึ่งแรกเริ่มแม่มดน้อยก็งอแงก่อนที่จะปรับตัวช่วยเหลือมนุษย์ ทั้งยังต้องเผชิญกับร่างจำแลงของตัวเธอที่ต้องการทำลายล้างโลก …ว่าแต่ตอนนั้นช่อง 7 ฉายจนจบหรือเปล่านะ?
15. แกรนซอร์ท หุ่นขมังเวทย์
ฉายครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2533 – 2534 ฉายครั้งแรกในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2534 – 2535 ทางช่อง 3
เกิดเหตุที่ทำให้ดวงจันทร์สามารถอาศัยอยู่ได้ในอนาคต โดยบนนั้นก็มีเผ่าหูยาว (แบบกระต่าย) เป็นผู้อาศัยดั้งเดิม และพระเอกของเรื่องก็ถูกเลือกให้เป็นผู้ใช้หุ่นขมังเวทที่ใช้พลังธาตุเพื่อปกป้องโลกมนุษย์และเผ่าหูยาว จากการผจญภัยฮิตของเรื่อง วาตารุ เทพบุตรสองโลก ทำให้ทีมงานชุดนี้สร้างเรื่องนี้ออกมาต่อ และเพราะการจับเอาหุ่นยนต์กับเวทมนต์มารวมกันก็ทำให้ได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อยทั้งในไทยและญี่ปุ่น
16. แม่มดน้อยแซลลี่
ฉายครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2533 ฉายครั้งแรกในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2534-2535 ทางช่อง 3
แม่มดน้อยที่เด็ก 90 คุ้นเคยเรื่องนี้ ความจริงเป็นภาคต่อของการ์ตูนสาวน้อยเวทมนตร์ในปลายยุค 1960 ที่ถูกสร้างเป็นอนิเมชั่นขาวดำ โดยภาคนี้ก็ถูกสร้างขึ้นมาเป็นอนิเมชั่นสีทันสมัย ดำเนินเรื่องราวหลังจากภาคเดิมและสุดท้ายก็ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายเพื่อเป็นบทสรุปส่งท้ายในเวลาต่อมา ทั้งเพลงเปิดและคอนเซ็ปต์ของการ์ตูนเรื่องนี้ยังส่งผลต่อการ์ตูนทีวีสาวน้อยเวทมนตร์รุ่นหลังอีกด้วย
17. เกราะเทพเจ้าชูราโตะ
ฉายครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2532 ฉายครั้งแรกในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2533 ทางช่อง 3
ถึงเรื่องที่เด่นที่สุดในเทรนด์การ์ตูนนักรบชายใส่เกราะจะเป็น เซนต์เซย์ย่า แต่เรื่องราวอันดราม่าของเกราะเทพเจ้าชูราโตะที่นำเอาตำนานอินเดียมาตีความใหม่และการต่อสู้ของพระเอกกับคู่ปรับที่เคยเป็นเพื่อนรักตอนอยู่บนโลกก็สร้างความจดจำต่อผู้ชมได้อย่างดี
18. ซามูไรทรูปเปอร์
ฉายครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2531 ฉายครั้งแรกในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2532 ทางช่อง 5
ซามูไรทรูปเปอร์ เป็นการ์ตูนที่ตามเทรนด์ของนักรบสวมเกราะที่คราวนี้เอาความเป็นซามูไรมาพ่วงกับพลังธาตุจนเหมือนกับเป็นหนังขบวนการแปลงร่าง และเมื่อห้าตัวเอกอย่าง เรียว ชู เซย์จิ ชิน และ โทมะ ต่างก็เป็นนักบู๊ที่มีนิสัยแตกต่างกันชัดเจนก็ทำให้เด็กผู้หญิงในสมัยนั้นที่ดูเรื่องนี้ต่างก็ชื่นชมพวกเขามากที่เดียว
19. นักซิ่งสายฟ้า Let’s & Go!!
ฉายครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2539 ฉายครั้งแรกในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2542 ทางช่อง 9
ไปเลยแม็กนั่ม! ลุยเลยโซนิก! ถ้าคุณเป็นเด็กที่เคยตะโกนสองประโยคนี้มาก่อน คุณต้องเคยผ่านการ์ตูนแข่งรถโดยที่ให้เจ้าของรถวิ่งไล่ตาม (แต่ในบางตอนรถก็แรงเวอร์ๆ จนชนคนกระเด็น) เรื่องนี้ได้แน่นอน แม้ว่าเราจะรู้อยู่เต็มอกว่านี่คือการ์ตูนโฆษณาสินค้าของค่ายของเล่นทามิย่า แต่เราก็อดที่จะดูเรื่องนี้แล้วไม่แหกปากได้ยากเย็นจริงๆ
20. กุรุกุรุ คาถาพาต๊อง
ฉายครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2537
การ์ตูนเย็นของช่อง 3 ที่หลายคนคุ้นเคย จะเป็น ชินจัง กับ มารุโกะจัง แต่ช่วงหนึ่ง คาถาพาต๊องก็เคยฉายอยู่เช่นกัน การ์ตูนแซวเทรนด์ผู้กล้าออกเดินทางไปปราบจอมมารที่ฮิตในเกมช่วงนั้น และที่หลายคนน่าจะจำได้นอกจากความซุกซนของ นิเกะ กับ คุคุริ ก็คงเป็นท่าเต้นพิสดารของ คุณปู่คิตะคิตะ สุดเพี้ยน แล้วในปีนี้ก็จะมีการสร้างอนิเมชั่นภาคใหม่ที่อิงจากต้นฉบับการ์ตูนมากขึ้นด้วย กระนั้นก็เชื่อได้ความเพี้ยนก็คงไม่ต่างจากเดิมเท่าไหร่หรอกนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก