สายการบินต้องหยุดให้บริการมาเป็นเวลานาน หลังจากหลายประเทศได้ออกมาตรการเพื่อรับมือกับการระบาดใหญ่ของโรค COVID-19 หนึ่งในนั้นคือการระงับการบินเข้าออกประเทศ รวมไปถึงการบินภายในประเทศก็ถูกระงับเช่นกัน
แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้ทำให้ธุรกิจสายการบินเจ็บหนัก และพวกเขาต้องมีการปรับตัว แต่จะมีการปรับตัวอย่างไรบ้าง และจะทำให้ประสบการณ์การนั่งเครื่องบินของเราเปลี่ยนไปอย่างไร The MATTER ได้พูดคุยกับ อู๋-อติชาญ เชิงชวโน จากเพจ spin9 ถึงเรื่องเหล่านี้
คิดถึงการนั่งเครื่องบินมากแค่ไหน
ไม่ได้เดินทางนานมาก หยุดเดินทางนานที่สุดในรอบหลายปีเลย
พอไม่ได้เดินทาง แล้วทำอะไรบ้าง
พอไม่ค่อยได้เดินทาง อยู่บ้านก็ได้ทำอะไรใหม่ๆ ที่ก่อนหน้านี้เราไม่ได้ทำ อย่างเล่นเกม เราไม่ได้เล่นเกมมานานมาก ตอนนี้ก็มาติด Animal Crossing มันมี Dodo Airlines ก็บินในเกมแทนที่จะมาบินจริงในชีวิตจริง
COVID-19 กระทบต่อสายการบินมากแค่ไหน
ขอแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ สายการบินอันนี้หนักที่สุดเท่าที่เคยเจอ คือ สายการบินจะมีวิกฤตแรงๆ ที่คนพูดถึงกัน คือ ก่อการร้าย 9 – 11 ตอนนั้นรุนแรงมาก คนไม่กล้าขึ้นเครื่องบิน เพราะกลัวว่าเครื่องบินจะโดนจี้ หรือ โดนปล้น หรือ เอาเครื่องบินชนตึก ความกลัวตรงนั้นทำให้สายการบินขายตั๋วได้น้อยลง กระทบอยู่หลายเดือนเหมือนกัน นอกจาก 9-11 ก็มีโรคระบาด เรื่องซาร์ส แต่ก็กระทบแค่บางภูมิภาค รอบนี้ถือว่าหนักที่สุดเท่าที่สายการบินเคยเจอในประวัติศาสตร์
ในมุมของผู้โดยสาร เราตัดความจำเป็นในการเดินทางออกทั้งหมด ซึ่งมีทั้งตัดด้วยความจำเป็น และบริษัทตัดไม่ให้เดินทาง สุดท้ายเราก็พบว่า เราไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่นั่น เราก็ทำธุระของเราเสร็จได้ ตรงนี้อาจทำให้เราเปลี่ยนมุมมองของคนที่จะเดินทาง ไม่นับเรื่องท่องเที่ยว คือ ท่องเที่ยวมันคงต้องไปจริงๆ อยู่แล้ว แต่คนที่เดินทางไปทำงานที่ต่างๆ จากภาวะนี้ คนที่เดินทางทริปธุรกิจ อาจน้อยลงก็เป็นไปได้
สายการบินปรับตัวยังไงบ้าง
สายการบินที่เราพูดถึง คือ ทั่วโลกเลย เจอภาวะเดียวกันหมด คือ จำนวนผู้โดยสารหายไปประมาณ 95 – 98% เรียกว่าแทบไม่เหลือไฟลท์บิน ซีอีโอของสายการบิน United Airlines พูดว่า ความต้องการในการเดินทางของคนในวันนี้ คือ ศูนย์ (essentially zero) ไม่มีใครจำเป็นต้องเดินทางในช่วงนี้แล้ว เพราะฉะนั้นในมุมของสายการบินก็กระทบทั่วโลก
วิธีการปรับตัวของเขา มีหลายแบบ แบบหนึ่ง คือ มาดูองค์กรของตัวเองใหม่ว่าตรงไหนใหญ่เกินไป ก็จะต้องหั่นตรงนั้นออก จัดระเบียบองค์กรบางส่วนที่ดูเหมือนว่าคนจะเยอะเกินไป การทำงานนี้สิ้นเปลืองเกินไป ก็ถือโอกาสลดขนาดองค์กรลง เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุดในช่วงนี้ เพราะสายการบินแทบจะไม่มีรายได้เข้ามาเลย ขายตั๋วไม่ได้เลย แต่รายจ่ายคงอยู่ตลอด
บางเจ้ามีเครื่องบินหลายร้อยลำ เวลาเขาซื้อเครื่องบินลำหนึ่งมา ถ้าจะให้คุ้มต้องใช้ 20 กว่าปี การที่เครื่องบินไม่ได้บินแค่ไม่กี่เดือน ส่งผลต่อความคุ้มค่า และกระแสเงินสดของสายการบินในระยะยาวได้ง่ายๆ ช่วงนี้สายการบินเลยต้องลดค่าใช้จ่ายของตัวเองให้ได้มากที่สุด
อีกเรื่องหนึ่งก็คือต้องวางแผนกันว่า ช่วงไหนที่บินไม่ได้ เส้นทางไหนบินไม่ได้บ้าง ตรงนี้จะต้องถูกตัดออก ช่วงที่กลับมาบินได้อีกครั้ง บางประเทศเริ่มเปิด ตารางบินก็จะไม่แน่นเท่าเดิม เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ต้องมีการวางแผนล่วงหน้าเหมือนกัน
สายการบินหารายได้ทดแทนยังไงบ้าง
รายได้ทดแทนของสายการบินแทบจะเทียบไม่ได้กับรายได้ที่มาจากการขายตั๋ว เพราะเครื่องบินไม่ได้บิน รายได้ทดแทนที่แต่ละสายการบินสามารถทำได้ ก็อาจจะมีแผนกครัวก็ทำอาหารออกมาเพื่อขาย แต่ก็สู้กับร้านอาหารไม่ได้ เพราะต้นทุนเขาสูงกว่าเยอะ จะเอาครัวการบินมาคลุกอาหารปกติ แล้วส่งตามบ้าน แทบจะทดแทนกันไม่ได้ รายได้ของสายการบินที่โชคดีหน่อย คือ เขามีเที่ยวบินส่งสินค้าด้วย แต่ว่าโดยรวมแล้วสาหัสมาก รายได้หายไประดับ 80 – 90%
กลุ่มลูกค้าของสายการบินจะเปลี่ยนไปไหม
อย่างที่บอกมันก็จะมีอยู่ 2 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มทริปธุรกิจ (business trip) และ กลุ่มที่เดินทางไปท่องเที่ยว เครื่องบินลำหนึ่งจะบินได้ ไม่ใช่ตั๋วถูกทั้งลำ หรือว่า ตั๋วแพงทั้งลำ จะต้องมีการปะปนกัน จะต้องมีสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างตั๋วที่เขาขายได้แพง กับตั๋วที่เขาขายได้ในราคาโปรโมชั่น
ตั๋วที่ขายได้แพงอาจจะเป็นที่นั่งพรีเมี่ยม ชั้นธุรกิจ ชั้นหนึ่ง แม้กระทั่ง ชั้นประหยัดแบบพรีเมี่ยม ที่เราจะมีระยะห่างระหว่างที่นั่งเยอะขึ้น มีระยะห่างระหว่างผู้โดยสารแต่ละคนเยอะขึ้น ผมเชื่อว่ากลุ่มนี้จะขายดีขึ้น
ในขณะเดียวกันถ้าทั้งลำมีแต่คนที่ซื้อตั๋วแพงก็จะไม่ได้จำนวน เพราะฉะนั้นสายการบิน ยังคงต้องขายตั๋วถูกอยู่เหมือนกัน ขายราคาตั๋วโปรโมชั่นเหมือนกัน สัดส่วนตรงนี้อาจเปลี่ยนไปจากเดิม ตอนนี้คนเต็มใจที่จะจ่ายแพงขึ้น เพื่อรักษาความปลอดภัย หรือความสบายใจของตัวเอง พวกบริการเสริมที่ก่อนหน้านี้เราไม่เคยซื้อ บริการเหล่านี้เชื่อว่าจะมีคนยอมซื้อเพิ่มขึ้น
คิดว่าราคาตั๋วจะเปลี่ยนไปอย่างไร
เชื่อว่าแพงขึ้นกว่าเดิมแน่นอน แต่จะแพงขึ้นเท่าไหร่ ต้องรอดูว่าสถานการณ์โดยรวมดีขึ้นเท่าไหร่ ต้องบอกว่าสถานการณ์นี้ ช่วงที่เกิดขึ้น มันถูกปิดพร้อมๆ กันหมด คือ ทุกเมืองแย่ สายการบินเวลาหั่นเส้นทางก็หั่นพร้อมกัน แต่ช่วงที่กลับมาจะไม่ใช่แบบนั้น เพราะแต่ละประเทศสามารถฟื้นฟู หรือควบคุมการระบาดในประเทศได้ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นนโยบายการเปิดประเทศของแต่ละภูมิภาค จะกลับมาเปิดได้ไม่พร้อมกัน ตอนที่กลับมา ต้องรอดูว่า เส้นทางในการบินจริงๆ ณ วันนั้น การแข่งขัน ณ วันนั้น ว่าแต่ละสายการบินเหลือสู้กันอีกกี่สายการบิน ราคาก็ต้องไปสู้กัน ณ วันนั้นอีกทีนึง
การให้บริการภายในเครื่องบินจะเปลี่ยนไปอย่างไร
การให้บริการบนเครื่องบินถามว่าจะเปลี่ยนแปลงได้เร็วไหม อาจเปลี่ยนแปลงไม่เร็วมาก เพราะมีเรื่องมาตรฐานอยู่ ยังต้องใช้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเป็นคนดูแลความปลอดภัยให้กับเราด้วย ยังไงก็ต้องใช้คนของสายการบินมาควบคุม ลูกเรือทั้งหลายอาจจะยังอยู่เท่าเดิม
แต่มันมีเทรนด์ที่น่าสนใจ เราเปรียบเทียบกับเทรนด์ร้านอาหารที่หลังจากนี้น่าจะมา คือ ลดการใช้พนักงานเสิร์ฟแต่ว่าอาจเปลี่ยนเป็นหุ่นยนต์เสิร์ฟแทน หรือ เลี่ยงการสัมผัสกันมากขึ้น ตรงนี้ต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ๆ กว่าจะไปถึงบนเครื่องบินได้ แต่ในระยะสั้นๆ ยังคิดว่าต้องเป็นโมเดลของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบน หรือว่า เป็นลูกเรืออยู่เหมือนเดิม
คิดว่าสายการบินไหนจะอยู่รอดบ้าง
ขอแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่อยู่รอดแน่นอน คือ สายการบินที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว และยิ่งถ้าเกิดรัฐเป็นเจ้าของ (state-owned) หรือ ประเทศเป็นเจ้าของ คล้ายเป็นสายการบินแห่งชาติ พวกนี้เราแทบจะรับประกันได้ว่าอยู่รอด ประเทศต้องพยายามอุ้มให้สายการบินเหล่่านั้นกลับมาทำการได้อีกครั้งแน่นอน
การเดินทางด้วยเครื่องบินเป็นสิ่งที่จำเป็นกับคนในทุกวันนี้ คนทั่วโลกต้องพึ่งพาสายการบิน ซึ่งในวันหนึ่ง เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติแล้ว ความต้องการอาจถูกดีดกลับมา อาจไม่ได้เยอะเท่าเดิม ไม่ได้เฟื่องฟูเท่าเดิม ก่อนหน้านี้เฟื่องฟูเกินไปด้วยซ้ำ
สายการบินอเมริกัน ใหญ่ทั้ง 4 ราย คือ United Airlines, American Airlines, Delta Airlines และ South west Airlines ได้กำไรติดกันทุกไตรมาสมา 5 ปี คือ เรียกได้ว่าเติบโตตลอด จนไตรมาสล่าสุดเป็นไตรมาสแรกที่เขาขาดทุนในรอบ 5 ปี คือ การเดินทางด้วยเครื่องบินมันเฟื่องฟูมาก คือ ทุกคนจำเป็นต้องพึ่งพา
กลุ่มต่อมาคือสายการบินระดับกลางๆ อาจมีออฟชั่นเพิ่มเติม ถ้าผู้บริหารเก่งพอที่จะ organize องค์กรตัวเอง ตัดความไม่จำเป็นออก และเหลือขนาดที่เหมาะสมได้ สามารถกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง เราอาจได้เห็นบางสายการบินควบรวมกัน หรืออาจไปซื้อสายการบินขนาดเล็ก อันนี้เป็นโมเดลที่คิดว่าถ้ายืดเยื้อมากพอจะได้เห็น
และกลุ่มสายการบินเล็กๆ ที่ปกติทำกำไรได้ลำบาก หรือว่า สภาพการเงินไม่ได้ดีมากนัก ผู้บริหารอาจไม่ได้มีเงินในกระเป๋ามากพอที่จะแบกรับวิกฤตหลายๆ เดือนได้ ก็อาจต้องปิดตัวลง หรือว่าอาจต้องขายกิจการตัวเองให้สายการบินใหญ่ๆ ที่อยู่รอด อันนี้คือเป็นสิ่งที่เราจะได้เห็นแน่ๆ ในช่วงไม่กี่เดือนที่จะถึงนี้
จากนี้สายการบินต่างๆ จะแข่งกันด้วยอะไรบ้าง
การแข่งขันของสายการบินจะกลับไปถึงยุคหนึ่งที่เราไม่ได้มีจำนวนสายการบินมากมายเท่านี้ เพราะสายการบินที่ไม่ได้แข็งแกร่งมากพอจะต้องปิดตัวลง ต่อจากนี้จะได้เห็นการแข่งขันที่เข้มข้นของธุรกิจสายการบินอีกครั้งหนึ่ง คนที่อยู่รอดจะมีแต่คนที่แข็งแกร่งทั้งนั้น และจะเป็นตลาดที่ต่อสู้กับความแข็งแกร่งด้วยกัน
ปัจจัยที่ต้องต่อสู้กับความกลัวของคนว่าจะกลับมาเดินทางได้เมื่อไหร่ จะกล้ากลับมาเดินทาง จะกล้ากลับมานั่งเก้าอี้ที่มีผู้โดยสารที่เราไม่รู้จัก อยู่ในประเทศไหนก็ไม่รู้ นั่งติดกับเราขนาดนั้นได้อีกที่เมื่อไหร่ ตรงนี้อาจได้เห็นความแปลกใหม่ และความเข้มข้นในการแข่งขันกันเร็วๆ นี้เหมือนกัน
สิ่งที่สายการบินควรให้ความสำคัญต่อจากนี้คืออะไร
นอกเหนือจากการให้บริการตามปกติ นอกเหนือจากเส้นทางที่ครอบคลุม อาหารอร่อย หรือ ที่นั่งสบาย จะต้องมีสิ่งที่เพิ่มเติมในการโปรโมทเข้ามา คือ เรื่องสุขลักษณะ สุขอนามัยของผู้โดยสาร การดูแลความสะอาดในเครื่องบิน
หลังจากนี้เราอาจได้เห็น บางสายการบินโฆษณาว่าแผ่นกรองอากาศ หรือ รุ่นเครื่องกรองอากาศที่เขาใช้บนเครื่องบินเป็นรุ่นอะไร เพื่อให้ผู้โดยสารรู้สึกสบายใจมากขึ้นว่า มีระบบการดูแลเรื่องของระบบสภาพอากาศ หรือ เชื้อโรคในอากาศได้ดี ตรงนี้อาจกลายเป็นจุดขาย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ถ้าสายการบินไหนเอาเรื่องนี้มาคุยคงเป็นเรื่องตลก
ระบบกรองอากาศของเครื่องบินมันเป็นอย่างไร
จริงๆ แล้วระบบการกรองอากาศบนเครื่องบินเป็นระบบการฟอกอากาศ HEPA เป็นระบบเดียวกันแบบที่อยู่ในห้องผ่าตัด เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้เวลาเราขึ้นเครื่องบินปลอดภัยมากอยู่แล้ว แต่สายการบินอาจไม่ได้เอาเรื่องนี้มาโปรโมทกันก่อนหน้านี้
คิดว่าห้องน้ำบนเครื่องบินเป็นอย่างไร
ห้องน้ำบนเครื่องบินก็น่าสนใจที่สายการบินน่าจะต้องปรับเปลี่ยน มาเป็นระบบไร้สัมผัส (contactless) ให้ได้มากกว่านี้
วันนี้ห้องน้ำบนเครื่องบิน บางสายการบินอาจเป็นแบบว่าไร้สัมผัสที่เราสามารถล้างด้วยระบบเซ็นเซอร์ได้ แต่ว่าทุกสายการบิน เวลาจะออกจากประตูห้องน้ำ ล้างมือสะอาดยังไงก็ต้องเอามือที่สะอาดแล้วไปปลดตัวล็อกอยู่ดี บางคนใช้กระดาษทิชชู่บ้าง ใช้อะไรบ้าง แต่มันก็ไม่เหมือนประตูปกติที่ใช้ข้อศอกเปิดได้ หรือดันออกมาได้
ตรงนี้อาจจะต้องมีวิธีการที่แต่ละสายการบินเวลากลับมาทำงาน (operate) อีกครั้ง ทำให้ห้องน้ำบนเครื่องบิน เวลาล้างมือแล้วถูกสุขลักษณะมากกว่านี้ เพราะทุกวันนี้ไม่ได้เหมาะสำหรับการล้างมือ และไม่ได้เหมาะกับยุคโรคระบาดสักเท่าไหร่
พฤติกรรมของผู้โดยสารจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
พฤติกรรมของผู้โดยสารจะเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างเยอะ เราจะรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ ถ้าต้องนั่งติดกับคนมากๆ หรือ อยู่ชิดกับคนอื่นมากๆ คิดว่าจะไม่ได้เปลี่ยนแค่มุมมองของที่นั่ง แต่ว่าสายการบินอาจจะเสนอ (offer) อะไรบางอย่าง เช่น การจัดที่นั่งแบบใหม่
บางสายการบินที่ยังบินอยู่ เขาก็จะจัดที่นั่งที่เว้นที่ ทำระยะห่าง (distance) ในเครื่องบินให้มากขึ้น อาจจะยอมขายตั๋วโดยรวมได้จำนวนใบน้อยลง แต่สิ่งที่จะตามมาอย่างแน่นอน คือ ราคาตั๋วเครื่องบินหลังจากนี้ ที่หลายคนคิดว่า บินได้ แล้วราคาตั๋วจะถูก อาจจะไม่จริง อันนี้มีหลายปัจจัยเหมือนกัน ปัจจัยหนึ่งก็คือเรื่องของจำนวนที่นั่ง ที่ขายได้น้อยลง
อีกมุมหนึ่งของราคาตั๋ว คือ เราอาจไม่ได้มีตัวเลือกสายการบินเยอะเท่ากับก่อนหน้านี้ สายการบินหลายๆ สายอาจต้องหยุดทำการไป หลังจากที่ COVID-19 จบลง คือ จบไปพร้อมกับ COVID-19 เลย น่าติดตามดูเหมือนกันว่าสุดท้ายแล้วจะเหลือรอดกี่สายการบิน หรือว่าทำการจริงๆ แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป
คิดว่าคนจะเดินทางในประเทศด้วยเครื่องบินน้อยลงไหม
น้อยลง เทรนด์ของทั่วโลก คือ คนจะหาวิธีการเดินทางที่จะทดแทนการนั่งเครื่องบินได้ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ส่วนตัว หรือว่า รถไฟ แต่ถ้าในประเทศเราเองตัวเลือกต่างๆ อย่าง รถยนต์ และ รถไฟ อาจไม่ได้สะดวกสบาย หรือ ใช้เวลาน้อยเหมือนกับบางประเทศที่มีรถไฟความเร็วสูง หรือว่ามีเครือข่ายที่เชื่อมต่อได้มากมาย เพราะฉะนั้น ในประเทศเรา ถ้าเกิดว่าต้องการความเร็ว อาจต้องใช้เครื่องบิน แต่โดยรวมความต้องการน่าจะน้อยลง
เทรนด์การประชุมทางไกลกำลังมา คิดว่าจะกระทบกับชั้นธุรกิจมากแค่ไหน
คิดว่าลูกค้ากลุ่มที่ต้องเดินทางไปทำงานน้อยลง ก่อนหน้านี้อาจรู้สึกว่าต้องไปเจอตัวจริง แต่พอสถานการณ์บังคับว่าทุกคนต้องประชุมทางไกลให้ได้ ต้องทำงานนี้ให้เสร็จให้ได้โดยที่ไม่ต้องเจอกัน บริษัทเริ่มรับรู้ว่า ทำงานพวกนี้เสร็จได้โดยไม่ต้องส่งคนเดินทางข้ามประเทศ หรือว่าข้ามทวีปไป ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ต้องออกให้พนักงานบินข้ามทวีปไปและบินกลับมาด้วยชั้นธุรกิจไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเล็กๆ สำหรับบริษัทอยู่แล้ว
โอเคมันจะมีบางงานที่ยังต้องเจอหน้ากัน งานอีเวนท์บางอย่างที่ต้องไปประชุม หรือ ไปดูสินค้าด้วยตัวเอง แต่คิดว่าน่าจะน้อยลง น้อยลงแบบครึ่งหนึ่งเลยด้วยซ้ำ คิดว่ากลุ่มนี้ใช้เวลาฟื้นอีกนาน กว่าความต้องการ (demand) จะกลับมาปกติอีกครั้งหนึ่ง
คิดว่าสายการบินสามารถเว้นที่นั่งไปตลอดได้ไหม
คงเว้นไปตลอดไม่ได้ เครื่องบินถูกบังคับมาแล้วว่ามีที่ว่าง (space) เท่านี้ ต้องขนย้ายผู้โดยสารได้ประมาณเท่านี้ ตั้งแต่ตอนที่ซื้อเครื่องบิน เพราะฉะนั้น ถ้าไปลดจำนวนที่นั่งบนเครื่องบินเป็นระยะเวลายาวนานมากๆ ก็จะไม่สามารถบินได้อย่างคุ้มทุน
แต่ว่าสายการบินก็คงมีขั้นตอนในการปรับว่าจะทำอย่างไรให้ผู้โดยสารสบายใจและมั่นใจที่จะขึ้นเครื่องบินได้ ตอนแรกๆ ถ้าสายการบินไหนมีมาตรการเว้นที่นั่ง เราจะยอมใช้บริการ ถ้าเกิดไม่เว้นก็อาจจะยังไม่สบายใจที่จะใช้ เมื่อทุกคนเห็นว่าสถานการณ์คลี่คลายแล้ว มองไปรอบๆ ตัวเราทั้งหมด ไม่น่ามีใครมีความเสี่ยง ไม่น่ามีใครที่จะติดเชื้อแล้ว มาตรการตรงนี้ก็ต้องลดลง กลับมาเป็นปกติ แต่คงมีเวลาปรับตัวพอสมควร
อยากให้สรุปหน่อยว่าหลังจากนี้ผู้โดยสารจะเจอกับความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในการบิน
ผู้โดยสารจะต้องเจอความเปลี่ยนแปลงในการเดินทางด้วยเครื่องบินที่ยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น ทุกครั้งที่มีวิกฤตที่เกี่ยวข้องกับการบิน เราจะมาพร้อมกับกฎใหม่เสมอ เช่น เมื่อขึ้นเครื่องบินจะต้องใส่ของเหลวไม่เกินเท่าไหร่ เมื่อพกใหญ่กว่านั้นจะต้องโหลดใต้เครื่อง หรือ ห้ามโหลดแบตเตอรี่ใต้เครื่อง ต้องถือติดตัวเท่านั้น
หลังจาก COVID-19 เราจะมีกฎใหม่เพิ่มเติมขึ้นมาที่ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายจะออกมาเป็นอะไร บังคับใส่หน้ากากอนามัย หรือว่า พกแค่พาสปอร์ตไม่พอ ต้องพกอะไรเพิ่มเติมอีกอย่างหนึ่ง รวมไปถึงการตรวจกระเป๋า แม้กระทั่งการตรวจคนเข้าเมืองจะยุ่งยากมากขึ้น จะมีคิวที่เกิดขึ้น ต้องเผื่อเวลาไปสนามบินเยอะขึ้น
ก่อนหน้านี้การเดินทางด้วยเครื่องบินสะดวกสบายมากๆ ก่อนจะมีเหตุการณ์ 9-11 ที่จะต้องมีมาตรการมา ต้องต่อคิว เพื่อที่จะตรวจความปลอดภัย (security) กันเข้มข้นมากขึ้น หรือจะต้องต่อคิว เพื่อเอาของเหลวออกจากกระเป๋ามาให้พนักงานดู หลังจาก COVID-19 จะต้องมีมาตรการเพิ่มขึ้น อีกสักหนึ่ง หรือ สองขั้นตอน อันนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนน่าจะต้องได้เจอ ก็ต้องรอดูว่ามาตรการที่จะออกมาบังคับตรงนี้คืออะไร
เห็นเคยทำ Content สอนเลือกที่นั่งบนเครื่องบิน เลยอยากให้แนะนำวิธีการเลือกที่นั่งที่ปลอดภัยจาก COVID-19 หน่อย
ในบทความที่เราเคยทำ หรือ ใครที่ถามว่าที่นั่งไหนดีที่สุด ก็ยังยืนยันคำตอบเดิมว่า ที่นั่งที่ดีที่สุดบนเครื่องบิน คือ ที่นั่งที่ข้างๆ ว่าง ต่อให้นั่งริมหน้าต่าง ริมทางเดิน ถ้าที่นั่งข้างๆ เราว่าง เราได้ที่ว่างเยอะขึ้น ถือว่าได้พิเศษกว่าคนอื่น
เราพยายามแนะนำให้คนที่เรารู้จักว่า ทุกครั้งที่เช็คอิน เราเลือกที่นั่งจากบ้านแล้วก็ตาม หรือ เลือกที่นั่งล่วงหน้าแล้วก็ตาม ให้ถามพนักงานว่ามีที่ไหนที่ที่นั่งข้างๆ ว่างมั้ย แล้วเราจะเดินทางได้สบายมากขึ้น คิดว่าก็ยังประยุกต์ใช้กับโควิดได้อยู่ดี ถ้าอย่างน้อยที่นั่งข้างๆ เราว่าง เรามีที่ว่างเยอะขึ้น มีระยะห่างเยอะขึ้น ที่นั่งที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่ที่นั่งริมทางเดิน หรือ ที่นั่งริมหน้าต่าง แต่เป็นที่นั่งที่เราไม่ได้นั่งติดกับใคร
เสน่ห์ของการเดินทางด้วยเครื่องบินที่แตกต่างจากการเดินทางด้วยวิธีอื่น และทำให้เครื่องบินยังคงมีความจำเป็นอยู่คืออะไร
จุดที่ทำให้เครื่องบินแตกต่างจากการเดินทางด้วยวิธีอื่น ส่วนตัวผมคิดว่ามีสองเรื่อง เรื่องแรกคือเรื่องความเร็ว ความเร็วถ้าเกิดเป็นระยะทางยาวๆ ก็ไม่มีอะไรชนะเครื่องบินได้ กับเรื่องที่สองคือ ความปลอดภัยที่เครื่องบินได้รับการยอมรับว่า เป็นวิธีการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุดในโลก
เพราะฉะนั้นสองอย่างนี้ อาจเป็นเสน่ห์ของการเดินทางด้วยเครื่องบิน ที่ทำให้เครื่องบินยังคงจำเป็นสำหรับหลายคน