ความสัมพันธ์ระหว่าง สิปาดัน กับ ผมในฐานะนักดำน้ำ น่าจะคล้ายๆ กันระหว่าง วัดพระแก้ว กับ ผมในฐานะคนกรุงเทพฯ
ด้วยความที่สิปาดันและวัดพระแก้วต่างเป็นแลนด์มาร์กที่ชื่อเสียงกระฉ่อนโลก แถมยังอยู่ใกล้ตัวเรามาก มากเสียจนรู้สึกว่าจะไปเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ก็ลงเอยด้วยการไม่ได้ไปเสียที เพื่อนก็มักถามถึงว่าเป็นอย่างไรบ้าง สวยงามไหม อลังการอย่างที่เขาร่ำลือกันหรือเปล่า ไอ้เราก็ตอบได้แค่ตามที่ได้ยินได้ฟังมา พร้อมกับความคาใจลึกๆ ว่า ต้องหาโอกาสไปเยี่ยมชมด้วยตัวเองให้ได้เสียที
จนกระทั่ง วันเวลาและวันลาวนมาบรรจบกันได้จังหวะช่วงหยุดยาวสิ้นปี 2017 พอดิบพอดี สิปาดัน จึงผุดขึ้นมาในสถานที่ที่ต้องไปดำน้ำสร้างแลนด์มาร์กให้ได้ จะได้มีจากประสบการณ์ตรงมาตอบเพื่อนๆ ได้เสียทียามโดนยิงคำถามว่า
เพื่อน : เอ้อ ช่วงนี้เห็นว่าดำน้ำบ่อย ไปสิปาดันมาหรือยัง เห็นมีแต่คนบอกว่าสวย
จะได้ตอบไปอย่างภาคภูมิใจ
ผม : เออ ไปสิปาดันมาแล้วว่ะ ก็สวยจริงสมคำร่ำลือ แต่…
<< พักชมสิ่งที่น่าสนใจและเกร็ดความรู้สักครู่ เพื่อให้การอ่านต่อมีอรรถรสยิ่งขึ้น >>
สิปาดัน เป็นชื่อเกาะเล็กๆ ของมาเลเซีย ขนาดยาวประมาณ 500 เมตร กว้าง 200 เมตร ที่ขึ้นชื่อติด top 10 เรื่องความสวยงามของโลกใต้น้ำจากโพลหลากหลายสำนัก
โอ้โห! เยี่ยมมากเลย! มาเลเซียเหรอ – งี้เรานั่งรถไฟจากหัวลำโพงไปก็ได้สิ บินหลายต่อทำไมให้เปลืองเงิน?
เดี๋ยวก่อน! ทบทวนความรู้วิชาสปช.สมัยป. 4 กันสักครู่ คุณครูเคยสอนเราไว้ว่า มาเลเซียเนี่ยแบ่งเป็นสองซีก นอกจากมาเลเซียตะวันตกที่อยู่ติดกับภาคใต้ของไทยแล้ว ก็ยังมีมาเลเซียตะวันออกที่ทอดตัวยาวโอบล้อมประเทศประเทศบรูไนบนเกาะบอร์เนียวอยู่อีกด้วย ตำแหน่งของเกาะสิปาดันก็ตามหมุดที่ปักไว้กลาง ก็อยู่กลางทะเลเซเลบีสถัดไปจากมาเลเซียซีกตะวันออกอีกทอดหนึ่ง (จากรูปสามารถมองหาคำว่า ทะเลเซเลบีส ได้ทางขอบขวา ในขณะที่อ่าวไทยของเราอยู่ทางขอบซ้าย – ไกลสินะ )
ด้วยความที่ตำแหน่งที่ตั้งของสิปาดันอยู่ก้ำกึ่งเสียขนาดนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย ทะเลาะกันแย่งกรรมสิทธิ์ถือครองสิปาดันมาโดยตลอด ข้อพิพาทดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งปี 2002 ศาลโลกได้ตัดสินว่าสิปาดันเป็นของมาเลเซียแต่เพียงผู้เดียว นั่นทำให้ปี 2004 รัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศให้ย้ายรีสอร์ตที่พักอาศัยทั้งหมดออกจากเกาะสิปาดัน และประกาศให้สิปาดันเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ในความดูแลของรัฐซาบะฮ์ โดยจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว (รวมถึงนักดำน้ำ) ไว้เพียง 120 คน ต่อวันเท่านั้น จนถึงทุกวันนี้
<< จบช่วงสิ่งที่น่าสนใจ กลับสู่ช่วงตอบคำถามเพื่อนในโต๊ะอาหารค่ำ >>
ย้อนกลับไปก่อนตัดเข้าสิ่งที่น่าสนใจ
เพื่อน : เอ้อ ช่วงนี้เห็นว่าดำน้ำบ่อย ไปสิปาดันมาหรือยัง เห็นมีแต่คนบอกว่าสวย
ผม : เออ ไปสิปาดันมาแล้วว่ะ ก็สวยจริงสมคำร่ำลือ แต่…ไฮไลต์ของทริปก็จะมีแค่ที่ตัวสิปาดันเอง ซึ่งปกติแล้วทริปนึงก็จะมีโค้วตาได้เข้าไปดำน้ำได้แค่วันเดียวนะ
เพื่อน : อ้าว แต่นี่ไปพักที่ สิปาดัน-วอเตอร์-วิลเลจ ไม่ใช่เหรอ
ผม : ช่ายยยย… นั่นคือสิ่งที่คนเข้าใจผิดกันเยอะ ตัวรีสอร์ต สิปาดัน-วอเตอร์-วิลเลจ อันโด่งดังเนี่ย มัน ตั้งอยู่บนเกาะชื่อมาบูล ซึ่งต้องใช้เวลานั่งเรือไปสิปาดันอีก 20-30 นาที ในวันที่เราได้โควตาเข้าเกาะ
เพื่อน : โอ้โห… ได้ยินงี้แล้วมันยังคุ้มที่จะไปอีกเหรอวะ
ผม : โอ้โห… จากประสบการณ์ส่วนตัวนะ แค่วันเดียวที่ได้เข้าสิปาดันแค่คำว่าคุ้มยังไม่พอเลย เกินคุ้มไปเยอะ ถ้ามีโอกาสได้เรียนดำน้ำก็หาเวลาไปเถอะ
ผมและพรรคพวกตัดสินใจใช้วันหยุดยาวช่วงปีใหม่มาพักผ่อนรีสอร์ตและไดฟ์เซ็นเตอร์ชื่อดัง Sipadan Water Village (ต่อจากนี้ขอย่อว่า SWV) พวกเราต้องนั่งเครื่องบิน 2 ต่อ 1. ดอนเมือง-กัวลาลัมเปอร์ และ 2. กัวลาลัมเปอร์-ตาวาอู (Tawau) พร้อมกับไขนาฬิกาให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมงเนื่องจากใช้คนละ time-zone กับไทย ตามตารางบินทั่วไป เครื่องต่อที่สองจะลงที่ตาวาอูช่วงหัวค่ำทำให้พวกเราต้องเข้าพักที่โรงแรมในตาวาอูหนึ่งคืนเพื่อเดินทางสู่ SWV ในเช้าวันรุ่งขึ้น
แต่อย่าเพิ่งรีบร้อนขึ้นเรือข้ามเกาะไป SWV ย้อนกลับมาตาวาอูกันสักนิด เพราะว่าไฮไลต์ของทริปนี้นอกเหนือจากวันที่ได้โควตาเข้าไปดำน้ำที่สิปาดันแล้ววก็คืออาหารทะเลมื้อเย็นที่ตาวาอูเนี่ยแหละ เรียกได้ว่าหน้ามืดสั่งไปได้เลย กุ้งมังกร กั้งลายเสือ ปูนิ่ม หอยโน่นนี่นั่น ไอ้แบบที่สั่งที่ไทยแล้วต้องเหงื่อแตกซิกรอล้างจานเวลาเช็กบิล มาที่ตาวาอูนี่เรากดไปเน้นๆ ให้เต็มกระเพาะ สั่งกันแทบตายก็ยังจ่ายไหวอยู่
อิ่มหนำสำราญกันทั่วหน้า ก็ได้เวลาเข้านอนที่โรงแรมในตาวาอูก่อนที่จะตื่นเช้าตรู่มากินมากินโรตี มะตะบะและโกปี้แถวๆ นั้น แล้วนั่งรถตู้อีก 2 ชั่วโมงจากตาวาอูไปท่าเรือที่ Semporna ยืดเส้นยืดสาย ตรวจเช็คกระเป๋าเดินทางให้ครบถ้วน จากนั้นก็ลงเรือ speed boat อีกเกือบชั่วโมงเข้าสู่เกาะมาบูลเกาะที่ SWV ตั้งอยู่
เกริ่นมายาวนานมาก ก็เข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการดำน้ำที่ SWV จริงๆ จังๆ เสียที สำหรับทริปนี้พวกเราก็จะวนเวียนดำน้ำกันอยู่ตามจุดดำน้ำ 3 เกาะหลัก
1. มาบูล เกาะนี้เป็นที่ตั้งของรีสอร์ต SWV ที่เราใช้ชีวิตประจำวัน อยู่กินกันที่นี่
2. คาปาไล อีกเกาะนึงใกล้ๆ กัน มีที่พักบนเกาะด้วย
3. สิปาดัน เกาะไฮไลต์ของทริปนี้ เกาะที่พวกเราได้โควตาเข้าแค่ 1 จาก 4 วันที่อยู่ที่นี่
ในแง่ที่พัก SWV เป็นรีสอร์ตที่เปิดมานาน นักท่องเที่ยวเป็นวัยรุ่นถึงวัยกลางคน ส่วนมากมาจาก จีน (เยอะสุด เยอะกว่าชาติอื่นๆ แบบมีนัยสำคัญ) เกาหลี ญี่ปุ่น และพี่ไทยเราเอง นานๆ ทีถึงจะเห็นฝรั่งเดินมาสักคน ห้องพักของ SWV เป็นกระท่อมยื่นไปในทะเลแบบ Water Village สมชื่อรีสอร์ต ห้องมีให้เลือกทั้งแบบแอร์และพัดลม มีห้องอาหารเปิดโล่งให้แขกทั้งหมดมาทานอาหารตามเวลา บอกเลยว่าอาหารไม่ได้อร่อยมากมาย ทานแต่พออิ่มละกัน ถ้าใจเด็ดพอจะพกอาหารการกินจากประเทศไทยไปด้วยก็ได้ แต่ขอให้คำนึงว่าประชากรส่วนใหญ่ของมาเลเซียนับถือศาสนาอิสลาม จะพกเนื้อสัตว์อะไรที่ต้องใช้ภาชนะบรรจุร่วมกันเวลาทานจะได้ไม่ผิดใจกันครับ
ในส่วนของการดำน้ำ SWV มีไดฟ์เซ็นเตอร์ให้บริการแบบครบวงจร มีตั้งแต่คอร์สสอนดำน้ำสำหรับคนที่ยังดำน้ำไม่เป็น มีให้บริการสกูบาผิวน้ำ ไปจนถึงส่งไดฟ์ลีดฯ มาดูแลกลุ่มนักดำน้ำแบบพวกเรา การให้บริการของไดฟ์ลีดฯ ก็ตามมาตรฐานทั่วไป ตามประสบการณ์เจ้าถิ่นที่ดำมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง คือ พาขึ้นเรือไปจุดดำน้ำ ดำน้ำไปด้วยกัน ช่วยนำทางใต้น้ำ หลีกเลี่ยงจุดอันตราย ชี้จุดน่าสนใจ จะว่าไปก็เหมือนไกด์ทัวร์สำหรับโลกใต้น้ำนั่นเอง
ในวันที่เราไม่ได้โควตาเข้าสิปาดันทางไดฟ์ลีดฯ ก็จะพาไปดำน้ำตามจุดดำน้ำรอบๆ มาบูลและคาปาไล ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะแย่ แม้ว่าน้ำจะขุ่นไปสักหน่อย แต่ก็มีเต่าตัวใหญ่และชีวิตตัวเล็กตัวน้อยให้ได้รับชม
กล่าวถึงมาบูลและคาปาไล แบบพอหอมปากหอมคอ ก็ถึงมาถึงไฮไลต์ตัวจริงของทริป นั่นคือข้อสิปาดัน สปอยได้เลยว่าสวยงามคู่ควรกับการติด top 10 จุดดำน้ำระดับโลกอย่างไม่ต้องมีข้อกังขาใดๆ
พวกเราทุกคนตัดสินใจขอร้อง (แกมบังคับ) ทีมงานไดฟ์เซ็นเตอร์ของ SWV ว่า ขอเข้าสิปาดันตั้งแต่เช้าตรู่ของวันปีใหม่ 1 มกราคม 2561 เช้าระดับที่ว่า ตื่น 4:30 รวมตัวที่ไดฟ์เซ็นเตอร์ 5:15 นั่งสัปหงกบนเรือ speed boat อีก 20 นาทีไปสิปาดัน ไปถึงเกาะแล้วจะดำน้ำเลยก็ไม่ได้นะ ต้องสะลึมสะลือขึ้นเกาะไปเซ็นชื่อรับทราบโควตาเข้าเกาะกับเจ้าหน้าที่อีก 20 นาที กว่าจะได้หงายหลังลงน้ำจริงๆ ก็เกือบ 6 โมงเช้า
ไดฟ์แรก ลงน้ำ จ๋อมมมม หายง่วงเลยทันที เมื่อสิ่งที่เราคาดหวังจะเจอ มาตามนัดโดยไม่มีบิดพลิ้ว ปลานกแก้วหัวโหนกเขียว (Green humphead parrotfish) ปลาซิกเนเจอร์ของสิปาดัน มั่นใจมากว่าทุกคนที่มาก็จะได้เห็น เพราะว่ายกันกลาดเกลื่อนมาก ไม่ค่อยกลัวคน เรียกได้ว่า หากว่ายไปหาเบาๆ แล้วขอเซลฟีด้วยพวกมันก็มักจะไม่ขัดขืน
แต่ความฟินคือ เราได้เจอพวกมันทั้งฝูงตอนที่ว่ายน้ำเข้าคิวเรียงแถวกันยามเช้าตรู่ ใช่ครับ ทุกๆ เช้าปลานกแก้วหัวโหนกเขียวจะว่ายน้ำจากที่พักของพวกมันไปยังจุด cleaning station เพื่อให้ปลาตัวเล็กในแนวปะการังแทะเล็มปรสิตออกจากผิวหนังของพวกมัน (นึกภาพว่าถ้าเป็นคน ตื่นเข้ามาก็ต้องอาบน้ำ) ความพยายามของพวกเราที่แหกขี้ตาตื่นมาก็ประสบความสำเร็จสมใจอยาก พวกมันว่ายเข้าคิวเรียงแถวตอนมาเลยขบวนยาวมาก ว่ายต่อกันไปเรื่อยให้พวกเราชื่นชมอย่างมีความสุข ส่วนตัวผมจัดไดฟ์นี้เข้าลิสต์ไดฟ์เช้าที่ชอบที่สุดไปโดยปริยาย
ไม่จบแค่นั้นเมื่อพวกเราดูขบวนปลานกแก้วหัวโหนกเขียวจนสมใจอยากแล้ว ว่ายถัดไปอีกไม่เกิน 5 นาที พวกเราก็ได้เจอของขึ้นชื่ออย่างที่สองของสิปาดัน ฝูงปลาแจ็ค (Bigeye Trevally) ที่ความลึกระดับไม่เกิน 5 เมตรจากผิวน้ำ จังหวะพอดีกับที่พระอาทิตย์แรกของปีเริ่มส่องแสงให้พวกเราเห็น องค์ประกอบสองอย่างที่ว่ามารวมกัน สิ่งหนึ่งอยู่ใต้น้ำอีก สิ่งหนึ่งอยู่เหนือน้ำ เกิดเป็นภาพเช้าวันปีใหม่ที่ประทับใจที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้
ขึ้นมาจากไดฟ์แรกของปีด้วยความอิ่มเอม พร้อมความคิดที่ว่า มันคงไม่มีอะไรพีคกว่านี้แล้วกระมัง ซึ่งก็จริง ไดฟ์ที่ 2 และ 3 ของวัน พวกเราออกจะดำน้ำแบบพักผ่อน ดูเต่าบ้าง ฉลามบ้าง ดูฝูงแจ็คฝูงเดิม ฝูงนกแก้วหัวโหนกฝูงเดิม ที่ก็ยังว่ายน้ำวนไปมาอยู่ ก่อนที่จะกลับไปกินข้าวกลางวันที่รีสอร์ต SWV บนเกาะมาบูล
“แต่เรายังไม่เจอ บาราคูดา ไซโคลน เลยนะ!”
<< พักชมสิ่งที่น่าสนใจและเกร็ดความรู้สักครู่ เพื่อให้การอ่านต่อมีอรรถรสยิ่งขึ้น >>
บาราคูดา (Barracuda) หรือ ปลาสาก หรือ ปลาน้ำดอกไม้ทะเล เป็นปลาลำตัวยาว มีลายบั้งขวางลำตัวเป็นท่อนๆ โดยมากมีสีฟ้าเทา หัวแหลม กรามล่างยื่นยาว ฟันแหลมคม ตาโต มีขนาดตั้งแต่ 30 เซนติเมตรยาวไปถึงเมตรกว่าๆ ว่องไวปราดเปรียว ไล่กินฝูงปลาอื่นเป็นอาหาร นับเป็นผู้ล่าอันดับต้นของทะเล
ความเจ๋งคือ บาราคูดามักจะอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ เมื่อพวกมันรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยจากผู้ล่าอื่นๆ ในท้องทะเล มันก็จะเริ่มว่ายน้ำวนเรียงกันเป็นก้อนกลมๆ คล้ายๆ พายุหมุน ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องบาราคูดาตัวที่ยังมีขนาดไม่ใหญ่มากให้รอดพ้นจากการตกเป็นอาหารของปลาตัวใหญ่กว่า
ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ากิจกรรมว่ายน้ำวนๆ ของบาราคูดานี้มีชื่ออย่างเป็นทางการหรือเปล่า แต่ผมได้ยินครั้งแรกก็เป็นคำว่า บาราคูดา ไซโคลน จากเพื่อนผมคนนึง รวมถึงเอาคำนี้มาบอกไดฟ์ลีดฯ เค้าก็ฟังเข้าใจว่าเราอยากเจออะไรนะ
<< จบช่วงสิ่งที่น่าสนใจ เข้าสู่ช่วงบทสนทนาในโต๊ะอาหารกลางวันต่อ >>
“แต่เรายังไม่เจอ บาราคูดา ไซโคลน เลยนะ!” ผมพูดกับทุกคนกลางโต๊ะอาหารแบบทีเล่นทีจริงหลังจากอิ่มข้าวมื้อกลางวัน ประหนึ่งว่า ถ้าทุกคนที่มาด้วยกันเห็นด้วย พวกเราจะยอมเสียเงินค่าดำน้ำเพิ่ม แล้วขึ้นเรือกลับไปดำไดฟ์ที่ 4 ที่สิปาดันกันเพื่อตามหา บาราคูดา ไซโคลน ให้จงได้
“เอาสิ” ใครสักคนพูดขึ้นมา
“All-or-None นะพี่ เราจะนั่งเรือวนรอบสิปาดันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอฝูงบาราคูดา แล้วค่อยโดดลงน้ำ ซึ่งนั่นแปลว่า ฝูงแจ็คฝูงเดิม ฝูงนกแก้วหัวโหนกฝูงเดิม เราไม่ดูแล้วนะ” ผมถามอีกรอบเพื่อความแน่ใจ เพราะไม่การันตีจริงๆ
“เออ เอาแบบนั้นแหละ” ใครสักคนพูดขึ้นมา
และนั่นก็เป็นที่มาของอีกหนึ่งไดฟ์ที่ยากจะลืมไปอีกนาน หลังจากลงบิลค่า extra dive เสร็จ พวกเราก็นั่งเรือ 20 นาทีจากมาบูลกลับไปยังสิปาดัน
ขณะวนเรือรอบสิปาดันตามหาฝูงบาราคูดาแบบลมๆ แล้งๆ ได้สักพัก ก็บังเอิญมีเรือลำอื่นแล่นสวนมา ไดฟ์ลีดฯ ของเราส่งสัญญาณมือถามว่า “เจอฝูงบาราคูดาบ้างไหม?” เรือลำนั้นตะโกนตอบกลับมาสั้นๆ ว่า “South Point”
จัดว่าเป็นความเซอร์ไพรส์รับปีใหม่ ปกติ South Point เป็นจุดดำน้ำที่ไม่นิยมเท่าไหร่นัก เนื่องจากไม่มีฝูงแจ็ค ไม่มีฝูงปลานกแก้วหัวโหนก ปะการังก็ไม่ได้สีสวยเมื่อเทียบกับจุดยอดฮิตจุดอื่น พวกเราแล่นเรือไปเพียงเพราะคำบอกเล่าของเรือที่สวนกันว่ามีฝูงบาราคูดาที่นั่น
เมื่อไปถึงจุดดำน้ำ เรือก็ต้องวนเวียนหาบาราคูดาอยู่อีก 15 นาที พร้อมกับที่พวกเรานั่ง stand by ในชุดพร้อมลงน้ำ จนกระทั่งไดฟ์ลีดฯ โบกมือว่าลงได้เลย เห็นเงาฝูงบาราคูดาลางๆ จากบนเรือแล้ว
“All-or-None นะพี่” ผมถามอีกรอบ เพราะก็เสียวว่าจะพาพรรคพวกมาผิดหวังรับปีใหม่
“เอม โดดได้เลยครับ” ใครสักคนตอบ
ไดฟ์ที่ 4 จ๋อมมมม …โดดลงไปเจอฝูงบาราคูดาตามที่ไดฟ์ลีดฯ เกริ่นไว้ แต่นั้นยังไม่อิ่มพอ! ทุกคนตัดสินใจว่ายตามฝูงบาราคูดาไปอีก 60 กว่านาที ทั้งเหนื่อย ทั้งทวนกระแสน้ำ แต่ก็ดำผุดดำว่ายไปเรื่อยๆ ค่อยๆ เปลี่ยนจากที่ตื้นไปจนถึงกลางน้ำ
และ ในที่สุด รูปร่างที่เราอยากเห็นก็ปรากฏให้ได้เห็นสมใจอยาก ‘บาราคูดา ไซโคลน’
กล่าวโดยสรุป แบบชั่งน้ำหนักรวมกันในหัวระหว่าง ราคา ที่พัก การเดินทาง อาหาร จุดดำน้ำ รวมไปถึงวันลาที่ต้องใช้ คูณเข้าไปด้วยความประทับใจที่ทดไว้ตั้งแต่กลับมา รวมถึงให้คะแนนพิเศษที่ได้เจอหลายๆ อย่างเกินจากที่คาดหวังไว้สำหรับทริปสิปาดันต้อนรับปีใหม่ 2018 ทริปนี้
(หากใครสนใจทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ดูรูปถ่ายนอกเหนือจากนี้ หรือพูดคอยสอบถามข้อมูล ก็เชิญได้ที่ www.facebook.com/husbandanddive)
เพื่อน : สรุปสิปาดันที่เพิ่งไปมาสั้นๆ ให้ฟังสักประโยคซิ
ผม : น่าจะเป็นของขวัญต้อนรับปีใหม่ที่ประทับใจที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตเลยว่ะ