เมื่อต้นธันวาคมที่ผ่านมา ผมได้ไปเยือนเมืองโยโกสุกะ จังหวัดคานากาวะ อันเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกา กองเรือแปซิฟิกที่ 7 (U.S.P.A.C. 7th Fleet) และฐานทัพของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเล (JMSDF)
ที่โยโกสุกะยังเป็นที่ตั้งอนุสรณ์สถานที่สำคัญยิ่งต่อประวัติศาสตร์การเดินทางทางทะเล ประวัติศาสตร์ทางทหาร ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และประวัติศาสตร์โลก คือ ‘อนุสรณ์สถานและพิพิธภัณฑ์เรือมิคาสะ’
เหตุใดเรือลำนี้จึงสำคัญนัก?
เพราะว่าเรือลำนี้เป็นเรือธงของยุทธนาวีหนึ่งในจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์โลก ที่ชี้ขาดเป็นตายว่า
‘ฝรั่ง’ ไม่ได้เหนือกว่า ‘ชาวเอเชีย’ หรือ ‘ชนพื้นเมือง’ อีกต่อไป
เป็นศึกที่มีความสำคัญเรียกได้ว่าเทียบเท่ายุทธนาวีระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษที่ทราฟัลการ์ ยุทธนาวีระหว่างออตโตมันกับพันธมิตรยุโรปที่เลพันโต หรือยุทธนาวีระหว่างจักรวรรดิญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกาที่มิดเวย์ ก็ว่าได้
จุดเริ่มต้นของทัพเรือญี่ปุ่น
ภายหลังญี่ปุ่นปิดประเทศแล้วค้าขายแต่กับดัตช์บนเกาะเล็กๆ กว่าสามร้อยปี เรือดำของ พลจัตวามัตธิว ซี เปอร์รี่ แห่งสหรัฐอเมริกา ได้เข้าปิดปากอ่าวอุรางะ เมื่อปี 1853 เพื่อขู่ให้ทำสัญญาการค้าและไมตรี รัฐบาลโชกุนโตกุกาวะสุดจะต้านทานไหวต้องยอมลงนาม ซึ่งเหตุการณ์นี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านชาวต่างชาติทั่วญี่ปุ่น กลายเป็นสงครามกลางเมืองเพื่อโค่นล้มรัฐบาลโชกุน ฟื้นฟูพระราชอำนาจพระจักรพรรดิ คือสงครามโบชิน ในที่สุดตระกูลโตกุกาวะก็สิ้นอำนาจ ราชวงศ์เบญจมาศขึ้นมาเป็นประมุขประเทศอีกครั้งด้วยการสนับสนุนของขุนนางท้องถิ่น
กลุ่มขุนนางเหล่านั้นหลายคนเล็งเห็นว่า การต่อต้านฝรั่งตะวันตกต่อไปไม่เป็นผล ทางที่ดีควรส่งคนไปร่ำเรียนเอาวิชาการของฝรั่งมาปฏิรูปเสียจะดีกว่า หลังจากนั้นญีปุ่นก็ส่งนักเรียนทุนสามัญชนผู้เฉลียวฉลาดไปกวาดเอาสรรพวิชาจากตะวันตกทุกประเทศมากมาย ทั้งการแพทย์ วิศวกรรม วิทยาศาสตร์ การเมืองการปกครอง กฎหมาย ไปจนถึงการทหารสมัยใหม่ ก่อให้เกิดกระแสการปฏิรูปที่เรียกกันว่า ‘การฟื้นฟูในรัชสมัยเมจิ’ (Meiji Restoration) ภายใต้คำขวัญ ‘ประเทศมั่งคั่ง การทหารมั่นคง’ [富国強兵 – ฟุโคคุ เคียวเฮ]
ในทางทัพเรือ คัตสึ ไคชู อาวะโนะคามิ ขุนนางของโตกุกาวะ ได้ปฏิรูปกองทัพเรือและระบบทหารเรือจากประสบการณ์ที่ได้เดินทางกับเรือคันรินมารู เรือกลไฟต่อเองลำแรกของญี่ปุ่นไปถึงสหรัฐอเมริกา ร่วมกับซากาโมโตะ เรียวมะ ขุนนางฝ่ายปฏิวัติ และเมื่อเข้าสู่ยุคเมจิ คัตสึ ไคชูได้ขึ้นเป็นองคมนตรี ถวายความแนะนำแด่พระจักรพรรดิในการเร่งสร้างความเข้มแข็งทางสมุทรานุภาพแก่จักรวรรดิญี่ปุ่น เพราะการเป็นประเทศเกาะ ต้องมีทัพเรือที่เข้มแข็งสามารถต่อกรได้ทั้งใกล้และไกลเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ ก่อกำเนิดเป็น ‘จักรวรรดินาวีญี่ปุ่น’ (大日本帝國海軍 – ไดนิปปงเทโคคุไคกุน)
ความขัดแย้งกับรัสเซีย
เมื่อญี่ปุ่นเริ่มปฏิรูปอุตสาหกรรมและขยายเขตอำนาจทางทะเล ก็ต้องแสวงหาทรัพยากรเพื่อป้อนให้กับโรงงานและความต้องการของประชากร เป้าหมายสำคัญคือดินแดนเกาหลีและจีน รวมถึงหมู่เกาะทางตอนเหนือของฮอกไกโด จนเกิดเหตุกระทบกระทั่งกันในเหตุการณ์ทสึชิมะ (Tsushima Incident) ในปี 1861 เมื่อกองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซียส่งเรือสำรวจเข้ามาในเขตเกาะทสึชิมะ ทางตอนใต้ของเกาหลี ส่วนฝ่ายญี่ปุ่นที่ถือครองน่านน้ำเห็นว่าเป็นการรุกล้ำดินแดน จึงพยายามขับไล่ออกไปแต่ไม่เป็นผลจึงร้องขอให้เรือรบอังกฤษเข้ามาแทรกแซง
เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ญี่ปุ่นมองว่ารัสเซียเป็นอุปสรรคสำคัญในการขยายอำนาจ ขณะเดียวกันรัสเซียก็เริ่มคิดว่าญี่ปุ่นเป็นศัตรูและเป็นเครื่องกีดขวางการแผ่อิทธิพลมาทางเอเชีย
หลังสงครามกับราชวงศ์ชิง ทัพเรือญี่ปุ่นล่มกองเรือเป่ยหยางของจีนได้ราบคาบ จนต้าชิงต้องยอมทำสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ มอบคาบสมุทรเหลียวตงและไต้หวันให้อยู่ในการปกครองของญี่ปุ่นโดยตรง ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็บุกเข้าเกาหลีและเปลี่ยนเกาหลีให้เป็นอาณานิคม อาณาเขตของญี่ปุ่นกับรัสเซียจึงประชิดกันโดยตรง และยิ่งทำให้ความขัดแย้งทวีรุนแรงยิ่งขึ้น
เมื่อรัสเซียรวมหัวบีบญี่ปุ่น
หลังจากสนธิสัญญาชิโมโนเซกิได้ไม่นาน ฝรั่งเศส เยอรมัน และรัสเซียรวมตัวกันบีบให้ญี่ปุ่นมอบแหลมเหลียวตงคืนให้แก่จีน โดยอ้างว่าญี่ปุ่นบังคับทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม แต่รัสเซียกลับแผ่อำนาจเข้ายึดครองเขตแมนจูเรียและเหลียวตง สร้างเมืองฮาร์บินให้เป็นมอสโคว์ตะวันออก และตั้งกองเรือยุทธการที่พอร์ตอาร์เธอร์วลาดิวอสต็อก ญี่ปุ่นเห็นว่าเรื่องนี้เป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรง
เหตุขัดแย้งยิ่งทวีขึ้นเมื่อพระเจ้าโกจงแห่งเกาหลี หนีจากการชักใยของญี่ปุ่นเข้าไปพึ่งคณะทูตของรัสเซียในสถานกงสุลรัสเซียประจำกรุงโซล
ญี่ปุ่นทำสนธิสัญญาพันธมิตรกับสหราชอาณาจักรในปี 1902 เพื่อเป้าหมายการปิดล้อมทางทะเลต่อรัสเซีย รวมทั้งสั่งต่อเรือรบรุ่นใหม่ทันสมัยจำนวนหลายลำ หนึ่งในนั้นคือ ‘เรือพิฆาตมิคาสะ’ ส่วนรัสเซียก็เข้าหาฝรั่งเศส เพื่อให้อาณานิคมอินโดจีนฝรั่งเศสต่อต้านญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายพยายามเจรจาต่อรองกันครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อหาจุดกั้นกลาง และพยายามให้เกาหลีเป็นรัฐกันชน แต่ก็ไม่เป็นผล สุดท้ายสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นก็ระเบิดขึ้นในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1904
เปิดก่อนได้เปรียบ
ญี่ปุ่นประกาศสงครามพร้อมกับการส่งกองทัพเรือ นำโดย แม่ทัพโตโก เฮฮาจิโร่ ไปถล่มฐานทัพของรัสเซียที่พอร์ตอาร์เธอร์ ทำให้เรือรบกองเรือแปซิฟิกของรัสเซียเสียหายจำนวนมาก จากนั้นก็ได้ปิดล้อมพอร์ตอาร์เธอร์ไว้ไม่ให้ได้รับการส่งกำลังสำรองและการซ่อมแซม จนรัสเซียต้องตัดสินใจส่งกองเรือจากทะเลบอลติกข้ามมาในระยะไกล และลงโทษแม่ทัพประจำฐานทัพพอร์ตอาร์เธอร์ถึงขั้นประหารชีวิตฐานไร้ความสามารถ (ต่อมาได้รับอภัยโทษ)
กองทัพบกญี่ปุ่นส่งทหารข้ามแม่น้ำยาลูเข้ารุกแมนจูเรียอย่างรวดเร็ว ในขณะที่รัสเซียใช้การรบแบบตั้งรับถ่วงเวลาเป็นสำคัญ ซึ่งรัสเซียประสบความสำเร็จในการรบทางบก ถ่วงเวลาและทำลายหน่วยทหารรวมถึงปืนใหญ่ของญี่ปุ่นได้จำนวนมาก
ระหว่างทางการมาถึงของกองเรือบอลติกที่จักรวรรดิรัสเซียของซาร์นิโคลัสที่ 2 ภาคภูมิพระทัย ญี่ปุ่นได้ประสานงานข่าวกรองร่วมกับอังกฤษ ในการชะลอการเดินทางของกองเรือ อังกฤษปฏิเสธการใช้คลองสุเอซ ทำให้กองเรือต้องอ้อมผ่านแหลมกู้ดโฮปเป็นระยะทางไกล และไม่สามารถใช้ท่าเรือในเขตปกครองของอังกฤษตลอดมหาสมุทรอินเดียเพื่อพักเติมเสบียง อาหาร น้ำดื่ม และเชื้อเพลิงได้ จนถึงท่าเรือของดัตช์และฝรั่งเศสในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อกองเรือบอลติกเข้ามาถึงทะเลญี่ปุ่น ก่อนจะไปทำลายการปิดล้อมพอร์ตอาร์เธอร์ ก็เกิดความเหนื่อยล้าสะสมยากจะเยียวยาเสียแล้ว
(รออ่านต่อตอนถัดไป)