อรุณเบิกฟ้า นกกาโบยบิน…
เด็กยุคใหม่อาจโตมากับการไถ TikTok เรียนรู้ผ่านยูทูบ หรือค้นหาความสนุกผ่านโลกออนไลน์ ในขณะที่ผู้ใหญ่มากมายในวันนี้ต่างเติบโตผ่านหนังสือและรายการทีวีที่ยุคนั้นต้องดูกันแบบสดๆ ไม่สามารถรับชมย้อนหลังได้
ยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านส่งผลให้รายการน้อยใหญ่ โดยเฉพาะรายการสำหรับเด็กก็ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง หน้าจอในปัจจุบันอัดแน่นไปด้วยรายการประกวดร้องเพลงที่มีออกอากาศแทบทุกวัน รายการเด็กหลายเจ้าล้มหายตายจาก เหลือไว้เพียงในความทรงจำของผู้ชมที่ตอนนี้ไม่ใช่เด็กอีกต่อไปแล้ว…
ว่าแต่เมื่อพูดกันถึงรายการเด็ก มีรายการไหนบ้างที่นึกถึงเมื่อไหร่เป็นต้องคิดถึงวัยเด็กทุกครั้ง บทความนี้ The MATTER จะพาทุกคนไปย้อนวันวานพร้อมกัน ถ้าพร้อมแล้วก็ไปกันเลย!
ถ้าคุณแน่ อย่าแพ้ ป.4
นี่คือเกมโชว์สุดน่ารักที่ครอบครัวมักจะรับชมอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาในเวลาอาหารเย็น โดยกติกาของรายการคือผู้เล่นที่เป็นผู้ใหญ่จะต้องเลือกเด็ก ป.4 มาเป็นผู้ช่วยในการตอบคำถามเพื่อสะสมเงินรางวัลไปเรื่อยๆ
สิ่งที่ผู้ชมทุกเพศวัยหลงรักคือคำถามของรายการที่มาในรูปแบบความรู้ตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.4 อันเป็นสิ่งที่เด็กๆ รู้สึกเชื่อมโยง ขณะเดียวกัน ผู้ใหญ่ที่ดูไปพร้อมกับลูกๆ ก็ได้หวนระลึกถึงช่วงวัยเหล่านั้นของตัวเองด้วย
หลังออกอากาศมาได้ระยะหนึ่ง รายการได้ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ถ้าคุณแน่ อย่าแพ้เด็ก (ประถม)! พร้อมปรับเปลี่ยนกฎกติกาเพิ่มเติมความสนุก ทั้งการเพิ่มผู้ช่วยรุ่นจิ๋ว ที่จากเดิมมีแค่นักเรียน ป.4 เป็นนักเรียนตั้งแต่ ป.1-ป.6 ระดับชั้นละ 1 คน พร้อมเพิ่มดีกรีความยากของคำถามให้ถึงระดับ ป.6 ด้วย ถือเป็นการใส่ความหลากหลายที่ช่วยให้รายการมีลูกเล่นจนสามารถออกอากาศได้ยาวนานถึง 563ตอนเลยทีเดียว
เจ้าขุนทอง
นี่คือรายการระดับตำนานที่อยู่คู่เมืองไทยมาเกือบ 3 ทศวรรษ ไอเดียที่เกิดจากส่วนผสมระหว่างหุ่นมือ การแสดง การใช้เสียง และความรู้ภาษาไทย ก่อกำเนิดเป็นตัวละครมากมายที่คนไทยจำไม่ลืมถึงขั้นที่ว่าเด็กรุ่นใหม่เอง ต่อให้ไม่เคยดูก็ต้องเคยได้ยินชื่อ ‘เจ้าขุนทอง’ กันมาบ้าง
นอกจากเจ้าขุนทอง ป้าไก่ เป็ดน้อย หางดาบ ขอนลอย ฉงน ฉงาย และอีกหลากหลายตัวละครที่โด่งดังเป็นพลุแตกแล้ว อีกหนึ่งหลักฐานที่การันตีความนิยมของรายการคือจดหมายจากแฟนๆ รุ่นเยาว์ ซึ่งแต่ละคนก็ดูจะภูมิใจกับการบอกเล่าบรรยากาศของท้องถิ่นที่ตัวเองอาศัย เล่านิทานสนุกๆ ตลอดจนส่งรูปที่วาดเองมาฝาก กลายเป็นกำลังใจที่ช่วยให้ทีมเบื้องหลังทำงานมาได้อย่างต่อเนื่อง
แม้ในปัจจุบัน เจ้าขุนทองจะยุติการออกอากาศไปแล้ว แต่เรื่องหนึ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้คือทีมงานดั้งเดิมของรายการยังคงทำหน้าที่ส่งสารถึงคนดูเช่นเดิม โดยย้ายพื้นที่ออกอากาศ จากสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 มาเป็นช่อง ThaiPBS ทั้งยังได้รับการร่วมมืออย่างดีจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นำเสนอรายการใหม่ กลิ่นอายเดิมในชื่อ ฉงนฉงาย สองควายช่างสงสัย ที่พร้อมสนับสนุนให้เด็กไทยมีความรู้เท่าทันสื่อและสังคม พร้อมกันนั้นก็จัดทำคอนเทนต์บนช่องยูทูบ ขุนทองและผองเพื่อน Khuntong & Co. อีกด้วย
ดิสนีย์คลับ
อีกหนึ่งรายการขึ้นหิ้งที่เด็กไทยในอดีตเต็มใจตื่นแต่เช้ามารับชมทั้งที่เป็นวันเสาร์ เชื่อว่าเมื่อนึกย้อนกลับไป หลายคนก็น่าจะยังคิดถึงการ์ตูนดิสนีย์พากย์ไทยที่เข้ามาทักทายเราในยามเช้าและแจ้งเตือนว่าวันนี้ไม่ต้องไปโรงเรียน เป็นความสนุกสนานในวัยเด็กที่ยังคงเดิมไม่แปรเปลี่ยนแม้เวลาจะล่วงเลยมาแสนนาน
ระยะเวลากว่า 29 ปีทำให้พิธีกรของรายการนี้เปลี่ยนผ่านมากถึง 3 รุ่น ไล่ตั้งแต่ พี่นัท—ศักวัต ด่านบรรพต คู่ พี่แนน—อรรัตน์ คุณวัฒน์ (ฉัตรวลี) ต่อด้วย เป๊ก—ผลิตโชค อายนบุตร และ ส้ม—ณัฐวรา หงษ์สุวรรณ จนมาถึงรุ่นเล็กอย่าง โบกัส—ธีระธันญ์ ขจรชัยเดชาวัฒน์ พร้อมด้วยเด็กๆ อีกหลายคน ว่าแต่เพื่อนๆ โตมากับพิธีกรรายการคนไหนกันบ้างนะ?
เกมทศกัณฐ์เด็ก
ย้อนกลับไปช่วงปี 2550 เชื่อว่าคนไทยแทบทุกคนต้องรู้จัก น้องเดียว—พัทธดนย์ เกลี้ยงจันทร์ ผู้เข้าแข่งขันรุ่นจิ๋วที่มอบทั้งสาระความรู้และเสียงหัวเราะให้กับเหล่าคนดูทางหน้าจอ ด้วยลีลาท่าทางที่เฉลียวฉลาดเกินวัย ประกอบกับความทะเล้นในการหยอกล้อผู้ดำเนินรายการระดับไอคอนของเมืองไทยอย่าง ปัญญา นิรันดร์กุล ก็ยิ่งส่งให้เกมทศกัณฑ์เด็กครองตำแหน่งรายการที่หลายบ้านพร้อมใจเปิดดูเป็นประจำทุกสัปดาห์
จุดเด่นของตัวละครอย่างทศกัณฐ์ในวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์คือการมี 10 หน้า รายการนี้เองก็นำเอกลักษณ์ตรงนั้นมาปรับใช้ โดยท้าทายให้ผู้เข้าแข่งขันตอบให้ได้ว่า ใบหน้าที่ได้เห็นเป็นใบหน้าของใคร หากตอบถูกก็จะสะสมเงินรางวัลไปเรื่อยๆ โดยน้องเดียวถือเป็นเด็กคนแรกที่สามารถพิชิต 200 หน้า จนได้รับทุนการศึกษา 4 แสนบาท นับเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัว ทั้งยังสร้างความสุขไม่น้อยให้กับคนไทยทั้งประเทศ
สู้เพื่อแม่
แม้จะออกอากาศได้ไม่นาน แต่นี่คือรายการที่สนับสนุนความกล้าคิด กล้าแสดงออก ไปจนความรัก ความผูกพันที่บรรดาเด็กชั้นอนุบาลมีต่อคุณแม่ โดยเด็กๆ ที่เข้าร่วมจะได้รับบทเป็นอัศวินตัวน้อย นำความรู้ ความสามารถที่มีมาฝ่าด่านมังกร 2 ตัว และถ้าหากเอาชนะมังกรได้สำเร็จ เด็กคนนั้นก็จะสามารถพิชิตของขวัญที่คุณแม่อยากได้ พูดง่ายๆ คือผู้เข้าแข่งขันเองก็ภูมิใจ สายใยของครอบครัวก็แน่นแฟ้นขึ้น ฝั่งคนดูที่อยู่ทางบ้านก็สามารถใช้โอกาสนี้พูดคุยเรื่องราวในชีวิตประจำวันร่วมกันได้อีกด้วย
หลานปู่ กู้อีจู้
รายการประเภทเรียลลิตี้ถือเป็นโจทย์ที่โหดหินไม่น้อย เพราะถึงแม้จะสามารถกำกับและควบคุมได้บ้าง ทว่าบางอย่างก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติเพื่อความสมจริงที่ผู้ชมจะสัมผัสได้ ซึ่งความยากนั้นก็ทวีคูณขึ้นไปอีก เมื่อ หลานปู่ กู้อีจู้ ไม่ได้เป็นเรียลลิตี้โชว์ทั่วไป แต่เป็นเรียลลิตี้ที่มีผู้รับบทนำเป็นเด็กกับผู้สูงอายุ หรือก็คือหลานๆ กับปู่ย่าตายาย ความวุ่นวายจึงอบอวล แต่นั่นเองก็นำมาซึ่งมวลความสนุกสนานซาบซึ้งของผู้ชม
ในแต่ละสัปดาห์ ปู่ย่าตายายและหลานๆ จะได้รับภารกิจสุดน่ารัก ไม่ว่าจะเป็น คุณปู่สอนหลานตีปิงปอง หลานสอนยายท่องเอบีซี อากงกับหลานแต่งตัวเลียนแบบไมเคิล แจ็คสัน ฯลฯ เป็นความน่ารักที่พ่อกับแม่ที่บ้านอาจจะนึกสนุกอยากให้ลูกของตัวเองออกไปทำกิจกรรมร่วมกับปู่ย่าตายายบ้างเหมือนกัน
หลานปู่ กู้อีจู้ ถือเป็นรายการที่ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี และแม้ว่ารายการจะยุติการออกอากาศไปเมื่อปี 2553 แต่หลังจากนั้นก็มีการดัดแปลงเป็นรายการ หนูน้อย กู้อีจู้ และ กู้อีจู้ผจญภัย ตามออกมาอีกด้วย
ดวลวาทะ The Arena Thailand
นี่คือรายการที่เพิ่งกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งทาง TikTok ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ด้วยรูปแบบรายการที่เต็มไปด้วยความเชือดเฉือน ชิงไหวชิงพริบ ทั้งยังมีการถกเถียงในประเด็นสังคมร่วมสมัย คล้ายคลึงกับเวทีโต้วาทีเมื่อหลายปีก่อน จึงทำให้หลายคนมองว่า ดวลวาทะ The Arena Thailand คือรายการโทรทัศน์น้ำดีที่ควรจะมีมากกว่าแค่ 2 ซีซั่น
‘ควรยกเลิกระบบสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัย’ ‘การเลือกคณะเรียน ควรเลือกจากความชอบ มากกว่าปัจจัยอื่นๆ’ ‘รับน้องปัจจุบัน สร้างสรรค์มากกว่าทำลาย’ และอีกมากมายหลายหัวข้อที่เยาวชนในรายการจะได้ประชันฝีปากเพื่อพิสูจน์ว่า ฝ่ายตัวเองมีเหตุผลมากกว่า นำไปสู่ความตื่นเต้นในการรับชม ทั้งยังได้สาระความรู้และมุมมองที่น่าสนใจอีกมากมาย
กลุ่มเป้าหมายของ ดวลวาทะ The Arena Thailand อาจจะแตกต่างจากรายการเด็กส่วนใหญ่ เพราะผู้เข้าแข่งขันซึ่งเป็นตัวแทนจากโรงเรียนต่างๆ กำลังศึกษาอยู่ในชั้น ม.ปลาย ซึ่งว่ากันตามความเป็นจริง ในระยะหลังมานี้ รายการที่ผลิตเพื่อผู้ชมวัยนี้ก็ดูจะลดจำนวนลงเรื่อยๆ จนแทบจะไม่เหลือแล้ว ดังนั้น มันคงจะดีไม่น้อย หากรายการทีวีสำหรับเด็กมัธยม รวมไปถึงพื้นที่สร้างสรรค์ที่เด็กๆ จะสามารถแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสังคมได้อย่างมีอิสระเสรีจะกลับมามีที่หยัดยืนในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง
วิทยสัประยุทธ์
เกมโชว์วิทยาศาสตร์ที่เกิดจากความร่วมมือของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ โดยรายการจะกำหนดโจทย์ปัญหาให้แต่ละทีมประดิษฐ์อุปกรณ์เพื่อนำมาใช้แก้ไข จากนั้นก็ต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการว่า อุปกรณ์นั้นๆ ใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการทำงานอย่างไร สามารถแก้ปัญหาได้มั้ย เพราะอะไร
ตัวอย่างโจทย์สนุกๆ ในรายการ เช่น เหลาดินสอพันแท่งแข่งกับเวลา ใช้หนังยางตัดของ ดิ่งพสุธาจากตึก 6 ชั้น ใช้ลมชกมวย เป็นต้น
เหล่านี้เป็นเพียงรายการเด็กส่วนหนึ่งที่เชื่อว่าหลายคนน่าจะคิดถึงและอยากให้ทีมงานกลับมาผลิตอีกครั้ง ถึงอย่างนั้นก็ยังมีรายการอีกมากมายที่มีส่วนในการหล่อหลอม ขับเกลา ทั้งยังช่วยสร้างรอยยิ้มให้กับเราในวัยเด็ก เพราะฉะนั้น ก่อนจากกัน เราจึงอยากฝากทุกคนด้วยหนึ่งคำถามที่ว่า
มีรายการไหนอีกบ้างที่เราคิดถึง?
อ้างอิงจาก
Graphic Designer: Krittaporn Tochan
Editorial Staff: Runchana Siripraphasuk