ถึงญี่ปุ่นจะเป็นดินแดนแห่งเทคโนโลยี อุดมไปด้วยธรรมชาติงดงาม วัฒนธรรมที่มีประวัติยาวนาน อาหารหลากหลาย เศรษฐกิจที่แข่งขันกับชาติอื่นได้อย่างดุเดือด แต่มีอย่างหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหามาในช่วงราวสิบถึงยี่สิบปีมานี้ นั่นก็คือปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างเพศนั่นเอง
หือ? ประเทศที่หนังโป๊ถูกกฎหมาย เกมจีบสาวเพียบ การ์ตูนโป๊ก็สามารถขายได้เรื่อยๆ ร้านแนวโฮสต์คลับ หรือ Soap Land ก็ถือว่ามีอยู่ทั่วไป ถึงไม่แต่งงาน หรือไม่ได้คบใคร ก็น่าจะพอมีที่ทางปลดปล่อยได้บ้าง
แต่ในความเป็นจริง ประเทศญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาผู้คนไม่คบหากัน ไม่ใช่เรื่องการแต่งงานลดลง หรือมีลูกน้อยลง แต่ถึงระดับที่ สถาบัน National Institute of Population and Social Security Research ของญี่ปุ่น ได้สำรวจหนุ่มสาววัย 18-34 ปี ผลคือ กว่า 70% ของชายโสด และ 60% ของหญิงโสด ในการสำรวจนี้ ไม่ได้สนใจจะมีความสัมพันธ์กันเลยล่ะ ในขณะที่ 42% ของหนุ่มในกลุ่มตัวอย่าง และ 44.2% ของหญิงในกลุ่มตัวอย่างอีกเช่นกัน ยอมรับว่าตัวเองยังเวอร์จิ้นอยู่…
ในขณะที่ตัวเลขคู่รักและคู่แต่งงานในญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนของคนที่มีสัมพันธ์กับ ‘คนรักเสมือน’ กลับพุ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับบางคน เรื่อง ‘คนรักเสมือน’ นี่อาจไม่ใช่เรื่องแปลกนัก เพราะนอกจากเซ็กส์ทอยแล้ว เกมจีบสาวต่างๆ นานา ก็เป็นตัวเลือกที่ดี ก่อนหน้านี้ก็มีเกม Love Plus ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อสังคมด้วยโหมด ‘เวลาจริง’ ที่ทำให้คนเล่นต้องจดจ่อกับเวลาในการเล่นแบบจริงจัง เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับตัวละครในเกมอย่าง เนะเนะ, รินโกะ และ มานากะ
ช่วงที่เกมนี้ฮิตถึงขีดสุด ก็มีข่าวคนแต่งงานกับเกม (ไม่ได้มีแค่คนเดียวด้วย), หย่ากันเพราะสามีติดหญิงในเกม, โรงแรมจัดทริปพิเศษของคู่รัก Love Plus (ใช่ครับ ทริปของคนเล่นเกมที่ไปกับเครื่องเกม) ในเมืองท่องเที่ยวอย่างอิตามิ เป็นอาทิ
ส่วนปีนี้ เกมบนเครื่อง Playstation VR อย่าง Summer Lesson เกมจีบสาวที่ให้คุณใส่เครื่องเล่น VR เพื่อตีสนิทกับสาวในโลก Virtual เกมนี้ทำให้ผู้สันทัดวัฒนธรรมโอตาคุหลายคนกรีดร้องแบบติดตลกแต่ก็น่าสนใจว่า “นี่มันจุดสิ้นสุดมนุษยชาติชัดๆ” นี่ยังไม่นับ ‘เกมโป๊’ แบบ VR อีกหลายอัน ที่มี ‘จิ๊มิปลอม’ ติดตั้งอยู่อีกนะ
สมัยนี้ หนุ่มๆ มี ‘คนรักเสมือน’ ให้เลือกมากมาย แล้วแต่รสนิยมเลย แล้วสำหรับสาวๆ ล่ะ สุดท้ายพวกเธอก็ยังอยากจะได้มือของใครมาช่วยนำทาง หรือไหล่ของใครมาอิงแอบไหม?
โอเคครับ เราคงมีคนที่อยากแต่งงานอยู่ แต่สถิติการจ่ายเงินให้เกมแนว ‘จีบหนุ่ม’ หรือ สินค้าที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ‘Ren Ai’ (恋愛) ของสาวๆ ในประเทศญี่ปุ่น พุ่งสูงขึ้นมา ที่เรียกกันแบบเข้าใจง่ายๆ ว่า เกมจีบสาวนั่นเอง แต่เฮ้… สาวๆ เขาจะเล่นเกมจีบสาวเหรอ? ต้องขยายความว่า Ren Ai ของชาวญี่ปุ่นไม่ได้หมายถึงเกมที่เน้นจีบตัวละครในเกมอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงเกม Visual Novel ที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์กัน ด้วยเหตุนี้สาวๆ หลายคนจึงหันมาเล่นเกมแนวนี้ได้ด้วย
พอมีสาวๆ หันมาเล่น Ren Ai จึงมีการสร้างเกมแนวดังกล่าวเพื่อเจาะกลุ่มผู้หญิงแบบเต็มๆ จนเกิดเป็นกลุ่มเกมแยกย่อยที่เรียกว่า Otome Game ขึ้นมาในช่วงกลางยุค 1990s หญิงสาวเริ่มมี ‘คนรักเสมือน’ เช่นกันกับหนุ่มๆ และยิ่งเพิ่มมากขึ้นในยุค 2010s เมื่อเกมแนวดังกล่าวย้ายมาลงมือถือ
ตัวอย่างเกมที่น่าจดจำก็คือ Angelique ที่ถือว่าเป็น Otome Game เกมแรกๆ, Uta No Prince Sama เกมไอดอลหนุ่มมากหน้าหลายตาที่ถูกดัดแปลงเป็นสินค้าหลากหลายประเภท หรือ Toraware no Palm เกมมือถือที่พระเอกถูกขังไว้ในค่ายแห่งหนึ่ง และผู้เล่นสามารถปฏิสัมพันธ์กับพระเอกคนนี้ได้ ทั้งการดูกิจวัตรผ่านหน้าจอ หรือแชทกับเขาก็ได้
จริงๆ เกม Ren Ai ไมได้มีเฉพาะแค่ของชายและหญิงเท่านั้น ยังมีเกมที่เปิดเพื่อให้กลุ่ม LGBTQ ด้วย แต่เพศชายหรือเพศหญิงก็เล่นได้ เพียงแค่ตัวละครในเกมจะแสดงออกอย่างชัดเจนว่าพวกเขาสนใจเพศเดียวกันแทนที่จะสนใจเพศตรงข้าม
จากข้อมูลที่ CNN ให้ไว้ รายได้ของเกมแนวนี้เมื่อปี 2014 มีมูลค่าสูงถึง 463 ล้านบาทกันเลยทีเดียว หากถามว่าอะไรคือเสน่ห์ที่ทำให้ ‘คนรักเสมือน’ ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น
ประเด็นแรก ก็คงเป็นผลพวงจากสังคมเขาเอง ที่ชายหญิงต่างบอกว่าอีกฝ่ายตั้งสเปคไว้สูงเกินไป คบกันแล้วกดดันมากเกินไปจนไม่เป็นตัวเอง ฯลฯ
ประเด็นที่สอง คือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่เกมสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เล่นได้มากขึ้น จากเดิมที่ผู้เล่นทำได้แค่ติดตามพล็อตและนิสัยของตัวละครในเกม แต่ปัจจุบัน ตัวละครในเกม อย่าง Love Plus หรือ Toraware no Palm ที่กล่าวไปข้างต้น สามารถทักทาย ตอบกลับ แสดงความเป็นห่วง รวมไปถึงอาการงอนที่ชัดเจนมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ผู้เล่นก็สามารถเรียนรู้นิสัยของตัวละครได้ในระยะเวลาไม่นานนัก แถมคนเล่นยังไม่มีโอกาสถูก ‘เลิกคบ’ อย่างถาวรจากตัวละครในเกม จึงไม่แปลกที่คนเล่นเกมจะสบายใจกับการคบหา ‘คนรักเสมือน’ มากขึ้น
ย้อนไปในช่วงปี 1990 คนที่คบหา ‘หนุ่ม 2D’ หรือ ‘สาว 2D’ จะถูกตราหน้าจากสังคมว่าประหลาด 20 ปีผ่านมา สังคมเริ่มคุ้นชินกับคนที่เอ็นจอยกับ ‘คนรักเสมือน’ มากขึ้น รวมถึง ‘คนรักเสมือน’ ก็พกพาง่ายขึ้นกว่าสมัยก่อน (เมื่อก่อนเราอาจต้องพกโปสเตอร์ใหญ่ๆ หรือ หมอนข้างยาวๆ ใส่รูปตัวละครที่ชอบ) การคบกับเกมเลยง่ายยิ่งขึ้นไปอีก
เทรนด์ ‘คนรักเสมือน’ นี้มีมานานแล้ว ในสมัยโรมัน ก็มีเรื่องของ พิกเมเลียน (Pygmalion) ชายหนุ่มผู้แกะสลักงาช้างให้เป็นหญิงสาวสุดงดงามชื่อ กาลาเทีย (Galatea) ส่วนในปัจจุบันก็มีความพยายามที่จะพัฒนา A.I. อย่างเช่นหุ่น Sophia ของ Hanson Robotic ที่หน้าตาอาจจะยังไม่ดีมาก แต่ตอบโต้มนุษย์ได้อย่างฉลาดและน่าสนใจ จนหุ่นดังกล่าวอาจสนใจบางสิ่งมากๆ และมีความรู้สึกที่เรียกว่ารักได้ในที่สุด
สุดท้ายแล้ว ในชีวิตจริง เราก็คงไม่สามารถจบลงแบบเรื่องราวของพิกมาเลียน ที่เขาได้รับพรจากเทพีอโฟรไดท์ ทำให้รูปปั้นกาลาเทียกลายเป็นคนขึ้นมาจริงๆ จนทั้งสองคนสามารถแต่งงานและมีลูกได้
แม้ว่าชาว ‘คนรักเสมือน’ สามารถมอบความรักให้กันได้แล้วก็จริง แต่เรื่องการมีทายาทนั้น ยังคงเป็นเรื่องในอนาคต
อ้างอิงข้อมูลจาก
Sankaku Complex *NSFW*