งาน VISUALLEADER จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่ THE HOUSE OF PHOTOGRAPHY HAMBURG (Deichtorhallen) ถือเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญที่รวบรวมผลงานจากวงการสื่อสิ่งพิมพ์และอินเทอร์เน็ตที่น่าสนใจที่สุดในรอบปีของเยอรมันนี จากผลงานกว่า 280 ชิ้น ไล่เรียงมาตั้งแต่งานภาพถ่าย ข่าวหนังสือพิมพ์ ภาพประกอบ นิตยสาร ไปจนถึง campaign โฆษณา
งานนี้ทำให้เรามองเห็นภาพรวมประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำคัญ เทรนด์ของเยอรมัน หรือแม้กระทั่งรายละเอียดทางวัฒนธรรม หลายประเด็นซ้ำเดิม แต่เล่าใหม่ผ่านงานออกแบบความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งในยุคที่อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสนามใหญ่ทั่วโลกแล้ว การฟาดฟันทางงานโฆษณาก็ยิ่งดุเดือดกันเข้าไปใหญ่ และแน่นอนในปีนี้ งานส่วนใหญ่ยังคงขับเคลื่อนไปด้วยเรื่องสงครามและความขัดแย้งในซีเรียและตุรกี รวมถึงชีวิตของผู้อพยพ ที่ล้วนมีใจความอยู่ที่ Inclusive society หรือการสร้างสังคมที่เป็นของทุกคน ทั้งในสังคมระดับใหญ่อย่างเรื่องชาติ ศาสนา เพศ คนพิการ ไปจนถึงสังคมระดับเล็กอย่างประเด็นความรักความอบอุ่นในครอบครัว
สื่อที่น่าสนใจที่อยากมาเล่าคือสื่อโฆษณาสามตัวของเยอรมันนี ที่มีการหยิบจับประเด็นนาซี ความเหงาในวันคริสต์มาส หรือกระทั่งไอเดียเรื่องคนพิการยุคใหม่ มาช่วยทำให้โลกเห็นภาพสะท้อนของประเทศ ทั้งในมุมที่เดาได้และเซอร์ไพรส์อยู่ไม่น้อย
1. #hasshilft – Donate the hate
https://www.youtube.com/watch?v=ykH6peLv1wk
ในวันที่ไทม์ไลน์ของทั้งเราและทั้งโลกมีแต่ Hate speech ถ้าเปลี่ยนเป็นเงินได้ ป่านนี้คงรวยไปแล้ว ความคิดประเภทนี้เคยเกิดขึ้นอยู่แวบนึงในหัว แต่มันก็ดันมีโปรเจกต์จริงๆ ที่แปรตัวอักษรความรู้สึกเหยียดเกลียดชังให้กลายเป็นเงินบริจาค งานนี้เกิดขึ้นโดย Aktion Deutschland Hilft และ EXIT-Deutschland ที่ประกาศตัวว่าเป็นโครงการบริจาคออนไลน์แนวใหม่สุดสร้างสรรค์ ผ่านไอเดียที่ว่า ช่องทางการสื่อสารในเพจข่าวต่างๆ อย่าง Facebook ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับผู้อพยพ มักจะมีคนมาคอมเม้นท์หยาบคายในโพสท์นั้นเสมอ
แทนที่เราจะตอบโต้ด้วยคำพูดหยาบคายไปอย่างไม่จบไม่สิ้น เรามาลองให้ค่าความเกลียดเป็นอย่างอื่นที่ได้ประโยชน์แทนดูไหม ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ว่าหนึ่งคอมเม้นท์ที่จะเหยียดหรือเกลียดเพื่อนร่วมโลก เท่ากับหนึ่งยูโรที่ถูกบริจาคโดยองค์กรหรือบริษัทที่เข้าร่วมโครงการสมทบทุนโปรเจกต์เพื่อสังคมโดยเฉพาะผู้อพยพ เพื่อต่อต้านกลุ่มนาซีชาตินิยมหัวรุนแรง
วิธีการของโครงการคือ เมื่อมีคนรายงานว่าพบเจอคอมเม้นท์เกลียดชัง โครงการก็จะโพสท์ข้อความว่า ขอบคุณที่ช่วยบริจาคเงินและช่วยสนับสนุนเรา : ) ซึ่งเว็บไซต์ของ Hasshilft ก็จะมีการอัพเดตเงินบริจาคปัจจุบันแบบเรียลไทม์เลยทีเดียว แถมยังมีการจัดอันดับ ranking ผู้บริจาคที่ให้เงินเยอะที่สุดด้วย แต่ก็ไม่ได้เขียนชื่อเต็ม เพื่อป้องกันสิทธิส่วนบุคคลน่ะนะ
เราว่าความน่าสนใจของโครงการนี้มันน่าจะอยู่ตรงที่การได้แปรความเกลียดจากคนเหยียดแล้วเปลี่ยนเขาให้กลายมาเป็นผู้ให้เนี่ยแหละ (ถ้าเราไม่ไปล่าแม่มดคนที่เกลียดชังจนกลายเป็นคนเกลียดเองไปซะก่อนนะ)
‘This way, the haters and the trolls are making a donation against their own cause’
พอเราลองไปไล่ดูโปรเจกต์ปีก่อน EXIT-Deutschland ได้ทำโปรเจกต์ Nazis against Nazis เมื่อการเดินขบวนของนีโอนาซีกลายเป็นการบริจาคครั้งยิ่งใหญ่ ในทุกๆ ปีกลุ่มนีโอนาซี หรือผู้ที่สนับสนุนแนวคิดชาตินิยมขวาจัดจะมาเดินขบวนบนถนนในเมือง Wunsiedel (ตามกฎหมายของเยอรมันนี ทุกคนสามารถมีสิทธิแสดงออกผ่านการประท้วง แต่ต้องทำเรื่องขออนุญาตจากทางราชการ) ทางโครงการจึงคิดหาวิธีไม่เห็นด้วยอย่างสันติ แทนที่จะต่อต้านก็กลับสนับสนุนด้วยการเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ที่ได้ประโยชน์ แต่ก็แสบคันไม่เบาทีเดียว ในทุกหนึ่งเมตรที่เหล่าผู้เดินขบวนได้ก้าวเดิน นั่นหมายความว่าเงินจำนวน 10 ยูโร จะเข้าโครงการ EXIT-Deutschland โดยอัตโนมัติ เมื่อถึงปลายทาง ผู้ร่วมเดินขบวนก็ไม่รู้ตัวเลยว่านอกจากที่พวกเขาจะเดินขบวนแล้ว ก็ยังได้ร่วมบริจาคเงิน 10,000 ยูโร เพื่อสนับสนุนการต่อต้านแนวคิดตัวเองอีกด้วย
โปรเจกต์นี้สะท้อนหลายอย่างไม่เพียงแต่เรื่องเจ็บๆ คันๆ แต่มันหมายถึงสิทธิในการเลือกที่จะแสดงออกของชาวเยอรมัน หากพวกเขาจะเชื่อในการทำสิ่งใด พวกเขาก็มีสิทธิแสดงออกอย่างสันติเท่าที่กฎหมายจะอนุญาต ในขณะเดียวกันการต่อต้านใดๆ ก็ควรจะเป็นไปอย่างสันติภายใต้กฎหมายเช่นเดียวกัน
2. Die neue Nähe
เมื่อเทคโนโลยีขยับให้เราใกล้กันมากขึ้น Aktion Mensch องค์กรเพื่อคนพิการของเยอรมันนีมีเป้าหมายในการสร้างสังคมที่เป็นของทุกคน โดยสนับสนุนให้คนพิการได้ใช้ชีวิตอย่างมีอิสระ โฆษณานี้ชวนคนทั่วไปโดยเฉพาะเด็กๆ ได้ใกล้และรู้จักชีวิตในมิติใหม่ของคนที่อยู่ในสังคมเดียวกันขึ้นอีกนิด ผ่านการพัฒนาเครื่องมือและเทคโนโลยีสุดล้ำที่เบื้องต้น พวกเขาไม่เคยรู้จัก ไม่คิดว่ามันจะเป็นประโยชน์ หรือช่วยให้ใครอีกคนมีชีวิตได้ตามที่อยากมี เริ่มจากการที่ผู้กำกับให้เด็กๆ ลองทายว่าสิ่งของที่เขาเห็นตรงหน้ามันมีไว้เพื่ออะไร ไม่มีใครทายถูก จนกระทั่งคนที่ใช้ของเหล่านั้นมาอธิบายให้เด็กๆ ฟัง และร่วมกันใช้และเรียนรู้สิ่งของนั้นด้วยกัน
เราอาจไม่จำเป็นต้องเถียงกันเรื่องนี่ว่า เห้ย มันจัดฉากหรือเปล่า มันโฆษณานะ ไม่จริงหรอก แต่การได้เห็นโมเม้นท์ระหว่างกันของคนสองคนที่เชื่อมด้วยการแลกเปลี่ยนความรู้สึกบางอย่างแบบไม่เรียกน้ำตาจนเกินไปนัก น่าจะช่วยจุดประเด็นที่น่าสนใจ ชวนคุยกันเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีของคนพิการ อย่างบ้านเรา อย่าว่าแต่เรื่องเทคโนโลยีเลย ทัศนคติของคนทั่วไปที่มีต่อคนพิการในพื้นที่สาธารณะเรายังต้องทำงานกันต่ออีกเยอะ โฆษณางานนี้ไม่มีใครเหนือกว่าใคร คนพิการไม่ได้ถูกแปะป้ายให้ดูน่าสงสาร แต่กลับนำเสนอผ่านชีวิตประจำวันทั่วไป เห็นการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการมีชีวิตอย่าง ‘อิสระ’ เบื้องต้นอย่างการเล่นเกมส์ การเต้น หรือแม้แต่การจับมือทักทายกัน
เทคโนโลยีถูกเปลี่ยนหน้าตา ปรับใช้พัฒนาขึ้นแค่ชั่วกระพริบตา แต่สิ่งที่น่าจะเป็นพื้นฐานของการสังคมที่คนอยู่ร่วมกันได้น่าจะเป็นความเข้าใจระหว่างกันเบื้องต้นที่ไม่ได้วัดกันที่จำนวนอวัยวะ
3. #heimkommen
เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ไวรัลที่ร่อนไปทั่วเยอรมันนีเมื่อคริสต์มาสในปีที่ผ่านมา ซูเปอร์มาร์เก็ต รายใหญ่อย่าง EDEKA ปล่อยโฆษณาเรียกน้ำตาให้กับผู้ชมทั่วประเทศ และลามมาถึงบ้านเราด้วยเช่นกัน (ทั้งสถานที่ถ่ายทำบางส่วน รวมถึงหน้าไทม์ไลน์ของใครหลายคน) ว่าด้วยเรื่องเศร้าของเหล่าพ่อแก่แม่เฒ่าเหงาๆ ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสที่ลูกหลานไม่มาเยี่ยม อ้างว่าติดภารกิจ อ้างว่าปีหน้าเจอกัน พ่อแก่ๆ เลยต้องฉลองคริสมาสต์คนเดียวมาหลายปี จนวันหนึ่ง ลูกๆ ได้รับข้อความว่าพ่อเสียชีวิต จึงได้กลับบ้านพร้อมน้ำตาอย่างพร้อมเพรียงกัน แต่ปรากฏ กลายเป็นเรื่องหลอกของพ่อที่อยากให้ลูกได้มาเจอหน้ากัน
“ก็มันจะมีทางไหนอีกล่ะที่พ่อจะได้เจอพวกเอ็งพร้อมหน้าทุกคน?”
สื่อเยอรมันลงความเห็นว่ามันเป็นโฆษณาที่ชวนทำให้นึกถึงครอบครัวได้ซึ้งสุด และอยากจะกลับบ้านไปซะเดี๋ยวนั้น ไวรัลนี้แม้จะประสบความสำเร็จ แต่ยังไงก็ยังมีคนรู้สึกว่ามันบิลด์เกินไป อาจเป็นเพราะจริตของโฆษณาเยอรมันส่วนใหญ่เน้นไปทางแสบๆ คันๆ กวนๆ มากกว่าบทซึ้งเรียกน้ำตา วัฒนธรรมสังคมคนแก่เยอรมันแม้จะมีสวัสดิการอย่างดี มีเงินประกัน รักษาพยาบาล แต่มันก็เท่านั้น ถ้าทางจิตใจไม่มีใครดูแล จึงไม่น่าแปลกใจที่โฆษณานี้จะดังเปรี้ยงเป็นพลุแตก ชวนให้คนเยอรมันคิดถึงบ้าน รอคอยวันเทศกาลจะได้เจอกันพร้อมหน้า ดูๆ ไปใจก็ลอยกลับไปกรุงเทพฯ อยู่เหมือนกัน
ขอแถมโฆษณากวนๆ แสบๆ คันกับ Stereotype เยอรมั้นเยอรมันอีกสักหน่อย กับโฆษณาสายการบินเยอรมัน Lufthansa ที่ปล่อยมาในช่วงบอลยูโร แม้ภาพจำในโฆษณาจะมีความช้ำและซ้ำเล็กน้อย แต่พอดูแล้วก็อดขำไม่ได้ (หิวเบียร์ขึ้นมาทันที)
รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของวิธีคิดคนในชาติ จริงๆ เปิดทีวีดูก็เจอแล้ว (อ่อ เดี๋ยวนี้น่าจะเป็นจอคอม) จริงๆ โฆษณาก็เหมือนทุกสื่อ แล้วแต่ว่าเราจะปั้นมันไปในทิศทางไหน ยิ่งในวันที่พลังของการรับรู้เท่ากับแชร์ เราอาจจะไม่รู้ตัวหรอกว่าพลังนิ้วคลิกของเรากำลังช่วยหรือต้านการหมุนของโลกอยู่