ถ้าพูดถึงอาหารของมาเก๊า คุณนึกถึงอาหารแบบไหน? หากภาพในหัวแวบแรกของคุณเป็นอาหารจีนล่ะก็ ถือว่าถูกต้องนะ แต่นั่นยังไม่ใช่ทั้งหมด
หากลองเสิร์ชหาข้อมูลกูเกิลด้วยคำง่ายๆ ว่า ‘Macao Food’ เพิ่มเติม เราจะเห็นว่ามีอีกหนึ่งสัญชาติที่โผล่ขึ้นมาในผลการค้นหาจำนวนไม่น้อยไปกว่าอาหารจีนเลย และสัญชาติของอาหารนั้นคือ โปรตุเกส
ขอคั่นความสงสัยเรื่องที่มาของอาหารสัญชาติโปรตุเกสบนโต๊ะอาหารคนมาเก๊านี้เอาไว้สักครู่ เราอยากชวนให้ทุกคนมารู้จักมาเก๊ากันอีกสักนิดก่อน
มาเก๊าตั้งอยู่บริเวณทางตอนใต้ของจีน เดินทางด้วยเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาประมาณ 2.40 ชม.เท่านั้น จำนวนประชากรไม่เยอะ มีเพียงหกแสนกว่าคน บนขนาดพื้นที่ 33.3 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเล็กกว่าเกาะภูเก็ตถึง 16 เท่า! แบ่งออกเป็น 3 เกาะหลัก ได้แก่ คาบสมุทรมาเก๊าที่อยู่ใกล้กับจีนแผ่นดินใหญ่ ถัดลงมาเป็นเกาะไทปา และเกาะโคโลอาน ส่วนพื้นที่ที่เชื่อมระหว่างเกาะไทปากับโคโลอานนั้นเกิดขึ้นจากการถมทะเลขึ้นมาใหม่ เรียกว่า โคไท
พอพิจารณาดูจากข้อมูลที่ตั้งแล้วยิ่งน่าแปลกใจว่าทำไมพื้นที่แห่งนี้ ถึงมีอาหารตะวันตกที่อยู่คนละซีกโลกโดดเด่นถึงขั้นเป็นหนึ่งในภาพจำของที่นี่ไปได้นะ แล้วอาหารมาเก๊าที่แท้จริงคืออะไร หน้าตาเป็นแบบไหนกันแน่? วันนี้ The MATTER จะพาไปทำความรู้จักมาเก๊าผ่านอาหารทั้ง 3 สัญชาติ ที่ช่วยบอกเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาและตัวตนของพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
อาหารจีนที่โอหมูน
อย่างที่เรารู้กันว่าจีนเป็นประเทศขนาดใหญ่ มีวัฒนธรรมท้องถิ่นหลากหลาย อาหารเองก็เช่นเดียวกัน เราสามารถแบ่งอาหารจีนได้อย่างกว้างๆ ออกเป็น 4 ประเภท นั่นคือ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เสฉวน และจีนกวางตุ้ง แล้วอาหารจีนที่มาเก๊าส่วนใหญ่เป็นอาหารจีนแบบไหนกันล่ะ? ต้องลองย้อนประวัติศาสตร์กันสักหน่อย
ถ้าเราลองดูบนแผนที่จะเห็นว่าที่ตั้งของมาเก๊าอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของปากแม่น้ำเพิร์ล ซึ่งใกล้กับทางตอนใต้ของเมืองกวางโจว (Guangzhou) มณฑลกวางตุ้ง (Guangdung) เป็นเหตุผลที่ทำให้คนกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาตั้งรกรากเป็นชาวนาจากมณฑลกวางตุ้ง และชาวประมงจากมณฑลฝูเจี้ยน เดิมทีพื้นที่แห่งนี้ถูกเรียกว่า ‘โอหมูน (澳門) หรือ ‘ประตูแห่งการค้าขาย’ เป็นการออกเสียงแบบภาษาจีนกวางตุ้ง ซึ่งคนที่นี่ใช้สื่อสารกันโดยทั่วไป
ถึงตรงนี้ ทุกคนคงเดาคำตอบกันได้แล้วว่า อาหารจีนที่มาเก๊าส่วนใหญ่นั้นเป็น ‘อาหารจีนกวางตุ้ง’ นั่นเอง
อาหารจีนกวางตุ้งเมนูแรก เป็นเมนูที่คนไทยเราคุ้นหู คุ้นตากันดี – ‘ติ่มซำ 點心 (Dim Sum)’ หรือที่คนมาเก๊าเรียกกันว่า ‘หยำฉ่า 飲茶 (Yumcha)’ ซึ่งหมายถึง ร้านน้ำชา เนื่องจากจุดกำเนิดของอาหารชนิดนี้เกิดขึ้นที่ร้านน้ำชา สถานที่ที่นักเดินทาง พ่อค้าและแม่ค้า แวะพักผ่อนระหว่างการเดินทางบนเส้นทางสายไหม ขณะระหว่างที่จิบน้ำชา ทางร้านเองก็จะได้เริ่มเสิร์ฟเมนูอาหารจำพวกห่อเล็กๆ ทานง่าย ให้ทานควบคู่ไปด้วย จนเกิดเป็นธรรมเนียม มาหยำฉา มาจิบชาพร้อมทานติ่มซำนั่นเอง แนะนำว่าหากไม่รู้จะเริ่มสั่งจากอะไรดี ลองเริ่มจากชิมฮะเก๋ากุ้ง, ขนมจีบหมู และเสี่ยวหลงเปาหมู ติ่มซำคลาสสิคที่น่าจะถูกปากได้ไม่ยาก ทั้ง 3 อย่างนี้ก่อนก็ได้นะ
ขอยกตัวอย่างอาหารจีนกวางตุ้งอีกสักเมนู ‘ปลานึ่ง’ ถึงจะฟังดูเบสิค แต่วิธีการทำตามฉบับจีนกวางตุ้งอย่างการราดน้ำมันร้อนๆ ลงบนตัวปลาที่ปรุงสุกแล้วเล็กน้อย ให้ปลามีความกรอบ ก่อนปรุงรสชาติด้วยซีอิ๊วขาวสูตรพิเศษอีกสักหน่อย ถือเป็นรายละเอียดสำคัญที่ทำให้จานอาหารนี้มีเอกลักษณ์ของตัวเองของตัวเองขึ้นมา
สามารถดูเมนูอาหารจีนและจีนกวางตุ้งอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่: macaotourism.gov.mo
หรือตามลายแทงร้านอาหารจีนที่ได้รับรางวัลในมาเก๊าได้ที่: macaotourism.gov.mo
อาหารโปรตุเกส กับจุดเริ่มต้นของชื่อ มาเก๊า
ราวต้นปี ค.ศ. 1550 ชาวโปรตุเกสได้เดินทางมาถึงโอหมูนในบริเวณท่าเรือ ที่มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเทพธิดาผู้คุ้มครองชาวเรือตั้งอยู่ด้านใน ซึ่งคนท้องถิ่นเรียกบริเวณนี้ว่า ‘อาม่าเก๊า (A-Ma Gao)’ เมื่อชาวโปรตุเกสมาถึง จึงได้เอ่ยปากถามชาวประมงท้องถิ่นถึงสถานที่แห่งนี้ ชาวประมงตอบกลับไปว่า ‘อาม่าเก๊า’ ทำให้ชาวโปรตุเกสได้เรียกที่แห่งนี้ด้วยชื่อ ‘อาม่าเก๊า’ ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา ก่อนภายหลังชื่อจะค่อยๆ เพี้ยนไป จนเหลือเพียงแต่คำว่า ‘มาเก๊า’ ที่เราเรียกกันในปัจจุบันนั่นเอง
ชาวโปรตุเกสได้เริ่มเข้ามาอยู่อาศัย สร้างเมือง ชุมชน และปกครองเป็นอาณานิคม ในปี ค.ศ. 1557 โปรตุเกสทำให้มาเก๊ากลายเป็นคลังสินค้า สำหรับการค้าระหว่างจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และยุโรป เกิดเป็นจุดเริ่มต้นของการเจอกันระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออก ก่อนที่โปรตุเกสจะคืนมาเก๊าให้แก่ประเทศจีนในวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1999
นอกจากภาษาโปรตุเกสที่กลายเป็นหนึ่งในภาษาทางราชการ สถานที่ท่องเที่ยว อาคาร ถนนหนทางที่กระจายอยู่ทั่วเมืองแล้ว ‘อาหารโปรตุเกส’ ยังเป็นอีกหนึ่งร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของการถูกปกครองเป็นเวลายาวนานกว่า 400 ปี ที่ยังคงเหลืออยู่ในมาเก๊า
ขอเริ่มแนะนำด้วยเมนูทานเล่นยอดนิยมอย่าง Pastéis de Bacalhau หรือโครเกต์ (Croquette) สัญชาติโปรตุเกสทรงกลมรี มีส่วนผสมหลักเป็นปลาค็อดเค็ม (Bacalhau) (โปรตุเกสเรียกปลาชนิดนี้ว่าบาคาเยา)
อีกหนึ่งเมนูที่อยากนำเสนอด้วยวัตถุดิบหลักเป็นมันฝรั่งและปลาค็อดเค็มเหมือนกัน แต่เพิ่มครีมและชีสเข้ามาช่วยตัดรสเค็มลงให้ทานได้ง่ายมากขึ้น Bacalhau com Natas ด้วยความทานง่ายและหน้าตาอาหารที่ไม่ได้ต่างอะไรกับมันฝรั่งอบชีส เมนูนี้จึงกลายเป็นคอมฟอร์ทฟู้ดของใครหลายๆ คน
หรือหากไม่อยากกินมันฝรั่งเป็นคาร์บหลัก อาหารโปรตุเกสเองก็มีเมนูที่เป็นอาหารประเภทข้าว อย่าง Arroz de Marisco ข้าวต้มทะเลสฉบับโปรตุเกส ที่ปรุงรสชาติได้จากกการต้มมะเขือเทศกับอาหารทะเลหลากหลายชนิด
ปิดท้ายอาหารโปรตุเกสด้วยตัวแทนจากหมู่บ้านขนมหวาน Pastel de Nata ทาร์ตไข่โปรตุเกส เมนูชื่อดัง เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ประกอบด้วยสามวัตถุดิบหลัก ไข่ น้ำตาล และครีม ที่เรามักพบในสูตรขนมของโปรตุเกสหลายๆ ชนิด ถ้าใครนึกไม่ออกว่าสามอย่างนี้เป็นวัตถุดิบหลักของขนมโปรตุเกสได้อย่างไร
ลองนึกถึงขนมตระกูลทองของไทยที่ได้รับอิทธิพลจากชาวโปรตุเกสมาเหมือนกัน อย่างฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด ดูก็ได้ จุดเด่นของทาร์ตไข่โปรตุเกสคือแป้งที่เคลือบกันเป็นชั้นๆ และผิวด้านบนของไส้ที่มีรอยเกรียมของคาราเมลเป็นจุดๆ รสชาติหวาน หอมเนย เหมาะกับทานพร้อมจิบกาแฟหรือชาไปด้วย
สามารถดูเมนูอาหารโปรตุเกสอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่: macaotourism.gov.mo
หรือตามลายแทงร้านอาหารโปรตุเกสที่ได้รับรางวัลในมาเก๊าได้ที่: macaotourism.gov.mo
อาหารแมกานีส เมื่อ East meet West
ถึงโปรตุเกสจะคืนมาเก๊าให้กับทางจีนไปเป็นระยะเวลามากกว่า 20 ปีแล้ว แต่ด้วยระยะเวลาที่โปรตุเกสเข้ามาปกครองนั้นยาวนานถึง 442 ปี จึงไม่แปลกที่วัฒนธรรมของโปรตุเกสจะฝังรากลงบนพื้นที่แห่งนี้ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในภาพจำส่วนหนึ่งของมาเก๊า ควบคู่ไปกับวัฒนธรรมจีนที่มีอยู่มาแต่เดิม
ดูได้จากรายชื่อใน ศูนย์กลางประวัติศาสตร์แห่งมาเก๊า ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 2005 ยังเต็มไปด้วยสถานที่ จตุรัส และย่านประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทั้งสองวัฒนธรรมนี้ คิดภาพตามได้ง่ายๆ ว่าเราสามารถเดินไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดอาม่า เดินต่อไปดูบ้านแมนดาริน บ้านจีนโบราณของนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ เดินถัดไปเจอโรงละครดอม เปโร วี โรงละครแบบตะวันตกแห่งแรกในจีน ฮึดเดินต่ออีกสักหน่อยผ่านจตุรัสเซนาโด เพื่อตรงไปเจอซากประตูโบสถ์เซนต์ปอล์ สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังได้ ในระยะทางเพียง 2 กิโลเมตร
ไม่ใช่แค่สถาปัตยกรรมเท่านั้นฉายภาพชัดถึงการผสมผสานของสองวัฒนธรรม การเกิดขึ้นใหม่ของอาหารที่ชื่อว่า ‘แมกานีส’ ยังเป็นหลักฐานชิ้นดีที่สะท้อนการอยู่ร่วมกันของความเป็นตะวันตกอย่างโปรตุเกส และตะวันออกแบบจีน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นตัวเอง โดดเด่นจนทำให้มาเก๊าได้รับการยกย่องจาก UNESCO ว่าเป็นเมือง วิทยาการสร้างสรรค์ด้านอาหารโลก หรือ Creative City of Gastronomy ในปี ค.ศ. 2017 อีกด้วย
อาหารแมกานีส ไม่เพียงแต่นอกจากจะเป็นการผสมผสานกันระหว่างอาหารจีนและโปรตุเกสเท่านั้นแล้ว อีกหนึ่งจุดเด่นที่ทำให้แตกต่างออกไปคือ วัตถุดิบ เครื่องเทศที่ใช้ประกอบอาหาร ซึ่งได้มาจากการล่องเรือค้าขาย ทำให้มีที่มาจากหลากหลายแหล่ง ทั้งยุโรป อเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูแรกที่เราอยากแนะนำให้ทุกคนรู้จักคือ Tacho หรือ Chau-Chau Pele ซึ่งดัดแปลงมาจากเมนูอาหารโปรตุเกสที่ชื่อว่า Cozido เป็นสตูว์ที่นิยมทำรับประทานในฤดูหนาวหรือช่วงเทศกาล โดยรวมเอาเนื้อหลายส่วนของหมูทั้ง ขา หนัง และเนื้อ รวมกับเนื้อไก่ และไส้กรอกจีน ต้มกับกะหล่ำปลี เสิร์ฟหม้อใหญ่แบบที่แบ่งกันกินได้ทั้งครอบครัว
อีกหนึ่งมื้ออาหารสำหรับครอบครัวที่มีรูปร่างหน้าตาเป็นเอกลักษณ์อย่าง Capela มีตโลฟที่ทำมาจากเนื้อ หมูสับ ไส้กรอกโชริโซ (chorizo) ขนมปัง และมะกอก ปั้นเป็นรูปทรงกลมมีรูตรงกลางเหมือนโดนัท พันด้วยเบคอนโดยรอบก่อนนำไปอบ ด้วยรูปทรงที่ออกมาคล้ายกับยอดโดมของโบสถ์นี่เอง ทำให้บางคนมองว่าเป็นที่มาของชื่อ Capela ซึ่งแปลว่าโบสถ์ในภาษาโปรตุเกสนั่นเอง
หากจะบอกว่าอาหารแมกานีสเป็นภาพแทนของความเป็นมาเก๊าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็ไม่ผิด ด้วยกลิ่นอายของหน้าตาอาหารนั้นชี้ชัดแล้วว่าพื้นที่แห่งนี้มีความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับโปรตุเกส แต่ก็ยังสามารถคงความไม่ละทิ้งเป็นจีนไว้ด้วยการทดแทนปรับเปลี่ยนวัตถุดิบบางอย่างทดแทนด้วยของท้องถิ่น ไม่เพียงเท่านั้นกระทั่งตัวตนความเป็นเมืองท่า ก็สะท้อนผ่านเครื่องเทศในอาหารที่ได้มาจากหลากหลายแหล่งทั่วโลกสมกับที่เป็นประตูแห่งการค้าขาย พื้นที่ที่วัฒนธรรมทั้งทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกมาบรรจบกันได้ดีจริงๆ
สามารถดูเมนูอาหารแมกานีสอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่: macaotourism.gov.mo
หรือตามลายแทงร้านอาหารแมกานีสที่ได้รับรางวัลในมาเก๊าได้ที่: macaotourism.gov.mo
วัฒนธรรมที่เลื่อนไหลได้ฝังรากลึกลงในวิถีชีวิตผู้คนไป สะท้อนไว้บนจานอาหาร การอยู่ร่วมกันของอาหารทั้ง 3 สัญชาติในมาเก๊า ได้บอกเล่าถึงการรักษาประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมดั้งเดิมของตนที่มีอยู่ แลกเปลี่ยนกับวัฒนธรรมใหม่ที่เข้ามา จนท้ายที่สุดทั้งหมดทั้งมวลนี้คือตัวแทนและภาพจำที่หลอมรวมกันกลายเป็นหนึ่งวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมา ไม่อาจแยกจากกันได้อีกต่อไป
ตราบใดที่ผู้คนยังไม่หยุดเดินทางและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ความเลื่อนไหลและการเกิดใหม่ทางวัฒนธรรมก็ไม่มีวันสิ้นสุดอย่างแน่นอน
หลังจากนี้หากใครได้มีโอกาสได้ไปเที่ยวที่มาเก๊า ก็อย่าลืมลองเรียนรู้วัฒนธรรมแบบง่ายๆ ผ่านการชิมอาหารทั้ง 3 สัญชาติกันดูนะ รับรองว่าสนุก และอร่อยถูกปากอย่างแน่นอน
อ้างอิงจาก
macaulifestyle.commavenofmacau.com
และขอขอบคุณ การท่องเที่ยวมาเก๊าประจำประเทศไทย