“ถ้าเราหยุดอยู่ที่เดิม เราจะไม่มีทางไปต่อในทางของเราได้”
อาจเป็นประโยคเท่ๆ ชวนหมั่นไส้ ของชายที่เป็นมาแล้วทั้งนักเขียน นักแสดง นักพัฒนาสังคม นายแบบโฆษณา วีเจรายการเพลง นักดนตรี พิธีกรรายการโทรทัศน์ อย่าง วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล และแม้จะรู้ตัวดีอยู่แล้วว่าคงมีคนหมั่นไส้อยู่บ้าง แต่ในวัย 32 ปี ถึงตอนนี้ เขาคงทำแค่ยักไหล่ บอกว่าไม่เป็นไร และพร้อมจะพิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง ด้วยการกลับไปทำรายการสารคดีที่ครั้งนี้เขาตัดสินใจลุยเดี่ยว ไปคนเดียว ถ่ายคนเดียว ถือกล้องคู่ใจอย่าง Sony a7R II เปลี่ยนจากคนที่เคยอยู่หน้ากล้อง มาเป็นคนที่จับจ้องภาพต่างๆ ผ่าน View finder เพื่อบุกไปยัง ‘สถานที่ที่คนอยากรู้ แต่ไม่กล้าไปเอง’ เช่น บุกไปดูเบื้องหลังหนังเอวี ไปประเทศเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างเกาหลีเหนือ หรือสมรภูมิสงครามอย่างอัฟกานิสถาน เพื่อ ‘ถ่ายความจริงมาให้ผู้คนสัมผัส’ ในรายการสารคดีที่มีชื่อว่า ‘เถื่อนtravel‘ ซึ่งจะออนแอร์เทปแรกในวันเสาร์ที่ 4 มีนาคมนี้ เวลา 22.35 น. ทางช่อง GMM25
“กระบวนการความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของผมคือ การได้เล่าเรื่องที่เข้าถึงยาก และมีคุณค่ามากขึ้นเรื่อยๆ”
และนี่คืออีกหนึ่งก้าวแบบ ‘เถื่อนๆ’ ของชายที่มีชื่อว่า วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล
ที่มาที่ไปของรายการ ‘เถื่อน travel’ คืออะไร
เนื่องจากเราทำรายการเดินทางมาหลายปีแล้ว หลายคนจะรู้จักรายการ ‘พื้นที่ชีวิต’ ทาง Thai PBS ทีนี้มันไม่มีโอกาสทำต่อ เราเลยพยายามหาลู่ทางใหม่ เพื่อทำสารคดีต่อไป เพราะเราชอบงานด้านนี้มาก บวกกับตอนที่เดินทางในตอนทำพื้นที่ชีวิต ประเทศที่เรามักติดใจเสมอและอยู่ในใจชัดๆ คือประเทศที่มีความขัดแย้ง มีความรุนแรง และเข่นฆ่าในระดับมหภาค ซึ่งพอเราไป มันเกิดคำถามเยอะมากว่า ทำไมถึงเกิดเรื่องราวเหล่านี้ มันดูห่างไกลจากโลกที่เราอยู่เหลือเกิน ทั้งที่นี่คือโลกเดียวกัน และมันก็เกิดซ้ำๆ ตลอดประวัติศาสตร์—เหตุผลมาจากสองเรื่องนี้รวมกัน เราเลยคิดว่า เฮ้ย งั้นเรามาลองทำรายการที่โฟกัสไปยังพื้นที่เหล่านี้โดยเฉพาะดีกว่า เลยกลายเป็นคอนเซ็ปรายการกว้างๆ ที่เอาไว้ขายว่า ‘สถานที่ที่คนอยากรู้ แต่ไม่กล้าไปเอง’
ทำไมถึงตั้งชื่อรายการว่า ‘เถื่อน travel’ เพราะพอเอาคำว่า ‘เถื่อน’ ไปจับกับประเทศอื่น มันเหมือนกับว่า คุณกำลังทรีตว่าสถานที่ที่คุณไปมัน ‘เถื่อน’ อยู่—แบบนี้มันจะกลายเป็นการเหยียดหรือเปล่า
เราไม่ได้ตั้งใจจะไปว่าอะไรเขา เพราะในเนื้อหารายการ เราก็พยายามอธิบายหรือละลายอคติต่างๆ ที่คนคิดต่อประเทศนั้นๆ มากพอสมควร แต่ในแง่ของชื่อรายการ มันควรจะชัด และเข้าใจง่าย จากการอ่านชื่อรายการแค่ครั้งเดียวว่า มันเกี่ยวกับอะไร ผมยกตัวอย่างชื่อรายการที่ดีที่สุดที่เคยได้ยินคือ ‘เทยเที่ยวไทย’ เพราะมันชัดเจนมาก ไม่ต้องอธิบายต่อเลยอารมณ์ของรายการมาครบ ซึ่งผมคิดว่า เถื่อน travel มันค่อนข้างชัดว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่—จุดประสงค์เพื่อสื่อสารมากกว่า ให้ฟังติดหู และเข้าใจได้เลย ส่วนเรื่องเซนซิทีฟ เช่น เรากำลังว่าเขาหรือเปล่า ในเนื้อหารายการเราก็จะคิดถึงเรื่องนั้นค่อนข้างเยอะ ไม่ได้โปรโมตว่าแต่ละที่เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน แต่เราอยากให้เข้าใจสถานการณ์ของเขามากกว่า
“เราอยากพัฒนาตัวเองต่อ อย่างบางอย่างที่ไม่เคยทำ เราจะฝึกทำดูได้ไหม เช่น การประสานงาน หรือการถ่ายภาพ บวกกับยุคนี้มันมีอุปกรณ์ที่เหมาะกับการถ่ายทำคนเดียวอยู่เยอะ โดยเฉพาะพวกกล้องเล็กๆ ทั้งหลาย ซึ่งช่วยในการทำงานได้มาก”
ตอนทำรายการมีความกลัวไหม อะไรเป็นตัวผลักดันให้กล้าไปประเทศที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตค่อนข้างมาก
ความอยากรู้อยากเห็นครับ เป็นความสงสัยที่อยู่ในใจมานาน คือคนเราจะวัดความก้าวหน้าในอาชีพการงานของตัวเองต่างกันไป บางคนวัดเงินเดือน บางคนวัดชื่อเสียง แต่สำหรับเรา เมื่อถึงจุดหนึ่ง หลังจากทำงานสารคดีมาหลายปี ผมรู้สึกว่ากระบวนการความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของผมคือ การได้เล่าเรื่องที่เข้าถึงยาก และมีคุณค่ามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผมรู้สึกว่าพร้อมจะเล่าเรื่องแบบนี้แล้ว เพราะความสงสัยใคร่รู้เพิ่มมากขึ้นจนถึงจุดพีคแล้ว ถ้าถามว่ากลัวไหม อันตรายไหม แน่นอนอยู่แล้วว่าเราก็กลัวตายเหมือนกัน แต่มันเป็นวิถีชีวิตของเราไปแล้วกับการพยายามสรรหาเรื่องเหล่านี้มาเล่าให้คนอื่นรับฟัง เป็นแพสชั่น และเป็นหน้าที่การงานด้วย ถ้าเราหยุดอยู่ที่เดิม เราก็จะไม่มีทางไปต่อในทางของเราได้ แล้วระดับโลก เขาก็มี war journalist มากมายที่ทำเรื่องสงคราม อยู่กลางดงกระสุน และยังมีชีวิตรอด พอไปดูเรื่องราวของคนพวกนั้น มันก็เป็นแรงบันดาลใจว่า เออ เราก็พอทำได้ว่ะ ถึงแม้จะไม่โหดแบบเขาก็ตาม
ทำไมถึงเลือกไปคนเดียว ถ่ายคนเดียว
หนึ่ง—คือเรื่องต้นทุน ถ้าเอาคนไปสองสามคนต้นทุนมันจะบานปลายไปสองสามเท่า และปัจจัยหลักจริงๆ คือพื้นที่เหล่านี้ ถ้าเราพาใครไป เราอาจรับผิดชอบไม่ไหว เพราะเราไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรกับเขาบ้าง
สอง—เราทำงานมานาน ได้เรียนรู้หลายๆ อย่าง และเราอยากพัฒนาตัวเองต่อ อย่างบางอย่างที่ไม่เคยทำ เราจะฝึกทำดูได้ไหม เช่น การประสานงาน หรือการถ่ายภาพ บวกกับยุคนี้มีอุปกรณ์ที่เหมาะกับการถ่ายทำคนเดียวอยู่เยอะ โดยเฉพาะพวกกล้องเล็กๆ ทั้งหลาย ซึ่งช่วยในการทำงานได้มาก อย่างกล้องที่ผมเลือกใช้คือ Sony a7R II ซึ่งน่าจะเป็นกล้องที่ดีที่สุดเท่าที่เคยใช้มา ผมใช้ทำงานวิดีโอเป็นหลัก ภาพ 4k (Ultra High Definition—ที่ให้ภาพความละเอียดสูง) นิ้งและสวยมากๆ แล้วเท่าที่ถ่ายมา มีทุกสถานการณ์ ทั้งทะเลทรายที่ฝุ่นตลบ อุณหภูมิลบ 20 องศา อากาศร้อนจัด หรือฝนชื้นๆ ก็ยังถ่ายได้ตลอด ทนไม้ทนมือมาก ส่วนเลนส์ที่ใช้หลักๆ จะมีสองตัวคือ G-Master FE 24-70mm F2.8 GM ซึ่งใช้เป็นเลนส์หลัก มันเป็นระยะปกติที่ใช้ซูมเข้าซูมออกได้ มีความคม อีกเลนส์คือ ZEISS Planar T* FE 50mm F1.4 ZA ใช้ในกรณีต้องถ่ายภาพกลางคืน เพราะมันรับแสงได้เยอะ หรือถ่ายภาพ insert สวยๆ ที่เป็นภาพบุคคลแบบหน้าชัดหลังเบลอ ทั้งหมดนี้ผมยัดใส่เป้ใบเดียว ทำงานได้ด้วยเป้ใบเดียวมาตลอด
เมื่อเปลี่ยนจากบทบาทของคนยืนอยู่หน้ากล้อง มาเป็นคนมองผ่าน View finder มุมมองต่อเรื่องต่างๆ แตกต่างไปไหม
ในการทำงานก็เรียกว่าหนักขึ้นเยอะ อย่างเป็นพิธีกรเมื่อก่อนเราจะมีเวลาเยอะหน่อย เดินเล่นลั่นล้าได้ แต่ตอนนี้เราต้องมองรอบตัวตลอดเวลาว่าอะไรเป็นคอนเทนต์ได้บ้าง ต้องพกกล้องติดตัวไว้ และต้องอยู่ในตำแหน่งที่หยิบจับง่าย อัดแน่นด้วยการพยายามมองหาคอนเทนต์ตลอดเวลา ซึ่งพอฝึกไปเรื่อยๆ เราจะเริ่มมองออกว่าสถานการณ์เบื้องหน้าอะไรบ้างจะเปลี่ยนเป็นคอนเทนต์ได้ ต้องคอยมองดูว่าความเป็นจริงแต่ละก้อนสามารถโดนหั่นให้เป็นเนื้อเรื่องในรายการได้อย่างไร อีกมุมในด้านพิธีกรก็ต้องอัพตัวเองตลอด อย่างเวลาที่อยู่คนเดียว มันจะเหนื่อยมากที่ต้องบิวด์ตัวเองกับกล้อง และต้องทำให้คนดูสนุกให้ได้ ต้องอาศัยความไม่เขินประมาณหนึ่ง และต้องฝึกร่างกายให้แข็งแรง เพื่อจะทำทุกอย่างได้ไหว
“ความเป็นมนุษย์มันอยู่ในคนทุกคนบนโลกนี้อยู่แล้ว ผมเลยอยากนำเสนอความเชื่อมโยงระหว่างมนุษยชาติผ่านทางสื่อของผม อยากให้คนเข้าใจคนที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยเข้าใจ”
สิ่งที่มองหาเวลาถ่ายภาพคืออะไร
ผมเรียกว่า human story เป็นเรื่องของความเป็นมนุษย์ในแต่ละพื้นที่ ที่สะท้อนบางอย่าง และเปลี่ยนความคิดหรือทำให้คนดูเข้าใจได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งความเป็นมนุษย์มันอยู่ในคนทุกคนบนโลกนี้อยู่แล้ว ผมเลยอยากนำเสนอความเชื่อมโยงระหว่างมนุษยชาติผ่านทางสื่อของผม อยากให้คนเข้าใจคนที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยเข้าใจ เช่น ผู้ก่อการร้าย หรือทหารในเกาหลีเหนือ หรือดาราเอวี—และคำว่าเข้าใจ หลายคนอาจคิดว่าคือสนับสนุนหรือเห็นด้วย แต่ผมพยายามมองว่าความเข้าใจก็คือการเข้าใจที่มาที่ไปของหลายๆ อย่าง เช่น ที่มาของปัญหาถ้าเราจะมองมันเป็นปัญหา ผมคิดว่าการนั่งวิพากษ์วิจารณ์แล้วด่าไปเลยไม่ใช่วิสัยที่ผมอยากทำผ่านสื่อของผมเท่าไหร่ ผมอยากทำงานที่คนดูแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย ด้านนี้ไม่เคยเห็น หรือ อ่อ มันเป็นแบบนี้นี่เอง เพราะผมเองก็รู้สึกได้เรียนรู้เยอะมากระหว่างถ่ายทำรายการนี้
เรียนรู้อะไรบ้าง
นอกจากเรื่องการถ่ายภาพ ก็จะเป็นสกิลการเอาตัวรอด เช่น จากทะเลทราย หรือในอัฟกานิสถาน เส้นทางที่เรากำลังจะไปก็เกิดระเบิด บางที่ก็มีการลักพาตัว เจอทั้งเรื่องการเมือง เจ้าหน้าที่ที่นั่นไม่ยอมให้ถ่าย ก็ต้องแก้สถานการณ์กันไป นั่นคือเรื่องของการทำงาน แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้เยอะที่สุดคือการได้เรียนรู้และเข้าใจในสิ่งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยเข้าใจ ซึ่งบางอย่างมันต้องเอาตัวเองไปสัมผัส ไปพูดคุยกับผู้คนจริงๆ ถึงจะเข้าใจว่า อ่อ เขาคิดแบบนี้ นี่คือที่มาที่ไปของสิ่งนี้ที่เราได้ยินมาตลอดทั้งชีวิต เช่น เกาหลีเหนือที่เรารับรู้จากสื่อเกี่ยวกับระบบการเมือง แต่จริงๆ นอกจากระบบการเมืองซึ่งก็เป็นส่วนใหญ่แหละ เขายังวิถีชีวิตอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับระบบการเมืองด้วย และเราไม่เคยเข้าใจ ไม่เคยรู้เรื่องเลย เพราะเราไม่เคยคุยกับคนเกาหลีเหนือจริงๆ ว่าเขาคิดอย่างไร เขาใช้ชีวิตแบบไหน
คุณเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องมุมมองที่บางคนเรียกว่า ‘โลกสวย’ ในตอนที่ไปเกาหลีเหนือแล้วเอามาถ่ายทอดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว สำหรับรายการ ‘เถื่อน travel’ คุณระมัดระวังกับมุมมองของตัวเองมากน้อยแค่ไหน
ระมัดระวัดมากขึ้นครับ ตอนนี้มุมมองของเราคือการพยายามนำเสนอด้านที่คนไม่เคยเห็น และอธิบายให้เข้าใจที่มาที่ไป แน่นอนว่า เวลาพูดถึงเกาหลีเหนือจะมีคนที่จะต้องวิพากษ์วิจารณ์และด่าเกาหลีเหนือเสมอ แต่เราจะรู้สึกว่ามานั่งวิพากษ์วิจารณ์ไป เราไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้น่ะ เราเลยแค่อยากพูดในมุมที่น่าสนใจว่า เขาคิดประมาณนี้นะ แล้วเราเคยเข้าใจเขาหรือเปล่า เข้าใจในที่นี้ต้องย้ำอีกครั้งว่าไม่ใช่การสนับสนุนนะครับ แต่แน่นอนว่า ที่ผมโพสไปตอนนั้น ผมยอมรับผิดว่าผมใช้ภาษาไม่รัดกุมจริงๆ มันเซฟกว่านี้ได้ด้วยการใส่ประโยค เช่น “ปล. ผมเข้าใจดีว่าผมได้เห็นแค่สิ่งที่เขาอยากให้เห็น แต่ขณะเดียวกันสิ่งที่เขาโชว์มามันก็มีบางอย่างที่น่าสนใจ” คือใส่อะไรพวกนี้เข้าไปเพื่อกันคนมาดราม่า แต่จริงๆ มันเหนื่อยนะ เพราะบางทีเราแค่อยากเล่าเรื่อง เหมือนเล่าให้เพื่อนฟังในวงเหล้า แต่แน่นอนว่า พอออนไลน์ออกไป ก็จะถูกวิเคราะห์ทุกประโยค ชำแหละทุกคำ แถมมีคนสรุปความคิดแทนด้วยว่า อ่อ อันนี้แปลว่าอย่างนี้ใช่ไหม อันนั้นโดนยัดเงินมาหรือเปล่า ซึ่งบางทีก็เหนื่อย แต่เราคิดว่า ช่างเถอะ มันเป็นธรรมชาติในการทำงานของเรา ยังไงเราก็จะโดนอยู่แล้ว แค่ต้องรับให้ได้
“คำว่าเข้าใจ หลายคนอาจคิดว่าคือสนับสนุนหรือเห็นด้วย แต่ผมพยายามมองว่าความเข้าใจก็คือการเข้าใจที่มาที่ไปของหลายๆ อย่าง เช่น ที่มาของปัญหา ถ้าเราจะมองมันเป็นปัญหา ผมคิดว่าการนั่งวิพากษ์วิจารณ์แล้วด่าไปเลยไม่ใช่วิสัยที่ผมอยากทำผ่านสื่อของผมเท่าไหร่”
พอพูดถึงการทำ ‘สารคดี’ เรามักคิดถึงคำว่า ‘ความจริง’ แล้วความจริงสำหรับคุณคืออะไร
ความจริงมันไม่มีอะไรตายตัวน่ะครับ คือไม่มีสื่อไหนที่จะนำเสนอโดยไม่ผ่านมุมมองของบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำได้คือ พยายามเล่าสิ่งที่ใกล้ความจริงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น การนำเสนอความคิดเห็นอย่างไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่ง หรือการพยายามคุยกับคนให้เยอะที่สุดในหัวข้อเดียวกัน ศึกษาเพิ่มเติมนอกจากสิ่งที่ได้พบเจอในพื้นที่ เพื่อความครอบคลุม แต่มันก็ต้องนำเสนอควบคู่กันไประหว่างข้อมูลและประสบการณ์จริง ซึ่งประสบการณ์จริงคือสิ่งที่เราได้เจอ แต่คนอื่นที่ไปในที่เดียวกันอาจจะไม่ได้เจอก็ได้ เพราะเราไม่มีทางเจอในสิ่งเดียวกับที่คนอื่นเจอ เราพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่ยังไงมันก็ไม่ใช่ความเป็นจริงร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว
ประสบการณ์ที่พิลึกพิลั่นที่สุดเท่าที่เคยเดินทางมาคืออะไร
จริงๆ เล่าได้ไม่รู้จบเลยนะครับ เพราะไปแต่ละที่ก็เจออะไรประหลาดต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ—เอาสิ่งที่เหนื่อยที่สุดเท่าที่เคยทำแล้วกัน เมื่อเดือนที่แล้วผมเพิ่งไปปีนยอดเขาคิลิมันจาโร เป็นยอดเขาที่สูงสุดในทวีปแอฟริกา อยู่ในประเทศแทนซาเนีย เดินขึ้น 40 กิโลฯ ลงอีก 20 กิโลฯ ใช้เวลาประมาณ 6 วันกว่าจะถึงยอด ซึ่งเหนื่อยมาก วันที่เหนื่อยที่สุดคือวันขึ้นยอด เราออกจากเต้นท์เพื่อขึ้นไปบนยอดให้ทันพระอาทิตย์ขึ้น ปรากฏว่าในระยะทางแค่ 5 กิโลฯ เนี่ย มันเป็นระยะทางที่ชันมาก ไต่จาก 4,600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลไป 5,800 ใช้เวลาตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึงแปดโมงครึ่ง และระหว่างเดินอุณหภูมิลบ 20 องศา หยุดเดินไม่ได้ เพราะจะขาดความอบอุ่น กินน้ำก็ไม่ได้ เพราะน้ำในกระติกกลายเป็นน้ำแข็ง คือโหดจริงๆ เดินไปไม่ถึงยอดสักที มองปลายทางไม่เห็น ตอนนั้นงอแงอยากกลับบ้านมาก แต่ก็ดันทุรังขึ้นไปถึงยอดจนได้ ซึ่งกลายเป็นที่ที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งเท่าที่เคยได้เห็น ได้เดินเล่นอยู่เหนือเกลียวเมฆเป็นครั้งแรก
ทำไมเราถึงต้องดูรายการ ‘เถื่อน travel’
เอาจริงๆ คุณไม่อยากรู้เหรอครับว่าเบื้องหลังของวงการเอวีเป็นยังไง ยากูซ่าเขาคิดอะไร คนเกาหลีเหนือกินข้าวยังไง ช้อปปิ้งกันที่ไหน คนในอัฟกานิสถานเขาอยู่กับสงครามยังไง ตาลีบันตัวจริงคิดอะไรบ้าง ผมคิดว่าถ้าถามผมแบบนี้ ผมโคตรอยากรู้เลยนะ เพราะมันมีอะไรในโลกกว้างใหญ่ใบนี้ที่เราเคยได้ยินมาแค่ด้านหนึ่ง แต่เราไม่เคยเข้าใจด้านที่ลึกกว่านั้นเลย ผมเองโชคดีที่ได้ทำตรงนี้ ได้เห็นได้ยินอะไรมาเยอะ เลยอยากนำเสนอให้ทุกคนได้ดูมากๆ แต่พูดตรงๆ ตอนทำ เราแทบจะไม่ได้คิดถึงคนดูเท่ากับคิดว่าเราอยากรู้อะไรนะ และเราก็สนุกกับมันมากๆ คือถ้ามีคนดูผมก็ดีใจนะครับ แต่ถ้าเกิดไม่มีใครดูเลย ผมก็คิดว่าผมได้กำไรไปเรียบร้อยแล้ว เพราะผมมีความสุขมากตอนทำงาน (หัวเราะ)
คุณเพิ่งเขียนสเตตัสว่าอยากลองจัดทัวร์ดู ถ้าได้จัดจริง ทัวร์สไตล์วรรณสิงห์จะเป็นแบบไหน
อย่าเรียกว่าจัดทัวร์เลย เรียกว่ารับสมัครเพื่อนร่วมทางดีกว่า เพราะถ้าให้ผมไปดูแลทุกคนผมคงทำไม่เป็น—ก็คือรับสมัครเพื่อนร่วมทาง แต่ต้องรู้ก่อนว่ามันลำบากนะ ส่วนหนึ่งคุณต้องดูแลตัวเอง เราอาจจะต้องขอสัมภาษณ์ลูกทัวร์ก่อนด้วยซ้ำ และจะรับไม่มาก ประมาณสิบคนพอ แล้วเราก็คงต้องหาที่มันๆ อาจต้องเป็นที่ที่ผมเคยไปมาแล้ว ผมจะได้นำทางได้ อาจเป็นทะเลทรายแถวแอฟริกา เพราะผมชอบแถวนั้นมาก อยากกลับไปซ้ำอีก
ถ้าได้จัดทัวร์ให้ข้าราชการไทยที่ชอบไปดูงานต่างประเทศกันเหลือเกิน จะพาพวกเขาไปที่ไหน และอยากให้ลองสัมผัสอะไร
(หัวเราะ) ผมคงปวดหัวตายอะครับ เพราะผมคงต้องส่งเอกสารโปรแกรมทัวร์ก่อนล่วงหน้าหนึ่งเดือน ให้ผู้ใหญ่แก้กลับมา กว่าจะประทับตรา หลังจากนั้นก็ต้องเชิญผู้ใหญ่ของฝั่งเมืองนอกมานั่งจับมือกับผู้ใหญ่ของฝั่งไทย แล้วถ่ายรูป ตัดริบบิ้น หรือกินข้าวด้วยกันสักมื้อ—สรุปผมไม่เอาดีกว่า (หัวเราะ)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ วรรณสิงห์ และรายการเถื่อนTravel ได้ที่ fb: wannasingh
Sony a7R II—Key Features
a.เซ็นเซอร์ Back illuminated Exmor R CMOS ขนาด Full-Frame (35 mm)
b.ความละเอียด 42 ล้านพิกเซล ระบบประมวลผลภาพ BIONZ X
c.ช่วง ISO กว้างตั้งแต่ ISO 50 ถึง ISO 102400
d.Fast Hybrid AF พร้อมความครอบคลุม AF ตรวจจับระยะห่างของระนาบโฟกัส 399 จุด
e.การป้องกันภาพสั่นไหวแบบ 5 แกนสำหรับภาพนิ่งและภาพยนตร์