ปัญหาน้ำเสียในแม่น้ำลำคลองดูจะเป็นปัญหาเรื้อรังในกรุงเทพฯ แต่กระนั้นก็ยังเป็นเรื่องที่สังคมละเลยและเราก็ทำได้แค่ร้องอี๋ เวลานั่งเรือแล้วน้ำกระเด็นใส่
โครงการสร้างสรรค์ศิลปะและสื่อใหม่เพื่อเชื่อมโยงชุมชนและสื่อสารประเด็นทางสังคมจากสหรัฐฯ American Arts Incubator ด้วยความร่วมมือของสถานทูตสหรัฐและหอศิลป์ กรุงเทพฯ จึงจัดเวิร์กช้อปให้ผู้ที่สนใจลงศึกษาพื้นที่ ‘ชุมชนคลองลาดพร้าว’ เพื่อเก็บข้อมูลแล้วนำมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะผสมผสานสื่อต่างๆ เพื่อเชิญชวนให้สังคมหันมาตระหนักถึงปัญหา
นิทรรศการดังกล่าวประกอบด้วยงานทั้งหมด 5 ผลงานจากสี่ทีมและหนึ่งศิลปินผู้นำเวิร์กช้อป แปลงร่างข้อมูลสถิติทั้งหลายให้กลายเป็นงานศิลปะน่าสนใจ ทั้งค่า Ph ที่กลายเป็นสีสันสวยงามไล่อยู่บนแผ่นอะคริลิก เครื่องตรวจวัดความสะอาดของน้ำตราเสื้อยืด กระบอกเสียงสะท้อนความรู้สึกของชาวบ้านริมคลองลาดพร้าวที่ต้องย้ายบ้านเพราะโครงการปรับปรุงคลองโดยภาครัฐ และรอยวงกลมเล็กบ้างใหญ่บ้างตามขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางท่อระบายน้ำ เชิญชวนให้เราเอามือสัมผัสให้รอยเหล่านั้นจางไปเหมือนกับการแก้ปัญหาน้ำเสียที่อยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมกันคนละนิด
Young Matter ได้ไปคุยกับ Scott Kildall ศิลปินแนวสื่อผสมและสื่อใหม่จากสหรัฐฯ ที่นำทีมผู้เข้าร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะซึ่งจัดแสดงให้รับชมกันตั้งแต่วันที่ 22-30 มิถุนายน ณ โถงชั้น 5 หอศิลป์กรุงเทพฯ เกี่ยวกับที่มาและความประทับใจในโครงการ
The Matter: ทำไมถึงเลือกมาทำประเด็นเรื่องน้ำที่ประเทศไทย
Scott : ก่อนหน้านี้ผมก็เคยทำงานเกี่ยวกับเรื่องน้ำที่นิวเม็กซิโก น้ำเป็นเรื่องสำคัญเพราะมันส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลก เราทุกคนต้องใช้น้ำดำรงชีวิต กินดื่ม แปรงฟัน อาบน้ำ บางทีใช้เดินทาง มันเป็นระบบที่เชื่อมโยงแง่มุมต่างๆ ในสังคมเข้าหากัน พอมาทำโครงการ American Arts Incubator ผมเลยได้โอกาสลองคิดเกี่ยวกับประเด็นนี้ในบริบทวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป ผมเลือกประเทศไทยเพราะเคยมาแล้วรู้สึกว่าเป็นที่ๆ เต็มไปด้วยอะไรให้ค้นหา อย่างกรุงเทพฯ มีทั้งตึกสูงและร้านอาหารริมทางในเมืองเมืองเดียว แถมยังเคยได้รับการขนานนามว่าเวนิสแห่งตะวันออกด้วย
The Matter: เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าโครงการทำงานกันยังไงบ้าง
Scott : เรามีโจทย์สองข้อ หนึ่ง สร้างชิ้นผลงานนำเสนอข้อมูล สอง ทำเกี่ยวกับคุณภาพน้ำ ก็เอาโจทย์ทั้งสองข้อที่มีอยู่มารวมกัน โดยเริ่มต้นให้ผู้เข้าร่วมลิสต์สามประเด็นเกี่ยวกับน้ำที่ตนเองสนใจกับความถนัดลงบนกระดาษพร้อมเขียนชื่อแล้วเอาไปแปะบนผนัง จากนั้นเราก็มาแบ่งกลุ่มกัน แต่ละกลุ่มช่วยกันระดมความคิดว่าจะทำอะไรและนำเสนอออกมาอย่างไร หลักๆ แล้วก็คือกระบวนการคิด ต้องคิดหลายๆ รอบเพราะความคิดแรกใช่ว่าจะดีเสมอ
The Matter: อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในการเอาข้อมูลมาปรับเป็นงานศิลปะ
Scott : ทำยังไงให้เรียบง่ายแล้วทำได้จริง บางคนมีไอเดียเยอะมากแต่ทำออกมาไม่ได้ ทำเรื่องเดียวแล้วทำให้ดีดีกว่า
The Matter: ศิลปะมีบทบาทสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้อย่างไร
Scott : ศิลปะส่งผลต่อความคิดของผู้คนรวมไปถึงคนที่สิทธิมีเสียงตัดสินใจนโยบายต่างๆ ความรู้สึกสุนทรีย์เป็นสิ่งที่ทุกวัฒนธรรมเข้าถึงได้ ศิลปะช่วยเผยแพร่เรื่องราวต่างๆ สู่วัฒนธรรมอื่นๆ รอบข้าง นอกจากจะตระหนักถึงเรื่องนั้นๆ ที่งานต้องการนำเสนอแล้ว เวลาเราไปหอศิลป์แล้วเห็นงานอย่างเช่นโปรเจกต์ที่พวกเราทำนี้ เราก็คิดว่าบางทีเราเองก็สามารถทำอะไรแบบนี้ได้เหมือนกัน
ถ้าไม่มีศิลปะ วัฒนธรรมก็ไม่ใช่วัฒนธรรมจริงๆ แต่ละวัฒนธรรมต้องมีศิลปะของตัวเอง วัฒนธรรมจะได้เติบโตก้าวหน้า สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะเห็นไม่ชัดเพราะว่ามันไม่ใช่อะไรที่วัดกันได้อย่างยอดไลก์บนอินเทอร์เน็ต ต่อให้คุณไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นต่อสายตา แต่มันก็เกิดขึ้นจริง
The Matter: ประทับใจอะไรที่สุดในโครงการ
Scott : สิ่งที่ผมชอบที่สุดคือคน ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นทั้งกับผมเองหรือว่าระหว่างผู้ร่วมโครงการเอง ตัวงานก็น่าสนใจนะ แต่ผมชอบเวลาเห็นคนทำเติบโตไปตลอดโครงการ ตื่นเต้นกับไอเดียใหม่ๆ แล้วจะทำงานร่วมกันต่อในอนาคต เวลาผมพูดว่าผู้ร่วมโครงการ ผมไม่ได้หมายถึงแค่คนที่ทำเวิร์กช้อป แต่คนในชุมชนด้วย พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ ตอนนี้ชุมชนก็ทำงานร่วมกับศิลปินคนอื่นๆ บางคนมาร่วมงานเปิดตัวนิทรรศการ ผมคิดว่าสิ่งที่พวกเราให้คุณค่าในชีวิตก็คือความสัมพันธ์ จริงไหม
The Matter: ทำงานกับคนหลากหลายไม่วุ่นวายหรอ
Scott : ผมเคยอ่านงานวิจัยหนึ่ง เขาบอกว่าการทำงานร่วมกันที่ดีที่สุดคือการที่คนจากหลายหลายที่เข้ามาทำร่วมกัน ต่างวัฒนธรรม ต่างวัย ต่างฐานะ ต่างเชื้อชาติหรือเพศ เพราะแต่ละคนก็มีกระบวนการคิดไม่เหมือนกัน ถ้าเราทุกคนเหมือนกันหมดเราก็คิดอะไรเหมือนหรือคล้ายกัน คำตอบที่ได้มาก็เหมือนๆ กัน
ชมงานศิลปะถ่ายทอดประเด็นสังคมของ Scott และผู้ร่วมโครงการอื่นๆ ได้ในนิทรรศการสื่อผสม ‘หากสายน้ำมีชีวิต’ จัดแสดง ณ โถงชั้น 5 หอศิลป์กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 22-30 มิถุนายน ติดตามรายละเอียดงานได้ที่นี่