เป็นนักวาดมือใหม่ อยากวาดรูปให้ออกมาดี แต่ไม่มั่นใจ ทำแบบนี้จะดีมั้ย ใช้วิธีนั้นจะสวยหรือเปล่า ทั้งกล้าทั้งกลัว ไม่ชัวร์เลย
แล้วรูปที่ดีต้องมีเทคนิคอย่างไร เมื่อวาดออกมาแล้วงานถึงจะดีเป็นที่พอใจทั้งตัวเองและผู้ชม เหล่าศิลปินและนักวาด ทั้ง 10 คน มาร่วมแชร์เทคนิคให้คุณที่นี่แล้ว
ลองเลือกไปใช้ หรือใครมีเคล็ดลับอะไรก็แวะมาแชร์กันได้เลย
ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์
“ถ้าเราชอบงานไหนมากๆ ให้เอางานนั้นแหละ มาทำใหม่อีกครั้ง โตขึ้น เห็นเยอะขึ้น ก็จะเจออะไรพลาดๆ ที่ตอนนั้นยังไม่เห็น หรือทำแบบอื่นไปเลยในโจทย์เดิม ก็ท้าทายดี”
Juli Baker And Summer
“เทคนิคที่ป่านชอบใช้คือคิดคร่าวๆ ไว้หน่อยตอนก่อนทำ แต่ช่วงระหว่างทำไม่ต้องคิดมากเลยค่ะ ปล่อยให้งานมัน flow ไปโดยธรรมชาติ improvise บ้างบางที มันจะสนุกกกว่า ส่วนตัวแล้วถ้าชิ้นไหนตอนทำสนุกมากๆ เราก็จะชอบงานชิ้นนั้นมากเป็นพิเศษค่ะ”
www.facebook.com/julibakerandsummer
Kanith
“สำหรับเราแล้วนักวาดต่อให้มือใหม่แค่ไหน ก็คงรู้แหละว่าการวาดภาพมันเป็น skill มันก็เหมือนการว่ายน้ำ หั่นผักชี พิมพ์ดีด โดดหนังยาง ถ้าอยากให้มันคมขึ้นก็ต้องทำมันบ่อยๆ แต่นอกเหนือจากการฝึกฝนเราว่าการทดลองก็เป็นสิ่งสำคัญ มันมองไม่เห็นจุดหมายปลายทาง คาดเดาผลลัพธ์ก็ไม่ได้ แต่ความบังเอิญที่เราได้มาเป็นสิ่งที่เราหาจากที่ไหนไม่ได้ หลายครั้งที่การลองอะไรใหม่ๆ พาเราข้ามขีดจำกัดของตัวเรา ทั้งเทคนิค วิธีคิด รสนิยม ยิ่งในยุคที่เรามี media มากมาย สิ่งที่เราคิดว่าเทคนิคง่ายๆ น่าจะเป็นการทดลองทำอะไรใหม่ๆ บ่อยๆ เราจะได้สิ่งที่ตกตะกอนมาเพิ่มเติมในงานแล้วก็ในตัวเราเอง”
Jung senarak
“หา reference เยอะๆ สำหรับเรา reference ไม่ได้หมายถึงการอ้างอิงสไตล์อย่างเดียว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลมากกว่า ส่วนตัวจะหาเผื่อไว้เลยสมมติงานจะเอา 100 เราหาไว้ 150 เสร็จแล้วค่อยเริ่มงาน อย่างเช่น ภาพที่จะต้องทำเป็นยุคไหน บ้านยุคนั้นเป็นแบบไหน ตัวละครต้องทำผมทรงอะไร รองเท้า, เสื้อผ้า, ทรงผม, ของใช้ ฯลฯ (ถ้าโชคดีหน่อยจะหาจบได้ในภาพเดียว แต่ส่วนใหญ่ก็หาแยกทั้งหมด) พอทำแบบนี้งานจะดูมีมิติขึ้น แล้วเวลาทำงานจะลื่น ไม่ต้องกังวลว่าจะวาดอะไรต่อ ตรงนี้ทำยังไงดี”
Chatchanok Wong
“ด้วยความที่เราเรียน graphic design / communication arts มา เราจึงสนใจรูปร่างรูปทรง การเกิดขึ้นของ form ที่เป็น unit พื้นฐานในงานออกแบบ ซึ่งมันส่งผลไปถึงวิธีคิด และการตีความในการทำงาน เราชอบการนำ form ต่างๆ มาประกอบกันให้มันอยู่ในรูปทรงอีกรูปทรงหนึ่ง หรือไม่ก็พยายามทำลาย form เดิม เพื่อสร้าง form ใหม่ เช่น วาดภาพภายใน shape ของ typography หรือภายใน shape ของวงกลม เราอยาก distort อะไรบางอย่างเพราะเรารู้สึก สนุก กับการได้ดัด บิดรูปทรงเดิมให้ต่างออกไป”
www.facebook.com/chatchanokwong
Erdy
“จริงๆ ไม่รู้ว่าเรียกว่าเทคนิคมั้ยแต่ถือว่าเป็นสิ่งที่เราทำประจำแล้วกัน คือปกติเราจะมีปัญหาเรื่องการใช้สีมาก บางทีก็ใช้สีเยอะไป หรือลงสีไปเพลินๆ พองานเสร็จมาดูแล้ว อ้าว ไหนจุดเด่นของงาน ทำไมมันตีกันไปหมด หรือกลืนกันไปหมด บางครั้งคู่สีที่เลือกมาก็มีปัญหา ตุ่นไปบ้าง สดไปบ้าง ซึ่งขั้นตอนในการลงสีมันคือช่วงสุดท้ายของการทำงาน ถ้าเวลาที่ทำงานด้วยคอมพ์แล้วพลาดจะไม่แย่เท่าไหร่เพราะมันแก้ได้ ก็อปได้ แต่ถ้าเป็นงานมือนี่จะร้องไห้ บางทีต้องวาดใหม่เลย
“วิธีเอาตัวรอดของเราทุกวันนี้คือลงสีแบบโมโนโครมไปก่อน และถ้าทำงานคอมพ์ก็จะต้องแยกเลเยอร์ให้ละเอียดที่สุด จากนั้นก็เลือกลงสีโทนที่เราคิดว่าจะเป็นมู้ดหลักๆ ของงาน ถ้ายังคิดไม่ออกว่าจะใช้สีอะไรก็ทำขาวดำ หรือโทนน้ำตาลไปก่อนแล้วค่อยมาดึงสี แทนค่าสีทีหลัง ส่วนถ้าเป็นงานมือเราก็จะแสกนเข้าคอมพ์แล้วลองเทสีคร่าวๆ ในงานก่อนว่าจะกระจายสียังไง จับคู่ไหน ใช้กี่เปอร์เซ็นต์ แต่เวลาลงจริงก็เริ่มต้นเป็นโมโนโครมก่อนเหมือนกันแล้วค่อยๆ เพิ่มเลเยอร์สีที่เราอยากได้ไปทีละชั้น ทีละชั้น คล้ายๆ กับพิมพ์ CMYK ประมาณนั้น เพราะถ้าลงสีเดียวเข้มจัดแต่แรกก็จะพังไปเลย”
www.facebook.com/erdy.illustrate
Primiita
“ทำความรู้จักกับอุปกรณ์ในมือให้เข้าใจทุกซอกทุกมุมไปเลยค่ะ พริมว่าต่อให้เรามือใหม่ แค่เรารู้จักอุปกรณ์ของเราดี คุ้นเคยจนกลายเป็นอวัยวะหนึ่งของเรา เราย่อมมีเทคนิคส่วนตัวที่ไม่เหมือนใครเกิดขึ้น ดินสอแท่งหนึ่ง สามารถใช้ได้หลายรูปแบบ จะถนัดเหลาให้เส้นคมอยู่ตลอดเวลา รู้จักหมุนหามุมแหลมของใส้ดินสอ หรือใช้มือถูแทนการแรเงา แค่ของชิ้นเดียวก็ใช้ไม่เหมือนกันแล้วค่ะ ถ้าเรารู้จักมันดีมากๆ วันหนึ่งเราจะสามารถเลือกวิธีที่ชอบขึ้นมาใช้ได้ค่ะ
“อย่างพริมจะชอบใช้ปากกาพู่กัน ถ้าหมึกชุ่มๆ เส้นจะบาน หมึกพอดีเส้นจะคม หมึกแห้งจะทำให้เส้นสาก พริมจะเลือกน้ำหนักเส้นจากความชุ่มของหมึกที่ปลายพู่กันค่ะ ทำให้เกิด dynamic กับ variety ได้ด้วยความคุ้นเคยของเราที่มีกับเจ้าของในมือเรานั่นเองค่ะ”
LoveSyrup
“ผมไม่มีเทคนิคอะไรเป็นพิเศษครับ ถ้าจะเรียกว่าใกล้เคียงเทคนิคคงเป็นวิธีทำงาน ผมสเก็ตช์ภาพออกมาหลวมๆ มีเส้น มีคำอธิบาย จดชื่อสีไว้คร่าวๆ แล้วมาสร้างใหม่เวลาวาดจริง ผมจะจำอะไรแทบไม่ได้แล้วนอกจากที่บันทึกไว้จะทำตามใจไปประมาณ 95% แล้วจะถอยออกมาดูว่าเราจะขมวดความสะเปะสะปะทั้งหมดด้วยอะไร ด้วยวัตถุอะไร ด้วยพื้นที่ขนาดไหน ด้วยสีอะไร ที่จะทำให้มองแล้วรู้สึกว่าทุกอย่างมันเข้ากันพอดี เป็นองค์ประกอบสุดท้ายที่จะทำให้ชอบภาพของตัวเอง ซึ่ง 5% สุดท้ายนี้บางครั้งก็ยากมาก บางครั้งก็ง่ายมาก”
Palim
“ถ้าเราใส่ความรู้สึกลงไป เราจะทำออกมาได้ดี เราจะคิด คิดเยอะ เหมือนมีหลายๆ ภาพในหัว แล้วเราก็เลือกรูปที่อยากวาดที่สุดมาสเก็ตช์ลงกระดาษก่อนวาดโดยไม่ลงรายละเอียด มันทำให้เส้นเราเป็นอิสระมากขึ้น ปล่อยความรู้สึกได้ทำงาน แต่ก็ยังอยู่ในกรอบที่เราวางไว้”
MANA DKK
“พื้นฐานสำคัญที่สุด หมายถึงพื้นฐานของทุกๆ อย่าง ทั้งการเข้าใจแสงเงา การเข้าใจทฤษฎีสี อนาโตมี perspective ฯลฯ บางคนมองว่ามันน่าเบื่อ แต่ถ้าแน่นตรงนั้น เราจะสามารถขยายขอบเขตของสิ่งที่ทำไปได้มากขึ้น บางคนกระโดดขึ้นไปทำสิ่งที่แอดวานซ์เลย งานก็อาจจะดีนะ แต่ดีกว่านั้นได้ถ้าพื้นฐานแน่น ดูงานเยอะๆ ก็สำคัญ เปิดใจให้กว้าง ไม่ต้องคิดว่าตัวเองเก่งหรอก คนเก่งมีตั้งเยอะแยะ เป็นคนโง่ที่พร้อมพัฒนาดีกว่า
“ทุกวันนี้ก็ยังสเก็ตช์ วาดรูปเล่น หมั่นดู tutorial เยอะๆ ทำตัวเป็นคนโง่เข้าไปขอความรู้จากคนอื่น (บางทีก็ต้องตามกาลเทศะด้วยนะ ขอไปทุกคนแต่ไม่พยายามก็ไม่ค่อยดี 55) หมั่นวาดเยอะๆ แต่ ไม่มีอะไรดีเท่ากับวาดอย่างมีเป้าหมาย คือ quantity ก็สำคัญ แต่ quality ก็ต้องมีนะ”