ดราม่าวงมหาหิงค์ก๊อปเพลงวง Two Doors Cinema Club กำลังจะจบลง หลังจากทางวงได้ออกมายอมรับและหงายการ์ดรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งยังขอโทษแฟนคลับกับค่ายเพลงที่ทำการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงจริง ทั้งทางวอร์เนอร์ มิวสิค ตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงก็แจ้งว่าจะมีการปรับเงินแน่นอน โดยจะให้เป็นไปตามขั้นตอนทางกฏหมายต่อไป
หนึ่งในเพลงทำนองต่างประเทศที่ถูกแปลเป็นไทย
ว่ากันตามจริง การลอกเพลงในไทยไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่ก็ไม่ใช่เรื่องดี ย้อนกลับไปในช่วง ปี 1960 ดนตรีสตริงเริ่มเข้ามาในประเทศไทย ในยุคนั้นวงดังไม่ว่าจะเป็น รอยัลสไปรท์ส หรือ ดิ อิมพอสซิเบิล ต่างได้รับอิทธิพลจากวงดนตรีต่างประเทศ ผสมกับความที่ยังไม่มีใครเคยสร้างรากฐานให้ดนตรีแนวใหม่ของยุค เพลงช่วงแรกของวงในยุคดังกล่าวจะใช้คำว่า ‘ทำนองต่างประเทศ’ แล้วใส่เนื้อไทยเข้าไปแทน
เพลงญี่ปุ่นที่คนไทยยุค 90 น่าจะคุ้นเคยมากที่สุด
ต่อมาช่วงปี 1980 ถึงนักดนตรีไทยเริ่มแสดงศักยภาพกันมากขึ้น ทั้งแต่งทำนองและเนื้อร้องด้วยตัวเองแล้ว แต่ความนิยมเพลงสตริงทำนองฝรั่งก็ยังคงมีอยู่ แถมยังมีการนำทำนองของเพลง จีน หรือ ญี่ปุ่น มาใช้เพิ่มเติม ผลพวงก็มาจากละครญี่ปุ่นที่กำลังมาในช่วงนี้ ประกอบกับชาวไทยเชื้อสายจีนเองที่ฟังเพลงทั้งจากฝั่งฮ่องกงและไต้หวัน จึงมีการขยายตลาดชัดเจนขึ้นและส่งผลยาวไปถึงช่วงยุค 1990 ตอนต้น (จำเพลงเปาบุ้นจิ้น หรือ กระบี่ไร้เทียมทาน ฉบับแปลไทยได้ไหมทุกท่าน ?)
ก่อนที่กฎหมายลิขสิทธิ์ไทยจะบังคับใช้ ความเข้มข้นและการแข่งขันของผู้สร้างผลงานก็เริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะยังมีการใช้ทำนองเพลงต่างชาติอยู่ แต่ในยุคนี้ก็เริ่มจะไม่มีใครกล้าที่จะลงคำว่า ‘ทำนองต่างประเทศ’ เพลงที่ยังคงลอกทำนองมาก็เริ่มใส่ชื่อใครก็ตามแต่ในการแต่งเพลงนั้น บางท่านก็ใช้วิธีบิดทำนอง หรือ ดึงทำนองมาอย่างละนิด อย่างละหน่อย กันการถูกครหาว่าเพลงของตนนั้นลอกเขามา
เพลงฤดูที่แตกต่าง หนึ่งในเพลงไทยที่ถูกซื้อสิทธิ์ไปร้องเป็นภาษาอังกฤษ
ช่วงปลายปี 90 หรือช่วงเพลงอินดี้เริ่มมา ก็มีนักร้องหลายกลุ่มที่ทำการติดต่อซื้อลิขสิทธิ์กันแบบถูกต้องมากขึ้น รวมถึงค่ายเพลงต่างประเทศในไทยบางค่ายก็แปลเป็นเพลงไทยให้ถูกต้องตามลิขสิทธิ์เสียเลย ในทางกลับกันเพลงไทยก็ถูกซื้อสิทธิ์ไปต่างประเทศเยอะขึ้นกว่าเดิม รวมถึงมีการพยายามเปิดค่ายเพลงในต่างประเทศเพื่อขยายตลาดกันด้วย
จนกระทั่งเข้าสู่ยุค 2000 อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้าถึงคนหมู่มาก และไฟล์ตระกูล mp3 ถือกำเนิด ถ้าพูดให้ติดตลกคงพอบอกได้ว่า ยุคนี้ถือเป็นยุค ‘เอาคืน’ ของผู้ฟังที่หลายคนเพิ่งได้รู้ความจริง ว่าตัวเพลงที่เคยชื่นชอบเมื่อก่อน เป็นเพลงที่ก๊อปเขามาว่ะ หลายคนถึงกับเอ่ยปากในช่วงเวลานั้นว่า วงการเพลงไทยถึงจุดสิ้นสุดแล้ว
ทีเซอร์กึ่งละครซีรีส์ของเพลง เชือกวิเศษ ตัวอย่างแผนการตลาดของเพลงในยุค 201X
ตัดกลับมาที่ปี 2016 ยุคที่การขาย CD เพลงลดน้อยลงไปมาก นักร้องหลายคนขยับตัวเองไปเป็นสายการแสดง ส่วนทางค่ายใหญ่ๆ อย่าง R.S. Promotion ปัจจุบันก็ออกข่าวแล้วว่าเลิกทำ CD ขาย ด้าน GMM ก็ยอมรับว่าขยับตัวไปขายเนื้อหาแบบอื่นมากขึ้น เช่น ขาย MV ที่มีเรื่องราว หรือทำซีรีส์ประกอบอัลบั้มเพลงไปเสียเลย ส่วนค่ายเพลงเล็กๆ หรือนักดนตรีที่มีฝีมือแต่ไม่ได้หล่อสวย กลับมีโอกาสได้เกิดด้วยพลังของโลกโซเชียล แถมศิลปินเหล่านี้ก็มีคนอุดหนุนเพลงทั้งในแบบดิจิทัล และซื้อแผ่น CD เก็บ ทั้งที่ค่ายใหญ่คิดว่าไม่น่าทำขายแล้ว กลับกลายเป็นว่า CD มาแบ่งบานขึ้นในหมู่ศิลปินเบอร์เล็กๆ เหล่านี้