One’s destination is never a place, but a new way of seeing things. – Henry Miller
ความสนุกของการเดินทางหรือการได้ไปเที่ยว อาจจะไม่ได้อยู่ที่ว่าที่ที่เราไปมันแปลกประหลาดหรือเต็มไปด้วยอะไรใหม่ๆ อะไรขนาดนั้น แต่การเดินทางทำให้เราเปลี่ยนวิธีการมองโลก ลองนึกถึงเวลาไปเที่ยว เรามักจะรู้สึกตื่นเต้น รู้สึกสนุกสนานและสนอกสนใจไปซะทุกอย่าง ‘บรรยากาศ’ ของการเดินทางทำให้เราตื่นเต้นและมองสิ่งต่างๆ ได้ถี่ถ้วนมากขึ้น
Liam Heneghan ศาสตราจารย์ทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมผู้สนใจมิติที่ละเอียดอ่อนของมนุษย์ สังเกตเหล่านักศึกษาเวลาที่ออกไปทริปกับมหาวิทยาลัยแล้วพบว่า จริงๆ แล้ว สภาวะแวดล้อมหรือสถานที่อาจจะไม่ได้สลักสำคัญขนาดนั้น แต่สิ่งสำคัญของการไปเที่ยวคือความรู้สึกที่แกเรียกว่า Allokataplixis เป็นคำใหม่ที่แกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่ออธิบายมุมมองที่มองสิ่งธรรมดาๆ ด้วยมุมมองใหม่ๆ
เจ้าคำว่า Allokataplixis แกบอกว่ามาจากรากภาษากรีกที่หมายถึงความรู้สึกสงสัยใคร่รู้ หมายถึงความรู้สึกตื่นเต้นกับบรรยากาศและสิ่งรอบๆ ตัว คำๆ นี้จากข้อสังเกตของ Heneghan ก็ค่อนข้างลึกซึ้งคือ ในการเดินทาง เราอาจเคยรู้สึกว่าเป็นเพราะสถานที่ที่เราไปเต็มไปด้วยสิ่งใหม่ๆ แต่จริงๆ แล้ว มุมมองหรือความรู้สึกของเราที่พิเศษขึ้นระหว่างการเดินทางต่างหากที่เป็นตัวมอบความหมายให้กับพื้นที่ที่เราไป
เช่นว่า เมืองเมืองหนึ่งที่เราไป ถ้าเราไม่ได้สนใจอะไร มันก็อาจจะไม่ได้มีอะไร แต่ด้วยบรรยากาศของการเดินทางทำให้เรารู้สึกว่าอะไรก็น่าสนใจ น่ารัก น่าประทับใจไปซะหมด ตรงนี้เองที่สอดคล้องว่า การเดินทางช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับเรา การออกจากวงจรเดิมๆ พื้นที่เดิมๆ อาจจะช่วยเปิดหูเปิดตาให้กับเราได้ ให้เรามองเห็นในสิ่งที่วันธรรมดาเราอาจจะมองไม่เห็น
ในโลกวรรณกรรมเองก็มีแนวคิดคล้ายๆ กัน คือนักคิดทั้งหลายก็ถกเถียงกันว่าเราจะอ่านวรรณกรรมกันไปทำไม ช่วงปี 1910 นักวรรณคดีรัสเซียที่เรียกว่ากลุ่ม Russian formalism บอกว่า วรรณกรรมไม่ได้พูดเรื่องราวอะไรประหลาดพิกลอะไรเลย แต่พลังของงานเขียนคือการทำให้เรื่องที่เราคุ้นเคย (familiar) ‘ให้แปลกประหลาด’ นักวรรณคดีเรียกแนวคิดนี้ว่า Defamiliarization ทำให้เรารับรู้เรื่องราวสามัญทั้งหลายในมุมมองที่แปลกประหลาดออกไป
คำอธิบายที่นักคิดบอกคือ เนี่ย เรื่องราวที่เรารับรู้ในวรรณกรรมมันก็คือการทำเรื่องธรรมดา เรื่องรอบๆ ตัวให้เราผู้อ่านได้รับรู้ในมุมใหม่ๆ ในมุมที่ละเอียดถี่ถ้วนขึ้น สิ่งที่นักเขียนทำคือการพาเราไปรู้สึกถึง ‘ก้อนหิน’ ว่าอะไรที่ทำให้หินเป็นหิน ความแข็ง สัมผัส เสียง ความเย็นเยียบ พลังของงานเขียนจึงอยู่ที่การดึงให้ผู้อ่านกลับไปรับรู้เรื่องราวทั่วไปทั้ง ชีวิตประจำวัน ข้าวของเครื่องใช้ ไปจนถึงความรู้สึกต่างๆ เช่น ความรักในลักษณะที่ต่างออกไป
การเดินทางท่องเที่ยวและการอ่านหนังสือ จึงดูเป็นกิจกรรมที่ใกล้เคียงกัน การไปสำรวจ ‘สิ่งใหม่ๆ’ ความใหม่อาจจะไม่ได้อยู่ที่ตัวเรื่องราวหรือสถานที่ แต่อยู่ที่การเชื้อเชิญหรือปรับเปลี่ยนมุมมองของเรา ให้ถี่ถ้วน น่าตื่นเต้น สนุกสนานมากขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก