ภาพยนตร์ Gangubai Kathiawadi สร้างขึ้นมาจากเรื่องราวของวีรสตรีผู้ถูกยกย่องผ่านการขับเคลื่อนทางสังคมในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ค้าบริการทางเพศและผู้คนในย่านกามธิปุระทั้งหมด แต่เธอเป็นใคร?
เรื่องราวของเธอไม่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรมากนัก และมักเป็นที่รู้จักกันเป็นเรื่องเล่าปากต่อปากเสียมากกว่า ซึ่งเรื่องราวที่เล่าถึงประวัติของเธออย่างชัดเจนที่สุดถูกเล่าในนิยายที่เขียนจากคำให้การของคนใกล้ชิด นักข่าวในพื้นที่ หลักฐานที่ใช้ในการดำเนินการสืบสวนของตำรวจ อย่าง Mafia Queens of Mumbai โดยนักข่าว ฮุสเซน ไซดี (Hussain Zaidi)
ในหนังสือเล่าว่าก่อนเธอจะเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในนามคังคุไบ ชื่อจริงของเธอคือคังคุบาอี หรจีวนทาส (Gangubai Harjeevandas) ลูกสาวครอบครัวมีชื่อเสียงจากรัฐคุชราต ผู้เดินทางสู่มุมไบกับรามนิก ลัล (Ramnik Lal) ว่าที่สามีของเธอ ด้วยความฝันที่ต้องการจะเป็นนักแสดง แต่ชีวิตของเธอพลิกผันเมื่อพวกเขาเดินทางถึงย่านกามธิปุระ รามนิกเลือกขายเธอให้กับโรงโสเภณี
กามธิปุระคือย่านที่เคยเป็นที่รู้จักมากที่สุดจากเป็นแหล่งรวม sex worker แต่จริงๆ ประวัติศาสตร์ของย่านนี้คือแหล่งรวมของแรงงานก่อสร้าง โดยชื่อของย่านนั้นมาจากคำว่ากามที่แปลว่าแรงงาน แต่เหตุผลที่ย่านแห่งนี้เป็นที่รู้จักในจำนวนของโสเภณีเกิดขึ้นจากช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มีการนำเข้าโสเภณีจากยุโรปและญี่ปุ่นจำนวนมากเข้ามาอาศัยในพื้นที่แห่งนี้ ให้ชื่อใหม่กับมันว่า White Lane ตามสีผิวของผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในนั้น และเมื่ออินเดียได้รับเอกราชในปี ค.ศ.1947 โสเภณีชาวอินเดียจึงย้ายถิ่นฐานเข้าไปสู่ย่านนี้
ซึ่งความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงการเป็นอยู่ของผู้ให้บริการทางเพศของคังคุบาอีเริ่มจากประสบการณ์ตรงที่เธอตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศโดยลูกค้า และด้วยประสบการณ์นั้นเธอสืบหาจนพบว่า ผู้กระทำเป็นหนึ่งในลูกน้องของมาเฟียชื่อ คาริม ลาลา (Karim Lala) และเมื่อทั้งสองพบกันคาริมยืนยันที่จะให้ความยุติธรรมแก่เธอ เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ทั้งสอง ที่งอกเงยจนทั้งคู่เป็นดั่งพี่น้องของกันและกัน จนเป็นที่มาของฉายาราชินีมาเฟีย
เมื่อเวลาผ่านไปจำนวนโสเภณีในกามธิปุระลดจำนวนวลงอย่างต่อเนื่อง จากการเก็บสถิติโดยองค์กรการวิจัยทางการแพทย์ BMC พบว่าใน ปี ค.ศ.1992 มีโสเภณีอยู่ในย่านนี้ราว 50,000 คน ลดลงเหลือ 1,600 คนในปี ค.ศ.2009 ก่อนจะลดจนเหลือ 500 คน กับโรงโสเภณี 25 แห่งเท่านั้นในปีค.ศ. 2018 ซึ่งสาเหตุของจำนวนที่ลดลงนี้ก็เกิดขึ้นจากนโยบายการพัฒนาเมืองและสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศในสมัยนั้น ที่ทำให้โสเภณีบางส่วนเสียชีวิตหรือย้ายออกไปอยู่พื้นที่อื่น
แม้ว่าชื่อเสียงเรื่องการเป็นย่านโคมแดงของกามธิปุระจะลดลงเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ยังคงมีอยู่ในบริเวณนั้นคือรูปปั้นและรูปถ่ายของคังคุไบ แสดงให้เห็นว่าเธอเป็นหนึ่งในคนสำคัญของพื้นที่นี้ เพราะนอกจากเธอจะเข้ามาเป็นกระบอกเสียงในการเรียกร้องสิทธิของโสเภณีทั้งในและนอกพื้นที่ เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยและความสมัครใจในการทำอาชีพดังกล่าวแล้ว เธอยังใช้อำนาจที่เธอมีในการดูแลเด็กกำพร้าและผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือทางกฎหมายในกามธิปุระ เป็นเหตุให้คนในพื้นที่จำนวนมากเรียกเธอว่า ‘แม่’
อย่างไรก็ตามมีทายาทบุญธรรมของเธอปฏิเสธการตีความโดยรวมทั้งจากในหนังสือและภาพยนตร์ โดยกล่าวว่าแม่ของพวกเขาเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ใช้ชีวิตอยู่ในกามธิปุระจริง แต่มิได้ประกอบอาชีพเป็นโสเภณีอย่างที่ถูกเล่าในหนังสือหรือภาพยนตร์
และไม่ว่าเรื่องราวชีวิตของเธอที่เล่าขานกันจะเป็นข้อเท็จจริงขนาดไหน แต่ผลกระทบของเธอต่อชีวิตผู้ให้บริการทางเพศทั่วมุมไบนั้นมีอยู่จริงอย่างแน่นอน
อ้างอิงข้อมูลจาก