“ทำไมมีแต่อาชีพเราที่ถูกมองว่าผิดศีลธรรม”
ท่อนหนึ่งจากคำปราศรัยในเรื่อง คังคุไบ ภาพยนตร์อินเดียสุดฮิตในช่วงนี้ ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวของหญิงสาวที่ถูกหลอกไปขายให้เป็นโสเภณี ก่อนที่เธอจะผันตัวมาเป็นผู้ดูแลซ่อง และยังลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งนักการเมืองท้องถิ่นมาได้สำเร็จ พร้อมกับพยายามผลักดันให้อาชีพขายบริการทางเพศ เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย
นอกจากความสวยงามของแสง สี เสียง และบรรยากาศของอินเดียในช่วงปี 1940-1960 แล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังก่อให้เกิดกระแสของการพูดถึงอาชีพ sex worker ซึ่งเป็นอาชีพที่ดำรงอยู่มานานและถูกผลักให้อยู่ในมุมมืดของสังคมมาโดยตลอด
แล้วหนังเรื่องนี้เป็นอย่างไร ในสายตาของผู้ที่อยู่ในวงการนี้จริงๆ The MATTER ชวนไปฟังมุมมองของผู้ที่มีประสบการณ์ประกอบอาชีพ sex worker เพื่อดูว่า คังคุไบ กับสิ่งที่พวกเธอพบเจอในความเป็นจริงนั้น เหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง?
“เราได้รับความบันเทิงจากหนังเรื่องนี้นะ แสงสีเสียง ทุกอย่างดีหมด แต่ว่าเนื้อหาของหนังเรื่องนี้ไม่ได้แสดงภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นจริงอย่างชัดเจน”
คำกล่าวจาก ธนัดดา สว่างเดือน หรือที่หลายคนคุ้นในชื่อว่า ‘ฉันคือเอรี่’ ผู้ซึ่งเคยถูกหลอกไปขายบริการในต่างประเทศ และถูกจับในทุกประเทศที่ไปทำงาน ก่อนจะมีโอกาสได้เข้าสู่วงการน้ำหมึก สร้างงานเขียนจนได้รับรางวัลชมนาด ในปี 2554
สำหรับธนัดดาแล้ว เธอกล่าวว่า หนังเรื่องนี้ยังไม่ได้สะท้อนประเด็นสำคัญของการที่ผู้หญิงหลายคนที่ถูกหลอกไปขายบริการทางเพศต้องพบเจออย่างชัดเจน เช่น การถูกทุบตี ความทุกข์ทรมานใจ รวมถึงการที่คนเป็น ‘แม่เล้า’ เองก็เป็นอีกหนึ่งคนที่หาผลประโยชน์จากตัวผู้ขายบริการเช่นกัน
ในหนังมีความพยายามจะรื้อซ่องที่คังคุไบเป็นคนดูแลออก ซึ่งธนัดดามองว่า ความพยายามให้ซ่องแห่งนี้อยู่ต่อไปของคังคุไบ คือการพยายามให้ตัวเธอเองได้รับผลประโยชน์และรายได้จากหญิงที่ขายบริการทางเพศต่อไปอยู่ดี
ธนัดดาย้ำว่า ชีวิตจริงของคนที่ขายบริการทางเพศนั้นไม่ได้สวยงามจนสามารถไปร้องรำทำเพลงได้เหมือนกับที่ภาพยนตร์ฉายภาพออกมา
“เราเห็นหลากหลายชีวิตที่ต้องขายตัวแลกยา ทุกคนถูกส่งไปทำงาน แล้วก็เจอกับวงการต่างๆ อย่างพวกยากูซ่า แล้วก็เจอสิ่งยั่วยวนชักจูงไป ติดยา ติดผู้ชาย ซึ่งเป็นทางออกของผู้หญิงเหล่านี้ที่เขาทนทุกข์ทรมานกับการขายตัว เราต้องไปนอนกับลูกค้าที่เลือกเองไม่ได้”
เธอเล่าอีกว่า ด้านหนึ่งหลายคนก็อยากไปซื้อบริการกลับบ้าง เพราะต้องการการปรนิบัติดีๆ บ้าง แต่เวลาพักผ่อนเหล่านั้นกลับไม่เคยมี เพราะหลายคนยังมีภาระที่ต้องรับผิดชอบ เช่น ต้องส่งเงินให้คนที่บ้าน
“เพื่อนเราอีกคน ต้องขายตัวแลกยา ต้องรอให้ยากูซ่ามาฉีดผง แล้วก็ได้เงินมานิดหน่อย ต้องส่งให้ยากูซ่าหมด เราถามว่า ทำไมไม่กลับบ้าน เขาบอกว่า กลับไปก็ตาย ไม่มียาให้เล่น ลงแดงตาย หลายคนต้องยอมหาผัวที่เป็นยากูซ่าเพื่อให้เขามีคนคุ้มครองเวลาไปกับแขกแล้วอาจโดนทำร้าย หรือบางคนก็ไม่ได้อยากขาย แต่ต้องกลั้นใจอีกนิดเพราะคิดว่า จะปลดหนี้ให้ที่บ้านได้แล้ว มันทุกข์ทรมานและเจ็บปวดมากนะ”
ด้วยประสบการณ์ที่พบเจอมา ยิ่งทำให้ธนัดดามองว่า สิ่งที่เห็นในภาพยนตร์เรื่องคังคุไบ ไม่สมจริงและสวยงามเกินกว่าเรื่องจริง ทั้งยังทำให้เธอคิดว่า เธอต้องออกมาพูดถึงเรื่องนี้ เพื่อให้ใครหลายคนที่อาจจะยังไม่รู้ว่า ต้องพบเจออะไรบ้าง ได้รับรู้เรื่องที่เกิดขึ้นจริง
ขณะที่ ศิริ นิลพฤกษ์ หรือ ‘ทาทา’ ผู้ขายบริการทางเพศที่อยู่ในวงการมามากกว่า 30 ปี ทั้งยังเป็นเอ็นจีโอในหลายแวดวงสาขา มองว่า สิ่งที่เห็นจากหนังเรื่องนี้ คือการก้าวมาประกอบอาชีพอย่างไม่เต็มใจ โดยผสมผสานกับเรื่องการกดทับเข้าไปด้วย แต่ก็ยังไม่ได้รู้สึกว่า หนังเรื่องนี้สร้างพลังให้กับคนดูได้ขนาดนั้น
พอมองย้อนกลับมาที่ไทย ทาทาก็กล่าวว่า พอมีกระแสถึงหนังเรื่องนี้มา คนก็แห่กันไปดู แต่ก็มองแค่ว่า หนังสนุก ไม่ได้มองเห็นถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์กับคนเหล่านี้มากขึ้น ขณะที่หากเป็นประเทศไทย คงสร้างหนังแบบนี้ไม่ได้ เพราะสังคมจะมองว่าล่อแหลม รวมถึงอาจถูกภาครัฐแบนหนังไปเลยด้วยซ้ำ
“เราคิดว่า ถ้าสามารถที่จะทำหนังแบบนี้ในเมืองไทยได้ มันก็สามารถที่สะท้อนอะไรหลายๆ อย่างได้มากขึ้น ยิ่งใกล้ตัว ยิ่งจับต้องได้ง่าย อย่างที่อินเดีย หลายๆ คนก็มองว่าเป็นเรื่องของประเทศเขา ไม่ใช่ประเทศเรา แต่พอเป็นเรื่องของประเทศเราปั๊บ กลับทำอะไรในเรื่องแบบนี้ไม่ได้ ฉะนั้น เมื่อเราผลิตหนังแบบนี้ไม่ได้ เพราะมีการถูกห้าม ถูกแบน สังคมยังตีตราอยู่ หรือการทำเรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องผิดบาป เป็นเรื่องผิดศีลธรรม เราก็คิดว่า ต่อให้จะมีคังคุไบ ภาค 1 2 3 4 แต่ถ้าประเทศไทยยังผลิตไม่ได้ หรือสะท้อนอะไรอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้ หนังก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย”
ไม่เพียงเท่านั้น ทาทายังมองเพิ่มไปว่า หนังที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับโสเภณีนั้น มักถูกหลอมในบริบทสังคมไทยว่า ล่อแหลมเกินไป อาจเป็นตัวอย่างให้เด็กหรือใครๆ ลอกเลียนแบบได้
“เราว่ามันค่อนข้างจะเป็นคำที่ฝ่ายอำนาจนิยมใช้กดทับเพื่อบอกว่า การเลียนแบบสิ่งเหล่านี้มันไม่ดี แน่นอน มันอาจจะไม่ใช่เรื่องดีหรือไม่ดี แต่เขาอยากจะทำหรือไม่ทำ มันก็เป็นสิทธิของเขา”
สำหรับคนที่เต็มใจจะมาทำงานนั้น ทาทายังบอกว่าอีก อาชีพ sex worker ถือเป็นเหมือนทางเลือกสำหรับกลุ่มคนที่มีอารมณ์ทางเพศได้ไปใช้บริการทางเพศ และมองว่า การมีเพศสัมพันธ์คือเรื่องปกติของมนุษย์
แล้วอาชีพ sex worker ได้รับการยอมรับมากแค่ไหน?
“เราจะไม่ถามถึงศาสนาหรือวรรณะ จะผิวเข้มหรือผิวขาว จะรวยหรือจน ทุกคนจ่ายเท่ากัน เราไม่ได้เลือกปฏิบัติกับคนอื่น แต่ทำไมผู้คนถึงเลือกปฏิบัติกับเรา ทำไมเราถึงถูกกีดกันออกจากสังคมล่ะ”
อีกหนึ่งคำกล่าวจากภาพยนตร์เรื่องคังคุไบ สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของผู้คนที่มีต่อผู้ประกอบอาชีพขายบริการทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นคนที่สมัครใจหรือไม่ สังคมที่เชื่อในเรื่องของพรหมจรรย์ก็พร้อมจะมองว่าคนเหล่านี้ คือผู้มีมลทินเสียหมด โดยในเรื่องนี้ คังคุไบยังตั้งคำถามอีกว่า ทำไมโสเภณีที่เป็นผู้เสียหายจากการถูกจับมาขาย กลับถูกปฏิบัติราวกับเป็นอาชญากร?
การเลือกปฏิบัตินี้ ไม่ใช่แค่เรื่องที่เกิดขึ้นในหนัง แต่กับในชีวิตจริง sex worker หลายคนยังถูกมองด้วยสายตาไม่ดีอยู่บ่อยครั้ง
“เราเป็นนักเขียน วงการน้ำหมึกก็ไม่ได้ยอมรับเรานะ เพราะเราไม่ได้จบศิลปศาสตร์มา เป็นโสเภณีคนหนึ่งที่เขียนหนังสือแล้วได้รับรางวัล มันก็แค่นั้น แต่ในความเป็นจริง เราไม่ได้ถูกยอมรับจากคนในแวดวง” ธนัดดาเล่า
เธอยังบอกอีกว่า ขนาดเธอได้รับรางวัลชมนาด รางวัลที่มอบให้กับสตรีที่ผลิตงานเขียนสะท้อนสังคม แต่เธอกลับไม่ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรสอนนักศึกษาเหมือนอย่างที่นักเขียนซึ่งประกอบอาชีพอื่นๆ ได้รับเชิญเลย นี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ทำให้เธอมองว่า ผู้ที่เคยประกอบอาชีพนี้มักถูกเลือกปฏิบัติอยู่เสมอ
สำหรับธนัดดาแล้ว เธอไม่เห็นด้วยกับการให้ขึ้นทะเบียนผู้ขายบริการทางเพศ เพราะมองว่าจะทำให้เกิดการตีตราบุคคลที่ประกอบอาชีพนี้ เพราะสังคมไม่เคยยอมรับกลุ่มคนเหล่านี้เลย และเมื่อถามว่า ถ้าถึงวันหนึ่งที่สังคมให้การยอมรับและมองว่าอาชีพ sex worker ก็เป็นอาชีพปกติอาชีพหนึ่ง (สำหรับคนที่เต็มใจทำ) เธอจะคิดเห็นอย่างไร ธนัดดาก็ตอบกลับมาว่า อาชีพ sex worker ยังมีต่อไปได้ และไม่มีวันหายไปจากโลกนี้ แต่ต้องการให้ถามความคิดเห็นของคนที่ประกอบอาชีพนี้จริงๆ ว่าเขาต้องการการสนับสนุนแบบไหน
“ต้องลองไปถามเขานะว่า อยากขึ้นทะเบียนไหม เสียภาษียังไง แต่เราว่า คนเป็นกะหรี่ไม่ได้เครียดเรื่องภาษีหรอก ที่เรากังวลกันคือ คนในสังคมจะยอมรับได้ไหม ถ้ารู้ว่าเขาเป็นกะหรี่ ยอมรับให้ฉันเท่าเทียมคุณ หรือยอมรับได้ไหมว่า ถ้าฉันทำงานแบบนี้แล้วจะได้รับสิทธิการคุ้มครองเท่าเทียมกับอาชีพอื่นๆ ตรงนี้ต่างหากที่มันทำไม่ได้จริง”
ขณะที่ ทาทามองว่า ในเรื่องของกฎหมายนั้น ต้องแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งคือกลุ่ม sex worker หลายคนก็พยายามผลักดันให้อาชีพนี้เป็นอาชีพถูกกฎหมาย เพราะจะช่วยให้เขาเข้าถึงการบริการ สวัสดิการต่างๆ ได้
แต่อีกด้านหนึ่ง ก็มี sex worker หลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการให้อาชีพนี้ถูกกฎหมายเพราะมองว่า โครงสร้างทางสังคมยังไม่ได้เอื้ออำนวยให้พวกเขา และยังไม่ได้สร้างคุณค่าให้กับอาชีพเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบอาชีพ sex worker รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน อย่างที่อาชีพหมอ พยาบาล หรืออาชีพอื่นๆ เป็น
“เราว่า ผู้ค้าบริการอาชีพอิสระ ก็อาจจะใส่เป็นอาชีพอิสระไปเลยก็ได้ มันก็ครอบคลุมอยู่แล้ว ในเชิงอาชีพอิสระ แต่ขณะเดียวกัน อาชีพอิสระก็ไม่ได้มีสวัสดิการครอบคลุมไปเสียทั้งหมด แม้กระทั่งการทำธุรกรรมหรืออื่นๆ ใดๆ อย่างเช่น การซื้อบ้าน การซื้อรถ พอถูกระบุเป็นอาชีพอิสระ ก็จะถูกทำให้การเข้าถึงสิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องลำบาก ฉะนั้น เลยกลายเป็นว่า เขาก็ยังเป็นอาชีพที่สวัสดิการและการเข้าถึงใดๆ มันยังลำบาก”
ทาทาเสริมอีกว่า ถ้าภาครัฐทำให้กฎหมายครอบคลุมอาชีพอิสระ ซึ่งรวมถึง sex worker เข้าไปด้วย ให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มอาชีพเหล่านี้ สามารถซื้อบ้าน ซื้อรถได้ ทำธุรกรรมใดๆ ได้เหมือนกับอาชีพอื่นๆ ก็คงเป็นเรื่องที่ดีมากเช่นกัน