อาจไม่ต่อเนื่องนัก แต่ก็เป็นเวลารวมเกือบหนึ่งปีเต็มแล้ว ที่สถานบริการเพื่อนเที่ยวทั้งหลาย ไม่ว่า ไซด์ไลน์, คาราโอเกะ หรือนวดกระปู๋ต้องปิดตัวลงจากการระบาดของไวรัส COVID-19 และแน่นอนว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบที่สุดคือ เซ็กเวิร์กเกอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่กฎหมายไทยยังไม่รองรับว่ามีตัวตน
แต่จะพูดให้คนกลุ่มนี้ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 100,000 คนในไทย หยุดทำอาชีพนี้กันไปซะ แล้วเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นให้หมด ก็คงไม่ง่างขนาดนั้น เพราะนอกจากปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมไทยเองที่ไม่เปิดโอกาสให้ขยับตัวง่ายนัก ความน่าดึงดูดจากรายได้ของอาชีพนี้ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ (ที่ไม่ผิดเลยแม้แต่นิดเดียว ในโลกทุนนิยม)
ในวิกฤตโรคระบาด COVID-19 เช่นนี้ The MATTER ได้พูดคุยกับเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ถึงผลกระทบที่พวกเธอได้รับในช่วง COVID-19 การดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ รวมถึงข้อเรียกร้องที่พวกเธออยากส่งให้ถึงภาครัฐและรัฐบาล ทั้งในฐานะแรงงานภาคบริการ และในฐานะประชาชนคนหนึ่ง
ยากและลำบาก
ถึงแม้ ตัวเลขของเซ็กเวิร์คเกอร์ในประเทศไทยยังไม่แน่นอนนัก แต่รายงานหลายฉบับก็ชี้ตรงกันว่ามีไม่ต่ำกว่า 100,000 คนอย่างแน่นอน ขณะที่ถ้าพูดถึงในแง่เศรษฐกิจ เมื่อปี 2558 เว็บไซค์ Havocscope เคยประมาณว่าธุรกิจค้าบริการในไทยมีเงินหมุนเวียนมากถึงประมาณ 2 แสนล้านบาท
และแรงงานจำนวนมากขนาดนี้ ทั้งยังสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างไรบ้างในช่วงวิกฤตโรคระบาด COVID-19
มิลค์ (นามสมมุติ) เซ็กเวิร์คกเกอร์วัยกลางสามสิบที่อยู่ในจังหวัดอุดรธานี เล่าว่าตั้งแต่ไวรัสเริ่มระบาดหนักเมื่อต้นปีที่แล้ว จนมาถึงตอนนี้ สถานบริการในจังหวัดอุดรธานีเกือบทั้งหมดปิดตัวลง บางแห่งปรับตัวเป็นร้านอาหาร ทำให้กลุ่มเพื่อนรวมถึงตัวเธอเองว่างงาน และรายได้หดหายไปจากเดิมนับ 10 เท่า
สำหรับมิลค์เอง เธอมีบ้านต้องผ่อน ค่ารถต้องส่ง รวมถึงลูกอีกหนึ่งคนต้องเลี้ยง รายได้ที่เคยมีตกราว 60,000 – 70,000 บาท/ เดือน เหลือเพียงแค่ไม่ถึง 5,000 บาท/ เดือนเท่านั้น ซึ่งมาจากการกรีดยางหรือรับจ้างทั่วไปที่มีเข้ามาบ้างตามโอกาส
“สำหรับเรา ผลกระทบมันเริ่มตั้งแต่มกราคมปีที่แล้วเลย ถึงร้านกลับมาเปิดในปีนี้ได้ช่วงหนึ่ง ก็แทบไม่มีลูกค้าเลย เจ้าของร้านก็ลดเงินเดือน และสุดท้ายก็ต้องกลับมาปิดอีก” มิลค์กล่าว
“ทุกวันนี้ เราอยู่บ้านเฉยๆ ออกไปรับจ้างเก็บยางพาราบ้าง แต่มันก็เก็บได้แค่เดือนละสองครั้งเอง จะไปทำงานอื่น เขาก็รับอายุจำกัด ต้องมีประสบการณ์ ต้องมีวุฒิการศึกษานั่นนี่นู่น จะไปสมัครเป็นแม่บ้านเขาก็ไม่เอา เพราะเราไม่เคยทำ” เธอเล่า
มิลค์อาจเป็นกรณีที่ดีกว่าหน่อย หากเทียบกับเพื่อนบางคนของเธอ ซึ่งถูกยึดบ้านและรถยนตร์ไปเรียบร้อย จนขณะนี้ เป็นตายร้ายดีอย่างไรเธอก็ไม่รู้ เพราะไม่สามารถติดต่อหาเพื่อนคนนี้ได้อีกแล้ว
ทางด้าน โอ๋ – ชัชลาวัณย์ เมืองจันทร์ จากมูลนิธิ Empower ที่ทำงานผลักดันสิทธิของกลุ่มเซ็กเวิร์กเกอร์ให้ข้อมูลกับเราว่า ตอนนี้เซ็กเวิร์กเกอร์ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการระบาดอย่างหนัก อีกทั้งยังถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง เช่น ในกรณีของกลุ่มที่ทำงานในพัทยาถูกนายจ้างขอแปะเงินไว้ก่อนโดยอ้างว่างขอนำเงินไปหมุน
“มีที่นายจ้างเขาติดเงินกับเรา (กลุ่มเซ็กเวิร์กเกอร์) ด้วย เช่น ค่าดื่ม ค่าออกไปกับลูกค้า ค่าอะไรต่างๆ อย่างพื้นที่พัทยา เขาจ่ายเป็นวีคทัก 7 วัน หรือ 15 วัน แต่พอถูกสั่งปิดก่อนเวลาที่เงินออก เจ้าของร้านก็ไม่ยอมจ่าย บอกขอหมุนเงินก่อน ขอติดไว้ก่อน อย่างนั้นอย่างนี้”
“ไม่ช่วยไม่พอ ยังติดหน้ีเราอีกต่างหาก” โอ๋กล่าว
บินลัดฟ้าเพื่อเอาชีวิตรอด
“ที่ดูไบ เขามีงานให้ทำ ไม่ได้ปิดขนาดนี้”
การเดินทางสู่กรุงดูไบ ประเทศสหรัฐ อาหรับเอมิเรตส์เป็นหนทางหนึ่งที่มิลค์กำลังครุ่นคิดอยู่ โดยก่อนหน้านี้ เพื่อนของเธอ 3 คนได้ตัดสินใจบินล่วงหน้าไปที่กรุงดูไบก่อนแล้ว ผ่านการติตต่อกับเอเยนต์ซึ่งมีสัมพันธ์กับร้านในดูไบ
“เรามีเพื่อนที่เคยไปแล้ว เขาก็จะบอกเอเยนต์ให้ และเราก็ติดต่อผ่านเอเยนต์ ทำวีซ่า และเสียค่าแทกซ์ (ค่าดำเนินการ) ให้เขาประมาณ 100,000 กว่าบาท”
“เรามีเพื่อนที่เคยไปแล้ว เขาก็จะบอกเอเยนต์ให้ และเราก็ติดต่อผ่านเอเยนต์ ทำวีซ่า และเสียค่าแทกซ์ (ค่าดำเนินการ) ให้เขาประมาณ 100,000 กว่าบาท” เธอเล่าต่อว่าเพื่อนของเธอที่อยู่ในดูไบตอนนี้ ได้รายได้ตก 60,000 – 70,000 บาท/ เดือน สามารถทำงานได้เป็นระยะเวลา 3 เดือน แถมเมื่อไปถึงยังมีวัคซีน COVID-19 ให้ฉีดด้วย
ตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กรุงอาบูดาบี เมืองหลวงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกที่ประกาศฉีดวัคซีน COVID-19 ฟรีให้แก่ประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศ ก่อนทางการจะประกาศขยายพื้นที่ฉีดวัคซีนฟรีในเวลาต่อมา โดยจะมีให้เลือกทั้งวัคซีนของจีนยี่ห้อ Sinopharm รวมถึงวัคซีนคุณภาพจากเยอรมนีอย่าง Pfizer
“แต่อย่างที่บอกมันก็เสี่ยง หนึ่ง เสี่ยงโดนหลอก สอง เสียค่าแทกซ์แพง แต่ก็ยังคิดว่าจะไปกับเขาเหมือนกัน”
ทางด้าน โอ๋ – จากกลุ่ม Empower ก็ให้ข้อมูลคล้ายกันว่า ทุกวันนี้กลุ่มเซ็กเวิร์กเกอร์มีการส่งข่าวกันภายในกลุ่ม ให้ลองหาวิธีติดต่อเอเยนต์เพื่อเดินทางออกจากประเทศไทย ซึ่งนอกจากดูไบแล้ว ก็ยังมีเกาหลีใต้ รวมถึงบาเรนต์
อย่างไรก็ตาม โอ๋เล่าว่าไม่ใช่ทุกคนที่สามารถใช้วิธีนี้เอาตัวรอดได้ เพราะการตัดสินใจแบบนี้มีต้นทุนที่ต้องจ่าย รวมถึงต้องมีคอนเนคชั่นอยู่บ้าง ในการติดต่อกับเอเยนต์
โอ๋เข้าใจดีว่า เมื่อได้ยินวิธีแบบนี้บางคนอาจเป็นกังวลว่าพวกเธอจะโดนหลอกไปและถูกนำไปค้ามนุษย์หรือเปล่า แต่โอ๋เชื่อว่าสายสัมพันธ์ในกลุ่มเซ็กเวิร์กเกอร์ด้วยกันเองนั้นเข้มแข็ง และมีการส่งข่าวที่น่าเชื่อถือให้กันตลอดเวลา
“ที่เห็นโดนหลอก นั่นคือกลุ่มที่เพิ่งมาทำงานใหม่คล้ายๆ อยากไปขุดทองที่ต่างประเทศ แต่กลุ่มที่เขาทำงานกันอยู่แล้ว เขามีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอยู่ตลอด พูดง่ายๆ เหมือนมีการทำรีเสิร์ชนั่นแหละ”
ในแง่หนึ่ง ก็น่าชื่นชมในหัวจิตหัวใจของพวกเธอ ที่กัดฟันอดทนต่อปัญหาและหาทางหนีเพื่อเอาชีวิตรอดเช่นเดียวกับทุกคน แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ช่างน่าเศร้า ที่แรงงานไทยกลุ่มหนึ่งถูกวิกฤตทุบตีรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น และไม่มีมือจากรัฐเข้ามาโอบอุ้มดูแลเลย จนทางออกสุดท้ายของพวกเธอก็เหลือเพียง ‘หนีไป’
ปรับตัวสู่โลกออนไลน์
สำหรับนักเที่ยวคงพอรู้บ้างว่า ในระยะหลังมานี้ กลุ่มเซ็กเวิร์กเกอร์ได้ปรับตัวสู่โลกออนไลน์มาสักพักแล้ว และยิ่งชัดเจนมากขึ้นในช่วงที่โรคระบาดรุนแรงขึ้น
ไม่ได้มีเจตนาชี้โพรงให้กระรอก แต่ผมได้ลองเสิร์ชคีร์เวิร์ดคำว่า ‘สาวไซด์ไลน์’ ลงในช่องค้นหาของกูเกิล และพบว่ามีเว็บไซต์ที่รวบรวมน้องๆ ให้มารวมกันหลายเว็บเลยทีเดียว ซึ่งตรงกับที่ ธัญญวัฒน์ อิพภูดม เคยเขียนไว้ในบทความ อาบอบนวดยุค Disruption: เมื่อผมแอดเฟรนด์เข้าไปใน Official Account ของธุรกิจเซ็กส์ 4.0 เพียงแต่น่าสนใจขึ้น เพราะในภาพของน้องๆ บางคนมีคุณสมบัติเพิ่มเติมที่เขียนว่า ‘ฉีดวัคซีนแล้ว’
โอ๋ เล่าว่าในพื้นที่เชียงใหม่เองก็มีกลุ่มเซ็กเวิร์กเกอร์ในระบบออนไลน์อยู่ ซึ่งเป็นวิธีดิ้นรนหนึ่งของกลุ่มเซ็กเวิร์เกอร์ในวิกฤตโรคระบาด โดยบางคนอาจมีรายได้อยู่ที่ 50,000 บาท/ เดือน ขึ้นอยู่กับหน้าตา รูปร่าง การบริการ รวมถึงรีวิวจากพี่ๆ ที่มาใช้บริการ
สำหรับกลุ่มที่เริ่มหันสู่ระบบออนไลน์ โอ๋เล่าว่าเอเยนต์จะเรียกเก็บค่าแรกเข้าที่ประมาณ 4,000 บาท/ คน เพื่อรวมเงินจ่ายค่าต๋งให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีการหักค่าดำเนินการสำหรับทุกๆ รอบที่มีการซื้อบริการอย่างต่ำ 500 บาท/ รอบ
แต่ถ้าคิดจะเปิดขายเองไม่ผ่านคนกลาง เช่น ผ่านแอพพลิเคชั่นทวิตเตอร์ เธอเล่าว่าบางทีอาจโดนกดรีพอร์ต รวมถึงมีความเสี่ยงที่จะลูกค้าบางรายจี้ปล้นหรือทำร้ายร่างกาย (ซึ่งไม่สามารถฟ้องตำรวจได้ เพราะกฎหมายยังไม่รองรับการมีอยู่ของอาชีพนี้) จนสุดท้ายกลายเป็นการบังคับกลายๆ ให้ต้องเข้าสู่ระบบคนกลางอยู่ดี
กลุ่มที่มีปัญหาน่ากังวลอีกกลุ่มคือ กลุ่มที่ไม่ได้เป็นชาติพันธุ์ไทย แต่เป็นกลุ่มไทใหญ่หรือม้ง
“กลุ่มนี้สาหัสมากเลย บางคนต้องเข้าสู่กระบวนการใต้ดิน ทำบัตรประชาชนปลอม หรือประวัติปลอมเพื่อสมัครทำงานในโลกออนไลน์” ซึ่งเธอแสดงความเป็นห่วงว่ามันอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา
ระบาดยาวนาน เยียวยานิดเดียว
ทั้งมิลค์และโอ๋ยืนยันว่า ในการระบาดรอบแรก กลุ่มเซ็กเวิร์กเกอร์ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ 15,000 บาท แต่เมื่อการระบาดลากยาวอย่างต่อเนื่องมาถึงขณะนี้ การเยียวยาก็ขาดหายไป จนไม่เพียงพออีกแล้ว
โอ๋ยกตัวอย่างเครือข่ายของเธอที่อยู่ในพื้นที่การระบาดสีแดงเข้ม ซึ่งควรที่จะได้รับเงินเยียวยามาตรา 33 เพิ่มเติม แต่เมื่อไม่มีการเดินเรื่องจากนายจ้าง ทำให้พวกเธอพลาดสิทธิตรงนี้ไป
“เงินเยียวยาลูกจ้างจากการล็อคดาวน์ใน 13 จังหวัดสีแดงเข้ม เชื่อไหม พอลองไปไล่ถามพวกที่ทำงานในกรุงเทพฯ ว่านายจ้างไปยื่นเอาเงินชดเชยมาตรา 33 ให้ลูกน้องไหม เขาไม่ไปยื่นกันเลย ทั้งที่มันเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเจ้าของร้านและลูกจ้างเองนะ”
โอ๋อธิบายจากมุมของเธอว่า ถึงแม้ผู้ประกอบธุรกิจประเภทนี้จะเห็นด้วยถ้าเซ็กเวิร์กเกอร์ได้รับการรับรองทางกฎหมาย แต่ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้ พวกเขาก็เลือกที่จะปัดความรับผิดชอบ และปล่อยให้ลูกจ้างเหล่านี้ไปตายเอาดาบหน้ากันเอง
“พี่มองว่าเจ้าของกิจการเขาไม่อยากรับผิดชอบ เพราะส่วยก็ต้องจ่ายเยอะอยู่แล้ว ไม่นับว่าต้องมาดูแลลูกจ้าง 300-400 คนอีก (ในสถานบริการย่อมไม่ได้มีแค่ลูกจ้างที่เป็นเซ็กเวิร์กเกอร์) กลายเป็นว่าน้องที่ทำงานเหล่านี้ต้องไปส่งมาตรา 40 กันเอง มันก็สะท้อนให้เห็นว่าเราไม่เคยอยู่ในระบบเลย และเจ้าของร้านก็ไม่เคยพยายามขยับเพื่อพาเราเข้าสู่ระบบ”
สถานะที่ดำรงอยู่จริง แต่กฎหมายไม่รองรับ ทำให้แรงงานเซ็กเวิร์กเกอร์ถูกเอารัดเอาเปรียบจากรอบด้าน ไม่ต่างจากชิ้นเนื้อของแฮมเบอร์เกอร์ที่ถูกบีบจากทั้งนายจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐที่วางตัวอยู่เหนือสุด หยิบชิ้นปลามันจากทุกคน
“อยากแค่ให้รัฐบาลเยียวยาพวกเราบ้าง เดือนละ 5,000 บาทก็ยังดี เพราะพวกเรากลุ่มภาคบริการคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักและนานที่สุด” มิลค์กล่าวถึงข้อเรียกร้องเดียวที่เธอหวัง
ดาบสุดท้ายคือ ศาลแพ่ง
แม้ทาง Empower ยังมองว่าความลำดับแรกที่สำคัญที่สุดคือ ต้องยกเลิก พ.ร.บ.ค้าประเวณี 2539 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และออกกฎหมายใหม่ที่ยอมรับและให้การคุ้มครองกลุ่มเซ็กเวิร์กเกอร์เสียที
อย่างไรก็ตาม เธอยอมรับว่าคงหมดหวังแล้วกับการขยับเขยื้อนในรัฐบาลชุดนี้ และเธอเตรียมพร้อมที่จะเดินหน้ายื่นฟ้องรัฐบาลกับกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายในเวลานี้
“ตอนนี้ เราไม่อยากพูดอะไรกับรัฐบาลนี้แล้ว มันมาสุดทางแล้ว ก่อนหน้านี้ที่เราไปทำกิจกรรม ‘ตบส้นสูงบุกทำเนียบ’ เราบอกว่าถ้าไม่เยียวยาเราจะยกระดับ ซึ่งตอนนี้เราเริ่มคุยกันแล้วว่าเราจะฟ้องศาลแพ่งว่ารัฐบาลไม่เยียวยาพวกเราเลยจากผลกระทบครั้งนี้” เธอกล่าวต่อว่า “และถึงแม้ศาลอาจไม่รับคำฟ้องของพวกเรา แต่เราก็มองว่ามันเป็นกระบวนหนึ่งที่เราใช้ได้ และเราก็จะลองใช้ เพราะเราอยากรู้ว่ารัฐบาลนี้ไปสุดทางได้ขนาดไหน”
โอ๋ทิ้งท้ายว่า “เราไม่อยากพูดอะไรกับรัฐบาลนี้แล้ว เพราะเขาไม่สนใจคำพูดของพวกเราเลย เราพูดซ้ำๆ แต่พวกเขาก็เลือกที่จะไม่ทำ และทิ้งคนบางกลุ่มไว้ข้างหลัง”
กลุ่มเซ็กเวิร์กเกอร์คือหนึ่งในภาพสะท้อนที่ดีที่สุดของปัญหาที่ผุดขึ้นในสังคมไทยจากการระบาด สุดท้ายคำถามสำคัญยังคงเป็น รัฐบาลจะสนใจและเห็นค่าพวกเขาในฐานะคนไทยและมนุษย์คนหนึ่งบ้างไหม ?
Illustrator By Waragorn Keeranan