ปีนี้มีหนังญี่ปุ่นเข้ามาฉายหลายเรื่องหลายสไตล์มาก ไม่ว่าจะเป็นสไตล์หนังตลาดจัดหนัก ไหนจะ Terra Formars ไหนจะ Shin Godzilla แต่อีกแนวหนึ่งของหนังปุ่นที่เข้าฉายในประเทศไทยมาตลอดๆ ก็คือแนวชีวิตหนักๆ ฟีลอารมณ์มาเต็ม อย่างในปีนี้เองก็มี After The Storm เป็นตัวแทนสายนี้
หนังสายตลาดจ๋าๆ อาจไม่ได้กินใจคนดูไปทุกคน หลายๆ คนก็อาจจะงงกับ Shin Godzilla ภาคใหม่ (ส่วนผู้เขียนชอบมากๆ) แต่สำหรับหนังสายอารมณ์ทั้งหลายแหล่ ไม่ว่าจะเป็นหนัง หรือ อนิเมชั่น มักกระแทกใจให้คนดูสามารถน้ำตาไหลออกมาทั้ง ๆ ที่พล็อตมันดูไม่มีอะไรเลยนะ ฮึ่ย #หยิบผ้าเช็ดหน้าซับน้ำตา
แล้วทำไมเราถึงร้องไห้น้ำตาแตกกัน มันก็น่าจะมีสาเหตุใช่มะ เราจะพยายามบอกเล่าเก้าสิบถึงสาเหตุที่เราคิดนะว่า ทำไมหนังญี่ปุ่นถึงฮุกหมัดเด็ดได้บ่อยๆ ขนาดนี้เนอะ
เล่าเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นจริงในชีวิตคนดู
จะมีอะไรทำให้หนังเรียกน้ำตาเวิร์คไปกว่าการเล่าเรื่องราวที่มัน ‘อาจเกิดได้จริง’ กับทุกคน ต่อให้เป็นหนังหรืออนิเมชั่นก็เถอะ ก็ในเมื่อเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวก็ย่อมทำให้คนอินได้ง่าย อย่างเรื่อง ‘เมื่อซากุระร่วงโรย’ (5cm Per Second) อนิเมชั่นที่เล่าเรื่องความเหงาของคนเมืองกับความสัมพันธ์ของคนรัก ทั้งที่ไม่น่ามีอะไรมาก แต่ทุกคนก็ย่อมเคยมีรักแรกพบ กับรักทางไกล หรือรักที่หลุดพ้นจากมือไป เลยจับใจคนได้ง่าย
หรือหนังเรื่อง After The Storm ก็ทิ้งปมคำถามได้ดีตั้งแต่เริ่มว่า สุดท้ายชีวิตของคนทำงานอาจออกมาไม่งดงาม ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งเรื่องงานและครอบครัว เหมือนอย่างในฝัน หลายๆ คนที่ดูก็อาจตกอยู่ในสภาวะเดียวกันกับตัวเอก หรือไม่ก็กลัวว่าตัวเองจะเป็นเหมือนตัวละครในเรื่อง จึงคล้อยตามกับเนื้อเรื่องจนต่อมน้ำตาของคนดูคนวัยทำงานอย่างเราทำงานง่ายขึ้น…ใครหั่นหัวหอมฟระ ฮือ
สร้าง ‘ช่องว่าง’ ระหว่างฉาก
อย่างหนึ่งที่มักเกิดขึ้นในหนังญี่ปุ่นคือฉากทิ้งว่าง โล่งๆ แพนภาพไปไกลๆ เห็นเส้นขอบฟ้า แสงตะวัน ผืนหญ้า ท้องทะเล หรืออีกแบบคือการซูมโฟกัสไปยังวัตถุใดวัตถุหนึ่งที่ควรจะมีคนมาร่วมกิจกรรม แต่กลับไม่มีคน ซึ่งเป็นเทคนิคการเล่าเรื่องของวิชาภาพยนตร์เพื่อเทียบให้เห็นสเกลอะไรต่อมิอะไรของเนื้อเรื่องแทน สำหรับหนังญี่ปุ่นแล้ว การใส่ช่องว่างไม่ว่าจะมากหรือเล็กน้อย ถือเป็นการถ่ายทอดอารมณ์ของเรื่อง ทั้งยังเป็นการทำให้คนดูได้คิดว่า เมื่อตะกี้นี้ตัวละครในเรื่องพูดอะไรกัน สุดท้ายช่องว่างตรงนี้ ก็ทำให้คนดูอินจนไม่ว่าจะเกิดอะไรต่อจากนั้นก็จะสร้างความอิมแพคต่อคนดูที่เริ่มอินกับความรู้สึกของตัวละครไปแล้ว #หยิบทิชชู่
ใส่ตัวละครที่ดูไม่จำเป็นเข้าไป แต่สุดท้ายเป็นตัวทำให้ตัวเอกเกิด awareness
กรณีนี้ถ้าอยู่ในหนังไทย เราอาจได้เห็นตัวละครไม่จำเป็นโผล่มาเยอะ หลายทีตัวละครเหล่านี้ออกมาแค่เดินผ่านฉากบ้าง โดนต่อยกระเด็นจบไปบ้าง ไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อเนื้อเรื่องเลยแม้แต่น้อย ทว่าในหนังญี่ปุ่น ตัวละครที่โผล่มาเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อชีวิตของตัวละครหลัก
อย่างพนักงานร้านสะดวกซื้อ ถึงดูเป็นคนที่โผล่ออกมาไม่กี่นาทีต่อซีน แต่หนังญี่ปุ่นหลายๆ เรื่องจะปรับให้ตัวละครแบบนี้กลายเป็นตัวละครที่รับรู้การไปมาของตัวละครเอก จนหลายครั้งพวกเขาอาจมาส่งคำพูดสั้นๆ แต่สร้างผลกระทบที่ทำให้ตัวละครเอกตระหนักได้ว่าชีวิตของเขานั้นหมุนผิดทิศไปตรงไหน โอย ยอมแพ้ ร้องไห้ก็ได้
เล่ากิจวัตรประจำวันที่ทำซ้ำๆ พอถึงฉากกระแทกใจก็ทำให้เปลี่ยนไปจากเดิม
ข้อนี้เอง จริงๆ ก็เป็นเทคนิคของการถ่ายทำภาพยนตร์อย่างหนึ่งเช่นกัน แต่ไม่รู้ทำไมการเทียบเคียงให้เกิดซ้ำกันมากๆ อย่างใน The Departure เราจะได้เห็นการแต่งตัวแต่งหน้าศพอยู่หลายครัั้ง แต่พอในครั้งท้ายๆ ที่ตัวเอกต้องแต่งศพให้คนใกล้ชิด มันกับมีเรื่องหลายอย่างทำให้ตัวเอกคิดมากจนร้องไห้ระหว่างกระทำกิจวัตรที่เขาทำมาตลอดเรื่องเสียอย่างนั้น ไม่รู้ทำไมในหนังญี่ปุ่นถึงเอาคนดูอยู่ชะมัดยาด ซึ่งหลายทีก็เป็นการไปต่อยอดกับตัวละครข้อก่อนหน้านี้แหละ พอมันมาคอนทราสท์กับซีนที่การกระทำนั้นแตกต่างไปจากเดิม ก็เหมือนกับการปาแก๊สน้ำตาเข้าหน้าคนดูแบบจังๆ
สุดท้าย จบปลายเปิด
จริงๆ กว่าจะมาถึงจุดนี้หลายๆ คน ก็น่าจะร้องไห้ต่อมน้ำตาแตกไปแล้ว ทว่าการที่เรายกข้อนี้มาพูดถึงก็เพราะหนังญี่ปุ่นหลายเรื่องเลือกไม่เติมฉากจบอันมีความสุขให้กับตัวละครเอกเท่าไหร่ ส่วนมากของหนังญี่ปุ่นแนวเรียกน้ำตา มักมาพร้อมฉากจบที่เปิดช่องให้คนดูคิดต่อว่าเรื่องราวของคนเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร
แล้วพอฉากจบมันค้างเติ่ง จึงพาลให้คิดว่าชีวิตของตัวละครในเรื่องจะเดินซ้ำทางเดิมไหม หรือเขาจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้หรือเปล่า ซึ่งทำให้การดูรอบหลังๆ เราก็ยังอินกับมันอยู่
ลูกสูตรแบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกันในครั้งเดียวก็ได้นะ เพราะถ้าเนื้อเรื่องที่ดีกับการแสดงเวิร์คๆ มันก็ทำให้น้ำตาไหลได้โดยไม่ต้องใช้สูตรไหนเลยก็ได้…เนอะ