วันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา สายตาของคนรักบาสเกตบอลทั้งหลาย ต่างก็จับจ้องไปที่การคัดเลือกตัวนักบาสเกตบอลจากระดับมหาวิทยาลัย เข้าสู่ทีมอาชีพตามธรรมเนียมทุกปี แต่ปีนี้ สื่อญี่ปุ่นต่างกระตือรือร้นตามติดผลการคัดเลือกตัวในครั้งนี้ เพราะว่า มีนักบาสเกตบอลสัญชาติญี่ปุ่นคนหนึ่ง ที่อยู่ในรายชื่อ 60 คนที่จะถูกคัดเลือกตัว แถมเขายังมีโอกาสที่จะถูกคัดเลือกตัวในอันดับต้นๆ ซึ่งหมายความว่า เขามีฝีมือดีในระดับหัวแถวของรุ่น จนเป็นที่ต้องการของทีมนั่นเอง แต่พอเขาถูกคัดเลือกตัว และทางสื่ออนไลน์ประกาศว่าเขาคือนักบาสเกตบอลชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ถูกคัดตัว ความเห็นในโลกออนไลน์ของชาวตะวันตกหลายความเห็นก็ได้แต่บอกว่า “ไหนคนญี่ปุ่น?”
โดยเขาคือ Hachimura Rui เด็กหนุ่มที่กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าของวงการบาสเกตบอลประเทศญี่ปุ่น
และไม่แปลกอะไรที่หลายคนจะงงกับคำว่า ‘ชาวญี่ปุ่น’ เพราะไม่ว่าจะดูอย่างไร เด็กหนุ่มที่ยิ้มแฉ่งอยู่บนจอนั้น ก็ดูไม่มีความเป็นญี่ปุ่นแบบมาตรฐานที่เราคุ้นเคยเลย เพราะเขาดูเหมือนกับเด็กหนุ่มผิวสีคนหนึ่งในอเมริกาเสียมากกว่า และในความเป็นจริง เขาก็เป็นลูกครึ่ง หรือที่สังคมญี่ปุ่นติดเรียกว่า ฮาฟุ (Half) ระหว่างพ่อชาวเบนิน และแม่ชาวญี่ปุ่น ทำให้รูปลักษณ์ของเขาออกจะไปทางผิวสีเสียมากกว่า แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น เส้นทางการเดินตามความฝันของเขาก็ไม่ใช่ง่ายๆ กว่าจะมาถึงวันนี้
Hachimura Rui คือเด็กชายฮาฟุ ที่เกิดและโตขึ้นมาในจังหวัดโทยามะ จังหวัดเงียบๆ ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น ด้วยความที่เขาเป็นลูกครึ่งผิวสี ทำให้ตอนเด็กๆ เขามักจะโดนแกล้งตามประสาชาติที่กว่า 98.5% คือคนเชื้อชาติญี่ปุ่น ซึ่งเวลาเห็นอะไรแปลกไปจากความคุ้นเคยของตัวเองก็มักจะกีดกันออกนอกวงไปเสมอ แต่ถึงอย่างนั้น เขาเองก็พยายามเอาชนะใจคนอื่นด้วยรอยยิ้มจากใจจริง และทักษะทางกีฬาที่ติดตัวเขามาตั้งแต่เกิด เขาได้ลองเล่นกีฬาหลายชนิด แต่สุดท้ายเขาก็ติดใจบาสเกตบอลที่สุด หนึ่งในอิทธิพลของเขาคือ อนิเมะเรื่อง Slam Dunk ที่จริงๆ แล้วฉายจบทางทีวีไปตั้งแต่เขายังไม่เกิด และเขาก็ยังหลงใหลวัฒนธรรมของอเมริกาตามประสาเด็กที่ชอบดูภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด
สิ่งที่เปลี่ยนมุมมองชีวิตของเขาโดยสิ้นเชิงคือ การได้ไปเยือนนิวยอร์กเป็นครั้งแรก แม้เขาจะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย แต่พอเขาออกมาเดินเที่ยวรอบโรงแรมคนเดียว เขาก็พบว่า เขาไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นเลย เพราะทุกคนแตกต่างกันไปหมด เขารู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับนิวยอร์กอย่างประหลาดใจ และอเมริกาก็กลายเป็นเป้าหมายใหม่ของเขา
แถมเมื่อโค้ชบาสเกตบอลของเขาบอกว่า
วันหนึ่งเขาจะไปถึง NBA ได้
เขาก็เชื่ออย่างนั้นเต็มที่
เขาเล่นให้กับทีมโรงเรียนระดับมัธยมต้นที่โทยามะ แล้วก็ฉายฟอร์มโดดเด่น จนไปแข่งระดับประเทศได้ ทำให้มีแมวมองจับตามองเขา และเมื่อเรียนจบมัธยมต้น เขาก็ถูกดึงตัวไปเล่นให้กับทีมโรงเรียนมัธยมปลายเมเซในจังหวัดมิยางิ ซึ่งเขาก็พาทีมคว้าแชมป์ระดับประเทศ 3 ปีติด และกลายเป็นกำลังสำคัญของทีมชาติญี่ปุ่นในรุ่นของเขา เมื่อเขามีโอกาสได้ไปแข่งในนามทีมชาติที่ต่างประเทศ ทำให้เขาได้เปิดโลกกว้างขึ้น ไม่เหมือนเวลาแข่งในญี่ปุ่นที่เขามักจะถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ
ระหว่างช่วงมัธยมปลายนี่เองที่เขาได้ไปแข่งในทัวร์นาเมนต์ของ FIBA ตอนเรียน ม. 5 และโชว์ผลงานเด็ดขนาดทำ 25 คะแนนใส่ทีมอเมริกาที่มีทั้ง Jason Tatum และ Josh Jackson อยู่ในทีม (ปัจจุบันทั้งคู่เล่นใน NBA ให้กับทีม Boston Celtics และ Phoenix Suns ตามลำดับ) และเขาเองก็พยายามบอกคนนั้นคนนี้ว่า เขาอยากจะไปเล่นบาสที่อเมริกา พอกลับมาญี่ปุ่น เขาก็ได้ข่าวดีจากโค้ชของเขาว่า มหาวิทยาลัย Gonzaga ในอเมริกาสนใจในตัวเขา แม้เขาจะงงว่า Gonzaga คืออะไร แต่เขาก็ดีใจว่า มีโอกาสเสนอมาถึงตัวแล้ว เขาไปดูมหาวิทยาลัยที่อเมริกากับโค้ช กลับมาญี่ปุ่น และทางโค้ชทีมมหาวิทยาลัยก็แวะดูตัวเขาหลังจากแข่งซ้อมที่ญี่ปุ่น ซึ่งก็แทบจะการันตีเส้นทางของเขาหลังจากคว้าแชมป์ปีที่ 3 และกลายเป็นดาวดังของวงการบาสเกตบอลของญี่ปุ่นได้ แต่ก็ยังมีอุปสรรคขวางกั้นเข้าอยู่ นั่นคือการสอบ SATs ที่เขาต้องพยายามถึง 5 ครั้ง กว่าจะผ่านเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยได้
และถึงจะเข้ามหาวิทยาลัย Gonzaga และได้ร่วมทีม Bulldogs ของมหาวิทยาลัย ซึ่งเคยผลิตลูกศิษย์ดังๆ อย่าง John Stockton ตำนานทีม Utah Jazz หรือในปัจจุบันก็มี Zach Collins และ Domantas Sabonis ที่กำลังเล่นให้กับ Portland Trail Blazers และ Orlando Magic ตามลำดับ แต่ชีวิตก็ไม่ได้เตรียมเส้นทางง่ายๆ ให้กับเขา แม้เขาจะชื่นชอบวัฒนธรรมอเมริกัน แต่ภาษาอังกฤษของเขาก็อ่อนมาก หลายครั้งที่แม้หัวเขาจะคิดได้แล้ว แต่ปากก็พูดตามไม่ทัน สื่อสารไม่รู้เรื่อง เขาแทบไม่เข้าใจว่าโค้ชต้องการอะไร กำลังชมหรือด่าเขาอยู่ จนเพื่อนร่วมทีมรู้ว่า เวลาเขาพยักหน้า หมายถึง เขาไม่ได้รู้เรื่องอะไร
บางทีอาจจะเป็นระบบการคิดการสื่อสารแบบญี่ปุ่นที่ไม่เข้ากับอเมริกันสไตล์ก็ได้ ไม่แปลกอะไรที่ในปีแรก ดาวดังจากญี่ปุ่น จะไม่ได้มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน มีเวลาลงเล่นจำกัด เพราะทีมก็เป็นทีมแกร่งลุ้นแชมป์อยู่แล้ว จึงขึ้นอยู่กับตัวเขาว่าจะตามทีมได้หรือไม่ ไม่ใช่ทีมต้องทุ่มเพื่อพัฒนาตัวเขา จากเด็กหนุ่มที่เคยแปลกแตกต่างจากคนอื่น เขามาพบกับสถานที่ที่ทำให้เขารู้สึกสบายใจที่เหมือนกับคนอื่น แต่เขาก็ต้องพยายามอีกครั้งเพื่อให้ตัวเองโดดเด่นขึ้นมา ครั้งนี้ไม่ใช่ด้วยรูปลักษณ์ แต่เป็นด้วยฝีมืออย่างเดียวล้วนๆ แล้ว
แน่นอนว่า เส้นทางของชาวญี่ปุ่นกับ NBA นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอ
ก่อนหน้าเขาก็มีเพียง Tabuse Yuta ที่เคยเซ็นสัญญากับ Phoenix Suns ในปีค.ศ. 2004 แต่ก็ได้เล่นเพียงแค่ 4 นัดเท่านั้น (เกร็ดเล็กน้อย : โรงเรียนเทคนิค Noshiro ของ Tabuse คือต้นแบบที่กลายมาเป็นโรงเรียนเทคโนซังโนในเรื่อง Slam Dunk) ปัจจุบันก็มี Watanabe Yuta ที่พยายามดั้นด้นเพื่อไปเล่นในอเมริกา จนได้เล่นในระดับมหาวิทยาลัย แต่ไม่ติดรายชื่อคัดเลือกตัว แต่ก็ได้ไปร่วมทีม Memphis Grizzlies เป็นชาวญี่ปุ่นคนที่สองที่ได้เล่นใน NBA
แต่ก่อนหน้านั้น เคยมีชาวญี่ปุ่นถูกคัดเลือกตัวในปีค.ศ. 1981 นั่นคือ Okayama Yasutaka นักบาสเกตบอลชาวญี่ปุ่นที่สูงถึง 230 เซนติเมตร เพราะอาการเนื้องอกในสมองทำให้เขามีร่างยักษ์ เขาถูกทีม Golden State Warriors เรียกตัวในรอบที่ 8 แต่ตัดสินใจไม่ไปร่วมทีมเพราะต้องการเล่นให้กับทีมชาติ (ยุคนั้นการเดินทางติดต่อสื่อสารไม่ได้สะดวกเหมือนทุกวันนี้)
แต่ถ้ามองแค่ ‘เชื้อชาติ’ จริงๆ แล้ว เคยมี ‘ชาวญี่ปุ่น’ เล่นให้กับทีมใน NBA มาตั้งแต่ปีค.ศ. 1947 นั่นคือ Misaka “Wat” Wataru ชาวอเมริกันเชื้อชาติญี่ปุ่น (พ่อแม่เป็นผู้อพยพ) ซึ่งเล่นให้กับทีม New York Knicks และยังเป็นนักบาสเกตบอลของ NBA คนแรกที่ไม่ใช่คนผิวขาว แต่ก็เลิกเล่นในเวลาอันสั้นทั้งที่เขาเล่นได้โดดเด่นมากในระดับมหาวิทยาลัย เพราะเขาบอกว่า ทีมมีคนทับตำแหน่งการ์ดกับเขาเยอะไป และปฏิเสธเรื่องการถูกเหยียดผิวแต่ก็ไม่ได้สนิทกับใคร
ดูเหมือนกำแพงกั้นชาวญี่ปุ่นกับ NBA จะสูงไม่น้อย ขนาดที่สำนักพิมพ์ Shueisha เจ้าของเรื่อง Slam Dunk มีทุนการศึกษา Slam Dunk ส่งเด็กญี่ปุ่นไปต่อระดับมหาวิทยาลัยในอเมริกาเพื่อสร้างนักบาสเกตบอลมาหลายปี ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จนัก
แต่แม้จะยากลำบาก เขาก็ไม่ได้ย่อท้อ และเขาก็มุ่งมั่นฝึกซ้อมทั้งบาสเกตบอลและเรื่องภาษา ในปีที่ 2 เขาเริ่มมีบทบาทสำคัญในทีม และโชว์ผลงานดีมากขึ้นเรื่อยๆ จนคาดการณ์กันว่า เขาน่าจะเข้าร่วมคัดตัวในปีนั้น โดยมีสิทธิ์ติดอันดับล่างๆ อยู่ ก็ถือว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของเขา เพราะส่วนใหญ่แล้ว คนที่เข้าเล่นใน NBA มักจะไม่อยู่เล่นในระดับมหาวิทยาลัยจนปี 3 (หลายคนเล่นในมหาวิทยาลัยแค่ปีเดียวเท่านั้น) แต่ดูเหมือนเขาจะยังไม่พอใจในตัวเอง และยังคิดว่ายังไม่พร้อมพอ จึงตัดสินใจอยู่เล่นต่อในระดับปี 3
ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง
เพราะเขาพัฒนาตัวเองพุ่งขึ้นมาอีกระดับ
กลายเป็นดาวเด่นในระดับมหาวิทยาลัย
ทั้งศักยภาพทางร่างกายและแนวทางการเล่น ทำให้เขาถูกจับตามองมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อตอนที่เขานำทีม Gonzaga Bulldogs ลงแข่งใน Maui Invitation Tournament แล้วเอาชนะทีม Duke ที่มีสามประสานสุดโหด Zion Williamson, RJ Barrett และ Cam Reddish ไปได้ รวมถึงทำผลงานโดยรวมได้ดีจนได้เป็น ผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำปีฝั่งตะวันตก ไม่แปลกที่เมื่อเขาเข้าร่วมการคัดตัว จะมีคนที่คิดว่าเขาจะติดอันดับคัดเลือกสูงอยู่มาก ความคาดหวังที่มีต่อตัวเขาพุ่งขึ้นมาสูงมาก
พอทีม Washington Wizards ตัดสินใจเลือกตัวเขาในอันดับที่ 9 ก็กลายเป็นข่าวใหญ่ทั้งในญี่ปุ่นและอเมริกา เขาเองก็ดีใจพูดเป็นภาษาญี่ปุ่นว่าเป็นนักบาสญี่ปุ่นคนแรกที่ถูกเลือกตัว (แต่ก็มาแก้ในภายหลัง โดยที่ คุณ Okayama ก็ไม่ได้ติดใจอะไร และยังบอกว่า Hachimura จะส่งอิทธิพลต่อแวดวงบาสเกตบอลญี่ปุ่นมากกว่าเขามาก) และเขาก็ไม่ลืมรากของตัวเอง เพราะในเสื้อแจ็คเก็ตของเขา ด้านหนึ่งก็เป็นลวดลายสไตล์พื้นเมืองเบนินของพ่อเขา อีกด้านหนึ่งก็เป็นลายภาพพิมพ์อุคิโยะเอะของญี่ปุ่น
แม้จะมีความเห็นหลากหลายว่า เขาจะประสบความสำเร็จใน NBA หรือไม่ เพราะหลายคนก็มองว่าเขาเล่นได้ดีในระดับมหาวิทยาลัยเพราะสมรรถภาพทางร่างกายของเขา แต่อาจจะมีปัญหากับ NBA เพราะว่าการทำความเข้าใจเกมยังไม่ดีพอ แต่นั่นก็คงเป็นเรื่องของอนาคต เพราะบางทีเราก็บอกไม่ได้ว่าใครจะเข้ากับระบบของ NBA แค่ไหน (แต่ส่วนตัวผมห่วงเพราะมองว่าฝ่ายบริหารของทีม Wizards นี่บริหารทีมได้จัดว่าย่ำแย่อันดับต้นๆ ในลีกเลย)
สำหรับตัว Hachimura แล้ว ความสำเร็จของเขาที่ถูกสื่อและชาวญี่ปุ่นจับตามอง คือสิ่งที่เขาต้องการ เพราะเขาอยากจะเป็นตัวอย่างให้กับเด็กวัยรุ่นลูกครึ่งญี่ปุ่นทั้งหลาย ให้เห็นว่า ลูกครึ่งแบบพวกเขาประสำความสำเร็จได้ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็ก Blackanese (Black Japanese คำที่เขาสร้างขึ้นเอง) ซึ่งผลงานของเหล่าลูกครึ่งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Osaka Naomi ในวงการเทนนิสที่เคยเขียนถึงไปแล้ว และ Abdul Hakim Sani Brown ลูกครึ่งกาน่าในวงการกรีฑา จะช่วยสร้างภาพลักษณ์และความเข้าใจให้กับสังคมที่แทบจะมีแต่เชื้อชาติญี่ปุ่นล้วนๆ ให้ยอมรับพวกเขาได้มากขึ้น และโอลิมปิกปีหน้า เราก็คงจะได้เห็นความหลากหลายของชาติพันธุ์ในทีมชาติญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น นำโดย Hachimura Rui เด็กหนุ่มที่ฝ่าฟันจนสามารถเจาะเข้าไปใน NBA ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก