Get Up อีพีชุดใหม่ของวง NewJeans ที่ออกมาเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2023 ได้สร้างกระแสฮือฮามากมาย ไม่ว่าจะเพลง Super Shy (หรือชอบล้อกันว่า ‘ศุภชัย’) ที่กลายเป็นเพลงไวรัลถูกนำไปประกอบคลิปวิดีโอนับไม่ถ้วน หรือตัวอีพีเองก็ทำยอดขายได้ 1.65 ล้านชุดในสัปดาห์แรก แต่อีกสิ่งที่คนพูดถึงกันมากคือแม้อีพีนี้จะมีจำนวน 6 แทร็ค แต่มันกลับยาวเพียง 12 นาทีกว่าเท่านั้น
คำถามต่อมาคือ เพลง K-Pop ทุกวันนี้มันยิ่งสั้นลงเรื่อยๆ หรือเปล่านะ? ช่วงยุค 2010 เราจะเจอเพลงเกาหลีความยาว 3-4 นาทีเป็นเรื่องปกติ แต่ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2010 จนเข้ายุค 2020 เพลงความยาว 2 นาทีกว่ากลับเป็นเรื่องที่พบเจอได้บ่อยมาก
ก่อนอื่นเราต้องมาย้อนประวัติศาสตร์กันเล็กน้อยว่าทำไมความยาวเพลงมาตรฐานถึงอยู่ที่ 3 นาที ทั้งที่พวกเพลงคลาสสิกศตวรรตที่ 18-19 ก็ยาวกันเป็นชั่วโมง คำตอบคือปัจจัยด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ โดยช่วงยุค 40 เพลงจะถูกบันทึกลงแผ่นเสียงขนาด 10 นิ้ว ซึ่งหน้าหนึ่งจะใส่เพลงได้ประมาณสามนาที ต่อมาในยุคที่เพลงโปรโมตทางวิทยุ ศิลปินมักจะทำเพลง 3 นาทีเพื่อไม่ให้แอร์ไทม์มากเกินกว่าระยะเวลาที่ผู้ฟังจะใส่ใจหรือสนใจ (เรียกกันว่า attention span) ตัวอย่างชัดๆ คือวงดังยุค 60 อย่าง The Beatles ที่เพลงหนึ่งยาวเพียง 2-3 นาทีเท่านั้น
พอยุค 80-90 ที่เป็นยุค MTV ความยาวเพลงก็ยังอยู่ที่ 3 นาทีโดยเฉลี่ย เป็นเวลาที่เหมาะสมกับการทำมิวสิกวิดีโอ ทั้งในแง่ความยาว งบประมาณ และเวลาออกอากาศ แต่ก็มีศิลปินหลายรายที่ทำเพลงยาวเกินมาตรฐาน เช่น วงโปรเกสซีฟเมทัล Dream Theater ที่เพลงมักยาว 7-10 นาที (หรือมากกว่านั้น) หรือวงเจร็อคในตำนาน X JAPAN ก็เคยทำเพลง Art of Life ที่ยาวถึง 30 นาที ซึ่งวงเหล่านี้ต้องมีเพลงเวอร์ชั่นสั้นสำหรับเปิดทางวิทยุ (Radio Edit) หรือทำมิวสิกวิดีโอ
ตัดภาพมายุค 2020 ที่เพลงทั่วโลกมีความยาวสั้นลง ไม่ใช่ K-Pop เท่านั้น (เพลง STAY (2021) ของ The Kid Laroi และจัสติน บีเบอร์ ยาว 2.21 นาที ส่วน As It Was (2022) ของ แฮร์รี่ สไตล์ส ยาว 2.43 นาที) เหตุผลแรกๆ ที่คิดได้ก็เพราะคนยุคนี้เป็น TikTok Generation คือผู้คนอยู่เติบโตมากับคลิปสั้นๆ หน้าฟีดที่เลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถจดจ่ออะไรได้นานๆ (หรือมี attention span ที่สั้นลง) มีคนตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเพลง K-Pop ยุคใหม่จะมีอินโทรที่สั้นมาก อย่างเพลง After LIKE ของ IVE ที่เข้าเนื้อเพลงท่อนแรกหลังจากอินโทรเพียง 3 วินาที
ทว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจก็มีผลทำให้วงการต้องผลิตเพลงที่สั้นลง เช่น รายได้ของระบบสตรีมมิ่งหรือการนับอันดับชาร์ตเพลงที่คิดจากชั่วโมงเล่นเพลง ดังนั้นยิ่งเพลงสั้นก็ยิ่งมีโอกาสได้จำนวนชั่วโมงเพิ่มเติม หรือในทางของ K-Pop เราจะสังเกตได้ว่าท่าเต้นของศิลปินมีความยากและพิสดารขึ้นทุกวัน การทำเพลงให้สั้นลงก็เพื่อไม่ให้ศิลปินเหนื่อยจนเกินไป (และตามมาด้วยการลิปซิงค์หรือร้องโดยใช้ backing track จนเป็นเรื่องปกติ)
สำหรับวงการ K-Pop นอกจากเพลงที่สั้นลง จำนวนเพลงก็น้อยลงด้วย ตั้งแต่ทศวรรษ 2010 เป็นต้นมาศิลปินมักไม่ค่อยออกอัลบั้มเต็ม (full album) จำนวน 10 เพลงสักเท่าไร แต่เน้นออกอีพีหรือมินิอัลบั้มที่มีจำนวนเพลง 5-6 เพลงเสียมากกว่า เนื่องจากวง K-Pop มักออกเพลงใหม่ (หรือที่เรียกว่า ‘คัมแบ็ค’) ในระยะเวลาไม่นานนัก หลายวงพยายามคัมแบ็คทุก 3-4 เดือนเพื่อไม่ให้กระแสจางหายไป
พอเข้าช่วงปลายยุค 2010 จนถึงปัจจุบัน K-Pop ยังออกสิ่งที่เรียกว่าซิงเกิ้ลอัลบั้ม (single album) คือผลงานที่มีเพียง 2-3 เพลงเท่านั้น ซึ่งเข้ากับการฟังเพลงของคนยุคปัจจุบันที่มักฟังเพลงเป็น ‘แทร็ค’ มากกว่าฟังเป็น ‘อัลบั้ม’ เพราะคนยุคนี้กดฟังเพลงจากการเลือกในสตรีมมิ่งหรือยูทูบ ไม่เหมือนคนรุ่นก่อนที่ฟังเพลงจากแผ่นไวนิลหรือเทปคาสเซ็ตต์ที่เลือกแทร็คได้ไม่สะดวกนัก
กลยุทธ์ออกเพลงน้อยๆ แบบซิงเกิ้ลอัลบั้มอาจมีผลดีทำให้คนจดจำเพลงได้มากขึ้น อย่างเช่นอาชีพช่วงแรกของวง BLACKPINK ที่เน้นออกซิงเกิ้ลอัลบั้มเป็นหลัก ผู้เขียนจำได้ว่าตอน BLACKPINK ทัวร์คอนเสิร์ตครั้งแรกวงยังมีไม่ถึง 10 เพลงด้วยซ้ำ แต่ผลคือตอนนั่งดูคอนเสิร์ตกลับเอ็นจอยสุดๆ เพราะจำได้ทุกเพลงที่ศิลปินเล่น ไม่มีอาการประเภท “เอ๊ะ นี่เพลงอะไร” หรือ “เพลงนี้มาจากชุดไหนวะ” ส่วนเรื่องเพลงน้อยไม่ใช่ปัญหาแต่ประการใด เพลงอื่นๆ ในคอนเสิร์ตจะเป็นเมมเบอร์โชว์โซโล่ ร้องเพลงคัฟเวอร์ หรือช่วงอังกอร์ก็ร้องเพลงซ้ำกันไปเลย
กลับมาที่อีพี Get Up ของ NewJeans ถ้าถามผู้เขียนว่าความสั้นของอีพีชุดนี้ทำให้มันเป็นผลงานที่แย่มั้ย ก็ตอบว่าไม่เลย ส่วนตัวแล้วผู้เขียนคิดว่าจุดแข็งของ NewJeans คือดนตรีจากต่างจากวง K-Pop วงอื่นและค่อนข้างมีคลาส อย่างชุดนี้ใช้ดนตรีแบบ UK garage (เพลงแดนซ์ยอดนิยมในอังกฤษช่วงกลางยุค 90) เป็นหลัก ซึ่งเป็นแนวเพลงที่ฟังเพลิน ฟังซ้ำได้เรื่อยๆ ผู้เขียนจำได้ว่าฟัง Get Up ครั้งแรกตอนนั่งรถไฟใต้ดินกลับบ้าน ด้วยความที่มันสั้นก็เลยฟังวนไป 5 รอบต่อกัน
นอกจากนั้นทางค่าย ADOR ต้นสังกัดของ NewJeans ยังใช้กลยุทธ์ปล่อยเพลงจากอีพี Get Up ออกมาทีละแทร็ค เกือบทุกแทร็คมีมิวสิกวิดีโอของตัวเอง แถมทุกเพลงยังมีความพิเศษในตัว เพลง New Jeans คอลแลบกับ Powerpuff Girls, Super Shy เล่นใหญ่เวลาแสดงสดด้วยแดนเซอร์มากมายและจอ LED สีวูบวาบ, นักแสดงดังอย่างเหลียงเฉาเหว่ยและจองโฮยอน มาเล่นเอ็มวี Cool With You, เอ็มวี ETA ถ่ายด้วย iPhone 14 Pro ส่วนเอ็มวีเพลง ASAP น้องๆ ก็แปลงร่างเป็นเอลฟ์ นี่ยังไม่นับรวมการตีความเอ็มวีต่างๆ นานา เช่น ตกลงเนื้อเรื่องมันต่อกันมั้ย หรือการเชื่อมโยงกับตำนานปกรณัมกรีกนั่นนี่
เช่นนั้นแล้ว Get Up จึงเป็นผลงานที่เสพซ้ำวนไปได้ทั้งการ ‘ฟัง’ และ ‘ดู’ เรียกได้ว่าเป็นงานที่สั้นแต่ปัง และห่างไกลกับคำว่า ‘คิดน้อย’ แน่นอน