เขาว่ากันว่า ชนใดไม่มีดนตรีการ ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
หลายครั้งที่ดนตรีมักพาผู้คนท่องไปในโลกแห่งความทรงจำจนอาจทำให้ยิ้มทั้งน้ำตา นั้นเป็นเพราะเวทมนตร์ของดนตรีที่กระตุ้นความรู้สึกนึกคิดของเรา หรือความรู้สึกนึกคิดต่างหากที่ทำให้เราตั้งใจเลือกบทเพลงมาประกอบความสุขและความทุกข์ในชีวิต?
แน่นอนว่าเราคนที่กำลังดื่มด่ำกับความรู้สึกภายใต้ตัวโน้ตเหล่านั้น ย่อมเป็นเราคนเดียวกับที่กดเลือกเปิดฟังเพลงในเพลย์ลิสต์ นั่นก็เพราะเสียงเพลงไม่เคยให้เพียงความเพลิดเพลิน แต่ยังทำหน้าที่อื่นๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่คอยปลอบใจ เป็นไทม์แมชชีนท่องเวลา หรือแม้กระทั่งเป็นจดหมายพูดแทนใจในสิ่งที่เราไม่กล้าพูดด้วยตัวเอง หน้าที่เหล่านี้ล้วนมาจากความรู้สึกดำดิ่งไปกับเสียงเพลงจนเกิดปฏิกิริยาทั้งร่างกายและจิตใจ
ซึ่งความรู้สึกดำดิ่งไปกับเสียงเพลงนี้นักวิทยาศาสตร์หลายคนก็ได้ให้เหตุผลไว้ว่า เพราะเมื่อโสตประสาทรับรู้เสียงเพลง ก็จะกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนโดปามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นความสุขและความผ่อนคลายให้เกิดขึ้น ทั้งยังช่วยกระตุ้นระบบการทำงานในสมองให้สอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น ยิ่งผ่อนคลายเท่าไร ยิ่งทำให้ระบบการคิดปลอดโปร่งมากเท่านั้น
และนอกจากเพลงจะทำงานกับสารแห่งความสุขของร่างกายแล้ว เพลงยังทำงานกับสมองในฐานะเครื่องมือจัดการกับความทรงจำ ความรู้สึก รวมถึงประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตที่ผ่านมา ซึ่งนั่นก็ทำให้คนเรา ‘เลือก’ แนวเพลงที่ตนชื่นชอบที่จะฟังไปด้วย เพราะโดยพื้นฐานแล้วคนเราก็มักจะเอาเรื่องราว ความรู้สึก รวมถึงประสบการณ์ต่างๆ ที่เคยได้พบเจอในชีวิต ไปเชื่อมโยงกับความความหลากหลายของจังหวะและความซับซ้อนในดนตรี โดยใช้ปัจจัยอย่าง ความพึงพอใจ ความจริงใจกับความรู้สึกของตนเอง ความซับซ้อนทางดนตรี ความเข้มข้นของเนื้อเสียง และความร่วมสมัย ขัดเกลา ค้นหา หลอมรวมมันให้ออกมาเป็นรสชาติเพลย์ลิสต์โปรดที่คุ้นเคย
ถึงอย่างนั้น เพลย์ลิสต์โปรดก็ไม่ได้เป็นเพียงภาพสะท้อนของความทรงจำหรือประสบการณ์ในชีวิต เพราะบ่อยครั้งเสียงแนวเพลงที่ฟังก็เป็นหนึ่งคำใบ้ที่บ่งบอกถึงบุคลิกภาพของเราได้เหมือนกัน อย่างงานวิจัยเรื่อง ‘Just The Way You Are’: Music Listening and Personality’ ที่ศึกษาอิทธิพลของเสียงเพลงต่อบุคลิกภาพของมนุษย์ผ่านการสังเกตพฤติกรรมการฟังเพลงในแอปพลิเคชั่น Spotify ก็ได้บอกไว้ว่า เพลย์ลิสต์โปรดของคนเราสอดคล้องกับความมั่นคงทางอารมณ์และการมีจิตสำนึก ทั้งยังสอดคล้องกับการนิยามตัวตนของคนคนนั้นไปด้วย
ทว่าคนเราเองก็ไม่ได้เหมือนเดิมตลอดไป การฟังเพลงก็ไม่ต่างกันนัก ในช่วงเวลาของการเติบโตชีวิตอาจจะสุ่มให้เราได้ไปเจอเพลงใหม่ๆ ไม่ต่างจากการพบเจอประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิต เพลย์ลิสต์โปรดของเราจึงสามารถเปลี่ยนไปตามกาลเวลาด้วยเช่นกัน จึงไม่แปลกที่ถ้าเราจะเห็นกองแผ่นซีดีเก่าของพ่อเต็มไปด้วยเพลงร็อก แต่ปัจจุบันพ่อดันเปิดยูทูปฟังเพลงสบายๆ พร้อมบอกว่านี่แหละเพลงโปรดพ่อ หรือแม้กระทั่งแฟนหนุ่มของเราที่หน้าตาดูโหด ดุ แต่ในเพลย์ลิสต์ของเขาเต็มไปด้วยเพลง T-POP ร่วมสมัย เพราะเขานิยามตัวเองว่าเป็นผู้ชายน่ารัก เพลงจึงกลายมาเป็นเครื่องมือที่นอกจากจะเปิดให้คนเข้าใจเรา แต่ยังทำให้เราเข้าใจคนอื่นลึกซึ้งมากขึ้นไปด้วย
และด้วยเสียงเพลงที่ทรงอิทธิพลต่อความรู้สึกและบุคลิกภาพก็ทำให้ในบางครั้งเสียงเพลงอาจเป็นเสียงกรีดร้องที่พยายามส่งสัญญาณว่า เรากำลังมองหาทางออกให้กับตัวเองได้เหมือนกัน โดยงานวิจัยในวารสาร Journal of Cultural Economics กล่าวว่า เมื่อเราต้องการหลีกหนีจากสถานการณ์บางอย่าง ดนตรีก็เป็นประตูบานหนึ่งที่พร้อมให้เราเปิดออกไปสู่โลกอีกใบที่เราอยากให้เป็นได้ ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึงความสุขเพื่อหลีกหนีทุกข์ในชีวิตประจำวัน หรือหากรู้สึกว่าชีวิตราบเรียบเกินไป การฟังเพลงที่มีจังหวะรวดเร็วสนุกสนานก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เราตื่นเต้นเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน
นั่นก็เพราะท่วงทำนองและคำร้องในบทเพลงได้เข้ามาช่วยกระตุ้นความรู้สึกต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อย่างความกระตือรือร้นในการทำงาน ที่เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราก้าวข้ามความเบื่อหน่ายในแต่ละวันไปได้ โดยมีการทดลองหนึ่งลองให้ห้างสรรพสินค้าเปิดเพลงคลอระหว่างที่แคชเชียร์ทำงาน ผลปรากฏว่า เสียงเพลงสามารถช่วยกระตุ้นให้พนักงานทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยให้การทำงานเป็นหมู่คณะมีประสิทธิภาพมากกว่าการไม่เปิดเพลงในที่ทำงานด้วย ในทางกลับกัน การฟังเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความรู้สึกเชิงลบก็อาจทำให้เราสามารถคิดถึงเรื่องราวเลวร้ายที่เราไม่เคยนึกคิดจะทำมาก่อนได้
ดังนั้นทุกเพลงที่เราฟังจึงไม่ได้บ่งบอกเพียงแค่ความรู้สึกในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นเรื่องราวทั้งที่รวดร้าวและงดงามในอดีต มากไปกว่านั้น การเลือกฟังเพลย์ลิสต์สักชุดหนึ่งยังบอกใบ้ถึงความรู้สึกที่เราอยากให้เป็นได้ด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจาก