Welcome To Reality Show
ประกาศเปิดตัว Mentor คนใหม่ของ The Face Thailand ซีซั่น 3 / การจบลงของ Thailand Got Talent ซีซั่น 6 พร้อมกับดราม่าอีกครั้ง / โฆษณารายการ The Voice Thailand / ผู้ชนะจากรายการ The Comedian Thailand ออกเล่นตลกตามช่องต่างๆ แล้ว แต่เราก็ยังไม่ลืม The Star กับ Academy Fantasia ที่สร้างชื่อให้ใครหลายๆ คน
สงสัยกันไหมว่าทำไมรายการแนวนี้ถึงได้ป็อปขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในไทยหลังผ่านปี 2000 ไปแล้ว จนเราปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกแวดวงในประเทศไทยต้องขอมีส่วนร่วมกับรายการลักษณะนี้กันมาแล้ว ไม่ว่าจะวงการนักแสดง วงการอาหาร วงการกีฬาที่ทีมบอลอย่างเลสเตอร์วางแผนที่จัดทำรายการแนวคัดตัวเข้าทีม หรือแม้แต่…แพนด้าก็เคยออกรายการเรียลลิตี้โชว์มาแล้ว (ยังจำ Panda TV ได้ไหม ?)
ทำไมรายการจำพวกนี้ถึงได้รับความนิยมขึ้นมา แล้วจริงๆ รายการจำพวกเรียลลิตี้โชว์ถึงได้ฮิตขึ้นมาในหมู่คนได้ รวมไปถึงว่าทำมั้ยทำไม ในประเทศไทยเนี่ย ถึงแม้จะมีรายการเรียลลิตี้หลากหลายแต่ก็ไม่เยอะเท่ารายการเรียลลิตี้ประกวดร้องเพลงอยู่ดี
กรอกใบสมัครเข้ารายการเรียลลิตี้
เรียลลิตี้ โชว์ ถ้าเอานิยามง่ายๆ คือรายการที่ถ่ายทำกิจกรรมของคนในรายการที่มีธีมกำหนดไว้ โดยไม่มีบทให้คนที่เข้าร่วมรายการ ดังนั้นปฏิกริยาบางอย่างในรายการจึงคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ก็มีบางส่วนที่มีบทคุมไว้ให้รายการไม่หลุดกรอบ ถึงดูเป็นรูปแบบรายการที่ค่อนข้างใหม่อยู่พอสมควร แต่ก็มีนักวิชาการในยุคหลังมาถกกันใหม่ว่า ความจริงมันก็ไม่ได้ใหม่อะไรหรอก เพียงแค่เดิมทีมันออกมาในรูปแบบ ‘ช่วงย่อย’ ของรายการต่างๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ ในช่วงที่เชิญคนดูมาเล่นกิจกรรมในรายการก็ถือเป็นลักษณะขั้นต้นของเรียลลิตี้โชว์แล้ว
แต่ถ้าเป็นรายการเดี่ยวๆ เต็มๆ ที่ถือว่าเป็นต้นแบบของเรียลลิตี้โชว์ ก็คือ รายการ Candid Camera ซึ่งเริ่มออกอากาศตั้งแต่ปี 1948 (ชาวไทยน่าจะคุ้นเคยในชื่อ ‘ล้อกันเล่น’) รายการที่เซ็ตสถานกาณ์ติดตลกขึ้นมาก่อนจะแอบถ่ายปฏิกริยาของคนเหล่านั้น จนรายการแนวนี้ได้รับความนิยม(ว่ากันตรงๆ คือ ถูกลอก)ไปทั่วโลก ก่อนที่รายการแนวโชว์ความสามารถของผู้ชมทางบ้าน(ประมาณรายการ ดันดารา ของไทย) จะถูกพัฒนาขึ้นตามมาในภายหลัง ตามต่อด้วยรายการสารคดีตามติดชีวิตของคนบางกลุ่ม แต่ก็ยังไม่ได้เป็นลักษณะของ ‘โชว์’ แบบเต็มตัวมากนัก
รายการที่พอจะนับว่าเป็นเรียลลิตี้โชว์ยุคใหม่รายการแรกมีการถกเกียงกันว่าน่าจะเป็น The American Sportsman ที่ฉายในปี 1965-1986 มีดารา, คนดัง และสมาชิกในครอบครัวออกไปทำกิจกรรมหลักโดยไม่ได้กำหนดบทอื่นเพิ่มเติมเอาไว้ กับรายการ Wild Kingdom ที่ให้นักสัตววิทยาออกเดินทางไปเจอสัตว์ป่าทั่วโลกแบบไม่มีบทใดๆ กำหนด หลังจากนั้นรายการแนวแปลกๆ ก็เริ่มเบ่งบานขึ้นในช่วงปี 1980-1990 ไม่ว่าจะเป็นแนว ตามติดชีวิตตำรวจอย่าง Cops, เทปเหตุการณ์น่าระทึกใจอย่าง Real TV, รายการแนวปรับเปลี่ยนบ้านใหม่อย่าง Changing Room ฯลฯ
แต่กว่ารายการแนวที่คนไทยคุ้นเคยจะมาถึงก็ปี 1997 ที่ประเทศสวีเดนผลิตรายการ Expedition Robinson จับเอาผู้สมัครทางบ้านไปอยู่ในสถานที่กันดาร แล้วแบ่งออกเป็นสองทีมเพื่อแข่งขันกันหาสุดยอดผู้รอดตาย…ใช่แล้วรายการนี้คือต้นแบบที่อเมริกาซื้อสิทธิ์เอามาทำใหม่ในชื่อ Survivor นั่นเอง ส่วนรายการที่จับเอาคนหมู่มากมาอยู่ด้วยกันโดยไม่สามารถรับข่าวสารจากโลกภายนอกได้ อย่าง Big Brother ก็เริ่มฉายในปี 1997 ส่วนรายการแนวร้องเพลงที่ดังเปรี้ยงในอเมริกาอย่าง American Idol ก็เริ่มฉายครั้งแรกในปี 1999
จากช่วงนี้นี่เองที่ทำให้รายการเรียลลิตี้โชว์เริ่มโด่งดังไปทั่วโลก จนรายการแนวนี้ได้เดินทางมาถึงประเทศไทยไปในที่สุด
ออดิชั่นนำรายการเข้ามาในไทย
ถ้าไม่นับรูปแบบต้นทางอย่าง ล้อกันเล่น, ตามไปดู, คดีเด็ด หรือแนว Real TV รายการเรียลลิตี้โชว์รายการแรกเข้ามาในปี พ.ศ. 2544 คือรายการเกมชีวิต ที่บริษัทกันตนาดัดแปลงสไตล์มาจากรายการอย่าง Big Brother มาปรับใช้กับการแข่งขันต่างๆ (ถ้าจำไม่ผิดมีการแข่งขันเพื่อชิงการเป็นเจ้าของร้านอาหาร, ใช้ชีวิตแบบไทยเดิม) แต่ตอนนั้นความนิยมยังไม่ได้สูงมากนักทำให้รายการปิดตัวไปในเวลาไม่นานนัก ซึ่งทางกันตนาก็ปรับรูปแบบด้วยการซื้อลิขสิทธิ์ของรายการ Survivor เข้ามาทำรายการในไทย (เนื่องจากในปี 2545 รายการต้นฉบับมาจัดแข่งขันที่เกาะตะรุเตา และกันตนาเป็นหนึ่งในทีมประสานงาน) ถึงจะได้รับความสนใจจากคนดูมากขึ้นแต่ก็ปิดตัวไปในเวลาไม่นานเช่นกัน
หลังจากนั้นรายการลักษณะเรียลลิตี้โชว์ที่ให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในการโหวตอย่าง เดอะ สตาร์ ก็ออกอากาศครั้งแรกในปี พ.ศ. 2546 และได้รับความนิยมมากระดับหนึ่ง ก่อนที่ปีถัดมาจะมีรายการ Academy Fantasia (ซื้อสิทธิ์มาจากรายการ La Academia ของประเทศเม็กซิโก) ที่บริษัทผู้ผลิตรายการแจ้งว่า ‘เป็นรายการเรียลลิตี้โชว์เต็มรูปแบบ’ รายการแรกของประเทศไทย ที่ให้ผู้ชมสามารถรับชมความเคลื่อนไหวของผู้เข้าแข่งขันตั้งแต่การคัดตัว การฝึกซ้อม จนกระทั่งถึงรอบการแข่งขัน เรียกว่าให้ชมชีวิต 24 ชั่วโมงกันเลยทีเดียว ซึ่งเราพอพูดได้ว่ากระแสของการที่มีคนดูติดตามเป็นแฟนคลับของผู้เข้าแข่งขันถึงระดับแม่ยกพ่อยกนั้นมาจากสองรายการนี้นี่เอง
ด้วยหมุดหมายที่ทั้ง เดอะ สตาร์ กับ AF วางเอาไว้จนกลายเป็นกระแสสังคม หลังจากนั้นประเทศไทยก็มีรายการเรียลลิตี้โชว์เข้ามาอีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นแบบที่ซื้อสิทธิ์ของต่างประเทศมาอย่าง Big Brother, Thailand Next Top Model หรือจะเป็นรายการที่คนไทยดัดแปลงขึ้นมาเองอย่าง อัจฉริยะข้ามคืน, The Angel นางฟ้าติดปีก เป็นต้น
คัดคนออก ตกรอบไป
อย่างที่บอกในข้างต้นไปแล้วว่าในบ้านเรามีหลายรายการหลังจากที่ เดอะ สตาร์ กับ AF เข้ามาสู่ประเทศไทย ก็มีรายการที่แข่งขันร้องเพลงเพิ่มขึ้นมาอีกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันร้องเพลงในแนวอื่นๆ อย่าง The Trainer ที่เน้นคนแข็งเป็นเด็กๆ ที่มีคนดังมาเป็นอาจารย์ให้, The Voice Thailand ที่มีคนดังเป็นกรรมการแล้วเน้นการคัดคนจากการฟังเสียงก่อนเห็นหน้าทีหลัง
บ้านเราไม่ได้เพิ่งมาป็อปเรื่องการร้องเพลงแข่งกันหรอกถ้าย้อนกันไปสมัยก่อน เรามีงานแข่งขันร้องเพลงตามงานประจำจังหวัด หรือ งานวัดต่างๆ เพียงแค่เวทีสำหรับการแสดงออกเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แถมหลายเวทีก็เปิดโอกาสให้คนหมู่มากขึ้นกว่ายุคก่อนที่มักจะเปิดเวทีให้เด็กอายุน้อย หรือคนอายุมากไปเลย จึงไม่แปลกที่รายการแนวร้องเพลงของยุคนี้ที่เปิดโอกาสให้ใช้ความสามารถกันจริงๆ มากขึ้น
ด้วยความเปลี่ยนแปลงของยุคนี้เองก็ทำให้รายการแข่งขันร้องเพลงรุ่นเก่าอย่าง KPN Music Award หรือแม้แต่รายการแข่งร้องเพลงที่เดิมไม่ได้มีบรรยากาศของเรียลลิตี้อย่าง Master Key หรือ ชิงช้าสวรรค์ ก็ปรับรูปแบบมาให้เป็นลักษณะเรียลลิตี้ โชว์มากชึ้นเรื่อยๆ
แล้วทำไมพอกลายมาเป็น เรียลลิตี้ โชว์ แล้วคนถึงดูคลั่งไคล้มากนัก อันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องโปรโมทดี โปรโมทดังแล้วจะเป็นกระแสเท่านั้น แต่มันยังมีปัจจัยหลายอย่างแฝงอยู่ อย่างในงานวิจัยชิ้นหนึ่งก็บ่งชี้ว่า การที่คนดูหลายคนนิยมรายการเรียลลิตี้ที่เกาะติดชีวิตคนอื่นจนเด่นดัง ส่วนหนึ่งเพราะมันเป็นการตอบสนองความหลงตัวเองที่มีอยู่ในตัว การเชียร์คนที่เราถูกชะตานั้นก็เป็นการหลอมรวมความหลงตัวเองของเราที่ไม่อาจะทำสิ่งนั้นได้เอง กระนั้นในการทดสอบนั้นก็มีบอกไว้ว่าอาการนี้อาจจะมีสัดส่วนน้อยลงหากคนดูเป็นผู้ที่มีอายุมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มผู้ทดลองที่นักวิจัยไปเก็บสถิติมานั้นเป็นวัยรุ่นเสียมากนั่นเอง
อีกประการหนึ่งที่ทำให้รายการเรียลลิตี้เป็นที่นิยมก็ไม่พ้น ‘ความดราม่า’ ที่แฝงอยู่ตามรายการต่างๆ ซึ่งหลายๆ ครั้ง ดราม่านี่แหละที่กลายเป็นปัจจัยทำให้รายการฮิตเปรี้ยงขึ้นมา ยกตัวอย่างเชน รายการ The Face Thailand ที่แม้ว่าตัวการแข่งขันและการฝึกซ้อมในรายการจะเป็นส่วนที่ผู้เข้าแข่งขันต้องเล่นสด และมีความน่าสนใจอยู่มากในการเปิดเผยข้อมูลของวงการนางแบบ แต่ส่วนที่ทำให้รายการเป็นกระแสสังคมขึ้น เป็นส่วนที่ Mentor ทั้ง 3 คนมาฟาดฟันถึงสิ่งที่พวกเธอทำได้ในแต่ละสัปดาห์หรือในกรณีของ Thailand Got Talent ที่มักจะมีดราม่าอะไรแปลกๆ ให้เป็นกระแส อย่างการเอาหน้าอกมาวาดรูป, การที่มีเด็กน้อยมาร้องไห้จนได้เข้ารอบแทบทุกปี ฯลฯ
แม้ว่าเรื่องราวเหล่านั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแข่งขันเลย แต่กระแสที่คนเข้ามาติดชมรายการนั้นๆ มากขึ้น ครึ่งหนึ่งก็เพราะดราม่าแบบนี้แหละ ซึ่งกระแสเช่นนี้ก็ไม่ได้เป็นเฉพาะที่ไทยเท่านั้น แต่เป็นไปทั่วทั้งโลก เพราะตัวรายการสนุกสนานทั้งในส่วนเนื้อหาการแข่งขัน ความเป็นดราม่าก็ทำให้เกิดจุดพีคของรายการไม่ต่างกับดูหนังหรือละคร จนทำให้รายการเรียลลิตี้เบียดพื้นที่ของรายการแนวอื่นมากขึ้น
และผู้ชนะคือ…
เส้นทางของรายการเรียลลิตี้ โชว์ในไทยอาจจะวนเวียนอยู่กับเสียงเพลงไปอีกสักพัก ส่วนหนึ่งก็เพราะความนิยมโดยพื้นฐานคนไทยอยู่แล้ว กับอีกส่วนก็คือรายการเรียลลิตี้โชว์แนวอื่นที่ฮิตในต่างประเทศ อย่างการเกาะติดชีวิตคนดัง การแข่งขันทำกิจกรรมแปลกๆ ก็มักจะไม่ปังในประเทศไทยนัก หรือหลายรายการที่มีการโยนหินถามทางว่าจะนำมาทำในประเทศไทยดีไหม ก็มักจะมีคำถามสังคมถามกลับมาว่า จะเหมาะกับบ้านเราจริงหรือ (อย่างเช่น Hell’s Kitchen ที่มีคนดราม่าว่า Gordon Ramsay โหดเกินไปสำหรับบ้านเรา)
กระนั้นในยุคทีวีดิจิตอล(ที่ไม่รุ่งเท่าที่คาด)ก็ทำให้มีรายการแนวอื่นอย่าง Let Me In Thailand รายการเรียลลิตี้ที่นำผู้ที่อยากเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ให้มีโอกาสได้ผ่าตัดศัลยกรรมเพื่อพลิกชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งรายการนี้ก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีพอสมควรทีเดียว หวังว่า ผู้นำเข้า ผู้ผลิตรายการ จะเปิดกว้างให้บ้านเราได้รับดูอะไรแปลกใหม่ ไม่ใช่แค่เพื่อความสนุก แต่เพื่อได้เปิดมุมมองกับสิ่งใหม่ๆ ที่เราอาจเคยมองข้ามมาก่อน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Dailymail