ไม่กล้าปฏิเสธนะ ว่าคนติดอินเทอร์เน็ตแบบเราดู Netflix หรือบริการรับชมรายการอออนไลน์อื่นๆ ถี่กว่ายุคก่อนมาก ไม่ว่าจะเพื่อการ Binge Watching หนังเก่า หรือซีรีส์ยาวๆ ที่เคยฉายเมื่อหลายปีก่อน หรืออาจรอดูหนังใหม่ซีรีส์ดังที่มีเฉพาะบริการรับชมรายการออนไลน์แห่งนี้เท่านั้น
แต่ในช่วงปีสองปีนี้จะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่าทาง Netflix มีคอนเทนต์ที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ท้องถิ่นที่ให้บริการมากขึ้น หรือถ้าพูดแบบระบุลงไป เรารู้สึกได้ว่า ทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ สารคดี หรือ อนิเมชั่น ที่ฉายบนบริการรับชมรายการออนไลน์นั้น มีคนเชื้อสายเอเชียเข้าไปข้องเกี่ยวมากขึ้น บางทีก็เป็นดารานำแสดง บางคราวก็เป็นผู้ผลิตผลงาน หรือบางครั้งก็เป็น subject ของสารคดี
แล้วอะไรที่ทำให้รายการบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะบนฝั่ง Netflix ถึงมีความเกี่ยวข้องกับคนเชื้อสายเอเชียมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดขนาดนี้
เนื้อหาที่สดใหม่กว่าฝั่งฮอลลีวูด
เราอาจรู้สึกว่าฝั่งอเมริกา มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ และคิดอะไรใหม่ออกมาเรื่อยๆ ซึ่งนั่นอาจเป็นความจริงในระยะหนึ่ง แต่ฝั่งฮอลลีวูดก็มีภาวะหมดมุกได้เช่นกัน บ่อยครั้งพวกเขาใช้วิธีจ้างบุคลากรจากกลุ่มประเทศอื่นๆ มาช่วยคิดงานแทน โดยในช่วงหลังนี้พวกเขาก็เริ่มหันมามองฝั่งเอเชียบ้างแล้ว ยกตัวอย่างเช่นในส่วนของภาพยนตร์ ตั้งแต่ช่วงกลางยุค 2000 เป็นต้นไป ภาพยนตร์ในฮอลลีวูด เริ่มหยิบผลงานฝั่งเอเชียไปรีเมคใหม่อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะเริ่มขยับมาจับเอาผลงานอื่นๆ มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์กันต่อ อาทิ เกม, นิยาย หรือแม้แต่ หนังสือการ์ตูน ก็กลายเป็นวัตถุดิบที่รอวันถูกรีเมคไป
เนื้อหาจากฝั่งเอเชียมีอะไรที่คนทั่วโลกอาจยังไม่คุ้นเคย จนทำให้เกิดความว้าว ไม่ว่าจะเป็นภาวะคัลเจอร์ช็อค (Culture Shock) หรือความตะลึงที่มีคนกล้าทำแบบนี้ ซึ่งตัวอย่างที่ผ่านตาหลายท่านไปไม่นานมากนักก็เป็น ภาพยนตร์ Crazy Rich Asians ที่จับเอานิยายที่้ตั้งใจเขียนเล่าเรื่องวิถีชีวิตคนเอเชียในปัจจุบันมารวมเข้ากับสไตล์การเล่าเรื่องแบบโรแมนติกคอมเมดี้อย่างฝรั่ง แต่มีกลิ่นแม่ผัวลูกสะใภ้แบบการ์ตูนน้ำเน่าตาหวาน ผลก็ที่ออกมาก็คือหนังได้รับคำชมและกระแสนิยมจากผู้ชมฝั่งอเมริกา แต่สำหรับฝั่งเอเชียแล้วกลับเงียบเหงาไปนิด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลแง่ร้ายอย่าง ‘การพยายามเอเชียไม่ได้ทำให้เรื่องขายในเอเชียได้’ หรือในเหตุผลแง่ดีหน่อยแบบที่มีคนบอกว่า ‘พล็อตมันละครไทยมากไปหน่อย’
แม้แต่ฝั่งทีวีซีรีส์เองก็เริ่มรีเมคผลงานจากฝั่งเอเซียบ้างแล้ว จากเดิมทีที่เราจะมีโอกาสเห็นการจับเอาแค่ซีรีส์ในทวีปยุโรปมาทำใหม่ในแบบมะกันชน ตอนนี้เราก็ได้เห็นการจับเอาซีรีส์เกาหลีมายกเครื่องแล้วเช่นกัน อย่างที่เห็นในซีรีส์ The Good Doctor เป็นต้น
ถึงจะมีคนติติงอยู่ว่าการรีเมคทั้งภาพยนตร์ กับ ซีรีส์ ในลักษณะนี้่ ทำได้ ‘ไม่ถึง’ กับสิ่งที่ต้นฉบับจากฝั่งเอเซียทำไว้ แต่รายได้ที่ฉบับรีเมคทำได้นั้น ก็สูงมากพอจนทำให้นายทุนบริษัทสื่อบันเทิงพร้อมที่จะลงเงินในการซื้อสิทธิ์เนื้อเรื่องหลักที่ดังอยู่แล้วในทวีปเอเซียมาทำใหม่อีกครั้ง นอกจากที่จะได้เนื้อเรื่องสดใหม่แล้ว การกระทำแบบนี้ใช้เวลาในการทำงานเร็วกว่าสร้างเรื่องใหม่ทั้งหมดด้วยบุคลากรในฝั่งฮอลลีวูดเอง แถมยังสามารถดึงดูดแฟนของฉบับดั้งเดิมให้ตามมาดู ตามมาด่า เพราะคนดูส่วนหนึ่งจะยินยอมเปย์ค่าบริการ (ในการสมัครหรือซื้อตั๋วหนัง) เพื่อที่จะสามารถติเตียนฉบับรีเมคได้อย่างเต็มปากนั่นแหละ
ปรับตัวก่อนโดนกฎหมายใดบังคับ
ปี 2018 นี้ Netflix และบริการ online streaming เจ้าอื่นๆ เจอทาง EU ใช้กฎหมายบังคับกฏเกณฑ์อยู่หลายเรื่อง ทั้งในส่วนของการบังคับให้ทุกประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต้องได้รับชมรายการผ่านบริการออนไลน์อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ว่าประเทศหนึ่งได้ดูแต่อีกประเทศติดล็อกไม่สามารถเข้าชมหรือเข้าใช้งานได้ (ข้อบังคับส่วนนี้ ยังรวมไปถึงบริการออนไลน์อื่นๆ อย่างการเปิดเล่นเกม และ อีบุ๊กด้วย) กฎข้อบังคับของทาง EU ได้ทำให้บริการวิดีโอออนไลน์ต้องดูแลเนื้อหาของตัวเองให้เยาวชนปลอดภัยจากเนื้อหารุนแรง, การประทุษวาจา (hate speech) และการยุยงปลุกปั่นสาธารณชน โดยในฝั่ง Netflix กับ Amazon ก็ถูกร้องขอให้ต้องมีเนื้อหาที่ถูกผลิตจากกลุ่มประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปอยู่ในบริการประมาณ 30% หรือทำการสนับสนุนเงินทุนในการสร้าง ซีรีส์ หรือภาพยนตร์ ให้กับประเทศในกลุ่มสมาชิก EU
พอมีกฎข้อบังคับที่ใช้งานจริงแบบนี้แล้ว ก็มีโอกาสที่ประเทศอื่นๆ อาจร้องขอตามมา Netflix จึงชิงจังหวะนี้บุกไปผูกมิตรกับผู้สร้างคอนเทนต์ท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นฝั่งไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฯลฯ จึงมีคอนเทนต์หลายตัวที่ถูกดึงมาเอาใจตลาดใหญ่เกิดขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือการลงทุนซื้อสิทธิ์ขาดการฉายภาพยนตร์จากเกาหลีใต้และญี่ปุ่นหลายเรื่อง อาทิ Full Metal Alchemist, Bleach รวมถึงการร่วมลงทุนในการสร้างซีรีส์คนแสดงและอนิเมะใหม่ๆ อย่างเรื่อง A.I. Incarnation, วายุพหุยุทธ์ หรือการร่วมมือให้ทางเจ้าของสิทธิ์มีโอกาสฉายทางช่องทางหลักตัวเอง แต่แบบออนไลน์ต้องลงเฉพาะบน Netflix เท่านั้นอย่าง Kantaro The Sweet Tooth Salaryman, ซีรีส์ เด็กใหม่ของทาง GMM เป็นอาทิ
เมื่อทำการลงทุนร่วมแบบนี้กับหลายประเทศในฝั่งเอเชียไปแล้ว ก็ทำให้ Netflix ตะลุยตลาดแถบนี้ได้มากขึ้น รัฐบาลต่างๆ ก็เขม่นน้อยลงเพราะเห็นว่ามีการลงทุนในประเทศของตนเองแล้ว สิ่งที่ Netflix ต้องทำในฝั่งทวีปเอเชียก็คงเป็นการพยายามปรับตัวตามข้อกำหนดของประเทศจีนที่เข้มงวดในการนำเข้ากับการให้บริการสื่อบันเทิง ซึ่งถ้าพวกเขาสามารถวางตัวให้สอดคล้องกับกฎข้อบังคับเหล่านั้นได้ พวกเขาก็จะสามารถเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ ซึ่งนั่นก็คงต้องรอให้เวลาเป็นข้อพิสูจน์ต่อไป
เอาใจตลาดใหญ่ คนใช้งานจำนวนเยอะ
Netflix อาจเป็นบริการเจ้าใหญ่ในฝั่งอเมริกา แต่ถ้านับเอาเฉพาะจำนวนประชากรแล้วก็ยังถือว่าน้อยกว่าฝั่งเอเชียอยู่มาก จากสถิติในปี 2017 ที่ผ่านมา ประชากรในสหรัฐอเมริกามีจำนวนอยู่ที่ประมาณ 321 ล้านคน ส่วนฝั่งทวีปเอเซีย แค่ประเทศจีนประเทศเดียวก็มียอดประชากรทะลุ 1,300 ล้านคนไปแล้ว หรือถ้าคุณคิดว่าจีนยังไม่ยอมให้บริการรับชมรายการออนไลน์เจ้าอื่นไปตีตลาดหรอก Netflix ก็ยังมีประเทศอินเดียที่จำนวนประชากรเยอะเป็นอันดับสองของทวีปเอเชีย ที่มีประชากรประมาณ 1,299 ล้านคน หรือถ้านับจำนวนผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนในทวีปเอเซีย ก็มีข้อมูลประมาณการว่าในปี 2018 นี้ มีผู้ใช้งานอยู่ในทวีปเอเชียราวๆ 1,360 ล้านเครื่อง หรือถ้าจะมองว่ามีลูกค้าอย่างน้อยตามจำนวนโทรศัพท์มือถือก็ไม่ผิดนัก
เพื่อเป็นการเอาใจตลาดที่มีผู้พร้อมเปย์ขนาดนี้ แอพพลิเคชั่นหลายเจ้าจึงทำการปรับตัวให้สอดคล้องกับประเทศที่เปิดให้บริการ ไม่ใช่แค่การจับเอารายการฮิตในท้องถิ่นมาอัดลงแอพเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น กรณีของ Netflix ที่บุกเข้าไปดีลกับ Airtel บริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมในอินเดีย เปิดให้ผู้ที่อยากใช้งานสามารถจ่ายค่าบริการแอพพลิเคชั่นผ่านทางบริการอินเทอร์เน็ตหรือโทรศัพท์มือถือของผู้ให้บริการเจ้าดังโดยตรง แถมยังเปิดดีลให้ผู้ใช้งานในเครือข่ายดังกล่าวสามารถรับชม Netflix ได้ฟรีทันทีสามเดือน ซึ่งก็เหมาะกับประเทศที่มีประชากรมหาศาลและไม่อยากสมัครอะไรเพิ่มเติมแล้ว
หรือในประเทศญี่ปุ่นที่ Netflix เข้ามาเป็นผู้เล่นในบริการรับชมสื่อบันเทิงออนไลน์เจ้าหลังๆ พวกเขาก็ทดแทนด้วยการอัดปริมาณคอนเทนต์บนช่องทางของตัวเองอย่างเต็มที่ จนในตอนนี้เนื้อหาที่คนดูสามารถรับชมได้ใน Netflix ของประเทศญี่ปุ่น มีมากกว่ารายการที่รับชมได้ในอเมริกาเสียอีก
ไม่ใช่แค่ Netflix เท่านั้นที่ปรับตัว แอพพลิเคชั่นเจ้าอื่นก็มีการปรับตัวกับไลฟ์สไตล์คนหมู่มากเช่นกัน อย่าง iFlix ก็เพิ่งปรับรูปแบบเป็นเปิดรับชมฟรี แต่ถ้าจ่ายค่าสมาชิกก็จะได้ดูรายการบางอย่างเร็วกว่าเดิม ด้วยเหตุที่ว่าคนส่วนใหญ่ในพื้นที่เอเซียตะวันออกเฉียงใต้นั้นนิยมการรับชมง่ายๆ มากกว่าการที่จะพยายามสมัครอะไรที่ยุ่งยาก หรือ Amazon Prime ที่ยังตีตลาดเอเชียได้ไม่มากนักก็เริ่มทำลงทุนเงินสร้างคอนเทนต์ฉายเฉพาะช่องทางของตัวเองแล้วเช่นกัน
ส่วนตลาดประเทศจีน ถึงจะยังไม่เปิดโอกาสให้คนนอกประเทศเข้าไปตีตลาดโดยตรง กลุ่มแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ก็มีการใส่คำแปลหรือเสียงพากย์ภาษาจีนให้บริการก่อนแล้ว ซึ่งหากจะมองว่าเป็นการทำตลาดแบบป่าล้อมเมือง เพื่อให้คนเชื้อสายจีนในประเทศอื่นคุ้นเคย จนสุดท้ายเป็นการสร้างกระแสบีบให้รัฐบาลจีนรู้สึกโอเคกับเนื้อหาบนบริการของพวกเขา
ปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องการให้ คนเอเชียมีพื้นที่มากขึ้น
มีผลเชิงสังคมที่มาจากทั้งฝั่งผู้สร้างในฮอลลีวูด หรือผู้ชมทั่วทั้งโลก พวกเขาเริ่มต้องการเห็นความหลากหลาย (diversity) ในสื่อบันเทิงแบบเสมอภาคมากขึ้น ก่อนหน้านี้มีการสร้างภาพยนตร์ซึ่งดัดแปลงมาจากผลงานฝั่งเอเชียหลายเรื่อง แต่มักเกิดการ Whitewashing หรือปรับตัวเอกที่เคยเป็นคนเอเชียกลายเป็นตัวละครชนชาติอื่นไปเสีย ซึ่งเรื่องนี้ก็ละม้ายคล้ายกับกระแส Oscars So White ในปี 2015-2016 ที่ทำให้ภาพยนตร์หลังจากนั้นมีตัวละครเป็นคนผิวสีมากขึ้น กระนั้นกว่าเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในฝั่งภาพยนตร์ฉายโรงก็คงอีกสักพักใหญ่ ด้วยความที่ว่าการสร้างภาพยนตร์แต่ละเรื่องนั้นกินเวลาอยู่ไม่เบา
สวนทางกับฝั่ง Netflix ที่ถือว่าเป็นผู้สร้างซีรีส์จำนวนมาก และใช้ระยะเวลาในการสร้างเร็วกว่าภาพยนตร์ พวกเขาจึงใช้เวลาไม่นานในการตัดสินใจให้ซีรีส์ที่พวกเขาร่วมทุนสร้างมีตัวละครเชื้อสายเอเซียปรากฎขึ้นเป็นตัวละครเด่น อย่างใน 13 Reason Why ก็มีตัวละครเด่นเป็นดาราเชื้อสายอเมริกันเอเซีย, Master of None ที่เป็นซีรีส์แนวตลกดราม่าที่มีผู้สร้างและดารานำเป็นคนอเมริกันเชื้อสายอินเดีย ที่สำเนียงการพูดเขามีความเป็นอินเดียสูง หรือ To All The Boys I’ve Loved Before ซึ่งตัวผู้แต่งนิยายต้นฉบับ ก็เคยเขียนคอลัมน์ลงใน New York Times ว่ามีผู้สร้างแค่เจ้าเดียวเท่านั้นที่จะยอมสร้างหนังโดยให้ตัวเอกเป็น ลูกครึ่งอเมริกันเกาหลีใต้ตามบทดั้งเดิม ฯลฯ
และถ้าว่ากันตามจริง Netflix ก็ไม่ได้เกาะกระแสแบบกะทันหัน เพราะบริการรับชมสื่อบันเทิงออนไลน์เจ้านี้ เปิดพื้นที่ให้กับรายการที่มีความหลากหลายทั้งด้านเพศ เชื้อชาติ มาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว อย่างที่เราเห็นได้จาก Orange Is The Black, Queer Eye ฉบับปี 2018 หรือไปไกลในระดับที่ยอมให้ทำซีรีส์แนวตลกแดกดันสังคมคนขาวอย่าง Dear White People แล้วเมื่อเร็วๆ นี้ก็ยังมีข่าวว่าตอนนี้กลุ่มนักแสดงผู้กำกับเชื้อสายอินเดียที่เคยปรากฎตัวใน Master Of None ก็ได้เข้าพูดคุยกับทาง Netflix เพื่อสร้างซีรีส์ที่จะเล่าเรื่องจากกลุ่มคนอินเดียมากขึ้น หรืออาจเป็นการรีเมคผลงานอย่าง นาคิน ไม่ก็ Baahubali ก็เป็นได้
ตามปกติแล้วเราอาจไม่นิยมการวิ่งไล่ตามกระแสนิยมเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นกระแสนี้เรากลับรู้สึกอยากให้ผู้สร้างซีรีส์ และผู้สร้างภาพยนตร์เจ้าอื่นๆ วิ่งตามเทรนด์ให้คู่กับ Netflix ได้ เพราะนั่นหมายความว่าเราจะได้เห็นสื่อบันเทิงที่บอกเล่าเรื่องความเท่าเทียมกันในหลายๆ แง่มากขึ้น ซึ่งอาจเป็นกุศโลบายให้ผู้ชมซีรีส์ หรือภาพยนตร์ ได้เห็นว่า ณ จุดนี้ ที่คนทั่วโลกเดินทางไปมาหาสู่กันง่ายขึ้น ไม่ว่าคนเชื้อชาติไหนก็โดดเด่นได้ ไม่ใช่ว่าจะเป็นการสงวนสิทธิ์การสาดแสงไฟที่ชื่อว่าความโด่งดังเอาไว้เฉพาะเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งเท่านั้น
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก