‘ความดัง’ เป็นสิ่งที่หลายคนแสวงหา เพราะไม่ว่าอาชีพใดก็ตาม ไม่มีใครทำงานแล้วอยากถูกลืมหรอก นักเขียนการ์ตูนเองก็เช่นกัน หลายคนแปรสภาพจากบุคคลไร้ชื่อกลายเป็นเซเลปในเวลาไม่นานนัก จนทำให้นักเขียนการ์ตูนบางคนได้ออกสื่อบ่อย
นักเขียนการ์ตูนที่ออกสื่อให้เห็นหน้าตาบ่อยก็อย่างเช่น กลุ่มนักเขียน CLAMP / อาจารย์นาโอโกะ ทาเคอุจิ ผู้เขียนการ์ตูนเซเลอร์มูน หรืออย่าง อาจารย์โคโนมิ ทาเคชิ เจ้าของการ์ตูนเรื่อง The Prince Of Tennis ที่ไม่ได้แค่ออกสื่อธรรมดา แต่ถึงขั้นออกคอนเสิร์ตโซโล่กันเลยทีเดียวเชียว
ในทางกลับกัน นักเขียนการ์ตูนคนดังอย่าง อ.เออิจิโร่ โอดะ ก็เลือกที่จะไม่แสดงหน้าตาปัจจุบัน ในการสัมภาษณ์ทางทีวีครั้งล่าสุด หรือถ้าพูดให้ถูกต้องก็คือ นักเขียนการ์ตูนส่วนมากเลือกที่จะไม่ปรากฏตัวต่อหน้าสื่อเท่าไรนัก The MATTER จึงจะพาไปรู้จักกับนักเขียนกลุ่มที่ว่านี้กัน
อ. อาราคาวะ ฮิโรมุ ผู้วาด Full Metal Alchemist แขนกลคนแปรธาตุ / Silver Spoon / รากหญ้าบรรดาศักดิ์
นักเขียนที่สร้างชื่อด้วยการ์ตูนแอคชั่นแฟนตาซี แต่เพิ่งมารู้ความหมายที่แท้จริงของการใช้ชีวิตในโรงเรียนเกษตรกรรม ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ก็โด่งดังจนถูกนำไปสร้างอนิเมชั่นและภาพยนตร์คนแสดงอีกด้วย
ก่อนอื่นเลย ชื่อจริงๆ ของเธอไม่ใช่ ฮิโรมุ แต่เป็น ฮิโรมิ (ใช้อักษรคันจิตัวเดียวกัน) ปัจจุบันเธอเป็นคุณแม่ลูกสาม ด้วยความที่เธอเป็นลูกสาวในครอบครัวเกษตรกร ทำให้เธอนำเอาเรื่องราวเหล่านั้นมาปรับใช้ในงานอยู่หลายครั้ง รวมถึงการเขียนแซวชีวิตของตัวเองโดยสมบูรณ์ ในเรื่อง รากหญ้าบรรดาศักดิ์
ถึงจะดังขนาดนี้ แต่เธอกลับออกสื่อน้อยครั้งและรูปของเธอก็หาได้ค่อนข้างยาก หลายคนอาจจะค้านว่า เคยเห็นสาวผมสั้นไปรับรางวัลออกจะบ่อย จริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช่ครับ เพราะท่านที่ไปรับรางวัลจากหลายครั้งเป็นคุณ คุณปาร์ค โรมิ นักพากย์ชาวญี่ปุ่นที่รับบท เอ็ดเวิร์ด เอลริค ตัวละครเอกของเรื่อง แขนกลคนแปรธาตุ ที่ไปเป็นตัวแทนของผู้เขียนในงานต่างๆ จนทำให้หลายคนเข้าใจว่า เธอคือ อาราคาว่า ฮิโรมุ ตัวจริง

http://topicks.jp/18772
ส่วนตัวจริงของอาราคาวะนั้น ถูกถ่ายรูปไว้น้อยครั้ง และมักจะเป็นภาพความละเอียดต่ำ ส่วนภาพที่เราพยายามค้นมาตามที่เห็นด้านบนนี้ แต่เราก็ต้องบอกไว้ก่อนว่า นี่ก็อาจจะไม่ใช่ภาพของ อาราคาว่า ฮิโรมุ แต่อาจจะเป็นพี่น้องในบ้านอาราคาว่าคนอื่นๆ ก็ได้นะ
อ. กาโม่ ฮิโรชิ ผู้วาด Lucky Man และ ผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นคนแต่งเรื่อง Bakuman / Death Note
นักอ่านที่เคยซื้อนิตยสาร BOOM สักราวๆ 15-16 ปีก่อนน่าจะคุ้นชื่อกับนักวาดคนนี้ ที่แม้จะมีลายเส้นไม่เนี้ยบนักแต่กลับเขียนมุกตลกระดับที่ไม่รู้ว่าได้มาจากยอดเขาอัลไตหรือเปล่า แม้ว่าการ์ตูนจะสนุกจนได้รับความนิยมมากพอจะนำไปสร้างอนิเมชั่น แต่เพราะผลงานที่ดังก็มีอยู่เรื่องเดียวแถมยังเป็นยุคก่อนอินเทอร์เน็ตจะรุ่งเรือง เลยไม่แปลกนักหากแทบจะไม่มีใครเคยพบหน้าเขา

http://laughy.jp/
นอกจากที่จะหาหน้าค่าตายากเย็นแล้ว นักเขียนคนนี้ยังมีตำนานอีกหนึ่งอย่างคือ เขา ‘อาจจะ’ เป็นคนเดียวกันกับ อาจารย์โอบะ สึกุมิ ผู้แต่งเรื่อง Bakuman และ Death Note ที่โด่งดัง เพราะมีหลายอย่างที่บอกใบ้อยู่เป็นเนื่องๆ ไม่ว่าจะเป็นนามสกุลของ อ. โอบะ ที่แปลว่า ทุ่งขนาดใหญ่ จนดูเหมือนจะล้อเลียน อาจารย์โอบาตะ ทาเคชิ ผู้วาดภาพที่มีนามสกุลแปลได้ว่า นาขนาดเล็ก หรือที่ชัดเจนที่สุดก็จะเป็นส่วนของการ์ตูนแถมในฉบับรวมเล่มของเรื่อง Bakuman ที่มีการลงตัวต้นฉบับที่ลายเส้นชัดเจนเหลือเกินว่า “นี่มันคนเขียน Lucky Man ชัดช้าด!”
แต่ที่สถานะของ อ.กาโม่ ยังตกเป็นเพียงผู้ต้องสงสัยก็เพราะทางฝั่งกองบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ Shueisha ไม่เคยยอมรับหรือปฏิเสธตัวตนของอาจารย์ทั้งสองคนว่าเป็นคนเดียวกัน และทั้งสองก็ยังไม่เคยโชว์ตัวออกสื่อในยุคหลังเท่าใดนัก เลยยังฟันธงไม่ได้เท่านั้นเอง
จริงอยู่ที่คุณสามารถพิมพ์ชื่อ Gamo Hiroshi ใน google แล้วจะได้ภาพของชายหนุ่มคนท่าทางตลกๆ คนหนึ่ง ตรงกับ Lucky Man อยู่ไม่น้อย แต่จริงๆ แล้วผู้ชายคนนั้นคือนักแสดงตลกของญี่ปุ่นที่ใช้ชื่อทางการแสดงว่า Neko Hiroshi และปัจจุบันได้เทิร์นตัวเองไปเป็นสัญชาติเวียดนามเพื่อที่จะรับสิทธิ์ลงแข่งวิ่งมาราธอนในฐานะนักกีฬาทีมชาติเวียดนาม
ด้วยเหตุที่หน้าตาหายากจริงจัง …เราเลยไม่มีรูปของเขามาให้ดูกันนะ
อามางิ เซย์มารุ / ยูมะ อันโด้ / อาโอกิ ยูยะ / ริวมอน เรียว
4 ท่านด้านบนนี้ ไม่ใช่นักเขียนการ์ตูน แต่เป็นผู้แต่งของการ์ตูนชื่อดังอย่าง คินดะอิจิกับคดีฆาตกรรมปริศนา, ไซโคเมทเลอร์ เอย์จิ, Get Backers และ Bloody Monday การ์ตูนเรื่องดังจากทางสำนักพิมพ์โคดันฉะของประเทศญี่ปุ่น
การที่นักแต่งการ์ตูนอาจมีพื้นที่ออกสื่อน้อยกว่าจนหารูปไม่ได้นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกนัก แต่สำหรับกรณี 4 คนนี้ หากลองเอาชื่อไปค้นใน Google สิ่งที่จะได้พบไม่ใช่ภาพของคน 4 คนนี้แต่อย่างใด แต่คุณจะพบกับรูปของชายคนเดียวกันแทน

Twitter : @agitadashi
เพราะชื่อทั้ง 4 นั้นเป็นนามปากกาของ อาจารย์คิบายาชิ ชิน นักแต่งบทการ์ตูน นักเขียนนิยาย และนักเขียนบทชื่อดังที่พอจะพูดได้ว่าเป็นกำลังหลักสำคัญของการ์ตูนค่ายโคดันฉะเลยทีเดียว อย่าง 4 เรื่องที่กล่าวไว้ข้างต้นก็แทบจะเป็นคนละแนวกันอยู่แล้ว แต่อาจารย์คิบายาชิ ยังเขียนการ์ตูนแนวอื่นอีกอย่าง Knight In The Area ที่เป็นการ์ตูนฟุตบอล และเป็นคนวางผังบทของละครทีวีญี่ปุ่นชื่อดังอย่าง HERO ด้วย
ดังนั้นในกรณีนี้ ไม่ใช่ว่าหารูปยากหรืออะไร แต่เป็นเพราะว่าชื่อทั้ง 4 ไม่ใช่ชื่อจริงนั่นเอง
ทำไมบุคลากรวงการการ์ตูนของญี่ปุ่นถึงเลือกที่จะไม่เปิดเผยตน
คำตอบส่วนหนึ่งก็มาจากค่านิยมของญี่ปุ่นในสมัยก่อน ที่อาชีพนักเขียนการ์ตูนมีภาวะที่ชาวไทยเปรียบเปรยว่า ‘เต้นกินรำกิน’ หรืออย่างในสมัยนี้เองกว่าที่จะก้าวมาถึงฝั่งฝันได้ก็ต้องผ่านเวลามาระดับหนึ่ง ดังนั้นนักเขียนหลายคนจึงพอใจกับการง่วนปั่นต้นฉบับให้ทันเดดไลน์เสียมากกว่า (แน่นอนว่า บ.ก. ก็ไม่อยากให้งานมันเลทหรอก)
ในยุคที่การ์ตูนกลายเป็นธุรกิจ การมีคนอ่านมากมายชื่นชอบ การเปิดตัวต่อสื่ออาจจะทำให้พวกเขาเสียความเป็นส่วนตัวไป ถ้าโชคดี ก็แค่เสียสถานที่ส่วนตัวที่ชอบไป แต่ในยุคหลังที่ความรุนแรงเกิดขึ้นได้ง่าย การทำตัวให้อยู่ต่ำกว่าเรดาร์ก็ช่วยให้หลีกเลี่ยงเรื่องเหล่านี้ได้ไม่น้อย
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://topicks.jp/18772