ที่สายตาคุณผู้อ่านกำลังจะได้ยลต่อไป ผมขยับมือเขียนร่างแรกจากเมืองหลวงเก่าของประเทศอินโดนีเซีย คือยอกยาการ์ตา (Yogyakarta) แล้วกลับมาเขียนต่อให้เสร็จ ณ กรุงเทพมหานคร อาจคลับคล้ายคลับคลาบ้างกับภาพยนตร์ขุนพันธ์ ภาค 2 ซึ่งเข้าฉายในโรง แต่เป็นเรื่องของนักเขียนนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งผู้ผจญภัยไปนั่งคุยถูกคอกับขุนโจรสิบทิศเยี่ยงเสือฝ้ายแห่งชุมโจรสุพรรณบุรี
ไม่แปลกมิใช่หรือหากช่วงต้นเดือนกันยายนผมจะยังมิได้ ‘เบิ่ง’ ภาพยนตร์ว่าด้วยนายตำรวจนามขุนพันธ์ภาคล่าสุด ด้วยเหตุผลที่ต้องระหกระเหินมะงุมมะงาหราสู่แดนอิเหนาครั้นต้นสัปดาห์ที่แล้วหวนย้อนคืนเมืองไทยจึงไม่รีรอที่จะไป ‘เบิ่ง’ ให้เต็มตา
อ้อ! เดิมทีผมจงใจจะสื่อสารถึงคุณผู้อ่านตั้งแต่วันพฤหัสบดีปลายเดือนสิงหาคมโน่นแหละครับ ทว่าขณะสูดลมหายใจบนเกาะชวาประหนึ่งนักเรียนมัธยมปลายกำลังติวเข้มสอบเข้ามหาวิทยาลัย แทบไม่ค่อยมีเวลาจดจ่ออารมณ์เรื่อยเปื่อยปากกาเล่าข้อมูลสนุกๆ เท่าไหร่นัก
หาปฏิเสธได้ไม่ ตัวละครสลักสำคัญในหนังย่อมมิพ้นขุนพันธ์ เสือฝ้าย และเสือใบ ทั้งสามโคจรมาประสบเจอกันตอนที่ ‘ขุนพันธ์’ ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์มือฉมังถูกพักราชการพร้อมรู้สึกกังขาว่าเหตุใดชาวบ้านสิ้นศรัทธาต่อตำรวจจนเลือกจะเข้าร่วมกับหัวหน้าโจรเชิ้ตดำ เขาตัดสินใจมุ่งไปสู่อาณาจักรของ ‘เสือฝ้าย’ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งภาคกลางอันเป็นที่หวาดครั่นคร้ามของทางการไทย และร่วมคลุกคลีในขบวนการนักปล้นพร้อมสวมบทบาท ‘เสือบุตร์’
เรื่องราวระหว่าง ‘ขุนพันธ์’ กับ ‘เสือฝ้าย’ ที่โลดแล่นบนจอภาพยนตร์นั้น แม้จะถูกปรุงแต่งจนห่างเหินข้อเท็จจริงพอสมควร แต่ก็มีเค้าโครงมาจากโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทยช่วงภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ตัวละคร ‘เสือฝ้าย’ ในภาพยนตร์กับ ‘เสือฝ้าย’ ตัวจริงแห่งวันวานก็หาใช่จะพ้องพานกันเลยทีเดียว เอาเป็นว่า คุณผู้อ่านอย่าเพิ่งหลงเชื่อเนื้อหาบนจอเงินเข้าเชียวล่ะ
ต้นปีพุทธศักราช 2489 ชื่อของ ‘เสือฝ้าย’ เลื่องลือดาษดื่นหน้าหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ บางฉบับพาดหัวข่าวเรียกขานขุนโจรเมืองสุพรรณว่า ‘จอมพลฝ้าย’ (ลองฟังในภาพยนตร์ดูมิแคล้วแว่วยินคำนี้) เฉกเช่นหนังสือพิมพ์ ไทยราษฎร์ ฉบับประจำวันที่ 22 มกราคมโปรยถ้อยคำ “จอมพล (ฝ้าย) ปล้นทรัพย์แจกจ่ายคนจน” และพบในฉบับประจำวันที่ 7 กุมภาพันธ์อีกว่า “นายอำเภอสรรค์ขอร้องให้จอมพลฝ้ายช่วย” นั่นชวนให้ผมไพล่นึกถึงนักเขียนผู้หาญกล้าบุกไปสัมภาษณ์เสือฝ้ายเพื่อนำมารายงานข่าวผ่านหนังสือพิมพ์ประชามิตร-สุภาพบุรุษ มิหนำซ้ำ ขุนโจรอ้าแขนต้อนรับด้วยไมตรีจิต
มาลัย ชูพินิจ คือนามของเขา!
ในหนังสือ เสือฝ้ายสิบทิศ (ชีวิตจริงของ ‘เสือ’ ฝ้ายแห่งสุพรรณบุรี) ซึ่งรวบรวมรายงานข่าวมาจัดพิมพ์รวมเล่ม เจ้าของนามแฝง ‘นายฉันทนา’ อันเป็นคนเดียวกับมาลัย ชูพินิจได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับยอดขุนโจร 10 จังหวัดภาคกลางตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไว้น่าสนใจมาก เริ่มด้วยการแจกแจงมูลเหตุที่เขาปรารถนาไปเยือนชุมโจรว่า
“ข้าพเจ้าขึ้นไปพบกับนายฝ้าย เพ็ชนะ ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอเดิมบาง แขวงจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อปลายเดือนมกราคมศกนี้ ในฐานะของนักเขียนข่าวหนังสือพิมพ์ผู้พยายามปฏิบัติหน้าที่ของตนคนหนึ่ง ด้วยการเข้าให้ถึงต้นตอของแหล่งข่าวที่กำลังอื้อฉาวเป็นที่สนใจของประชาชนอยู่ในเวลานั้น เพื่อนำข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏแก่สายตาและการสอบสวนของเขามาเสนอแก่สาธารณชนคนอ่านหนังสือที่เขาทำงานประจำอยู่ ตามความเป็นจริง หรือใกล้ชิดกับความเป็นจริงเท่าที่จะสามารถทำได้ เมื่อพบกับ “เสือ” ฝ้าย และได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของเขาแล้ว ประวัติและบุคลิกภาพอันแปลกประหลาดของเขา ทำให้ข้าพเจ้าอดอยู่ไม่ได้ที่จะบันทึกเรื่องราวเหล่านั้น ลงไปในฐานะที่ถือว่าเป็นชีวิตอันน่าสนใจศึกษาของคนคนหนึ่ง นอกเหนือไปจากการสัมภาษณ์ ซึ่งข้าพเจ้าได้เสนอเป็นข่าวในหนังสือ “ประชามิตร-สุภาพบุรุษ” แล้ว”
มาลัยออกเดินทางจากเมืองหลวงสู่ ‘ดงอ้ายเสือ’ เมืองสุพรรณบุรีพร้อมสมบุญ ณ ฤกษ์ ช่างภาพยอดฝีมือแห่งหนังสือพิมพ์ประชามิตร ทั้งสองเสี่ยงภัยไปจนพบและสัมผัส ‘เสือฝ้าย’ ตัวเป็นๆ
ว่าถึงสมบุญ ณ ฤกษ์แล้ว ผมใคร่เสริมเกร็ดเล็กๆ เพิ่มให้สักหน่อย กล่าวคือช่างภาพผู้นี้เคยมีวีรกรรมในคราวหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมถูกนายพุ่ม ทับสายทอง ลอบยิงบริเวณสนามหลวงในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2477 โดยเขาเป็นผู้ยืนอยู่ใกล้เคียงเหตุการณ์ระยะประชิดและสามารถกดชัตเตอร์ถ่ายภาพจังหวะการลั่นไกทันท่วงที ใช่สิ! ภาพที่บันทึกมาควรต้องชัดเจน ช่างน่าเสียดายเหลือเกินที่ตอนสมบุญไปถึงโรงพิมพ์เพื่อล้างฟิล์มอัดรูป เขาพบว่า ‘ภาพเด็ด’ ที่อุตส่าห์รัวนิ้วมากลับใช้การมิได้ เพราะกล้องถ่ายภาพคู่ใจเกิดเหตุขัดข้องขึ้นมา
อ้อ! ในทศวรรษ 2490 สมบุญคนนี้ก็ได้ฝากผลงานถ่ายภาพสาวงามบนเวทีประกวดไว้จำนวนไม่น้อยเช่นกัน
คุณผู้อ่านคงนึกสงสัยอยู่บ้าง ‘นายฉันทนา’ นักหนังสือพิมพ์หนุ่มกับช่างภาพสมบุญแค่สองคนเองนะรึ! ที่ดั้นด้นทะลุทะลวงถึงรังขุนโจรอย่างง่ายดาย ผมขอบอกว่าทั้งสองเห็นจะไม่ได้เผชิญหน้า ‘เสือฝ้าย’ แห่งเดิมบางหรอกครับ ถ้าปราศจากความร่วมมือและการอำนวยความสะดวกของข้าหลวงประจำจังหวัดสุพรรณบุรีรวมถึงพันตำรวจตรีเล็ก กำเนิดงาม กระทั่งคนที่มิอาจละเลยเอ่ยถึงอย่างนายเหนียม พูนเพิ่ม ชาวบ้านผู้นำทางฝ่าดงชุมเสือ
แล้วในที่สุด มาลัยก็ได้พบขุนโจรสิบทิศตัวเป็นๆ เขาสวมร่างทรง ‘นายฉันทนา’ บรรยายบรรยากาศยามแรกเจอว่า
“ข้าพเจ้ามองดูชายผู้นั้นอีกครั้ง สังเกตได้ว่า ถึงจะเป็นคนรูปร่างล่ำสันค่อนข้างใหญ่ ส่วนสูงก็ไล่เลี่ยกับข้าพเจ้า เสื้อโปโลสีขาวค่อนข้างใหม่ที่เขาสวมและกางเกงสีกากีที่เขานุ่ง ดูลักษณะไม่ต่างอะไรไปจากมัคนายกวัดหรือพ่อบ้านผู้ยืนถือกระจ่าอยู่หน้าเตาไฟอย่างเมื่อแต่กี้ เพียงแต่นัยน์ตาอันแลลอดออกมาจากหนังตาที่หนัก ใต้คิ้วซึ่งข้างซ้ายเชิดชี้สูงกว่าข้างขวานิดๆ เท่านั้นที่บอกให้คนเราระแคะระคายว่า อาจจะน่ากลัวได้เพียงใดในเวลาโกรธ มันค่อนข้างเล็กและใสเหมือนสีเพทาย แต่คมและแหลมเหมือนปลายเข็มทั้งคู่ นัยน์ตานั้นมองตอบข้าพเจ้า ชั้นแรกอย่างพิศวงสงสัย ในการที่จู่ๆก็มีนักเขียนข่าวหนังสือพิมพ์คนหนึ่งซึ่งเขาไม่เคยคิดว่ามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ต้องการจะพบด้วย แล้วต่อมานัยน์ตาคู่นั้นก็เป็นประกายแจ่มใสขึ้น เมื่อได้สนทนากันนานไป และเข้ารู้ในฐานะและความประสงค์อันแท้จริงของเราแจ้งชัดขึ้น”
เมื่อนักหนังสือพิมพ์แนะนำตนเองและจุดประสงค์การมาเยือนเสร็จสรรพ ‘เสือฝ้าย’ แสดงความเป็นมิตรด้วยการปลดปืนพกพาราเบลลัม (Parabellum) คู่ชีพของเขาออกจากเข็มขัดวางลงบนเสื่อข้างหน้า ฉับพลันชายฉกรรจ์ผู้เป็นลูกน้องทุกคนปลดอาวุธของตนวางลงตามขุนโจร ยอดเสือเมืองสุพรรณกล่าวแก่มาลัยว่าอันที่จริงเรื่องของเขามิได้ลี้ลับอะไรเลย เพราะ “มันเปิดเผยทุกอย่าง คนรู้กันทั้งสุพรรณ เขารู้ว่าการเป็นโจรของผมเกิดจากอะไรบังคับ ถึงที่อยากจะกลับตัวอยู่ในเวลานี้ก็เหมือนกัน แต่ที่ผมได้อ่านจากหนังสือพิมพ์ บางเรื่องก็ไปกันมากไป ผู้ใหญ่ฝ้ายไม่ดุร้ายเก่งกาจ หรือมีกำลังมากมายถึงขนาดกองทัพอย่างนั้นหรอกคุณ”
จากการพูดคุยหรือจะเรียกว่าสัมภาษณ์ก็ตามที ‘นายฉันทนา’ ล้วงเอาข้อมูลผ่านปากคำของ ‘เสือฝ้าย’ มาได้หลายต่อหลายเรื่อง ทั้งมูลเหตุทำให้ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านท่าใหญ่ที่ถูกคนของทางการรังแกจนเปลี่ยนวิถีชาวบ้านปกติมาเป็นขุนโจร เหตุการณ์สะเทือนหัวใจที่เร่งเร้าให้ต้องลุกขึ้นต่อสู้แบบศาลเตี้ย รายละเอียดและกลวิธีในการปล้นครั้งต่างๆ ไม่ว่าจะปล้นคหบดี ปล้นโรงสี ปล้นเรือโยง แม้แต่ปล้นกองทัพญี่ปุ่น การถูกโจรอื่นๆ อ้างชื่อไปปล้นสะดมแบบไร้ศักดิ์ศรี (ซึ่งไม่ใช่ลักษณะการปล้นของขุนโจรเมืองสุพรรณ) กำลังคนและอาวุธ ระเบียบวินัยในชุมโจร รวมถึงกรณีที่ ‘เสือฝ้าย’ คิดจะกลับตัวเป็นพลเมืองดีอีกหน
‘เสือฝ้าย’ ในสายตาของมาลัยชูพินิจเต็มเปี่ยมความเป็นมนุษย์ที่มีทั้งความดีและความชั่วคละเคล้า นักหนังสือพิมพ์หนุ่มไม่เพียงเชื่อถือน้ำคำขุนโจรสิบทิศแห่งภาคกลางฝ่ายเดียว แต่กลับพยายามสืบความจากน้ำเสียงของชาวบ้าน
จากน้ำเสียงผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี และจากน้ำเสียงนายตำรวจผู้มีหน้าที่ปราบปรามชุมโจรอดีตผู้ใหญ่ฝ้ายผลงาน เสือฝ้ายสิบทิศ (ชีวิตจริงของ ‘เสือ’ ฝ้ายแห่งสุพรรณบุรี) จึงไม่เอียงข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากเสนอข้อมูลอย่างเป็นธรรมและเข้าอกเข้าใจทุกฝ่าย แน่ล่ะ ด้วยฝีมือการเล่าเรื่องระดับนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ สำนวนภาษาและความเปรียบมิพ้นออกอรรถรสเอร็ดอร่อยยิ่ง เป็นต้นว่า มาลัยได้เทียบเคียงลักษณะของ ‘เสือฝ้าย’ กับ มหาโจรเอลโดราโด แห่งกัวตาลูเป อดีตชาวนาเม็กซิกันที่ถูกคนของรัฐรังแก (ภรรยาสุดที่รักของเขาถูกฆ่าข่มขืน) เขาเลยเป็น ‘อ้ายเสือ’ ตลอดย่านนิวเม็กซิโก อริโซนา และเท็กซัส โดยลุกโชนแรงปรารถนาล้างแค้นให้ภรรยา พร้อมปล้นเจ้าที่ดินโหดเหี้ยมแล้วนำทรัพย์สินที่ได้มาแจกจ่ายคนยากคนจน ชาวสยามทั้งหลายเคยรู้จักมหาโจรชื่อนี้ผ่านภาพยนตร์ฝรั่งที่เข้าฉายในศาลาเฉลิมกรุงราวๆ ปลายทศวรรษ 2470
‘นายฉันทนา’ อดไม่ได้ที่จะเล่าต่อเกี่ยวกับผลตอบรับภายหลังงานเขียนเรื่อง ‘เสือฝ้าย’ จัดพิมพ์เผยแพร่ออกไป โดยเฉพาะน้ำเสียงจากนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ดังปรากฏความว่า
“ในการให้สัมภาษณ์แก่คณะหนังสือพิมพ์ซึ่งขึ้นไปเยี่ยมพระตะบองเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ศกนี้ พ.ต.อ. ขุนสมัครพลกิจ ผู้บังคับการตำรวจแห่งเมืองนั้นแสดงข้อข้องใจว่า เหตุไฉนข้าพเจ้าไปหยิบยกเอาสิ่งใดก็ตามที่เป็นคุณความดีของ “เสือ” ฝ้ายมาเขียน ท่านว่าตามธรรมดาเมื่อได้ชื่อว่าโจร คนเราก็ควรจะช่วยกันกระหน่ำลงไป เหมือนอย่างท่าน ถ้าได้พบกับฝ้าย เพ็ชนะ อย่างที่ พ.ต.ท. สวัสดิ์ กันเขตต์ หัวหน้ากองปราบและข้าหลวงประจำจังหวัดสุพรรณบุรีได้พบแล้ว ท่านจะต้องจับทันที การเจรจากับคนร้ายมีประโยชน์อะไร”
เป็นความจริงว่ามีนายตำรวจไม่น้อยรายสมัยนั้นมองการ ‘จับตาย’ หรือ ‘ยิงทิ้ง’ พวกเสือพวกโจรทั้งหลายในแง่ทางออกชั้นดีเพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรม หากทัศนะของมาลัย ชูพินิจดูเหมือนจะคล้อยตามแนวคิดของแคลเรนส์ แดโร (Clarence Darrow) ทนายความลือนามแห่งสหรัฐอเมริกาที่ไม่เห็นพ้องกับการลงโทษอาชญากรรุนแรง เพราะมิได้ระงับยับยั้งมิให้คนอื่นๆ ก่อเหตุอาชญากรรมอีก ดังเขาเอ่ยอ้างงานเขียน Crime, Its Cause and Treatment มาเป็นเครื่องสนับสนุน อีกทั้งหยิบยกประเด็นของนักสังคมวิทยามาขับเน้นพร้อมเสนอความเห็นต่อเรื่อง ‘เสือฝ้าย’ ทำนอง “…ความตายหรือการติดคุก ติดตะรางของ “เสือ” ฝ้าย อาจจะทำให้กระทรวงมหาดไทยเบาใจไปได้วาระหนึ่ง แต่มันมิได้หมายความว่าเป็นการแก้ปัญหาใหญ่ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังประจำชาติเรามาหลายปีให้หลุดไปเปลาะเดียว ทำนองเดียวกับความตายหรือการติดคุกติดตะรางของอาชญากรอื่นๆ ก่อนหน้า “เสือ” ฝ้ายขึ้นไป”
ภาพยนตร์ขุนพันธ์ ภาค 2 อาจทำให้นามแห่งขุนโจรสิบทิศประจำภาคกลางช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผุดพรายขึ้นมาในความรู้สึกใครต่อใครอีกครั้ง ไม่เว้นกระทั่งผมเองที่พอยินชื่อ ‘เสือฝ้าย’ คราใดย่อมจะนึกถึงชื่อ ‘นายฉันทนา’ เคียงคู่เสมอ ไหนๆ เห็นว่าสบโอกาส ผมจึงอดไม่ได้ที่ต้องนำเรื่องราวของนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ผู้ห้าวหาญบุกไปหาแหล่งข่าวในชุมโจรมาบรรณาการให้คุณผู้อ่านตื่นตาตื่นใจไฉไลจริงแฮ!
อ้างอิงข้อมูลจาก
- ขนิษฐา ณ บางช้าง (บรรณาธิการ). ระหว่างชีวิตของมาลัย ชูพินิจ.กรุงเทพฯ: ดำรงสิทธิ์, 2537
- ชนม์สวัสดิ์ ชมพูนุท, ม.ร.ว. ชีวประวัติและการต่อสู้ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม.พระนคร: ประมวลสาส์น, 2507
- ถวิล มนัสน้อม และ สุจิตต์ วงษ์เทศ. เหตุเกิดที่สนามหลวง.กรุงเทพฯ : กราฟิคอาร์ต, 2523
- นายฉันทนา. เสือฝ้ายสิบทิศ (ชีวิตจริงของ “เสือ” ฝ้ายแห่งสุพรรณบุรี).พระนคร:วรรธนะวิบูลย์, 2489
- สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย. มาลัยอนุสรณ์.พระนคร:โรงพิมพ์ไทยแบบเรียน, 2506
- สุธิรา สุขนิยม. มาลัย ชูพินิจ และผลงานประพันธ์เชิงสร้างสรรค์.กรุงเทพฯ: การเวก, 2522