ถึงจะเปิดตัวในวงการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985 และทำงานในฐานะนักเขียนมังงะมืออาชีพมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989 เป็นผู้วาดลายเส้นงามๆ ให้กับมังงะหลายเรื่องที่คนจดจำอย่าง Hikaru No Go ฮิคารุ เซียนโกะอัจฉริยะ, Death Note, Bakuman วัยซนคนการ์ตูน และผลงานล่าสุดอย่าง Platinum End แต่กว่าที่ อาจารย์โอบาตะ ทาเคชิ (Obata Takeshi) จะมีโอกาสได้จัดงานนิทรรศการแสดงผลงานของตัวเองก็ลากยาวมาเนิ่นนานจนปี 2019 นี้นี่เอง
การจัดนิทรรศการแสดงภาพที่ใช้ชื่อว่า ‘Obata Takeshi Never Complete’ นี้ จัดขึ้นเนื่องในโอกาสที่นักเขียนมังงะชื่อดังทำงานครบรอบ 30 ปี โดยจะแบ่งโซนออกเป็นสามส่วน ประกอบด้วย Manga ที่จะจัดแสดงผลงานต้นฉบับที่อาจารย์ร่วมเขียนมา Illustration มุมรวมภาพวาดเดี่ยวที่อาจารย์วาดไว้ประกอบในงานของตัวเองและงานอื่นๆ และส่วนสุดท้ายก็คือ Never Complete ที่จะพูดถึงผลงานปัจจุบัน
ภาพรวมของงานโดยคร่าวนั้นจะเป็นการนำเอาผลงานนับตั้งแต่อาจารย์เข้ามาทำงานในวงการ จนถึงงานปัจจุบันอยางเรื่อง Platinum End มาจัดแสดง กว่าที่นักเขียนท่านนี้จะได้รับการจดจำจากคนอ่าน อาจารย์ได้สร้างผลงานอะไรมาบ้าง ขอชวนทุกคนย้อนไปดูเส้นทางการทำงานของอาจารย์โอบาตะ ทาเคชิกัน
จากความรักในการวาดรูป สู่เส้นทางการเป็นนักเขียนมังงะ
อาจารย์โอบาตะเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า อาจารย์นั้นตั้งเป้าที่จะเป็นนักเขียนการ์ตูนมังงะมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะตัวอาจารย์ชอบวาดรูป โดยอาจารย์ก็มุ่งมั่นในการวาดรูปอย่างจริงจังจนสามารถส่งงานเข้าแข่งขันรางวัลวัฒนธรรมเทะสึกะ โอซามุ (Tezuka Osamu Cultural) ในปี ค.ศ. 1985 ซึ่ง ณ ขณะมีอายุเพียง 17 ปี และอาจารย์โอบาตะก็สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศของปีนั้นมาครองได้ (ทั้งนี้ ในปีดังกล่าวไม่มีผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ) พร้อมกับได้รับคำชมว่าเป็นนักเขียนที่วาดภาพได้สวย จนกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ให้กับนักเขียนรุ่นหลัง จากนั้นอาจารย์โอบาตะก็เริ่มทำงานในฐานะผู้ช่วยของนักเขียนหลายคนตามวิสัยของคนที่อยากจะยึดอาชีพนักเขียนมังงะเต็มตัว
เหมือนกับเด็กหลายๆ คนที่เริ่มเขียนการ์ตูนหลังจากอ่านมังงะของนักเขียนท่านอื่น อาจารย์เองก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าตอนเด็กๆ อาจารย์ชื่นชอบผลงานของอาจารย์อิชิโนะโมริ โชทาโร่ นักเขียนมังงะผู้สร้างผลงานดังหลายเรื่องอย่าง ซีรีส์มาสก์ไรเดอร์ และ ไซบอร์ก 009 ที่อาจารย์โอบาตะได้รับอิทธิพลมาอย่างมาก หลังจากที่ขัดเกลาฝีมือเพิ่มเติม อาจารย์โอบาตะก็ได้ปล่อยผลงานเดบิวต์ของตัวเอง นั่นก็คือมังงะเรื่อง Cyborg Jii-chan G มังงะแนวตลกที่ได้รับอิทธิพลจากการ์ตูนมนุษย์แปลงของอาจารย์อิชิโนะโมริ ผลงานเรื่องนี้ตีพิมพ์ในนิตยสารโชเน็นจัมพ์รายสัปดาห์ในช่วงปี ค.ศ. 1989 แต่ตอนนั้นอาจารย์โอบาตะยังใช้นามปากกาว่า ฮิจิคาตะ ชิเงรุ
แม้ว่าพล็อตเรื่องจะเข้าใจง่าย มีลายเส้นสวยงาม แถมใส่มุกที่แดกดันพวกการ์ตูนกับซีรีส์แนวโทคุซัทสึ หรือแม้แต่ภาพยนตร์ที่ฮิตในช่วงนั้นอย่าง Robocop ทว่า นิตยสารโชเน็นจัมพ์รายสัปดาห์ในช่วงปี ค.ศ. 1980 ตอนปลาย กับ ค.ศ. 1990 ตอนต้น ถือว่าเป็นยุคทองของตัวนิตยสาร มีมังงะยอดฮิตอยู่หลายเรื่อง ทั้ง ดราก้อนบอล ที่ตอนนั้นเริ่มเข้าสู่ช่วงต่อสู้กับเบจิต้า, โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ ที่เดินเรื่องในช่วงภาคสาม, เซนต์เซย์ย่าที่อยูในช่วงปลายของการต่อสู้กับเทพสมุทร ฯลฯ การ์ตูนตลกที่ไม่ได้มีโครงเรื่องแข็งแรงมากนักอย่าง Cyborg Jii-chan G จึงถูกตัดจบภายในช่วงปีเดียวกัน
และเหมือนเรื่องนี้จะทำให้อาจารย์โอบาตะทราบถึงจุดอ่อนของตัวเองว่ายังสร้างโครงเรื่องที่แข็งแรงไม่ได้ ทำให้ผลงานหลังจากนั้น อาจารย์มักจะจับคู่กับนักแต่งเรื่องที่เก่งแต่อาจจะวาดภาพได้ไม่เฉียบคมนักแทน
สร้างงานหลากหลาย เพื่อหาการยอมรับ ในยุคทองของโชเน็นจัมพ์
อย่างที่กล่าวไว้ในช่วงแรกว่า นิตยสารโชเน็นจัมพ์รายสัปดาห์ในช่วงปี ค.ศ. 1980 ตอนปลาย กับ ค.ศ. 1990 ตอนต้น เป็นยุคทองของนิตยสารโชเน็นจัมพ์รายสัปดาห์ เลยออกจะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากเล็กๆ ของอาจารย์โอบาตะที่จะสร้างงานโดดเด่นแซงหน้าเพื่อนร่วมเล่มได้ และเมื่ออาจารย์ (อาจรวมถึง กอง บ.ก. ที่ดูแล) พบจุดอ่อนสำคัญ อาจารย์โอบาตะก็ทำการปรับตัวด้วยการเขียนมังงะร่วมกับนักแต่งเรื่องคนอื่นๆ ที่ฟังดูอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ดีนัก เพราะเหมือนเครดิตงานจะไม่ใช่ของนักเขียนคนเดียว แต่ก็มีมังงะหลายเรื่องที่สร้างชื่อจากการทำงานคู่กันเช่นนี้ อย่างเช่น ฤทธิ์หมัดดาวเหนือ, Eyeshield 21 เป็นอาทิ
และในทางกลับกัน การทำงานแบบร่วมมือกับผู้แต่งเรื่องท่านอื่นๆ นี้ทำให้เราได้เห็นว่าอาจารย์โอบาตะสามารถวาดงานได้หลายสไตล์ อาจารย์สามารถใช้ทักษะการวาดภาพเกื้อหนุนเรื่องราวที่อาจจะดูจืดชืดให้กลายเป็นเรื่องที่เข้มข้นขึ้น จนสามารถสร้างผลงานที่นักอ่านหลายคนจดจำได้
ผลงานของอาจารย์โอบาตะในช่วงนั้นได้แก่ Arabian Lamp Lamp แต่งเรื่องโดย เซ็นโด ซุซุมุ มังงะแนวต่อสู้ที่เล่าเรื่องของเด็กชายที่พยายามตามหา แลมป์ ยักษ์ในตะเกียงให้ไปต่อสู้เพื่อชิงวิญญาณของพี่สาวคืนมา ซึ่งตีพิมพ์ในช่วงปี ค.ศ. 1991-1992
เรื่องนี้แต่งโดย มิยาซากิ มาซารุ เป็นมังงะแนวชีวประวัติของสองพี่น้องนักซูโม่ ฮานาดะ ทานากะโนะฮานะ โคจิ กับ วากาโนะฮาโนะ มาซารุ ที่ได้รับความนิยมในช่วงต้นของยุค 1990 โดยตีพิมพ์ในช่วงปี ค.ศ. 1992-1993
มังงะเรื่องที่น่าจะสร้างชื่อให้อาจารย์โอบาตะมากที่สุดในยุคนี้ คงจะไม่พ้นเรื่อง Karakuri Zoushi Ayatsuri Sakon แต่งเรื่องโดย มิยาซากิ มาซารุ (แต่ใช้นามปากกว่า ชาราคุมาโระ) มังงะแนวรหัสคดีปนเรื่องเหนือธรรมชาติที่มีนักเชิดหุ่น ทาจิบานะ ซาคอน ที่มักจะออกเดินทางพร้อมกับ อุคอน หุ่นเชิดจากยุคเอโดะที่เหมือนจะมีชีวิตของตัวเองในเวลาที่ซาคอนนำมาเชิด ทั้งสองมักจะเดินทางไปยังสถานที่พิสดารและเจอกับคดีฆาตกรรมแปลกประหลาด โดยซาคอนจะใช้ความคิดอันเฉียบคม และอุคอนที่เป็นหุ่นเชิดสามารถให้วิญญาณของคนตายสิงได้ชั่วคราวเพื่อไขคดี
และอาจจะเป็นเพราะสไตล์เรื่องที่มีความเป็นรหัสคดีผสมกับตัวละครที่มีความน่าสนใจและยังคงความเป็นการ์ตูนไว้อยู่ ทำให้มังงะเรื่องนี้ถูกนำไปสร้างเป็นอนิเมะซึ่งออกฉายในปี ค.ศ. 1999-2000 เว้นช่วงหลังจากฉบับมังงะจบไปแล้วถึง 3 ปี และในช่วงปี ค.ศ. 1999 อาจารย์โอบาตะก็ได้เริ่มเขียนงานใหม่อีกหนึ่งเรื่องที่ทำให้คนอ่านได้เห็นชัดเจนว่าตัวของอาจารย์ขัดเกลาฝีมือจนเกิดประกายเจิดจรัสดุจเพชรแท้
เปิดเส้นทางสู่หัตถ์เทวะ
อาจารย์โอบาตะกลับมาเขียนมังงะเรื่องยาวลงในนิตยสารโชเน็นจัมพ์รายสัปดาห์อีกครั้งในปี ค.ศ. 1999 และคราวนี้อาจจะถือว่าเป็นการเขียนงานที่แหวกแนวไปจากงานก่อนหน้าอย่างมาก เพราะ ฮิคารุ เซียนโกะอัจฉริยะ หรือ Hikaru No Go ซึ่งแต่งเรื่องโดยอาจารย์ ฮตตะ ยูมิ เล่าเรื่องของการเล่นกีฬาหมากกระดานที่ดูๆ แล้วไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถนำเอาเรื่องของ ‘โกะ’ มาเล่าได้อย่างร้อนแรงและสนุกตื่นเต้น
เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของ ชินโด ฮิคารุ เด็กชายที่ไม่อินอะไรกับการเล่นโกะ ที่ได้พบพานกับวิญญาณนักเล่นโกะจากโบราณกาลของ ฟูจิวาระ โนะ ซาอิ และเคยเข้าสิงร่างของ ฮงอินโบ ซูซาคุ นักเล่นโกะระดับประวัติศาสตร์มาก่อน เนื้อเรื่องค่อยๆ เรียบเรียงเรื่องราวตั้งแต่จุดที่ ฮิคารุ ไม่เข้าใจเรื่องของโกะแม้แต่น้อย จนถึงวันที่ฮิคารุอยากจะเข้าใจเรื่องของหมากกระดานประเภทนี้มากขึ้น ยาวไกลไปจนถึงระดับที่เขาได้เห็นความต่างชั้นกันของนักเล่นโกะมือสมัครเล่นกับมืออาชีพ จนถึงวันที่ ฮิคารุ จะต้องสานต่อวิถีทางแห่งหัตถ์เทวะด้วยตัวของเขาเอง
งานเนื้อเรื่องนั้นต้องให้เครดิตอาจารย์ฮตตะ ยูมิ ที่เลือกมุมของกีฬาหมากกระดานที่เหมือนจะเป็นเรื่องของคนแก่ มาขยับเขยื้อนให้สนุกและทันสมัย จนเมื่อการ์ตูนเดินเรื่องไประยะหนึ่ง โกะ ก็กลายเป็นกระแสบูมขึ้นมาในหลายประเทศทั่วโลก และแน่นอนว่าภายหลังก็ได้สร้างเป็นอนิเมะนั่นเอง
ส่วนด้านของภาพ หลังจากที่เราได้เห็นอาจารย์โอบาตะเขียนงานสไตล์การ์ตูนต่อสู้แมสๆ หรือเขียนภาพสมจริงสมจังให้เชื่อว่าเป็นเรื่องของคนที่มีอยู่จริง รวมถึงการเลือกใช้มุมกล้องเพื่อสร้างบรรยากาศหลายหลาก ในมังงะเรื่อง ฮิคารุ เซียนโกะ นี้ อาจารย์ได้นำจุดเด่นที่เคยมีในงานก่อนหน้าทั้งหมดมาหลอมรวมกัน แลพเพิ่มเติมคือความพลิ้วไหวแบบภาพพู่กันที่ทำให้มังงะเรื่องนี้มีฉากหลายฉากซึ่งคงจะเป็นเรื่องธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน กลายเป็นภาพที่คนอ่านจะจำฝังใจ อย่าง ฉากการคีบหมากโกะแบบถูกต้องครั้งแรกของฮิคารุ, การจ้องมองเม็ดหมากบนกระดานที่ไร้ผู้เล่นของโทยะเมย์จิน โดยแสดงให้เห็นถึงความคาดหวังลึกๆ ว่าจะได้ดวลกับผู้ที่ใกล้เคียงหัตถ์เทวะอีกสักครั้ง หรือ ภาพเมื่อครั้งที่ ฮิคารุ เริ่มเดินหมากตามแนวคิดของตัวเองแต่สอดคล้องกับการเดินที่ซาอิคาคิด จุดนั้นวิญญาณจากอดีตจึงเข้าใจว่าตนเองได้อยู่ต่อถึงปูนนี้อาจเป็นเพราะประสงค์ของใครบางคนที่ต้องการส่งมอบอนาคตขอองการเดินหมากให้คนรุ่นใหม่
และถ้าเราบอกว่ามังงะเรื่องนี้เหมือนผลงานที่อาจารย์โอบาตะได้แสดงฝีมือของ หัตถ์เทวะบนเส้นทางสายมังงะก็ไม่ผิดนัก
สร้างกระแสดังไปทั่วโลกด้วยสมุดมรณะ
ฮิคารุ เซียนโกะ กลายเป็นผลงานที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้อ่านไปแล้วว่า ถ้าเป็นอาจารย์โอบาตะวาดมังงะ อย่างน้อยก็ไว้ใจเรื่องภาพได้ และในช่วงที่พักงานเตรียมรอทำเรื่องใหม่ อาจารย์โอบาตะก็ได้พบพานกับ อาจารย์โอบะ ทสึกุมิ นักแต่งเรื่องมือดีที่มีตัวตนลึกลับ (อ้างอิงจากคำพูดของตัวอาจารย์โอบาตะและกองบรรณาธิการของโชเน็นจัมพ์ แม้ว่านักอ่านจะพอรู้ว่าแกเป็นคนเดียวกับผู้วาด Lucky Man ก็ตามที) ด้วยสไตล์การเขียนเรื่องที่ทำให้คนอ่านต้องใช้ความคิด กับลายเส้นต้นทางที่อาจไม่เหมาะกับเรื่องแนวซีเรียส การจับมือกันระหว่างนักเขียนกับนักแต่งเรื่องของทั้งสองท่านนี้จึงกลายเป็นส่วนผสมที่เข้ากันมากกว่าที่ใครจะคาดไว้ และเมื่อผลงานเรื่องสั้นตอนเดียวจบได้รับความนิยมอย่างดี พวกเขาก็จับมือกันนำเอาเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงและแปลกใหม่มาลงในนิตยสารโชเน็นจัมพ์
Death Note เริ่มต้นเรื่องด้วยการที่ ยางามิ ไลต์ เด็กหนุ่มที่มีความคิดอ่านระดับก้าวหน้ากว่าคนในรุ่นเดียวกันได้เจอกับ สมุดโน้ตสีดำที่ปรากฏขึ้นบนโลกอย่างกะทันหัน สมุดดังกล่าวเป็นสมุดของยมฑูตที่สามารถปลิดชีวิตใครก็ได้ เพียงแค่เขียนชื่อ-นามสกุลของคนๆ นั้นลงไป และไลต์ตั้งใจจะใช้สมุดเล่มนั้นสร้างโลกใบใหม่ที่ไร้ซึ่งอาชญากร แต่กลายเป็นว่าการฆ่าคนอย่างต่อเนื่องนี้ทำให้ L ยอดนักสืบอันดับหนึ่งของโลกตัดสินใจพยายามสืบหาตัวตนของ นักฆ่าลึกลับที่ผู้คนเรียกว่า คิระ และเกมการหักเหลี่ยมเฉือนคมระหว่างคนหลายกลุ่มที่มีต้นเหตุจากสมุดมรณะก็เริ่มต้นขึ้น
ด้วยสไตล์เรื่องที่ทำให้คนอ่านต้องครุ่นคิดตลอดเวลาว่าเราควรจะเข้าข้างแนวคิดใครกันแน่ ระหว่างคนที่มีอำนาจสังหารในมือแต่มีเป้าหมายสร้างโลกสงบสุข กับอีกฝ่ายที่มองว่าการตัดสินใดๆ ควรจะเกิดขึ้นจากกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ มากกว่าการใช้ระบบศาลเตี้ย ซึ่งถือวาผิดวิสัยของมังงะที่ตีพิมพ์ในนิตยสารโชเน็นจัมพ์ ที่มักจะแยกภาวะขาว-ดำให้กับตัวละครอย่างชัดเจน ตัวละครใน Death Note กลับมีภาวะสีเทากันทั้งฝั่งตัวละครเอกแบบไลต์/คิระ และฝ่ายไล่ล่าอย่าง L/เมลโล/เนียร์
ด้านงานภาพ อาจารย์โอบาตะได้ปรับลดสไตล์เส้นพลิ้วไหวที่มีให้เห็นใน ฮิคารุ เซียนโกะ แล้วเพิ่มเติมความโกธิค และบางครั้งก็เอางานศิลปะของยุโรปมาใช้ประยุกต์ในการเขียนบางฉากของเรื่อง ภาพในเรื่องจึงมีความอินเตอร์มากกว่าผลงานก่อนหน้านี้
ด้วยการรวมกันของภาพกับเรื่องที่โดดเด่นจึงทำให้มังงะเรื่อง Death Note ที่แม้จะเขียนด้วยระยะเวลาไม่นาน (ตั้งแต่ปี 2003-2006) ได้รับความนิยมท่วมท้น ตัวมังงะวางขายไปได้มากกว่า 30 ล้านเล่ม และถูกดัดแปลงเป็นสื่อประเภทอื่นๆ ทั้ง นิยายภาคแยกที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ L มากขึ้น, หนังสือรวมภาพประกอบ, ภาพยนตร์คนแสดงในญี่ปุ่น, ละครเวที. ละครโทรทัศน์, อนิเมะ และภาพยนตร์คนแสดงฉบับฝรั่ง
ความโด่งดังที่เกิดขึ้นจากมังงะเรื่องนี้ยังทำให้อาจารย์โอบาตะได้มีโอกาสได้เขียนภาพประกอบให้กับสื่อบันเทิงอื่นๆ มากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้อาจารย์อาจจะเคยรับวาดภาพประกอบให้ไลท์โนเวล Kyokagaku Hunter REI กับไลท์โนเวลของเรื่อง Karakurizoushi Ayatsuri Sakon
กลายเป็นว่าอาจารย์โอบาตะได้รับการว่าจ้างให้เป็นผู้ออกแบบตัวละครของเกม Yoshitsune-ki, Castlevania Judgement ได้วาดภาพประกอบปกของวรรณกรรมคลาสสิคอย่างเรื่อง สูญสิ้นความเป็นคน หรือ Ningen Shikaku ของดะไซ โอซามุ, โคะโคะโระ ของ นัตสึเมะ โซเซกิ ฉบับที่ตีพิมพ์โดย ชูเอย์ฉะ (ตัวนิยายดังกล่าวตีพิมพ์มาแล้วหลายสำนักพิมพ์เนื่องจากเป็นสาธารณสมบัติแล้ว สำนักพิมพ์หลายแห่งจึงต้องปรับเปลี่ยนแพ็คเกจภายนอกเพื่อสร้างจุดเด่นในการขาย)
นอกจากนี้อาจารย์โอบาตะยังข้ามไปร่วมงานกับนักแต่งเรื่องคนอื่นๆ หลายท่าน อาทิ โอตสึ อิจิ นักเขียนนิยายแนวเหนือจริงแต่มักจะมีความอบอุ่นเคล้าความเหงาอยู่ในเรื่อง, นิชิโอะอิชิน นักเขียนนิยายที่เล่าเรื่องแบบหลุดโลกแต่มักจะเต็มไปด้วยตัวละครที่เปี่ยมเสน่ห์ แสดงให้เห็นถึงทักษะของนักวาดที่เก่งในการตีความเรื่องราวที่คนอืนแต่งได้อย่างร้ายกาจ
สลับฉากวาดมังกรน้ำเงิน และการจับคู่กับอาจารย์เล่าเรื่องเบื้องหลังการทำงาน
อาจารย์โอบาตะกลับมาวาดผลงานมังงะสั้นๆในช่วงปี 2006-2007 กับเรื่อง Blue Dragon RalΩGrad ซึ่งเชื่อมโยงกับเกม Blue Dragon เล็กน้อย จนพอจะบอกได้ว่ามังงะเรื่องนี้ออกจะเป็นการโปรโมทเกมให้นักอ่านวัยรุ่น, วัยเพิ่งเริ่มทำงาน หรือในทางกลับกันถ้ามองว่ามังงะเรื่องนี้ถูกออกแบบมาให้ไม่ยาวมากตั้งแต่เริ่มอยู่แล้วก็ได้เช่นกัน ตัวมังงะจึงจบลงในเวลาไม่นานมากนัก
และอาจารย์โอบาตะก็กลับไปทำงานร่วมกับอาจารย์โอบะอีกครั้ง ที่คราวนี้เป็นมังงะที่พอจะบอกได้ว่า ‘เอาเรื่องจริงมาเล่าให้มันตลก’ กับเรื่อง Bakuman วัยซนคนการ์ตูน มังงะที่เล่าเรื่องของวัยรุ่นสองคนที่ตั้งเป้าอยากจะเป็น ผู้สร้างมังงะมืออาชีพ โดยที่คนหนึ่งเป็นนักวาดที่เก่งกาจ ส่วนอีกคนเป็นนักแต่งเรื่องที่คมคาย ทั้งสองร่วมมือกันโดยมีเป้าหมายจะสร้างผลงานของตัวเองให้เป็นอนิเมะเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และแผนของพวกเขาก็คือการสร้างผลงานเปิดตัวในนิตยสารโชเน็นจัมพ์รายสัปดาห์ ซึ่งกลายเป็นก้าวแรกที่ทำให้พวกเขาต้องทำความเข้าใจว่า ระบบการทำงานในนิตยสารชื่อดังนี้มีลูกเล่นอย่างไร และพวกเขาควรจะสร้างงานแบบไหนเพื่อจะไปให้ถึงฝันที่หวังไว้
ด้วยเรื่องราวที่หยิบเอาเบื้องหลังการทำงานส่วนหนึ่งของนักเขียนการ์ตูนมาแบไต๋ให้ดู งานเรื่องนี้เลยกลายเป็นผลงานที่หลายคนชื่นชอบ แม้ว่าในเรื่องแทบจะไม่มีความแฟนตาซีเหนือจริงใดๆ เลย แต่กลายเป็นว่านักอ่านหลายคนยึดเอามังงะเล่มนี้เป็นคัมภีร์ในการทำความเข้าใจอุตสาหกรรมมังงะไป หรืออย่างน้อยที่สุดคนอ่านทุกคนก็พยายามย้อนนึกกันว่าตัวละครที่ปรากฏในเรื่องนั้นเป็นการเทียบเคียงกับนักเขียนคนไหนกันแน่ อย่างเช่น หลายๆ ท่านมองว่า สองตัวเอกของเรื่องเป็นการจำลองเอาตัวอาจารย์โอบาตะกับอาจารย์โอบะ ซึ่งอาจารย์โอบาตะก็ยอมรับว่าส่วนหนึ่งของตัวละคร ไซโค ในเรื่อง Bakuman เป็นหยิบจับเอาส่วนหนึ่งของตัวอาจารย์ไปนำเสนอ แต่ในการสัมภาษณ์หลายๆ ครั้งอาจารย์โอบาตะจะบอกว่าตัวอาจารย์ใกล้เคียงกับ ฮิรามารุ (ตัวละครที่เป็นนักเขียนมังงะที่เขียนงานตามความรู้สึกและมักจะหาโอกาสอู้งาน) และ นากาอิ (ตัวละครที่เป็นนักวาดที่วาดภาพเก่งแต่แต่งเรื่องไม่เก่งนัก) มากกว่า
Bakuman วัยซนคนการ์ตูน ได้รับความนิยมมากจนทำให้มังงะเรื่องดังกล่าวถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์คนแสดงกับอนิเมะในภายหลัง และอาจารย์โอบาตะกับอาจารย์โอบะ ก็ทำเหมือนตัวละครในเรื่องที่บอกว่าอยากจะจบมังงะของตัวเองในจังหวะที่เรื่องกำลังถึงช่วงไคลแมกซ์ที่สุดโดยไม่ต่อเรื่องให้ยืดยาวจนเกินไป จน Bakuman อวสานลงในปี 2012
เรื่องราวหลังจากนั้น…
อาจารย์โอบาตะกลายเป็นนักเขียนมังงะที่ทำให้คนอ่านเห็นเสมอว่า เขาสามารถเค้นเนื้อหาบางอย่างที่ยากให้เข้าถึงได้ง่าย เป็นภาพที่งดงามและเสพความรู้สึกได้ไม่ยาก นอกจากนี้อาจารย์ก็ได้กลับไปวาดกับผู้แต่งเรื่องคนอื่น อาทิ ดัดแปลงนิยาย All You Need Is Kill ของอาจารย์ซากุระซากะ ฮิโรชิ และได้อาจารย์ทาเคะอุจิ เรียวสุเกะ โดยวาดเป็นสตอรี่บอร์ด เพื่อใช้การโปรโมทให้กับภาพยนตร์ Edge Of Tomorrow / Live, Die, Repeat ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากแฟนมังงะเช่นเดิม
จากนั้นในช่วงปี ค.ศ. 2014 อาจารย์โอบาตะร่วมกับอาจารย์เอโนกิ โนบุอากิ เขียนมังงะเรื่อง Gakkyu Hotei ที่เล่าเรื่องในโลกสมมติที่นักเรียนจะต้องสู้คดีในศาลซึ่งมีทั้งอัยการ ผู้พิพาษา และทนายที่เป็นนักเรียนเช่นกัน ตัวมังงะไม่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีเท่าไหร่นัก มังงะเรื่องนี้เลยจบลงในช่วงเวลาประมาณหนึ่งปีหลังจากที่เริ่มตีพิมพ์
และในช่วงปี ค.ศ. 2015 อาจารย์โอบาตะ ก็กลับไปร่วมงานกับอาจารย์โอบะอีกครั้งหนึ่ง ในการเขียนมังงะเรื่อง Platinum End ที่ตามติดชีวิตของชาวญี่ปุ่น 13 คนที่ถูกคัดเลือกจากพระเจ้าให้มาทำการต่อสู้แลกชีวิต เพื่อตัดสินว่าสุดท้ายแล้วใครจะได้เป็นพระเจ้าของโลกใบใหม่ แต่มังงะเรื่องนี้ถูกตีพิมพ์อยู่ในนิตยสาร Jump Square ทื่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้อ่านอายุมากกว่าฝั่งโชเน็นจัมพ์รายสัปดาห์ จึงทำให้มังงะที่มีพล็อตเรียบง่ายและเดินเรื่องไปในแนวทางที่ ‘หน่วง’ และ ‘อึมครึม’ มากกว่าการ์ตูนเรื่องอื่นที่เคยใช้พล็อตในลักษณะเดียวกัน
ซึ่งภายในงานนิทรรศการ Obata Takeshi Never Complete ก็จะมีการนำเอางาน Platinum End มาจัดแสดงในส่วนของงานที่ใช้ชื่อว่า ‘Never Complete’ ที่สะท้อนถึงแนวคิดของอาจารย์โอบาตะว่า การทำงานของเขานั้นไม่มีวันสิ้นสุด และงานที่ดีทีสุดของตัวเขานั้นคือผลงานปัจจุบันที่เขากำลังสร้างอยู่ ซึ่งนี่อาจจะเห็นเหตุสำคัญว่าทำไมผลงานของอาจารย์นั้นถึงพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีวันสิ้นสุดตราบเท่าที่เขายังจับปากกาวาดรูปได้อยู่นั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก