หนึ่งในนักเขียนของนักเขียนของนักเขียนของ เจฟฟรีย์ ยูจินนีดีส (Jeffrey Eugenides) ผู้เขียนเรื่อง The Virgin Suicides ที่โซเฟีย คอปโปลา (Sofia Coppola) เอามาทำเป็นหนัง ก็คือ วลาดิเมียร์ นาโบคอฟ (Vladimir Nabokov) ผู้เขียนเรื่อง Lolita
แล้วงานเขียนของใครบ้าง ที่ทำให้นักเขียนต่อไปนี้อยากลงมือเขียนหนังสือ หรือเป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นนักเขียน
ออสการ์ ไวลด์ นักเขียนของ ‘วีรพร นิติประภา’
“ตอบยากค่ะ อ่านเยอะอ่านเปรอะไปหมดตอนเด็กๆ จำได้ว่าแปล The Happy Prince ของ ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) เป็นงานเขียนชิ้นแรก อ่านในรีดเดอร์ส ไดเจสท์ที่ใครสักคนลืมทิ้งไว้ที่ร้านอาหาร น่าจะเริ่มจากตรงนั้น หลังจากนั้นจึงเขียนบันทึก และเรื่องสั้น ออสการ์แหละ”
สุวรรณี สุคนธา, พิบูลศักดิ์ ละครพล,วาณิช จรุงกิจอนันต์, ศศิวิมล, น.ม.ส., น.นพรัตน์ และ ว.ณ เมืองลุง นักเขียนของ ‘โตมร ศุขปรีชา’
“นักเขียนที่ทำให้อยากเขียนหนังสือมีหลายคนมากครับ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นแรงบันดาลใจในมิติไหน เช่น ถ้าเป็นมิติของภาษาที่วาดออกมาเป็นภาพแสนสวย ในวัยเด็กก็น่าจะเป็นคุณสุวรรณี สุคนธา ที่ ‘วาดภาพ’ ด้วยตัวอักษรออกมามีสีสันงดงามละลานตาน่าตื่นใจ (เช่นใน ‘สวนสัตว์’) กับคุณพิบูลศักดิ์ ละครพล (เช่นใน ‘ทุ่งหญ้าสีน้ำเงิน’ หรือ ‘ขอความรักบ้างได้ไหม’)
“ถ้าเป็นวิธีเขียนแบบสนุกสนาน แลดูไม่จริงจัง ไม่เคร่ง แต่อ่านแล้วไหลลื่นเพลิดเพลิน ก็คือคุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ ที่เล่าเรื่องสัพเพเหระต่างๆ ตั้งแต่รถมือสองที่ซื้อมาเสียโน่นนี่ จนถึงนกกระจอก ปลาแรด และจิ้งจกในบ้าน
“ส่วนนักเขียนไทยที่ปากร้ายจัดจ้านที่สุดในความเห็นของตัวเอง ก็คือ ‘ศศิวิมล’ หรือ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต กับ น.ม.ส. (ซึ่งหลายคนคงคุ้นเคยกับสำนวนใน ‘นิทานเวตาล’ ดี แต่ที่ชอบมากคือหนังสือรวมบทความของท่าน)
“นอกจากนี้ยังมีงานแปลของ น.นพรัตน์ และ ว.ณ เมืองลุง ที่บรรยายนิยายกำลังภายในออกมาได้วิจิตรแบบตะวันออกมากๆ ทำให้อยากเขียนได้แบบนั้นด้วย เพราะฉะนั้นเฉพาะ ‘วิธีเขียน’ ก็ได้แรงบันดาลมาจากหลากหลายแหล่งมาก ทั้งแบบงดงาม ปากร้าย สบายๆ และวิจิตรบรรจง ที่ว่ามานี้เป็นเรื่องของ ‘การเขียน’ ล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับ ‘ความคิด’ นะครับ เพราะเรื่องความคิดจะงอกออกมาภายหลังจากงานประเภทอื่นๆ เช่น งานวิชาการหรือกึ่งวิชาการ รวมถึงหนังสือ non fiction ทั้งหลาย”
ฟรานซ์ คาฟก้า และ ซามูเอล เบ็คเค็ทท์ นักเขียนของ ‘ปอ เปรมสำราญ’
“ที่จริงเรามีนักเขียนที่ให้แรงบันดาลใจเราหลายคนเลย แต่ที่จุดประกายมากๆ คือการได้เจอกับ กลาย (The Metamorphosis) ของ คาฟก้า (Franz Kafka) และบทละครคอยโกโดต์ (Waiting for Godot) ของ ซามูเอล เบ็คเค็ทท์ (Samuel Beckett) ในเวลาไล่เลี่ยกันตอนเรียนปีสอง เป็นนักเขียนที่ทำให้เรารู้สึกว่าอ่านแล้วหดหู่ก็ได้ สิ้นหวังก็ได้ ไม่ต้องมีสีสันหรือสนุกเพราะให้ความสุข เหมือนเปิดโลกให้เราว่าเรื่องแต่งก็เป็นแบบงานของคนเหล่านี้ได้ด้วยนะ มันคือการถ่ายทอดจินตนาการที่ซื่อสัตย์กับตัวเองอย่างที่แทบจะไม่สนคนอ่าน มันทำให้เรากล้าที่จะลองเขียนความคิดและจินตนาการของตัวเองออกมา คนอื่นจะไม่ชอบก็ไม่เป็นไร เราเลยเริ่มเขียนเรื่องสั้นและบทละครสั้นๆ ตั้งแต่ปีสองมาจนถึงตอนนี้”
คริสโตเฟอร์ แอล คอนลี, เชอร์ลีย์ แจ็คสัน และ อันตัน เชคอฟ นักเขียนของ ‘จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์’
“สาเหตุที่เราอยากเขียนหนังสือ ไม่ใช่ตัวนักเขียนเสียทีเดียวนัก แต่เป็นอาจารย์ที่สอนเราสมัยเราเรียนมหาวิทยาลัย
“คริสโตเฟอร์ แอล คอนลี เป็นชาวอเมริกัน แต่แกย้ายมาสอนภาษาอังกฤษที่เมืองไทย และเราได้เรียนวิชา Introduction to Literature กับเขา (ชื่อวิชาอาจไม่ถูก แต่ก็ประมาณนี้) คริสโตเฟอร์แกจะถ่ายเอกสารเรื่องสั้นของนักเขียนหลายคนมาให้อ่าน ก็อ่านเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แต่ที่สนุกก็คือแกชอบให้นักศึกษาคุยกันหลังอ่านจบ ว่าอ่านแล้วรู้สึกยังไง ชอบหรือไม่ชอบตรงไหน ช่วงนั้นเราพบว่าการได้คุยกันมันทำให้เราพบมุมมองที่เราเองอ่านไม่เจออีกมาก และทำให้เรากลายเป็นคนชอบอ่านวรรณกรรมจริงจังตั้งแต่นั้น
“มีเรื่องสั้นสองเรื่องที่ประทับใจเรามากจนทุกวันนี้ยังจำได้เลยคือ Volodya ของ อันตัน เชคอฟ (Anton Chekhov) และ The Lottery ของเชอร์ลีย์ แจ็คสัน (Shirley Jackson) ส่วนงานของคนไทยที่ได้มาอ่านทีหลังและทำให้เราอยากเป็นนักเขียนก็มีปราบดา หยุ่น และชาติ กอบจิตติ ครับ”
สุวรรณี สุคนธา นักเขียนของ ‘ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์’
“คุณสุวรรณี สุคนธาค่ะ หลังจากที่ได้อ่านเรื่องสั้นของเขาโดยที่ไม่เคยอ่านนิยาย ได้รู้ว่าคนนี้เป็นแม่ของน้ำพุ ซึ่งก่อนหน้านั้นจะมองภาพเขาแต่ในฐานะ ‘แม่’ พออ่านเรื่องสั้นแล้วเราได้เห็นภาพเขาในฐานะ ‘ผู้หญิง’ ที่มีมิติมากๆ วิธีการเล่าเรื่องทั้งเรื่องภายในภายนอกของตัวเองถูกจริตเรามากๆ เป็นเรื่องที่จุดประกายให้เราอยากเล่าเรื่องผู้หญิงแบบนั้นบ้าง”
บอ.บู๋ นักเขียนของ ‘จิรเบลล์’
“บอ.บู๋ (บูรณิจฉ์ รัตนวิเชียร) ด้วยความที่บ้าบอลตั้งแต่เด็ก ทุกวันก่อนเข้าเรียนเลยจะแวะซื้อหนังสือพิมพ์สตาร์ ซอคเก้อร์ ไปแอบอ่านในห้อง ซึ่งคอลัมน์โปรดระดับที่ทำให้มีความฝันอยากเป็นอะไรสักอย่างทั้งที่ไม่เคยฝันอยากเป็นอะไรมาก่อน คือคอลัมน์ ทุ่งหญ้าแห่งความฝัน ของ พี่บอ.บู๋
“คนอะไรเขียนเรื่องฟุตบอลธรรมดาให้โคตรมันและแสบสันได้ขนาดนี้ ยิ่งผู้ขายวิญญาณให้ปีศาจแดงอย่างเรายิ่งติดคอลัมน์นี้งอมแงม จนมีความฝันว่าวันหน้าจะเป็นคอลัมนิสต์เขียนลงสตาร์ ซอคเก้อร์ให้ได้ ก็เลยฝึกเขียนลงสมุดเรียนเก็บไว้อ่านคนเดียว
“เพิ่งมารู้เอาตอนโตว่าพี่บอ.บู๋ เป็นแฟนหนังสืออาว์ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ระดับเข้าเส้น ไม่แปลกใจที่การใช้ภาษาและการเลือกคำจะสะแด่วขนาดนั้น แม้ตอนนี้จะไม่ได้เป็นคอลัมนิสต์ฟุตบอลตามที่ฝัน แต่ก็ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับฟุตบอลเล่มหนึ่งชื่อ The Fairy Tale of Underfox ซึ่งเชื่อว่าหลายคนยังไม่รู้ อยากให้ลองอ่านกันดูนะ (แอบขายของ)”
เจ๊ตี้-ธิชา ชัยวรศิลป์ นักเขียนของ ‘คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง’
“ตอนแรกอยากตอบว่า Haruki Murakami ให้ตัวเองดูดี แต่ทุกวันนี้ก็ไม่ได้อินกับงานเขาแล้วอะ วันๆ อ่านแต่เพจไข่แมวไรงี้ เปลี่ยนดีกว่า นักเขียนที่มีอิทธิพลต้องยกให้ เจ๊ตี้แห่งนิตยสาร POP ซึ่งเป็นนิตยสารเพลงสากลยุคปลาย 90 จนถึงต้น 00 ขึ้นชื่อเรื่องสำนวนจัดจ้านปากจัด ซึ่งนอกจากจะช่วยขยายขอบเขตการฟังเพลงแล้ว เราว่าเราได้อิทธิพลสำนวนเจ๊ตี้มาเยอะนะ มันมีงานชิ้นนึงที่จำแม่นมาก คือเจ๊ตี้แกได้ไปดูคอนเสิร์ต เซลีน ดิออน ที่ฮ่องกง แล้วมันก็เกิดความชิบหายวายป่วงมากมาย แกบรรยายออกมาขำมาก หัวเราะไม่หยุด อ่านซ้ำตั้งหลายรอบ ถือได้ว่าถ้าไม่มีนิตยสาร POP ก็จะไม่มีคันฉัตรโหมดจิกกัดแบบเมอฤดี (แหม่ ฟังดูยิ่งใหญ่เว่อร์อ่อ)”