นับตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา จวบจนก้าวเข้าสู่ไตรมาสสามของปีนี้ ภาคการท่องเที่ยวยังคงเงียบเหงา ไม่คึกคักเหมือนที่เคยเป็นมา ที่สำคัญ หลายคนยังเผชิญกับวิกฤติครั้งใหญ่อย่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งส่งผลต่อสวัสดิภาพชีวิตและเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไม่น้อย แม้จะเปิดโครงการนำร่องท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งมีแผนนำมาใช้เป็นโมเดลในการเปิดเมืองท่องเที่ยวอื่นในไทยต่อไป แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายเกี่ยวกับทิศทางของโครงการดังกล่าว
The MATTER ไปพูดคุยกับ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตรชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เจาะลึกประเด็นเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวไทย ว่าตอนนี้เป็นอย่างไร ในอนาคตจะไปในทิศทางไหน และสุดท้ายไทยเราจะกลับไปฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้งได้หรือไม่
ความแตกต่างของภาคท่องเที่ยวก่อนเกิด COVID-19 และปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง
“ต่างกันเยอะมาก ตอนปี ค.ศ.2019 ภาคท่องเที่ยวมี contribute 13% ของ GDP นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว 40 ล้านคน ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ เพราะมีทั้งการสร้างรายได้และการเจริญเติบโต เป็นแหล่งที่มาสำคัญของเงินตราต่างประเทศ ทำให้ได้เห็นทรัพยากรการลงทุนใหม่ๆ
“ก่อนเกิดโควิด คนจำนวนมากย้ายทรัพยากรไปอยู่ภาคการท่องเที่ยว มีทั้งคนทำงานในภาคท่องเที่ยว โรงแรมใหม่เกิดขึ้น มีธุรกิจหลายอย่างเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวอย่างการขนส่งหรือการค้าขายต่างๆ แต่พอเกิดโควิด นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เคยเข้ามาเที่ยวในไทยก็หายไป ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน แหล่งรายได้ รวมทั้งที่มาเงินตราต่างประเทศ
“หากย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว ช่วงแรกของทั้งปีดูเหมือนมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์บ้าง การท่องเที่ยวไทยเริ่มกลับมา แม้จะไม่ได้ใกล้เคียงกับตอนก่อนเกิดโควิด คนไทยเริ่มเที่ยวกัน แต่ทุกวันนี้ mobility คือศูนย์ ภาคการท่องเที่ยววันนี้เหลือศูนย์ นักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศก็ไม่เกิดเลย ซึ่งแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด”
มาตรการจัดการโควิดของรัฐที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวมากน้อยแค่ไหน
“จริงๆ แล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับการล็อกดาวน์โดยตรง แต่เกี่ยวกับการปิดพรมแดน เพราะรายได้ส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งเราจำเป็นต้องล็อกดาวน์เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อเข้ามาเพิ่ม ต้องยอมรับว่าปีที่แล้วทั้งปี เราควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีมาก เพราะปฏิเสธไม่รับนักท่องเที่ยวภายนอกเข้ามา
“แต่พอมาช่วงหลังๆ เกิดการติดเชื้อภายในประเทศ การล็อกดาวน์ภายในประเทศก็ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวภายในประเทศเยอะเช่นกัน”
ปัจจัยอะไรที่ทำให้รัฐควบคุมหรือจัดการโควิดไม่ได้จนส่งผลลากยาวมาถึงเศรษฐกิจการท่องเที่ยว
“ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ถือเป็นเรื่องช็อกที่กระทบกับทุกที่ ไม่ได้กระทบเฉพาะภาคการท่องเที่ยวในไทย การเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลกหยุดชะงักหมด แม้แต่บางประเทศที่พยายามเปิดประเทศนั้น ก็ประสบปัญหาโควิดและเจอ outbreak หลายประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวอย่างฮ่องกง สิงคโปร์ หรือมัลดีฟส์ ก็เจอ disruption ทั้งหมด เพราะโควิดส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยว โดยการท่องเที่ยวถือเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งและมีปฏิสัมพันธ์กัน ทำให้เสี่ยงกระจายเชื้อโรคได้สูง วิธีหยุดการแพร่เชื้อที่ดีที่สุดจึงต้องหยุดกิจกรรมเหล่านี้ก่อน
“ประเด็นต่อมา คำถามที่ว่า (การจัดการ) รัฐมีส่วนหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่าปีที่แล้วประเทศไทยทำได้ดีมากในแง่บริหารจัดการภายในประเทศและคุมเศรษฐกิจ การปิดพรมแดนอาจทำให้กระทบรุนแรง แต่ดูเหมือนว่าก็ได้ผลจริง เพราะประเทศอื่นที่ไม่ได้ปิดพรมแดนอย่างเรา สุดท้ายก็กลับมาปิดพรมแดนเหมือนกัน
“แต่คิดว่า สิ่งที่รัฐบาลทำผิดพลาดจนเกิดปัญหามาทุกวันนี้
ก็คือ ‘นโยบายวัคซีน’ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก”
“หากมองย้อนกลับไป อาจเกิดจากปลายปีที่แล้วที่เห็นว่าการทดลองวัคซีนเริ่มเห็นผล เริ่มมีการจองวัคซีน และสถานการณ์ภายในประเทศดีมาก ซึ่งอิงได้จากช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ที่ไม่มีการติดเชื้อภายในประเทศมาหลายเดือน เลยทำให้รู้สึกว่าความจำเป็นและความเร่งด่วนในการสั่งวัคซีนมีน้อย
“หากถามว่าวันนั้นควรทำอะไร วันนั้นเราต้องซื้อวัคซีนเยอะๆ แต่เราก็มี argument กัน เช่น ‘เดี๋ยวก็เป็นตลาดของผู้ซื้อ’ หรือ ‘รอสร้างโรงงานให้เสร็จก่อนดีกว่า’ ผมมองว่าเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ เพราะจนถึงจุดนี้ แม้ว่าการติดเชื้อหลายประเทศยังไม่ดีขึ้น แต่หลายประเทศเริ่มเปิดประเทศได้แล้ว โดยที่การติดเชื้อไม่ได้ขึ้นเยอะมาก ไม่ได้เกิดการระบาดรุนแรงจนเอาไม่อยู่ แสดงให้เห็นว่าวัคซีนมันเวิร์ก วัคซีนช่วยป้องกันการแพร่ระบาดได้พอสมควร รวมทั้งตัด linkage ระหว่างจำนวนผู้ติดเชื้อกับจำนวนความเสียหายหรือผู้เสียชีวิต ในขณะที่เราไม่มี (วัคซีนที่เหมือนประเทศเหล่านั้น) เลย และเจอสายพันธุ์ไวรัสที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การเปิดประเทศดีเลย์ออกไปอีก
“สรุปก็คือ ช็อกแรกที่เจอและทำให้รายได้หายไปไม่ใช่ความผิดรัฐ เพราะว่าทั้งโลกต่างก็เจอ แต่ถ้าถามว่ารัฐผิดอะไรนั้น ก็ผิดตรงนโยบายวัคซีน”
คิดว่ารัฐควรบริหารจัดการเพื่อชดเชยหรือเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างไร
“จริงๆ มีสามเรื่องที่รัฐควรทำ อย่างแรก คือคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดและจัดหาวัคซีน อย่างที่สองคือการเยียวยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ปิดเมืองหรือประสบข้อจำกัดต่างๆ รัฐต้องเยียวยาทั้งธุรกิจและการจ้างงาน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า เมื่อทรัพยากรของรัฐมีจำกัด การปิดกิจการเป็นจำนวนมากทำให้รัฐไม่มีเงินมาช่วยได้อย่างเพียงพอ รัฐจึงต้องช่วยคนที่เดือดร้อนก่อนหรือคนที่ได้รับผลกระทบเยอะ
“อย่างที่สามคือ กระตุ้นให้เกิด jump start ออกมาได้ในกรณีที่อยู่ในโหมดที่ต้องการการกระตุ้น ยกตัวอย่างอย่าง ภูเก็ตอยู่ในโหมดที่กระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าจะมาเยียวยาแล้ว โดยการกระตุ้นจะช่วยให้คนเข้าถึงทรัพยากรและกลับมาเปิดธุรกิจได้อีกครั้ง
“ผมคิดว่าปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดจากโควิดคือ ทำให้เกิดการหยุดชะงักของรายได้ หรือ Income Disruption คนเคยทำธุรกิจหรือมีกระแสเงินสดเข้ามาเรื่อยๆ กลับประสบปัญหาขาดรายได้ เมื่อรายได้หายและความสามารถในการจ่ายคืนหนี้หรือประกอบกิจการลดลง ก็ส่งผลให้ภาระหนี้สูงขึ้น คำถามคือ หนี้ที่สูงขึ้นควรเก็บไว้ที่ไหนดี จะเก็บไว้ที่ภาคเอกชน เอาไปทิ้งไว้ที่แบงก์ หรือโอนกลับมาหารัฐ ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐในการแบกรับภาระดังกล่าว แล้วคำถามต่อมาที่จะเจอคือ แล้วจะช่วยใครบ้าง ไม่ช่วยใครบ้าง เช่น ภูเก็ตกำลังจะเปิด แต่ที่อื่นไม่มีจะกิน จะช่วยใครก่อนดี ตรงนั้นก็เป็นคำถามที่ค่อนข้างยาก
“อย่างไรก็ดี ทั้งการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงาน ตลอดจนการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นถือเป็นรื่องสำคัญทั้งคู่ เพราะเรากำลังเจอผลกระทบจาก shcok ของโควิดที่ใหญ่มาก แต่ทรัพยากรมีจำกัด สุดท้ายรัฐก็ต้องเลือกว่าจะช่วยหรือไม่ช่วยใคร”
เมื่อพูดถึง ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ คิดว่าโครงการนี้จะช่วยฟื้นฟูธุรกิจของผู้ประกอบการได้อย่างทั่วถึงหรือไม่
“ผมมองว่าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไม่ใข่วิถีของการนำรายได้กลับสู่ภูเก็ตที่ทำให้ทุกคนกลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่เป็นการทดลองที่ดูว่าประเทศไทยจะมีวิธีบริหารจัดการอย่างไร หรือพอจะอนุญาตให้การท่องเที่ยวกลับมาเดินหน้าได้หรือไม่ภายใต้สถานการณ์ที่ยังไม่กลับสู่ปกติ ไม่ต้องหวังว่าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะทำให้ทุกคนกลับมาเป็นเหมือนเดิม
“หากดูตัวเลขนักท่องเที่ยวเมื่อก่อน จะเห็นว่านักท่องเที่ยวมาภูเก็ตมาวันละห้าหมื่นคน แต่ตอนนี้คือจากเดือนละห้าหมื่นคน เหลือสามหมื่น เหลือวันละพันคน ซึ่งเหลือไม่ถึง 10% จากของเดิม แม้ว่าทุกโรงแรมจะเปิด แต่ occupancy ก็ต่ำกว่า 10% อยู่ดี นั่นหมายความว่า ไม่มีทางที่เงินที่เข้ามาในระดับปัจจุบันนั้นจะทำให้ทุกคนรอดได้ เพราะถ้าโรงแรมส่วนใหญ่มี occupancy ต่ำกว่า 20% ก็คือขาดทุน
“แต่ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ทำให้ได้เตรียมพร้อมรับมือในแง่ที่ว่า หากจะเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาต้องทำอย่างไร ถ้ามีคนติดเชื้อต้องป้องกันอย่างไร เพราะเราไม่รู้ว่าจะอยู่กับสถานการณ์แบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน
“แน่นอนว่า ถ้าจะทำให้ทุกคนแฮปปี้ กลับไปมีรายได้เหมือนเดิม ก็ต้องรอให้การท่องเที่ยวฟื้นคืนใกล้กับภาวะปกติ ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง หากเราไม่เริ่มทำแซนด์บ็อกซ์หรือการทดลองเลย ก็อาจจะแย่ได้ในกรณีที่ไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 ปี เลยมองว่าเป็น state ของการทดลอง ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งต้องค่อยๆ ปรับกันไป”
ต่างประเทศมีตัวอย่างโมเดลการท่องเที่ยวต่างประเทศที่เน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจแนวนี้บ้างไหม
“จริงๆ ก็มีโมเดลที่น่าสนใจอยู่ อย่าง UAE ที่มีรายได้ส่วนใหญ่จากการท่องเที่ยว ที่ผ่านมา UAE แทบจะไม่ได้ปิดสายการบินเท่าไหร่ ก็เข้าใจว่าต้องปรับเปลี่ยนวิธีไปเรื่อยๆ ที่สำคัญ คือมีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนเยอะมาก นอกจากนี้ มีบางประเทศอย่างมัลดีฟส์หรือเซเชลส์ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวเหมือนกัน แล้วก็เร่งฉีดวัคซีน แต่ว่าใช้ซิโนฟาร์มกับซิโนแวค ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ต้องยอมรับ
“สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือ นักท่องเที่ยวที่เคยมาเที่ยวประเทศเหล่านั้นก็หายไปในช่วงที่เกิดวิกฤติ แต่พอความต้องการเดินทางในหลายพื้นที่เริ่มกลับมา ประกอบกับผู้คนได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว บางประเทศก็พร้อมรับนักท่องเที่ยวบ้าง แน่นอนว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับมานั้นไม่ได้กลับไปเท่าเดิมมาก เพราะคนยังไม่ได้รู้สึกสบายใจที่จะเดินทางหรือท่องเที่ยวกันมากนัก
“แต่ละพื้นที่ต้องบริหารจัดการและปรับตัวตามสถานการณ์ โดยดูว่าความสามารถในการรับนักท่องเที่ยวมีเท่าไหร่ ความสามารถในการแบกรับภาระจากโรคระบาดมีมากน้อยแค่ไหน เพราะบางประเทศมีข้อจำกัดด้านสาธารณสุขที่ทำให้ไม่อาจทนแบกรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งเมืองไทยก็เจอปัญหาเดียวกัน หากเราปล่อยให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาเยอะเกินไปและไม่ได้ควบคุมอะไรเลย ก็อาจทำให้ overwhelme ระบบสาธารณสุขเหมือนกัน ตรงนั้นก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่เราต้องสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นด้วย”
แนวโน้มการท่องเที่ยวไทยที่จะกลับมาเป็นฮีโร่ของการสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศเป็นอย่างไร มีมากน้อยแค่ไหน
“ส่วนตัวยังมองในแง่ดี และเห็นว่าการท่องเที่ยวคงมีอยู่ในระยะยาว เพียงแต่วันนี้ยังมีข้อจำกัดบางอย่าง หากถามว่าจะกลับมาเป็นแหล่งรายได้หรือไม่นั้น ก็เชื่อว่ากลับมาได้ แต่ที่ยังตอบไม่ได้คือเมื่อไหร่แค่นั้นเอง เพราะเราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ทุกอย่างจะเข้าสู่สภาวะปกติ และเมื่อไหร่คนจะรู้สึกสบายใจพอที่จะออกเดินทาง
“ยกตัวอย่าง นักท่องเที่ยวจีนที่เป็นหนึ่งในสี่ของนักท่องเที่ยวที่มาไทย ปัจจุบันประเทศจีนมีการฉีดวัคซีนเยอะมาก แต่ก็กังวลว่าหากสายพันธุ์เดลต้าเข้ามาระบาดในประเทศจะจัดการอย่างไร เขาจึงเลือกปิดประเทศ ซึ่งหมายความว่า ทางนั้นจะไม่ปล่อยให้คนเดินทางมาเที่ยวในไทยตอนนี้แน่นอน หรือหากปล่อยมาก็ต้องกลับไปกักตัว ซึ่งคงไม่มีใครอยากมาอีกอยู่ดี
“ประเด็นเหล่านี้จึงมีปัจจัยอื่นที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับทางฝั่งเราอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับประเทศต้นทาง สถานการณ์ในประเทศ การควบคุมการระบาด และความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน ทั้งหมดนี้ล้วนมีผลกระทบด้วยกันทั้งนั้น หากเรามีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นและยังฉีดวัคซีนได้น้อย ไทยก็อาจถูกเอาชื่อออกจากลิสต์ประเทศที่ปลอดภัย
“ผมคิดว่าต้องใช้เวลาระยะหนึ่งก่อนเข้าสู่ภาวะปกติ แต่เมื่อเข้าสู่ภาวะปกติแล้วนั้น เชื่อว่าเมืองไทยก็มีของดี และการท่องเที่ยวยังเป็นแหล่งรายได้และสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย แต่รูปแบบการท่องเที่ยวอาจเปลี่ยนไป เราอาจไม่ได้เน้นจำนวนเหมือนเก่า แต่ต้องมาเน้นเรื่องคุณภาพแทนในอนาคต”