– บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ –
หนังเริ่มต้นขึ้นที่ไดโดมอน ร้านปิ้งย่างในความทรงจำของคนยุค ’90
เราจะพบกับ ‘ยู’ และ ‘มี’ (ใบปอ–ธิติยา จิระพรศิลป์ แสดงเป็นทั้งสองตัวละคร โดยมี น้ำแข็ง–ณัฐวสา ศรีนูเดช เป็นดับเบิล เล่นรับส่งจริงไปด้วยตลอดเรื่อง) คู่แฝด ม.ต้น ที่หน้าตาเหมือนกันจนแยกไม่ออกหากคนหนึ่งไม่ได้มีไฝบนแก้มซ้าย พวกเธอมีทามาก็อตจิของเล่นอันเล็กกว่าอุ้งมือที่ส่งสัญญาณให้เราป้อนข้าวและเล่นกับสัตว์เลี้ยงในจอเพื่อแก้เบื่อ
พวกเธอชอบกินไอศกรีมยักษ์คู่รสส้มที่สามารถหักแบ่งเป็น 2 ไม้ ซื้อจากรถไอติมที่มีเพลงติดหูจนคนรุ่นนั้นเอามาร้องว่า “อมแล้วดูด อมแล้วดูด” มีรุ่นพี่นักบาสคอยตามเต๊าะและเอาขนมมาฝากแฝดคนหนึ่งอยู่เสมอ
พวกเธอมักจะอ่านนิตยสาร ‘เธอกับฉัน’ และซ้อมเต้นเพลง ‘ผ้าเช็ดหน้า’ ของ Triumph Kingdom ด้วยกันอยู่บ่อยๆ
พวกเธอรับรู้ว่ามีสิ่งที่เรียกว่า Y2K วิกฤติการณ์ที่อาจทำให้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ล่มสลายทั่วโลกเมื่อเข้าสู่ปี ค.ศ.2000 เพราะคอมพิวเตอร์จะรวนจนอ่านเลขไม่ได้
และพวกเธอรับรู้ถึงคำทำนายของนอสตราดามุสว่าโลกจะแตก หากความกลัวนี้ไม่ได้แผ่รังสีในโลกของพวกเธอนัก
นี่คือพื้นหลังของ ‘เธอกับฉันกับฉัน’ ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของ ‘วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์’ และ ‘แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์’ ผู้กำกับฝาแฝดที่ผ่านงานเขียนบทและกำกับซีรีส์ของ GDH มาแล้วหลายเรื่อง โดยก่อนหน้านั้น มีผลงานขนาดยาวเรื่องแรกคือ Wish Us Luck (2556) หนังสารคดีเล่าเรื่องพวกเธอเองที่เดินทางจากอังกฤษกลับไทยทางรถไฟนาน 1 เดือน หนังจับใจผู้ที่ได้ดูอยู่ไม่น้อย และผลงานชิ้นล่าสุดนี้ก็ดูจะได้ใจคนดูที่ชอบหนังน่ารักละเมียดละไมไปเต็มๆ
จากการเล่าเรื่องของตัวเองผ่านสายตาตัวเองครั้งนั้น ทั้ง 2 คนกลับมาพูดเรื่องความสัมพันธ์ฝาแฝดอีกครั้งผ่านสายตาของคนที่พ้นช่วงวัยรุ่นมาแล้ว
ความเป็นฝาแฝดที่สนิทกันถูกใช้เป็นใบการันตีในการโปรโมตว่า หนังจะเล่าเรื่องเบื้องลึกของแฝดหญิงที่คนไม่มีแฝดไม่เคยหยั่งรู้ และทำให้เราเห็นว่าความสัมพันธ์ของฝาแฝดคู่นี้หรือกระทั่งคู่ไหนๆ พิเศษเพียงใด ขนาดเพื่อนชายคนใหม่อย่าง ‘หมาก’ (โทนี่–อันโทนี่ บุยเซอเรท์) ที่เข้ามาทำให้ใจสั่น ก็แยกพวกเธอจากกันไม่ได้
แต่โดยส่วนตัว ผู้เขียนกลับรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกเข้าใจการเป็นแฝดมากขึ้นเท่าไหร่นัก
แน่นอนว่าหนังเรื่องหนึ่งไม่จำเป็นต้องตรงกับประสบการณ์จริงของคนดูทุกคน เพราะไม่มีทางเป็นไปได้ และไม่จำเป็นต้องทำให้เป็นไปได้ แต่คงดีหากหนังสักเรื่องสามารถเปิดโอกาสให้เราได้รู้สึกร่วมกับตัวละครที่มีพื้นเพแตกต่าง หรือเป็นคนคนละประเภทกับเราได้ด้วย ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังทำสำเร็จอยู่พอสมควรในสายตาของคนดูจำนวนมาก
หากในกรณีนี้ ผู้เขียนไม่รู้สึกว่า ‘ยู’ กับ ‘มี’ พิเศษกว่าพี่น้องหรือเพื่อนสนิทคู่อื่นที่เคยรู้จัก เพราะเมื่อหนังดำเนินไปในบรรยากาศน่ารัก นุ่มนวล และอ่อนละมุน ความขัดแย้งต่างๆ จึงถูกนำเสนออย่างเบาบาง-ให้ดูเบาบาง (ไม่ว่าจะเพราะกลัวคนดูเอาตัวออกห่างหรือด้วยเหตุผลอื่น) จนค่อนไปทางไร้น้ำหนัก ทั้งที่มันเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตจริงได้ง่ายๆ ทั้งพ่อติดหนี้จนมีคนตามมาทวงถึงหน้าบ้าน พ่อแม่ตัดสินใจจะแยกทาง พี่น้องชอบผู้ชายคนเดียวกัน ใครคนหนึ่งอาจต้องย้ายบ้านย้ายโรงเรียนตามแม่ไปอยู่ต่างจังหวัด
หรือกระทั่งโลกอาจจะแตก และทุกคนจะตายกันหมด
นั่นคือความขัดแย้งเหล่านี้หายวับลับตาไปเมื่อตัวละครถูกส่งทะลุมิติมายัง จ.นครพนมที่ถูกออกแบบองค์ประกอบศิลป์มาให้เรารู้สึกเหมือนเป็นเมืองตุ๊กตา ทันใดนั้นโลกริมฝั่งโขงก็พลันหวานด้วยเสียงพิณจากโรงเรียนพิณกลางท้องนาที่กล่อมหู ร้านของชำสีเรโทรของยาย หอนาฬิกาหน้าตาเหมือนของเมืองในเทพนิยาย การพายเรือกลางทะเลสาบ เถียงนาที่ทั้งสามไปนอนดูฝนดาวตก งานวัดเรื่อแสงนีออน โรงหนัง stand alone แม่น้ำโขงที่ไหลเอื่อยระหว่างตัวละครปล่อยคำในใจตอนซ้อนท้ายจักรยาน และการจ้องตาคนที่ชอบ 8 วินาทีกลางสี่แยกไฟแดง
เราต้องไม่ลืมว่า นี่คือต่างจังหวัดของเด็กสาวอายุ 15 จากเมืองหลวงที่ปกติก็ไม่ได้มาหายายที่นี่บ่อยนัก ผ่านสายตาของผู้ใหญ่อีกที การเฝ้ามอง จ.นครพนมในเรื่องนี้จึงเป็นเหมือนการกินของหวานผ่านกิมมิกของยุคสมัย ไม่ใช่อาหารมื้อหลักที่มีส่วนประกอบเป็นความจริงของต่างจังหวัด ทั้งความไม่เจริญของเมืองและการคมนาคม ความเหลื่อมล้ำและด้อยกว่าทางการศึกษา ความเปลี่ยวของท้องถนนชนบท ความที่เด็กหน้าตาผิวขาวและไม่บ้านต้องย้ายมาเพราะพ่อแม่เลิกกัน และอาจรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่ง ฯลฯ ที่ไม่พ้นต้องปะทะเข้ากับหนึ่งในตัวละครหลักเมื่อหนังจบลง
หนังเลือกแตะปัญหาเหล่านี้แต่เพียงผิว ใช้มันเป็นตัวดำเนินเรื่องของเรื่องก่อนจะโยนทิ้งไปทีละอัน เหมือนปัญหาเหล่านั้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อมหรือโครงสร้างสังคมใดๆ—ซึ่งเป็นตัวเลือกที่เลือกได้ และไม่ผิดที่จะเลือก แต่เมื่อหนังไม่ปิดบังว่า เลือกแล้วที่จะไม่สนการมีอยู่ของสิ่งนอกตัว เราเลยนึกถึงหนัง nostalgia แบบ แฟนฉัน (2546) ที่ดึงให้คนดูหวนรำลึกถึงวัยเด็กได้แบบพร้อมหน้า หรือ รักแห่งสยาม (2550) ที่บันทึกมวลอารมณ์และวิถีชีวิตของวัยรุ่นสยามสแควร์ยุคนั้น รวมถึงกรอบคิดของพ่อแม่พวกเขาไว้ได้ ทั้ง 2 เรื่องทำเช่นนี้ได้ ไม่ใช่ด้วยกิมมิกของยุคสมัย แต่ด้วยการเล่าผ่านสายตาตัวละครที่สังเกตสิ่งนอกตัวที่เข้ามากระทบตัวเอง จนเกิดจุดยืนว่า ‘อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเขาในช่วงชีวิตนั้น’ หากผู้เขียนสามารถรับรู้ถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดของพวกเธอในตอนนั้นได้ ก็น่าจะรู้สึกร่วมไปกับพวกเธออยู่ไม่น้อย
แต่เมื่อมันถูกเล่าผ่านสายตาของคนที่ผ่านมาแล้ว ทุกอย่างเลยดูแก้ได้ เหมือนกับว่าปัญหาไม่ได้สร้างความหนักอึ้งในใจขนาดนั้น
เมื่อปัญหาเหล่านี้มีน้ำหนักเบา เลยดูเหมือนจะ ‘ไม่เป็นไร’ เมื่อพวกเธอหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า
การเผชิญหน้าครั้งใหญ่ที่สุดของยูดูเหมือนจะเป็นการแอบฟังมีคุยกับหมากหน้าร้านชำ และแอบฟังแม่คุยกับพ่อทางโทรศัพท์สายใน ส่วนของมีคือการแสดงความรู้สึกผ่านคำพูด ซึ่งหากมีไม่ได้พูดกับหมากว่า “ไม่รู้ว่าตัวเองชอบหมาก หวงยู หรืออิจฉายูกันแน่” ผู้เขียนก็ไม่น่าเข้าใจได้เอง (นี่จึงเป็นฉากที่ผู้เขียนชอบที่สุดในหนัง หากน่าเสียดายที่ตัวละครต้องพูดมันออกมาตรงๆ แทนที่จะสื่อให้เห็นด้วยภาพ การแสดง หรือกลวิธีทางภาพยนตร์อื่นๆ)
แต่การเผชิญหน้าของนี้ก็ไม่ได้ทำให้พวกเธอรู้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรจริงๆ อยากทำอะไร หรือคิดว่าตัวเองทำอะไรได้ และเมื่อปัญหาเหล่านั้นถูกทำให้ดูไม่มีน้ำหนักตั้งแต่แรก การไม่ทำอะไร ก็เลย ‘ไม่เป็นไร’ อีกเช่นกัน
ผู้เขียนคิดว่า หนังคงไม่ได้อยากพูดถึงความขัดแย้งใดจริงจัง และแน่นอนว่าจุดประสงค์ของหนังไม่ใช่การวิพากษ์สังคม หากคือการสร้างมวลอุ่นหวานแบบหนังญี่ปุ่นยุค 2000 ให้คนดูเก็บเกี่ยวบรรยากาศชวนเอนหลังและเพลิดเพลินเสน่ห์ของนักแสดงไปตลอดเรื่อง โดยหยอดบริบทนู่นนิดนี่หน่อยไประหว่างทาง ซึ่งหากหนังเป็นเช่นนั้นตลอดรอดฝั่ง ผู้เขียนอาจจะชอบหนังมากๆ และหนังน่าจะเติมเต็มแฟนตาซีวัยเด็กได้ดี
แต่ข้อสันนิษฐานนี้ก็ตกไปเมื่อหนังเข้าสู่ช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้าย และประเด็นรถ บขส. ถูกกระแทกเข้ามาเพื่อสร้างความขัดแย้งแบบจะๆ ตา พร้อมโหมดนตรีประกอบสร้างความไม่ไว้วางใจ ก่อนจะหักเลี้ยวจนคนดูหัวทิ่มหัวตำ เพื่ออุ้มตัวละครออกมาจากความเสี่ยงที่จะเจ็บปวด
เมื่อพวกเธอได้รับอนุญาตให้เจ็บปวดแต่เพียงน้อย ราวกับว่าพวกเธอจะผ่องแผ้วน้อยลงหากต้องแตกสลาย ผู้เขียนจึงยากจะมีความรู้สึกร่วม ไม่ว่าจะเอ็นดู เข้าใจ เห็นใจ สงสาร หมั่นไส้ หรือรำคาญ ได้แต่รับรู้เส้นเรื่อง รับรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงกำลังโถมทับพวกเธอ แต่ไม่รู้สึกถูกชักชวนให้เข้าอกเข้าใจ
ผู้เขียนคิดว่า หากหนังไม่อยากให้พวกเธอเผชิญหน้ากับปัญหาแบบซึ่งหน้าจริงๆ (ซึ่งไม่ผิดอะไร) การปล่อยให้พวกเธอเฝ้ามองกันและกัน สังเกตอาการ และอ่านใจกันอย่างช้าๆ แบบในช่วงต้นเรื่อง อาจจะทำให้เรารู้สึกตามได้
แต่สุดท้ายหนังกลับใช้วิธีโหมดนตรีประกอบให้ดังกระหึ่มโรงไปเรื่อยๆ ปัญหาที่ประดังประเดจึงดูไม่มีที่มาที่ไป—มันแค่เกิดขึ้นเพราะจำต้องเกิด และถ้าไม่มีใครทำอะไรก็ ‘ไม่เป็นไร’ เพราะพอถึงเวลา เดี๋ยวปัญหาก็จะเดินจากเราไปเอง เช่นเดียวกับวิกฤติการณ์ Y2K
อันที่จริง ผู้เขียนไม่ได้ติดใจกับการตัดสินใจของพวกเธอในตอนจบ เพราะเชื่อว่าเด็กที่ยังไร้เดียงสาสามารถตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ แบบในเรื่องได้จริง แต่ในเมื่อหนังเรื่องนี้ทำหน้าที่เป็นภาพแทนอดีตอันหอมหวานที่ถูกเล่าผ่านสายตาผู้ใหญ่ที่เนียนเป็นเด็กไม่สำเร็จมาตลอดเรื่อง พอหนังอยากเล่าการตัดสินใจครั้งนี้ผ่านสายตาเด็กจริงๆ ขึ้นมาในตอนท้าย จึงยากที่จะเชื่อตาม
ในตอนนั้น หลังจากพวกเธอร่วมกันแสดงเจตจำนงบนโต๊ะอาหาร เป็นได้ว่าพวกเธอกำลังบอกกับตัวเองว่า “แม้เราจะเคยเจ็บ แต่ถ้าจากนี้เราไม่ปล่อยมือกัน เราก็จะไม่เจ็บปวดอีก”
แต่เมื่อนี่เป็นความคิดของผู้ใหญ่ในร่างเด็กที่จริงๆ ก็รู้ดีว่าตัวละครจะต้องพบเจอกับอะไรในอนาคต และโลกจะหมุนไปทางไหนเมื่อพ้นไปจากปี ค.ศ.1999
การบอกให้พวกเธอคิดว่า ‘ไม่เป็นไร’ อาจจะสะอาดบริสุทธิ์เกินไป เพราะใช่หรือไม่ว่า ชีวิตจริงไม่เคยง่ายดายอย่างนั้น