ตั้งแต่ตลาดงานศิลปะ NFT (NFT art) เริ่มคึกคัก หลายคนเริ่มหันมาทำเป็นงานอดิเรก มีรายได้เสริม มีค่าขนม เราเลยได้เห็นศิลปินอิสระหลายคนใช้ตลาดนี้เป็นพื้นที่ขายงาน หารายได้เพิ่มเติมนอกเหนือจากงานลูกค้าให้ตัวเอง หรือแม้แต่คนที่ทำงานประจำก็สามารถใช้ตลาดนี้หาค่าขนม มีรายได้เสริมให้ตัวเองได้เช่นกัน
nipatn_ หรือ ‘โอ๊ต–นิพัฒน์ ศรีสวัสดิ์’ ก็เคยเป็นหนึ่งในคนที่อยู่ในงานประจำ ด้วยสายงานที่อยู่ในด้านการออกแบบ ทำให้เขาเลือกใช้ตลาดงานศิลปะ NFT มาเป็นพื้นที่หารายได้เสริมให้กับตัวเองด้วย แต่ด้วยความสำเร็จที่เกินคาด ที่ให้ทั้งเม็ดเงิน และช่วยเติมเต็มความฝัน มันเลยยิ่งผลักดันให้เขาเลือกออกจากงานประจำ แล้วมาเป็นศิลปิน NFT (NFT artist) แบบเต็มตัว
ก่อนอื่นเลยต้องดอกจันหลายพันดอกไว้ว่า อย่าเพิ่งลาออกกันวันนี้เพื่อมาเป็น NFT artist กันหมด บทสัมภาษณ์นี้อาจต้องพึ่งวิจารณญาณ และไม่แนะนำให้ลุกขึ้นมาทำตามอย่างทันที เพราะเราไม่ได้จะมาเล่าถึงความหอมหวานในเม็ดเงิน แต่เราจะมาพูดถึงความเสี่ยงที่ต้องแบกรับ หากเลือกที่จะทิ้งงานประจำแล้วมาเป็น NFT artist ว่าต้องเจอกับอะไรบ้าง แบกรับความเสี่ยงในด้านไหน รับมือกับมันอย่างไร และมันยากแค่ไหนกว่าจะประสบความสำเร็จในเส้นทางนี้ได้
ตอนแรกทำงานประจำ แล้วทำไมถึงตัดสินใจเอางานมาลงขายในตลาด NFT?
จริงๆ เราเริ่มจากเว็บไซต์ OpenSea เมื่อ 3–4 เดือนที่แล้ว ก่อนหน้านี้เห็นเราที่เป็นนักวาดภาพประกอบ เป็นศิลปิน พวกสตรีทอาร์ต เขาเริ่มทำ NFT กันตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ดูไปเรื่อยๆ เราก็เห็นคนทำเยอะขึ้น เลยรู้สึกว่ามันอาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหารายได้เสริม เราก็เลยศึกษาอยู่นาน เพราะเป็นคน low-tech มาก คริปโตฯ คืออะไร exchange ทำยังไง เดือนกว่าๆ ถึงจะเข้าใจขึ้นมานิดหนึ่ง ก็ลองทำดู ลงงานไปชิ้นหนึ่ง เราก็วาดหุ่นยนต์เล่นๆ ไปชิ้นหนึ่ง สองอาทิตย์ก็ยังขายไม่ออก
เราก็เลย อ๋อ OpenSea เขาต้องทำงานเป็นคอลเล็กชั่น งานที่ออกมาให้สะสมไปเรื่อยๆ เราก็ลองทำ แล้วมันขายได้เลยเว้ย ลงปุ๊บ มันไม่ถึงห้านาทีด้วยซ้ำ ทุกชิ้นมันมีคนซื้อหมดเลย อันนี้คือสี่เดือนที่แล้วนะ เราก็เลย เอ๊ะ หรือว่าเราจะทำสิ่งนี้ได้ดี เราก็ทำต่อ แล้วมันก็ยังขายได้ดีอยู่ในช่วงเดือนแรก
แล้วตอนไหนที่เริ่มคิดลาออกจากงานประจำ?
ช่วงนั้นเรา work from home ก็พอมีเวลาทำอย่างอื่นบ้าง เราก็เลยแบ่งเวลามาทำงานลงบน OpenSea แบบจริงจัง เดือนแรกรายได้หนึ่งแสนบาท ก็เลยรู้สึกว่า เอ๊ะ หรือมันจะทำเป็นอาชีพได้จริงๆ เดือนที่สองก็พีกกว่าเดิมอีก มันได้เงินเยอะกว่าเดิมอีก เราก็เลยเริ่มคิดอยากออกจากงานประจำ เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะทำ NFT ได้นานแค่ไหน กระแสมันจะซาลงช่วงไหน เราก็เลยอยากทุ่มเวลากับมัน ถ้ามันทำได้ช่วงเวลาสั้นๆ แค่ 3–4 เดือน อย่างน้อยเราก็จะได้รายได้เท่านี้
พอออกมาแล้วเป็นยังไงบ้าง?
เดือนที่สามที่เริ่มทำ เราตัดสินใจลาออกจากงาน กลายเป็นเราขายงานไม่ได้ ไม่ได้เลย มันก็เป็นความไม่แน่นอน รายได้หายไป 70% เลย หายไปเกินครึ่ง เพราะเหมือนช่วงสองเดือนที่เราเข้ามามันเป็นช่วงพีกสุดๆ ของ NFT art แล้วพอเข้าเดือนที่สาม มันเป็นเดือนที่เริ่มมีเกม NFT คนที่ถือเหรียญก็มีตัวเลือกมากขึ้น เขาก็ยังมีเกมที่เอาเงินไปลงทุนได้ คนก็แห่ไปหาเกม คนส่วนหนึ่งไปหาเกม ในขณะคนที่ซื้องานเท่าเดิม คนขายงานก็มากขึ้นอีก เราก็มีคู่แข่งมากขึ้น ตลาดเลยซาลง
กลายเป็นว่าออกมาปุ๊บขายไม่ดี แล้วทำยังไงต่อ?
เราก็ฉิบหายแล้ว ออกจากงานแล้วขายไม่ได้ทำไงดี ก็เลยย้ายเชน ก็คือย้ายเว็บไซต์ ไปขายงานอีกเว็บไซต์หนึ่ง ชื่อ Hic et Nunc (HEN) เดือนแรกก็ขายได้เยอะ ไม่รู้ว่าดวงดีหรือเปล่า
ฟังดูแล้วค่อนข้างเสี่ยง เล่าหน่อยได้ไหมว่า พอออกจากงานประจำแล้ว ความเสี่ยงที่ต้องรับมีอะไรบ้าง?
มันก็เสี่ยงอยู่ตลอดเวลาเลยนะ คนที่คิดจะลาออกจากงานประจำมาทำ NFT เราต้องกระจายความเสี่ยง คือ เราต้องไปอยู่ในทุกๆ แพลตฟอร์ม ถ้ามีที่ไหนที่เราลงงานได้ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็น ETH อย่างเดียว อย่าง ADA ก็มีตลาด NFT เป็นของตัวเอง เราต้องคอยตามข่าวว่ามีตลาดไหนเปิดใหม่ไหม ถ้าสมมติว่าเราอยู่แค่บน OpenSea แล้วเกิดเซิร์ฟเวอร์พังครึ่งเดือน เราก็ไม่ได้เงิน เราก็ต้องกระจายความเสี่ยง ต้องหาว่าเราทำอะไรได้อีก
แค่วาดได้ก็ไม่พอ ถ้าอยากทำเป็นอาชีพ เราต้องรู้จักตลาด ตามตลาดด้วยใช่ไหม?
เราต้องดูด้วยว่า ในเว็บไซต์ที่เราลงนั้น เขากำลังนิยมอะไร เหมือนช่วงนั้นคอนเทนต์ประมาณไหนของชาวเนิร์ดคริปโต เขากำลังนิยมอะไร ต้องหาลูกค้าด้วย เหมือนเราเปิดร้านขายของเลย เราต้องมีหน้าร้านเป็นทวิตเตอร์ของเรา ใช้โปรโมตทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ วิธีการตามหาคนซื้อก็คือ ตามจากศิลปินที่สไตล์ใกล้เคียงกับเรา แล้วก็ดูว่าใครติดตามเขาบ้าง คนไหนที่ดูเหมือนจะเป็นนักสะสม ก็ตามไปติดตามเขาด้วย
แล้วดูยังไงว่าใครเป็นนักสะสม?
มันมีวิธีดูไม่ยาก ส่วนใหญ่รูปโปรไฟล์จะเป็น NFT ราคาแพง มีผลงานของ Cool Cats อะไรอย่างนี้ เขาก็จะแชร์งานศิลปินที่เท่ๆ
พอออกจากงานประจำแล้ว ทำการตลาดยังไงให้เราขายได้เหมือนเดิม?
เรามีเป้าหมายว่าอย่างน้อยให้มันได้เท่าเงินเดือนที่เราเคยได้ ถ้าเกินก็ดี เราจะจัดตารางเวลาเราได้ว่า สัปดาห์หนี่งเราจะทำกี่ชิ้น อยู่บนเว็บไซต์ไหนบ้าง ถ้าเว็บไซต์ไหนขายโคตรดีก็อัดวาดสไตล์นั้นลงบนเว็บไซต์นั้น แล้วพักเว็บไซต์อื่นไปก่อน อย่าง HEN เขาจะชอบไฟล์ .GIF กระพริบๆ สีสันแรงๆ เพี้ยนๆ พอลองทำ คนก็ซื้อ พอจับทางได้ว่าเว็บไซต์นี้งานประมาณนี้ขายได้ ก็ต้องทำ แต่เราเชื่อว่างานที่มีเอกลักษณ์ คนจะสนใจกว่างานที่เหมือนๆ คนอื่น อย่างน้อยก็ต้องมีตัวเราอยู่ในสไตล์นั้นด้วย”
บน OpenSea ที่เราทำตอนนี้มีคอลเล็กชั่นชื่อ STARBOT เหมือนเราสร้างจักรวาลที่ทุกคนบนหัวจะมีดาวติดหมด เราก็วาดประชากรบนดาวดวงนี้ ไม่ซ้ำกัน ตอนนี้วาดมาได้ 65 ตัวแล้ว ส่วนบน HEN จะเป็นเว็บที่ค่าธรรมเนียมถูกมาก เขาจะเน้นขายงานถูกแต่ขายหลายๆ edition สมมติลงขายงานหนึ่งรูป ขายแค่ 300 บาท แต่สามารถขายได้ 30 คน อะไรแบบนั้น เราก็จะสนุก สามารถซื้องานศิลปินดังๆ ได้ในราคาที่ไม่แพง
ทั้งหมดมานี้ ในสายตาคนวาดเอง คิดว่าอะไรทำให้งานเราขายได้มากขนาดนี้ มากขนาดที่ตัดสินใจออกจากงานประจำ?
ช่วงนั้นงานเราไม่เหมือนคนอื่นเลย เราก็วาด STARBOT นี่แหละ ตอนนั้นไม่ได้วางแผนว่าจะวาดไปกี่ตัว ตอนนั้น ETH ราคา 55,000 บาทนะ มันถูกมาก ค่าธรรมเนียมก็ถูกไปด้วย มันดูแปลกใหม่ด้วย มันเป็นการเอารูปทรงวงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมมาต่อกัน แล้วกลายเป็นตัวอะไรสักอย่าง ช่วงแรกๆ ที่ลงงาน มีชาวต่างชาติมารุมคอมเมนต์ว่า งานเหมือน Cartoon Network ดูมีศักยภาพที่จะกลายเป็นการ์ตูนหรือเกมได้ อีกอย่างก็เรื่องการใช้สี งานเรามักจะถูกคนชมบ่อยๆ ว่าใช้สีได้มหัศจรรย์มาก อาจเป็นคู่สีที่แปลกมั้ง คนไม่ค่อยใช้
พอทำ NFT ทีแล้ว ความรู้สึกต่อชิ้นงานเหมือนตอนทำงานประจำไหม?
ราก็ 29 เกือบ 30 เราอยากทำอะไรที่ตัวเองอยากทำจริงๆ สักที พอเราได้ขายงาน NFT แล้วมีคนซื้อเยอะๆ มีคนชื่นชมงานของเรา
เรารู้สึกว่างานที่เราทำด้วยความคิดของเราเองเนี่ย มันได้รับการยอมรับ
จากสายตาคนข้างนอก มันเป็นสิ่งที่เราอยากได้มาตลอดการวาดรูป
เพราะว่าในไทยมีคนทำงานศิลปะเยอะมาก แต่ทุกคนไม่ได้ถูกมองเห็นจากสายตาคนข้างนอก พอมีคนชื่นชอบงานเรา เราก็มั่นใจ รู้สึกสนุกกับการวาดรูปอีกครั้ง เราเลยตัดสินใจเร็วมาก ก็วู่วามนั่นแหละ แต่อย่างน้อยออกมาวาดจะได้อีกยาวหรือสั้นก็จะไม่เสียดาย
แล้วตอนทำงานประจำมีความรู้สึกแบบนี้ไหม?
ก็มี แต่ไม่ใช่จากเรา 100% งานที่เราทำอยู่มันเป็น musician designer ออกแบบทุกอย่างเกี่ยวกับธุรกิจดนตรี เราก็ชอบงานที่เราทำ แต่เราไม่รู้สึกว่าเราถูกจดจำในด้านนี้มาก
คนรู้จักเราก็ไม่ได้รู้จักในฐานะอาร์ตไดเร็กเตอร์ รู้จักแค่พี่โอ๊ตตลกดีคนหนึ่งแค่นั้น
แต่พอทำ NFT แล้วคนจำว่าเราเป็นศิลปิน มันก็เป็นความรู้สึกที่อยากได้มานาน
ตอนเด็กเราอยากเป็นนักวาดการ์ตูน พอโตมาเราก็รู้ว่าเราไม่ได้เก่งขนาดนั้น เราเลยวาดแค่อะไรที่เราอยากวาด พอได้ทำ NFT มันเลยได้จุดไฟชีวิตประมาณหนึ่งเลยนะ ได้วาดรูป ได้ขายรูป
แต่ออกจากงานประจำมันก็มีความเสี่ยงอยู่เหมือน แล้วเตรียมตัวเตรียมใจกับความเสี่ยงนี้ยังไง?
ต้องจิตใจแข็งแกร่งประมาณหนึ่งเลย เพราะว่ามันไม่ใช่แค่ลงงานแล้วจะขายได้เลย บางคนใช้เวลาหลายเดือน บางคนอาจจะรู้สึกดาวน์ได้ ช่วงที่เราขายไม่ได้ เราก็นอยด์ นอยด์แดกไปครึ่งเดือนเลย
นอยด์กลัวในแง่ไม่มีรายได้ หรือกลัวที่คนเขาไม่ชอบงานเราเหมือนเดิมแล้ว?
ไม่ได้กลัวที่ไม่มีเงินกินข้าว มันสงสัยว่าทำไมเราขายไม่ได้แล้ววะ หรือว่าคุณภาพงานมันตก หรือเราไปทำอะไรผิด เราก็ไปหาสาเหตุ ไถทวิตเตอร์ดูเลยว่าเราไปโพสต์อะไรไว้ไหม ในดิสคอร์ดที่คุยกับคน ก็ไปหาว่าเราพูดอะไรผิดหรือเปล่า
แต่ตอนนี้เราก็รู้ข้อผิดพลาดแล้วว่า ในตอนแรกเราไม่มีโรดแมป ทำสะเปะสะปะมากๆ พอคนมาซื้อเยอะก็ยังไม่มีแผน เราเพิ่งมาวางแผนตอนออกจากงานประจำ คนที่มาซื้อส่วนใหญ่เป็นนักเก็งกำไร คนซื้อเพราะชอบก็น้อยกว่า
ความเสี่ยงที่ชัดเจนที่สุดที่เจอคืออะไร?
รายได้มันจะไม่แน่นอนอีกต่อไป สมมติเดือนนี้ได้เยอะ เดือนหน้าอาจจะเหลือแค่ 10% ก็ได้ มันไม่มั่นคงเลย นอกจากจะมาทำแล้ว to the moon สุดๆ ซึ่งมันก็ยาก ต่อมาคือเรื่องความแข็งแกร่งของจิตใจ ทุกอย่างมันสามารถทำให้เรานอยด์แดกตลอดเวลา สมมติเราเข้าไปใหม่ สร้างทวิตเตอร์ สร้างคอมมูนิตี้ ลงงานใหม่ คนกดไลก์สองคน นอยด์อีกแล้ว ใครจะซื้อวะ มันไม่ใช่ง่ายๆ
โดยเฉพาะมือใหม่ อยากแนะนำว่า หนึ่งเลย ต้องเข้าใจระบบ โอนเงินเข้า โอนเงินออก คริปโตฯ คืออะไร เข้าใจตลาด อยู่เว็บไซต์นี้ต้องทำอะไร ดูงานเยอะๆ ราคางานตั้งเท่าไหร่ก็ได้แล้วแต่ความพอใจ ไม่ต้องซีเรียส อย่าเพิ่งคิดว่าตั้งถูกๆ ดีกว่า จะได้ขายได้ ไม่จริง งานที่ขายได้ แม่งโคตรสะเปะสะปะ
สำคัญที่สุดคือการสร้างตัวตนบนโซเชียลมีเดีย เราต้องทำให้ตัวเองเป็นใครสักคนบนนั้นให้ได้ ไม่อย่างนั้นเราก็ได้แค่โพสต์งานไปเรื่อยๆ คนสนใจก็แค่เพื่อนศิลปิน เราก็ไม่ได้อะไร ต้องสื่อสารกับคน นำเสนอความเป็นศิลปินในตัวเอง แล้วต้องมีความเป็นมนุษย์ในนั้นด้วย เพราะทุกคนเป็นคน ต้องมีไลฟ์สไตล์บ้าง ถ่ายโต๊ะทำงาน อุปกรณ์ทำงานให้เขาเห็น เราก็ถ่ายกีต้าร์ลงบ้างนะ ไม่ใช่โพสต์ขายของอย่างเดียว อย่างนั้นจะไม่มีคนสนใจ
เวลาสื่อสารกับคนอื่นก็ต้องสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษใช่ไหม เราเองก็งูๆ ปลาๆ แต่หลายคนซีเรียส ไม่กล้าคุย ไม่กล้าสื่อสาร เจ้าของภาษาเราพิมพ์อะไรผิดๆ แต่บางทีเขาก็เข้าใจ เราก็ต้องพยายามคุยด้วย
สุดท้ายแล้ว การขายงานในรูปแบบ NFT มันไม่ใช่แค่การวาดรูปขาย รอคนมาซื้อ แต่เรายังต้องรู้จักตลาด พื้นที่ไหนชอบงานแบบไหน ช่วงนี้ฮิตอะไร รู้จักสร้างตัวตน เหมือนกับการสร้างแบรนด์ให้กับตัวเอง มีตัวตนขึ้นมา มีการสื่อสารกับคนในคอมมูนิตี้ นอกจากสกิลในการวาดแล้ว ซึ่งมันอาจจะยังไม่พอ เราต้องมีสกิลในด้านการตลาดที่แข็งแกร่งด้วย เพื่อให้มั่นใจว่างานที่ผลิตออกมานั้น จะถูกนำเสนออกไปได้ดีเช่นกัน หากรู้สึกว่าเรายังไม่เชี่ยวชาญมากพอ การมีงานประจำไว้ในอ้อมแขน ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของเราในตอนนี้
หากใครสนใจอยากติดตามผลงานของ โอ๊ต–นิพัฒน์ ศรีสวัสดิ์ สามารถตามไปได้ที่: nipatn_ – Profile | OpenSea, hic et nunc – hic et nunc และ nipatn_ (@nipatn_) | Foundation