*นี่คือการแนะนำคำศัพท์ฉบับผู้เริ่มต้น
ในวันนี้ ไม่ว่าจะคนทั่วไป ภาคเอกชน หรือรัฐบาลเอง ต่างให้ความสนใจต่อทรัพย์สินที่เรียกว่า ‘คริปโตเคอร์เรนซี’ หรือสกุลเงินดิจิทัลอย่างมาก ทั้งในแง่ประโยชน์ โอกาส ไปจนถึงความเสี่ยง และอาจจะพูดว่า คริปโตฯ แมสแล้ว
เพื่อก้าวไปพร้อมกับโลกดิจิทัลที่หมุนเร็วไม่หยุด The MATTER จึงถือโอกาสนี้พาคุณก้าวเข้าสู่อีกยุคของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี กับ ‘Future Word’ รู้จักศัพท์โลกคริปโตฯ DeFi NFT ไปจนถึง Metaverse ฉบับเริ่มต้น 101 เพราะงานนี้เราจะเป็นมือใหม่ในวงการไปพร้อมๆ กัน
สำหรับคำแรกที่เราอยากนำเสนอคือ ‘Digital Asset’ หรือ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ก่อนจะไปรู้จักกับคริปโตฯ เบื้องต้นเราขอเริ่มต้นจากคำนี้ก่อน เพราะสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นคำที่ครอบคลุมทรัพย์สินหลายชนิด และหนึ่งในนั้นก็รวมถึงสกุลเงินคริปโตฯ ด้วย
Digital Asset คืออะไร
สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นหน่วยอิเล็กทรอนิกส์ที่แสดงมูลค่าเหมือนสินทรัพย์ทั่วไป ซึ่งจับต้องไม่ได้ด้วยมือเปล่า ถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ แต่สามารถซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนความเป็นเจ้าของได้ ใจความสำคัญคือการแลกเปลี่ยน ‘ไม่ต้องผ่านตัวกลาง’ (ถ้าเป็นเงินสด การเก็บ ฝาก ถอน ต่างๆ จะต้องมีตัวกลาง—ธนาคารหรือสถาบันการเงิน—เป็นคนลงบันทึกการทำธุรกรรม แต่พอเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งทำงานอยู่บนโลกออนไลน์และระบบบล็อกเชน การทำธุรกรรมต่างๆ ก็จะถูกบันทึกโดยคอมพิวเตอร์นั่นเอง) และการไม่ผ่านตัวกลาง ก็ทำให้สามารถเทรดซื้อ-ขายได้ 24 ชั่วโมง 7 วัน แบบไม่มีวันหยุด
แบ่งประเภทเป็นอะไรบ้าง
ประเทศไทยได้มีการออกพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ขึ้นเพื่อกำกับดูแลการออกเสนอขาย และการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถแบ่งสินทรัพย์ดิจิทัลได้เป็น 2 ประเภท ผ่านการพิจารณาตามลักษณะของการใช้งานและสิทธิที่กำหนดไว้สำหรับผู้ถือ
1) คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือสกุลเงินดิจิทัล (Digital Currency)
เป็นหน่วยอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นบนเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ สร้างขึ้นเพื่อเป็น “สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ และสิทธิอื่นใด” โดยปัจจุบัน มูลค่าขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ซื้อ-ขายเป็นหลัก เพราะไม่ถูกควบคุมโดยหน่วยงานกลางใด
คริปโตฯ แรกของโลกที่รู้จักกันดีก็คือ ‘Bitcoin’ (บิตคอยน์) ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่เก่าแก่ที่สุด และปัจจุบัน 1 เหรียญก็มีมูลค่าทะลุ 2 ล้านบาทไปเรียบร้อยแล้ว
คริปโตเคอร์เรนซีตัวอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมก็เช่น ETH, BNB, DOGE, LUNA
ส่วน NFT หรือ non-fungible token ก็เป็นคริปโตฯ ชนิดหนึ่ง ที่ใช้แสดงความเป็นเจ้าของสินทรัพย์หนึ่งๆ โดยเป็นส่วนหนึ่งในอีธีเรียม (ETH) ซึ่งเป็นคริปโตฯ เช่นกัน แต่ลักษณะพิเศษของ NFT จะมีเหรียญเดียวแบบ 1-1 เท่านั้น ไม่เหมือนคริปโตฯ อื่น เช่น Bitcoin ที่กระจายเป็น 21 ล้านเหรียญ
2) โทเคนดิจิทัล (Digital Token)
แบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน สามารถออกเสนอขายได้ผ่านกระบวนการ initial coin offering (ICO) คล้ายกับการออกเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรก หรือ initial public offering (IPO) แก่ผู้ลงทุนหุ้นสามัญ ในตลาดหุ้นนั่นแหละ
2.1) โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (investment token) เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ และ ‘ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใดๆ ของผู้ที่ดำเนินการออกโทเคนนี้’ คือการซื้อโทเคนประเภทนี้ เราจะรู้แน่ชัดว่า ใครออกโทเคน และเงินที่เราลงทุนไปจะเอาไปใช้กับโปรเจกต์อะไร และจะมีการจ่ายผลตอบแทนอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ โทเคนดิจิทัลตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ จะแตกต่างจากคริปโตฯ ตรงที่ คริปโตฯ จะไม่มีการให้สิทธิแก่ผู้ถือ เป็นแค่สื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเท่านั้น ส่วนโทเคนดิจิทัลจะให้สิทธิแก่ผู้ถือ มูลค่าของโทเคนดิจิทัลจะขึ้นอยู่กับมูลค่าสิทธิ (ไม่ได้ขึ้นกับความพอใจผู้ซื้อ-ขายเหมือนคริปโตฯ)
ในต่างประเทศ ASPEN COIN ของเครือโรงแรม The ST. Regis Aspen Resort ซึ่งจะลงทุนทำโปรเจกต์ด้านอสังหาริมทรัพย์ คือตัวอย่างของ investment token ที่ประสบความสำเร็จ โดยสามารถระดมทุนผ่านโทเคนดิจิทัลได้กว่า 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2.2) โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (utility token) เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ที่ ‘ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง’ เช่น ให้สิทธิในการเข้าถึงแพลตฟอร์มหรือโครงการ หรือ นำไปใช้แลกสินค้าในแพลตฟอร์มหรือโครงการดังกล่าว ซึ่งแบ่งออกเป็น utility token แบบพร้อมใช้ และไม่พร้อมใช้
‘utility token แบบพร้อมใช้’ จะไม่เป็นการระดมทุน แต่เป็นเหรียญที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแสดงสิทธิ์ในสินค้าและบริการที่สร้างเสร็จแล้ว เปรียบเทียบได้กับการที่เรามีวอยเชอร์หรือคูปองในศูนย์อาหาร ที่ชัดเจนว่าคูปองนี้จะสามารถแลกเป็นอะไรได้บ้างและซื้ออะไรไม่ได้บ้าง (ก็คือใช้นอกศูนย์อาหารไม่ได้นั่นเอง)
‘utility token แบบไม่พร้อมใช้’ ในกรณีที่สินค้าและบริการยังสร้างไม่เสร็จ ผู้ขายเหรียญจึงออกเหรียญมาเพื่อระดมทุนเงินไปพัฒนาสินค้า และบริการ
มีโอกาส แต่ก็มาพร้อมความเสี่ยง
แม้ว่า digital asset จะมีโอกาสมหาศาลให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุน ทว่าก็มาพร้อมกับความเสี่ยงด้วย ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ข้อมูลว่า ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ยอดเปิดบัญชีเทรดคริปโตฯ เติบโตกว่า 5 เท่า (ปี พ.ศ.2564 ทะลุ 1,600,000 บัญชี หากเทียบกับการเปิดบัญชีหุ้น ตลอดระยะเวลา 20–30 ปี ยังมีจำนวนบัญชีแค่ 1,800,000 บัญชีเท่านั้น ถือว่าเติบโตไวมาก) ซึ่ง ก.ล.ต. ระบุว่า ปัจจุบัน ยังไม่มีใครทราบราคาที่แท้จริงของคริปโตฯ เพราะซื้อ-ขายกันตามราคาที่พึงพอใจของตลาด ไม่มีเพดานราคา จึงผันผวนสูง
ขณะที่ความเสี่ยงของภาพรวมสินทรัพย์ดิจิทัลที่ควรศึกษาก่อนการลงทุน ก็มีตั้งแต่ประเด็นของพื้นฐานบริษัทที่ออก ICO โทเคน ซึ่งมักเป็นโครงการใหม่ที่มีแค่ไอเดีย ใช้เทคโนโลยีใหม่มากๆ จึงเสี่ยงสูงที่โครงการจะไม่สำเร็จ มีความเสี่ยงที่สินทรัพย์ดิจิทัลอาจมีการสูญหรือด้อยมูลค่าลง เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มีการรับรองมูลค่าโดยสถาบันการเงินใดๆ หรือถูกหลอกโดยมิจฉาชีพ ที่นำเอาโทเคนไม่มีมูลค่า หรือไม่น่าเชื่อถือมาหลอกเป็นผลิตภัณฑ์ให้ลงทุน ตลอดจนความเสี่ยงจะถูกขโมยทรัพย์สินทางไซเบอร์
สินทรัพย์ดิจิทัลจะยังเป็นประเด็นที่วนเวียนอยู่ใกล้-ไกลตัวเรื่อยๆ เป็นโอกาสแต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยง ดังนั้นทำความเข้าใจไว้ก่อนก็ไม่เสียหาย
The MATTER ยังเตรียมพาคุณเข้าสู่อนาคตของโลกดิจิทัลได้มากกว่านี้ เพราะนี่คือ ‘Future Word’ ส่วนหนึ่งจากซีรีส์ ‘Futureverse’ ซีรีส์ที่คุณจะได้รู้จักกับคริปโตฯ, DeFi, NFT, Metaverse, และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังจะตามมา คำศัพท์และเรื่องที่ส่วนใหญ่เราจะได้ยินคนพูดกัน แต่มันช่างซับซ้อน และยากจะก้าวเท้าเข้าไปร่วมวงด้วยเสียเหลือเกิน … ไม่ต้องห่วง หลังจากนี้ซีรีส์ ‘Futureverse’ จะพาคุณเข้าสู่ดินแดนใหม่อย่างปลอดภัย
อ้างอิงข้อมูลจาก