ไม่ว่ายุคสมัยไหนสกุลเงินที่มีเสถียรภาพต่างก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต่างถวิลหา
ลองนึกดูสิครับว่าถ้าสกุลเงินบาทไทยสามารถตรึงราคาไว้คงที่ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดไป ชีวิตของเหล่าผู้นำเข้าส่งออกก็ย่อมทำมาค้าขายได้อย่างสบายใจ เพราะสามารถทุ่มเทกับการทำธุรกิจได้เต็มที่โดยไม่ต้องเปลืองสมองจัดการความผันผวนของค่าเงิน
ในแวดวงสกุลเงินเข้ารหัส หรือ คริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrency) หนึ่งในนวัตกรรมที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางคือเหรียญเสถียร (stablecoin) ไม่ว่าจะเป็น USD Coin (USDC) Tether (USDT) หรือ Binance USD (BUSD) เหรียญเหล่านี้ ‘ตรึง’ ราคาไว้กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยหนึ่งเหรียญจะมีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เหรียญเสถียรจึงเปรียบเสมือนเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างโลกคริปโตฯ กับโลกจริง และยังทำหน้าที่เป็น ‘หลุมหลบภัย’ จากสารพัดสกุลเงินที่ผันผวน
ความแตกต่างของเหรียญเสถียรข้างต้นกับสกุลเงินเข้ารหัสอื่นๆ ในตลาดคือหน่วยงานผู้ออกเหรียญ USDC USDT และ BUSD ต่างระบุว่าตนเองมี ‘เงินทุนสำรอง’ มากเพียงพอที่จะใช้ซื้อคืนเหรียญทั้งหมดตามอัตราแลกเปลี่ยนหนึ่งเหรียญต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ กล่าวคือเหรียญเหล่านี้ไม่ได้เสกออกมาจากอากาศแต่มีสินทรัพย์ ‘หนุนหลัง’ เหรียญเหล่านั้นอยู่
จะว่าไปก็คล้ายๆ กับระบบธนบัตรของโลกการเงินกระแสหลักที่ธนาคารกลางจำเป็นต้องมีสินทรัพย์ที่ได้รับการยอมรับ เช่น ทองคำ พันธบัตรรัฐบาล หรือเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนที่จะพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้ในระบบเศรษฐกิจได้นั่นเอง
ไม่น่าตื่นเต้นเท่าไหร่ใช่ไหมครับ?
ทว่า กระโดดมาสู่โลกกระจายศูนย์ทั้งที แต่ทำไมถึงเอาโมเดลโบราณของการเงินแบบรวมศูนย์มาใช้กันนะ
ย้อนกลับไปเมื่อ ค.ศ.2018 มีโครงการหนึ่งที่ทำให้หลายคนตาลุกวาวนั่นคือ The Terra โดยแดเนียล ชิน (Daniel Shin) และโด ควอน (Do Kwon) โดยระบบดังกล่าวจะสร้างเหรียญเสถียรของสารพัดสกุลเงินขึ้นมาโดยไม่ต้องใช้สินทรัพย์ในโลกจริงหนุนหลังสักบาท แต่เป็นการใช้อัลกอริทึมจัดการอุปสงค์และอุปทานในตลาดผ่านกลไก ‘พิมพ์และเผา’ (minting and burning) สกุลเงินเข้ารหัสอีกสกุลหนึ่งที่อยู่ในโครงข่ายเดียวกัน จัดเป็นเหรียญเสถียรสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่าเหรียญเสถียรที่พึ่งพาอัลกอริทึม (algorithmic stablecoin)
เหรียญพี่เหรียญน้องที่จะช่วยรักษาเสถียรภาพของโครงข่าย Terra มีชื่อว่า LUNA ซึ่งซื้อขายครั้งแรกเมื่อราวต้นปี ค.ศ.2019 ส่วนเหรียญเสถียรเรือธงของโครงข่ายดังกล่าวคือ TerraUSD (UST) ที่ตรึงราคากับดอลลาร์สหรัฐฯ ในอัตรา 1:1 โดยซื้อขายครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.2020
เหรียญ LUNA เป็นสกุลเงินที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและขึ้นแท่นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มูลค่าสูงที่สุด 10 อันดับแรกของโลกตามการจัดลำดับของนิตยสาร Forbes เมื่อปลายปีที่ผ่านมาโดยราคาเคยพุ่งไปแตะที่ 120 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเหรียญ หรือในแวดวงคริปโตฯ จะเรียกว่าราคา ‘พุ่งทะยานไปสู่ดวงจันทร์’
แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา LUNA ก็ร่วงจากดวงจันทร์สู่ยอดหญ้าเมื่อราคาดิ่งเหวกว่า 99% ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน โดยปัจจุบันซื้อขายกันอยู่ที่ราว 2 เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่ TerraUSD ที่เคยสัญญาว่าจะตรึงอัตราแลกเปลี่ยนที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ กลับร่วงลงมาต่ำหลัก 10 เซนต์และยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับไปแตะที่ระดับ 1:1 ได้ในเร็ววัน (ข้อมูล ณ วันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ.2022)
ปัญหาของโครงข่าย Terra ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อสกุลเงินเข้ารหัสสั่นคลอนทั้งกระดาน ชวนให้ตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับ LUNA ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าจะมา ‘ปฏิวัติ’ ระบบเงินตรารวมศูนย์ของธนาคารกลางที่เราคุ้นเคย วิกฤติครั้งนี้สามารถอธิบายโดยทฤษฎีสามเป็นไปไม่ได้ (Impossible Trinity) เช่นเดียวกับวิกฤติต้มยำกุ้งของไทยเมื่อ พ.ศ.2540
Terra-LUNA ทำงานอย่างไร?
TerraUSD เป็นเหรียญเสถียรที่ไม่มีตัวกลางคอยบริหารจัดการ แต่ใช้อัลกอริทึมที่เขียนไว้ล่วงหน้าสำหรับจัดการอุปสงค์และอุปทานโดยอัตโนมัติ โดยความแตกต่างสำคัญของ TerraUSD คือ การมีสินทรัพย์หนุนหลังเป็นสกุลเงินเข้ารหัสอีกหนึ่งสกุลที่ชื่อว่า LUNA โดยทั้งสองเหรียญอยู่ภายใต้การดูแลของกลุ่มบุคคลเดียวกัน
ในทางทฤษฎี ผู้ถือครอง TerraUSD จะสามารถแลกเงินดังกล่าวกับเหรียญ LUNA มูลค่า 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา LUNA ซื้อขายกันในตลาดที่ 85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเหรียญ ดังนั้นผู้ถือ TerraUSD ก็จะสามารถนำเหรียญมาแลกได้ 0.0118 LUNA นั่นเอง โดยการแลกเปลี่ยนนี้จะถูกจัดการโดยสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) ซึ่งเป็นโค้ดคอมพิวเตอร์ที่จะไม่มีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการ
ระบบดังกล่าวยังมีหน้าที่ดูแลเงิน TerraUSD ให้มีมูลค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่เสมอ โดยในกรณีที่ TerraUSD มีมูลค่าน้อยกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ระบบก็จะ ‘พิมพ์’ (minting) เหรียญ LUNA ขึ้นมาเพื่อเข้าซื้อ TerraUSD เปรียบเสมือนการสร้างความต้องการซื้อปลอมๆ เพื่อดันให้ TerraUSD ราคาขึ้น ในทางกลับกัน หาก TerraUSD มีมูลค่ามากกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ระบบก็จะจ่าย TerraUSD เพื่อซื้อคืนเหรียญ LUNA มากำจัดหรือที่เรียกว่าการ ‘เผา’ (burning) นั่นเอง
การตรึงราคา TerraUSD ให้เท่ากับ LUNA มูลค่า 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่เสมอยังดึงดูดเหล่านักทำกำไรแบบไร้ความเสี่ยง (arbitrageur) ตัวอย่างเช่นในกรณีที่เหรียญ TerraUSD ราคาร่วงต่ำกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ จนเหลือ 95 เซ็นต์ เหล่านักทำกำไรที่นั่งเฝ้าจอก็จะเข้ามาซื้อ TerraUSD แล้วนำไปเปลี่ยนเป็น LUNA พร้อมกับคว้ากำไรส่วนต่างมูลค่า 5 เซ็นต์ต่อหนึ่งเหรียญเข้ากระเป๋าแบบฟรีๆ ในขณะที่ช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาให้กับเหรียญ TerraUSD ไปในตัว
กลไกดังกล่าวพยุงราคา TerraUSD ให้มีเสถียรภาพได้อยู่ร่วมปี แม้จะมีบางช่วงเวลาที่ราคาจะหลุดจาก 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปบ้าง แต่กลไกที่วางไว้ก็สามารถจัดการให้ราคากลับมาเข้ารูปเข้ารอยได้ในเวลาไม่นาน
แต่จุดอ่อนสำคัญของระบบดังกล่าวคือกลไกจะพังทลายทันทีหากเหรียญ LUNA ไม่หลงเหลือมูลค่าในตลาด สัญญาณไม่ดีนักเริ่มต้นเมื่อราววันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมาเมื่อมีการเทขาย TerraUSD ในแพลตฟอร์มรับฝากเหรียญที่ชื่อว่า Anchor ก่อนที่ราคาของ LUNA จะร่วงลงอย่างต่อเนื่องและลดฮวบในวันที่ 9 พฤษภาคมเมื่อ TerraUSD ไม่สามารถตรึงมูลค่าที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ได้อีกต่อไป
แรงเทขายมหาศาลทำให้ระบบอัตโนมัติที่วางไว้ทำงานได้ไม่เต็มที่ ส่วนนักทำกำไรแบบไร้ความเสี่ยงก็ยอมนั่งทับมือตัวเองไม่เข้ามาทำการซื้อขายเพราะตลาดผันผวนอย่างนัก ขณะที่ผู้ก่อตั้งเหรียญ TerraUSD และ LUNA ก็ใช่ว่าจะอยู่นิ่งเฉย โดยยอมทุ่มเงินกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก Luna Foundation Guard เพื่อยื้อชีวิต
แต่สุดท้าย TerraUSD และ LUNA ก็ราคาดิ่งเหวเพราะไม่สามารถกู้ศรัทธาของนักลงทุนคืนมาได้ จากเหรียญที่เคยมีมูลค่ามหาศาลและเป็นดาวเด่นในแวดวงสกุลเงินเข้ารหัสกลับกลายเป็นชนวนเหตุที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นของทั้งตลาดและอาจเป็นเหตุผลให้หน่วยงานกำกับดูแลเข้ามาควบคุมอย่างเข้มงวดมากขึ้น
เกิดอะไรขึ้นกับ LUNA?
ปัจจุบันยังไม่มีใครตอบได้ว่าแรงเทขาย TerraUSD นั้นมาจากไหนและมีเหตุผลเบื้องหลังคืออะไร บางสำนักมองว่าเป็นกลุ่มผู้ประสงค์ร้ายที่มุ่งหมายทุบค่าเงิน บางคนมองว่ามีสาเหตุมาจากการกู้ยืมผ่านแพลตฟอร์ม Abracadabra ที่เพิ่งจับมือกับ Terra เมื่อไม่นานมานี้ หรือกระทั่งการพยายามสร้างราคาโดยกลุ่มผู้ก่อตั้งเองผ่านการให้ดอกเบี้ยในอัตราที่ไม่สมเหตุสมผล อย่างไรก็ดี ท่ามกลางฝุ่นตลบก็ยังไม่มีใครกล้าฟันธงว่าสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร
แต่วิกฤติในครั้งนี้คลับคล้ายคลับคลากับกับกรณีเฮดจ์ฟันด์ที่โจมตีค่าเงินบาทซึ่งตรึงมูลค่ากับดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อคราววิกฤติปี 40 ซึ่งสามารถอธิบายได้จากทฤษฎีคลาสสิกที่ชื่อว่า ‘สามเป็นไปไม่ได้’ (Impossible Trinity)
ทฤษฎีสามเป็นไปไม่ได้หมายถึงนโยบายการเงินสามอย่างที่ไม่สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้นั่นคือ (1) อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (fixed exchange rate) (2) เงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเสรี (free capital flows) และ (3) การกำหนดนโยบายการเงินอย่างอิสระ (independent monetary policy) เพราะหากใช้ทั้งสามนโยบายพร้อมกัน สิ่งที่ตามมาคือระบบการเงินที่ไร้เสถียรภาพและเสี่ยงต่อการพังทลายโดยจะต้องเลือกใช้เพียง 2 ใน 3 เท่านั้น
จากทฤษฎีดังกล่าว เราสามารถจัดแบ่งกลุ่มระบบการเงินออกเป็น 3 กลุ่มคือ
กลุ่ม (1) + (2) – อัตราแลกเปลี่ยนคงที่และเงินทุนเคลื่อนย้ายเสรี เช่น สกุลเงินยุโรปซึ่งเหล่าประเทศในสหภาพยุโรปที่ใช้สกุลเงินดังกล่าวจะเสมือนว่าสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเองได้ในอัตรา 1 ต่อ 1 โดยเงินสกุลดังกล่าวยังสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี แต่มีข้อจำกัดเนื่องจากประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรจะไม่สามารถกำหนดนโยบายการเงินได้อย่างเป็นอิสระ เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ย เพราะจะมีหน่วยงานกลางคือธนาคารกลางยุโรปเป็นผู้กำหนด
กลุ่ม (2) + (3) – เงินทุนเคลื่อนย้ายเสรีและนโยบายการเงินอิสระ ทางเลือกนี้คือมาตรฐานระบบการเงินของโลกโดยมีต้นแบบคือสหรัฐอเมริกาโดยปัจจุบันประเทศไทยก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน สกุลเงินที่จัดการแบบนี้มีข้อจำกัดสำคัญคืออัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนไปตามกลไกตลาดโดยธนาคารกลางสามารถแทรกแซงได้เล็กน้อยเท่านั้น
กลุ่ม (1) + (3) – อัตราแลกเปลี่ยนคงที่และนโยบายการเงินอิสระ ประเทศยักษ์ใหญ่ที่เลือกจัดการสกุลเงินตามแนวทางนี้คือประเทศจีนที่สามารถกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนได้ตามใจนึก อีกทั้งนโยบายการเงินยังเป็นอิสระ แต่ต้องแลกมาด้วยการกำกับดูแลเงินทุนไหลเข้าและออกประเทศอย่างเข้มงวด ผ่านเครือข่ายธนาคารัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนควบคุมอย่างเข้มแข็ง
ย้อนกลับมาที่ TerraUSD เราจะเห็นว่าสกุลเงินดังกล่าว (1) พยายามตรึงอัตราแลกเปลี่ยนให้เท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เสมอ (2) เปิดให้ซื้อขายได้อย่างเสรีไม่มีข้อจำกัด และ (3) มีการกำหนดนโยบายการเงินที่แตกต่างจากเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งพยายามตรึงมูลค่าเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายผลตอบแทนเมื่อฝากไว้บนแพลตฟอร์ม Anchor ในอัตรา 20% ขณะที่ดอกเบี้ยของดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ราว 2.6% ต่อปีเท่านั้น
เมื่อละเมิดหลักสามเป็นไปไม่ได้ สุดท้ายค่าเงินก็สูญเสียเสถียรภาพและถูกบีบบังคับให้ ‘ลอยตัว’
แม้เหตุการณ์นี้จะส่งผลต่อศรัทธาของนักลงทุนจำนวนไม่น้อย แต่ผมชวนมองมุมอีกมุมหนึ่งว่าสกุลเงินเข้ารหัสเพิ่งถือกำเนิดมาเพียง 10 ปีเศษ การลองผิดลองถูกถือเป็นวัฏจักรแสนปกติธรรมดาของการก่อเกิดนวัตกรรม แต่ต้นทุนของความเสียหายในปัจจุบันนั้นแตกต่างจากเมื่อก่อน เพราะในอดีตคนส่วนใหญ่ที่จะตัดสินใจลงทุนกับสิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลกมักถูกจำกัดอยู่ในเหล่าผู้มั่งคั่งที่หากเงินสูญสลายหายไปบางส่วนก็ไม่เดือดร้อนสักเท่าไหร่ แต่ปัจจุบัน นักลงทุนรายย่อยสามารถร่วมเสี่ยงกับนวัตกรรมเปลี่ยนโลกได้เพียงปลายนิ้วคลิก ความเสียหายเลยลุกลามบานปลายจนรัฐบาลอาจต้องเข้ามากำกับดูแล
บทเรียนจากกรณี Terra-LUNA จึงไม่ใช่ว่าการลงทุนในสกุลเงินเข้ารหัสเป็นเรื่องต้องห้าม หรือนวัตกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องลวงโลกแต่อย่างใด เพียงแต่ตอกย้ำชัดๆ อีกหนึ่งครั้งว่า ‘ยิ่งผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็สูงเป็นเงาตามตัว’ ดังนั้นจงเตรียมใจให้พร้อมหากคิดจะลงทุนในตลาดคริปโตฯ
เราจะติดดอยไปด้วยกันครับ สวัสดี!
อ้างอิงข้อมูลจาก