เราอาจคุ้นเคยกับผลงาน NFT ในรูปแบบของคาแร็กเตอร์ ตัวละคร แต่ชิ้นงานในรูปแบบพื้นที่หรือ Landscape เอง ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เพราะมันคือการสร้างสรรค์พื้นที่หนึ่ง ให้ออกมามีรูปแบบ สีสัน ส่วนประกอบ ให้แตกต่างกันออกไปได้ แต่ละห้องต่างก็มีคาแร็กเตอร์ มีบุคลิก ที่แตกต่างกันออกไปเช่นเดียวกับชิ้นงานตัวละคร
แต่ละคนต่างมีภาพห้องในความทรงจำของตัวเองแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นห้องส่วนตัว ที่ต่างคนต่างมีมุมโปรด มีพื้นที่เก็บของใช้ส่วนตัว ของสะสมของตัวเอง หรือแต่ละคนต่างมีห้องในฝันที่เราเคยนึกภาพไว้ ห้องหนึ่งห้อง จึงสามารถเป็นพื้นที่ที่มากกว่าการอยู่อาศัย
แล้วเจ้าพื้นที่สี่เหลี่ยม (หรือจะรูปทรงอื่น) นี้ สามารถเป็นอะไรได้บ้างในมุมมองของศิลปินนะ? เราเลยอยากชวนมาทำความรู้จักผลงานที่มีธีมเป็น ‘ห้อง’ จากศิลปิน NFT ทั้ง 5 คน ที่มีคอลเล็กชั่นผลงานในรูปแบบของห้อง ตามแบบฉบับของตัวเอง
Rooms.
โดย bacon_studio
ผลงานคอลเล็กชั่น Rooms. จาก ฟ้าใส กับห้องนอนสารพัดแบบในมุมมอง isometric ที่ต่างมีสีสัน องค์ประกอบ การตกแต่งที่แตกต่างกันออกไป ราวกับว่าห้องนั้นมีเจ้าของที่มีคาแร็กเตอร์แตกต่างกันไปตามแต่ละห้องอยู่จริงๆ
โดยฟ้าใสเล่าว่า ไอเดียคอลเล็กชั่นนี้ มาจากที่เธอเรียนทางด้านตกแต่งภายในมาโดยตรง แต่ไม่ได้เลือกทำงานในด้านที่เรียนมา จึงหยิบเอาความรู้ที่มีในตอนเรียนมาใช้ร่วมกับการทำงานในตอนนี้แทน และที่เลือกเป็นมุมมองแบบ iso นั้น เพราะมันสามารถมองเห็นได้ทั้งมุมด้านข้างทั้งสองและด้านบน ทำให้มีพื้นที่สร้างสรรค์ห้องได้ครบถ้วนมากขึ้น
เมื่อถามถึงกระแสตอบรับในตลาด NFT ฟ้าใสบอกว่า พื้นที่ตรงนี้สามารถเป็นตลาดที่ทำให้คนทั่วโลกมองเห็นผลงาน จนมีแฟนประจำที่รอซื้อชิ้นงานใหม่ๆ อยู่เสมอ “ปกติแล้ววาด commission จะได้เงินอยู่ราวๆ 3,000-4,000 บาท แต่ในตลาด NFT สามารถสร้างรายได้หลักหมื่นได้เลย” และสำหรับมุมมองในอนาคตต่อตลาดนี้นั้น เธอได้พูดถึงไว้ว่า “ในตอนนี้มีการซื้อขายสินค้ากันด้วย cryptocurrency แล้ว ในอนาคตมันอาจมาแทนสกุลเงินต่างๆ และตลาด NFT จะอยู่กับเราไปอย่างต่ำสิบปี”
Room Series
โดย GITGO
เพราะแต่ละคน ต่างมีพื้นที่โปรดปรานของตัวเอง แม้จะอยู่ในรูปแบบของห้อง ก็สามารถเป็นได้ทุกสถานที่ได้ดั่งใจ
ผลงานคอลเล็กชั่น Room Series โดย โก้-กลวัชร สุปินะ กราฟิกดีไซน์และนักวาดภาพประกอบ ที่ตอนนี้เป็นเจ้าของผลงาน NFT 2 คอลเล็กชั่น Room series และ Timmy story โดยคอลเล็กชั่น Room Series ที่เราได้เห็นนี้ เป็นโปรเจ็กต์ส่วนตัวที่โก้นำมาฝึกวาด isometric ตั้งแต่ปีค.ศ. 2019
“แรงบันดาลใจหรือคอนเซ็ปต์มาจากช่วงตอนนั้นที่ได้มีโอกาสไปออกบูธงาน art market มาในหลายๆ ที่แล้วรู้สึกว่าอยากสร้างงานที่ลูกค้าสามารถซื้อไปแล้วสามารถนำมาต่อกันได้แบบไม่มีที่สิ้นสุดครับเลยเลือกทำเป็นงานทรงหกเหลี่ยมออกมาในรูปแบบของห้องๆ หนึ่งที่ในแต่ละห้องจะมีเรื่องราวที่ไม่เหมือนกันครับ”
เมื่อถามถึงตอนเลือกที่จะเข้ามาในตลาดนี้ เรื่องรายได้และฐานลูกค้าที่มาจากรอบโลก ก็เป็นส่วนสำคัญที่ดึงดูดให้เหล่านักวาดก้าวเข้ามา
“ตัดสินใจลงตลาดนี้เพราะรู้สึกว่า NFT มันคืออีกทางเลือกนึงที่น่าสนใจ รายได้ต่อการขายงานก็มีมูลค่าค่อนข้างดี ฐานกลุ่มคอลเล็กเตอร์ก็มีมาจากหลายๆ ประเทศด้วย เลยมองว่าก็เป็นการลงทุนที่น่าสนใจเพราะเราอาจจะได้ลูกค้าจากประเทศอื่นๆ กลับมาด้วย”
“ตอนนี้กระแสตอบรับถือว่าไม่ได้หวือหวาอะไรมากครับ แต่ว่าก็ยังโอเคอยู่ ฮ่าๆ ผมยังต้องศึกษามันไปอีกเยอะเลยครับ ถือว่าเป็นทางเลือกที่ไม่ศูนย์เปล่านะครับคุ้มค่าแก่การลงทุนครับ”
My space in lazy day
โดย Tangmolody23
ห้องกับสีแสนอบอุ่น ละมุนตาในทุกมุมมองนี้ เป็นคอลเล็กชั่น My space in lazy day โดย แตงโม เจ้าของนามปากกา ‘Tangmolody’ โดยคอลเล็กชั่นนี้เป็นชุดแรกที่ลงขายในรูปแบบ NFT อีกด้วย
ด้วยสีสันอบอุ่นราวกลับมีแดดเช้าส่งเข้ามาตลอดเวลา กระทบกับสิ่งของ รายละเอียดต่างๆ ในห้อง แล้วมันช่วยเกลาให้พื้นที่นี้ กลายเป็นพื้นที่ที่อัดแน่นไปด้วยความละมุน กว่าจะมาเป็นห้องหนึ่งห้องที่เราเห็นนี้ได้ แตงโมเล่าถึงการคิดคอนเซ็ปต์ไว้ว่า
“เวลาทำงานชอบออกไปข้างนอกหาแรงบันดาลใจวาดรูปค่ะ พอได้ไอเดียก็จะจดไว้ แล้วเขียนเป็นไดอะแกรมออกมา พอได้ภาพรวม concept ค่อยเริ่มร่างภาพวาดรูป”
“แรงบันดาลใจของคอลเล็กชั่นนี้เกิดจากความชอบด้านการออกแบบภายใน การออกแบบพื้นที่ขนาดเล็กๆ ผสมผสานกับการเล่าเรื่องราวของการใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวที่แตกต่างกันไปค่ะคอลเล็กชั่นนี้เลยถ่ายทอดออกมาเป็นสไตล์ Isometric ที่เล่าบรรยากาศ ของการอยู่ในพื้นที่เล็กๆ ของคนเปื่อยๆ ผ่านมุมในไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันไปค่ะ”
สำหรับมุมมองต่อตลาด NFT เธอมองว่าพื้นที่นี้เป็นเหมือนตลาดใหม่ๆ เป็นอีกทางเลือกสำหรับตัวศิลปินเองด้วย “จริงๆ เพิ่งจะมาเริ่มวาดรูปขายแบบเป็นตัวเองเต็มที่ก็ในตลาด NFT นี่แหละค่ะ ตอนนี้ลองทำไปเรื่อยๆ อยู่ในช่วงลองผิดลองถูก ถือว่าเป็นการทดลองเริ่มต้น แต่สนุกที่ได้ทำค่ะเพราะได้ถ่ายทอดงานออกมาได้เต็มที่ ถือว่าเป็นหนทางนึงในการขายงานในตอนนี้เลย”
“ตอนตัดสินใจลงตลาด NFT โมรู้สึกว่า NFT เป็นอะไรที่ใหม่มาก เป็นทางเลือกใหม่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงงานศิลปะแบบเปิดโลกมากๆ แถมยังได้เจองานศิลปะเจ๋งๆ ของศิลปินใหม่ๆมากขึ้นด้วย เป็นอะไรที่น่าสนใจและน่าลองมากๆ”
Isometric Room Art
โดย pandared3d
ห้องเวทมนตร์แสนอบอุ่น ผลงานจาก เหมียว-พิมพ์พร กังวานเจษฎา ที่ก่อนหน้านี้ได้ทำ 3D Background ที่บริษัทโฆษณา จึงหยิบเอาโปรแกรม 3D Blender และ 3D max มาฝึกใช้งานเพื่อพัฒนาฝีมือ ด้วยการผลิตผลงาน NFT จากโปรแกรมนี้ไปด้วย
“ที่มาของห้องเวทมนตร์ มาจากความชอบส่วนตัว ที่ชื่นชอบเรื่องแฮรี่ พอตเตอร์ เลยได้แรงบันดาลใจมาสร้างห้องเวทมนตร์ ด้วยเทคนิค 3D มุมมองแบบ Isometric เน้นแสง และเงา ให้บรรยากาศเหมือนห้องตุ๊กตาด้วย”
“ตอนที่เลือกทำ NFT เพราะเห็นโอกาส ในการโชว์ผลงานที่เราออกแบบ เผื่อต่อยอดไปทำอย่างอื่นเพิ่มเติมได้ เช่น art toy อยากให้คนอื่นได้เห็นและชอบเหมือนที่เราชอบ”
“กระแสตอบรับดีมีคนขื่นชอบในตัวงานมากขึ้น จากการทวีตในทวิตเตอร์ ก็มีคนเห็นผลงานมากขึ้น มีผลให้คนรู้จักเรามากขึ้น เพิ่งเริ่มทำ NFT มาได้เกือบ 1 เดือน คงต้องสะสมผลงานและพัฒนาฝีมือต่อไป เพื่อให้เป็นที่รู้จักเยอะขึ้น ค่าตอบแทนก็จะตามมาเองในอนาคตค่ะ”
DRACURATION
โดย Sarawut Moonsan
ห้องของคนทั่วไปอาจเป็นห้องสี่เหลี่ยม แต่สำหรับท่านเคานต์ แดร็กคิวล่า ผู้สามารถนอนได้แค่ในโลงศพเท่านั้น จึงมีห้องของตัวเองแตกต่างออกไป แต่ในโลงนั้นอาจไม่ได้มีแค่ความดำมืด หรือสรรพสิ่งน่ากลัวอย่างที่เราคิด อย่างในคอลเลคชั่น DRACURATION โดย นิว นักวาดภาพจาก studiokun
“คอลเล็กชั่น DRACURATION มันมาจากที่ผมเห็นมีคนทำคอลเล็กชั่นเกี่ยวกับห้อง มันก็ขายได้นะ ไม่ใช่แค่คาแรคเตอร์ที่ขายได้ ก็เลยสนใจอยากจะทำดูบ้าง แต่ถ้าเราทำเป็นห้องสี่เหลี่ยมเหมือนคนอื่นมันก็จะไปซ้ำกับเขา ก็เลยลองมานั่งคิดว่าถ้ามันเป็นห้องที่ไม่ใช่แค่สี่เหลี่ยมล่ะ จะเป็นแบบไหนได้อีก”
“คิดไปคิดมาอยู่ดีๆ มันก็ปิ๊งไอเดียว่า ลองทำแบบโลงดูสิ มันก็เป็นพื้นห้องได้เหมือนกันแต่เล็กลงมาหน่อย ก็เลยลองทำออกมาดู แต่พอลองมาทำจริงๆ มันยากมาก ยากในที่นี้คือไม่ใช่การสร้างานนะ แต่คือการขายงานต่างหาก ตอนนี้ทำมา 4 ชิ้นยังไม่ออกเลยครับ ฮ่าๆ”
“ผมขายไม่เก่งด้วยมั้งเพราะ NFT นี้มันคือ community เราต้องสร้างตรงนี้ให้ได้ด้วย แต่ผมยังไม่ค่อยชำนาญเรื่องนี้ ก็เลย แต่ผลตอบรับค่อนข้างดีนะครับ เวลาโพสลงกลุ่ม NFT ในเฟสบุ๊คคนมากดไลก์เป็นพัน ในทวิตเตอร์คนก็รีทวิตสัก 2-300 เหมือนคนเขาก็ชอบคอนเซ็ปต์ที่เราทำมากเหมือนมันแปลกใหม่ดี แบบคิดได้ไงแบบนี้ แต่นั้นแหละก็ยังขายไม่ออกครับ (หัวเราะ)”