งานของ The Uni_form Design Studio ทำให้เราเบิกตากว้างและใจเต้นได้เสมอ ตั้งแต่หนังสือพลังล้น 50 เล่ม 50 ปก ในงาน Bangkok Art Book Fair ครั้งที่ผ่านมา หรือการเปลี่ยนโฉมชามตราไก่ ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจังหวัดลำปาง จนถึงแพ็คเกจซีดีของน้องๆ BNK48 และอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน—ซึ่งแม้แต่ตัวพวกเขาเอง ได้มองย้อนกลับไปในปีที่ผ่านมา ก็พบว่างานของสตูดิโอนั้นไปในหลายทิศทางเหลือเกิน
ดีไซน์สตูดิโอแห่งนี้เกิดจากการรวมตัวกันของ 2 กราฟิกดีไซเนอร์ ได้แก่ บิ๊ก—ปริวัฒน์ อนันตชินะ และซิท—วุฒิภัทร สมจิตต์ ที่ตั้งใจใช้ชื่อ Uni_form เพื่อสื่อถึงการต้องเปลี่ยนยูนิฟอร์มอยู่เสมอ ในการทำงานชิ้นใหม่ๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่งานคอมเมอร์เชียล แต่ยังรวมถึงงานอาร์ตที่พวกเขามักจะไปทำร่วมกับสตูดิโออื่นๆ ในความถนัดอื่นๆ อยู่เรื่อยๆ
หากมองเร็วๆ งานโดดเด่นของที่นี่คงจะหนีไม่พ้นงานคอลลาจรายละเอียดจัดในสีสันสุดคลาสซี่ คล้ายกับสถานที่ที่เราได้พบกันในการพูดคุยครั้งนี้ ออฟฟิศของพวกเขาซุกซ่อนอยู่ในตึกวินเทจย่านสุขุมวิท ทางเดินขึ้นชวนให้นึกถึงบรรยากาศสมัยตายายยังเป็นชาว Mod แต่เมื่อเปิดประตูเข้าสู่โลกของ The Uni_form แล้วมันกลับกลายเป็นอีกจักรวาล ที่ทำให้พื้นที่ตรงนั้นดูสนุกสนานอย่างบอกไม่ถูก
และบทสนทนาที่เราพูดคุยในพื้นที่นั้น ก็น่าจะเป็นรสชาติที่กลมกล่อมและเติมพลังสำหรับปีหน้าฟ้าใหม่ได้ดีทีเดียว
Life MATTERs : ในปีที่ผ่านมา มีโปรเจกต์ไหนที่พวกคุณประทับใจเป็นพิเศษ
บิ๊ก : ถ้าเป็นของเรา อันแรกที่นึกถึงคือแพ็คเกจจิ้งของเทียนหอม เพราะว่างานนี้เราทำมาสองปีแล้ว เพิ่งจะมาเสร็จปีนี้ คือใช้เวลานานมาก เราทำตั้งแต่ออกแบบตัวเซรามิก ซึ่งปกติเราไม่เคยทำ ไม่เคยรู้เรื่องเกี่ยวกับเซรามิกเลย ใช้เวลาทดลองกับมันเยอะมาก ทั้งเทคนิคต่างๆ การพิมพ์ การขึ้นม็อคอัพ มันเหมือนงานทดลองจริงๆ เลยใช้เวลานานมาก
ซึ่งตัวไอเดียนี้มันมาจากคำว่า Itsara ที่มาจาก อิสระ ก็เลยตีโจทย์ว่าเราจะเป็นอิสระจากข้อจำกัดทุกๆ อย่าง เช่นการวางตัวคอนเทนเนอร์ของเทียน ปกติมันจะวางได้แค่ระนาบเดียว แต่เราก็ดีไซน์ให้มันวางได้หลายระนาบ เป็นอิสระจากการวางแบบปกติ เรื่องที่สองคือการพิมพ์ เราใช้เทคนิคสองเทคนิคคือ offset กับเทคนิค screen print ซึ่งค่อนข้างยากที่จะทำให้สองอย่างนี้พอดีกัน มันเป็นการทำลายข้อจำกัดในการพิมพ์ด้วย
Life MATTERs : เมื่อใช้เวลากว่า 2 ปี ในงานชิ้นนี้ ผลลัพธ์มันเปลี่ยนไปจากที่คิดไว้ตอนแรกมากน้อยแค่ไหน
บิ๊ก : เปลี่ยนไปแทบจะคนละเรื่องเลย ซึ่งที่ใช้เวลานานคือตัวเซรามิก กว่าเราจะโรงงานที่เขายอมทำให้ได้ เพราะโรงงานส่วนใหญ่เขาจะทำเซรามิกที่เป็นฟรีฟอร์ม เพราะมันง่าย ไม่จำเป็นต้องควบคุมอะไร แต่พอเราออกแบบเป็นรูปทรงเรขาคณิต มันก็ยากที่จะทำให้เป๊ะและนิ่ง โชคดีที่ลูกค้าเป็นเพื่อนกัน เลยทำให้สามารถยืดหยุ่นออกไปได้นานขนาดนี้ ซึ่งถ้าเป็นลูกค้าปกติ เราก็คงไม่ไ้ด้ทดลองอะไรมากขนาดนี้
Life MATTERs : แล้วเวลาทำงานลูกค้าโดยทั่วไป ต้องห้ามใจไม่ให้ทดลองเยอะไหม
บิ๊ก : มันจะมีเรื่องเวลาเป็นตัวกำหนดหลักครับ พอเวลามีจำกัดเราก็อาจจะไม่ได้ทดลองจนสุดทาง หรือบางทีมันมีข้อกำหนดของการตลาดเข้ามาเกี่ยวเยอะ ก็ไม่สามารถที่จะเป็นงานทดลองได้ เราก็จะมีการทดลองในงานอื่นๆ ที่เราทำของเราเอง
Life MATTERs : เห็นว่าคุณเพิ่งออกแบบลายใหม่ให้ชามตราไก่ด้วย
ซิท : เราเอง ถ้าพูดถึงงานที่ประทับใจในปีนี้ งานแรกที่นึกถึงคือชามไก่ ที่เราได้ทำงานร่วมกันกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา คือเขาจะมีผลิตภัณฑ์ของคนต่างจังหวัด หรือเป็นผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์
เราก็เข้าไปประชุมที่กรม ในห้องประชุม บรรยากาศจะดูข้าราชการมาก มันค่อนข้างเหมือนหลุดไปอีกที่นึง (หัวเราะ) เขาก็จะมีผลิตภัณฑ์ให้เราเลือกหลายๆ แบบ เช่นปลากุเลา สับปะรดภูคา ขนมหม้อแกง มีหลายอย่างมาก แต่เราเลือกชามไก่มาเพราะคิดว่าเราน่าจะสามารถทำลายกราฟิกออกมาได้สนุก
เขาก็มีโจทย์ว่าขอให้บนชามมี 3 อย่างคือ ไก่ ต้นกล้วย แล้วก็ดอกโบตั๋น เราก็ทำไปให้เขาดูหลายๆ แบบ มีเอาพวกภาพต้นไม้ที่อยู่ตามวัดในลำปางมาอยู่กับไก่ เป็นงานคอลลาจ หรือจากที่มีตัวเดียวเราก็ใส่เป็นสามตัว เอาเอเลเมนต์ต่างๆ มารวมกัน
แล้วก็มีแบบที่เป็นขอบจานเป็นภาษาอังกฤษ มีแบบลายเส้นสีเดียว ที่ทำให้เราลืมภาพเดิมๆ ของชามตราไก่ไป หรือบางที มันอยู่ตัวเดียวมานานแล้ว มันก็น่าจะมีครอบครัว เราก็วาดลูก วาดแม่มันลงไปด้วย หรือบางอันก็จะเป็นงาน deconstruct ไม่ต้องมีไก่ไปเลย แต่เราก็ยังเอาฝีแปรง เอาลายเส้นของมันมาใช้ อะไรแบบนี้ มันสนุกตรงที่เราเอาลายเส้นของเราเข้าไปอยู่ในโปรดักต์ที่ไม่คิดว่าจะอยู่ได้นี่แหละ
บิ๊ก : ซึ่งถ้าไม่ได้เข้าไปคุยกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเราคงไม่มีโอกาสได้ทำงานลักษณะนี้ พี่น่าจะชอบตรงนี้ใช่ไหม (ถามซิท)
ซิท : ใช่ มันอยู่ในที่ที่ไม่เคยอยู่ ผิดที่ผิดทางดี (หัวเราะ)
ซิท : อีกชิ้นก็มีโปรเจกต์ของคิงพาวเวอร์ที่เราประทับใจ มันเป็นงานคอลลาจที่ใหญ่ที่สุดที่เราเคยทำมา ยาวเป็นร้อยเมตร
บิ๊ก : ตอนแรกเขาจะรีโนเวตตึกตรงรางน้ำ แล้วเขาต้องการคีย์วิชวลบางอย่างที่จะไปไว้ตรงกำแพงที่ทำการก่อสร้าง แล้วจะใช้คีย์วิชวลนั้นบอกว่าคิงพาวเวอร์ได้เปลี่ยนไปแล้ว เขาจึงต้องการงานคอลลาจที่จะบอกเล่าเรื่องราวว่าเขาจะเปลี่ยนโฉมอย่างไรบ้าง เราก็คิดตั้งแต่ธีม ทำโลโก้ ทำภาพประกอบคอลลาจที่ใหญ่มาก
มันสนุกตรงที่เราได้เปลี่ยนความถนัดของเราไปทำอย่างอื่น เช่นเราไปออกแบบเซรามิก โคมไฟ ตัวงานพิมพ์ของซิลก์สกรีนก็ใช้อะไรบางอย่างจากงานเซรามิก มันก็จะครอสกันไป ครอสกันมา
Life MATTERs : นอกจากงานลูกค้าแล้ว คุณยังทำงานอาร์ตส่วนตัวกันบ่อยๆ เช่นที่ Hotel Art Fair?
บิ๊ก : คือปกติเราไปออกงานนี้ทุกปีอยู่แล้ว เราก็พยายามที่จะเปลี่ยนเพื่อนร่วมห้องไปทุกปี เราอยากทำงานกับหลายๆ สตูดิโอ แล้วปี 2017 นี้ก็ได้มาทำงานกับ The Archivist กับ Earth Republic เราก็จะเป็นงานคอลลาจเพี้ยนๆ แต่ไม่อยากเอางานเดิมไปขาย เลยทำงานร่วมกันทั้งหมดเลย คิดธีมขึ้นมา จัดเป็นงานนิทรรศการย่อมๆ ชื่อว่า ‘State of Matters’ เป็น 3 สถานะ ของ 3 สตูดิโอ
ซิท : ของแข็ง ของเหลว ก๊าซ
บิ๊ก : มันสนุกตรงที่เราได้เปลี่ยนความถนัดของเราไปทำอย่างอื่น เช่นเราไปออกแบบเซรามิก โคมไฟ ตัวงานพิมพ์ของซิลก์สกรีนก็ใช้อะไรบางอย่างจากงานเซรามิก มันก็จะครอสกันไป ครอสกันมา
ซิท : จริงๆ ปีที่ผ่านมามีงานที่เราชอบอีกเยอะมาก งาน The Uni_verse เราก็ชอบที่ได้ลองทำ 50 ปกไม่เหมือนกันเลยในงาน Bangkok Art Book Fair หรืองานของ BNK48 ก็สนุกดี ตอนทำก็ต้องเข้าไปหาข้อมูลจากพวกเพจ หรือกลุ่มต่างๆ จนถึงตีความจากเพลงที่เขาปล่อยออกมา
Life MATTERs : งาน BNK48 ดูฉีกคาแรกเตอร์ไปเยอะทีเดียว คุณไปทำงานนี้ได้อย่างไร
ซิท : พอดีเรารู้จักกับพี่เอ๊ะ (พงศ์จักร พิษฐานพร วงละอองฟอง) ที่เป็นมิวสิคไดเรกเตอร์ เขาก็ติดต่อมา ก็เริ่มจากซิงเกิลแรก Aitakatta เราเอาเพลงมาฟังเพื่อที่จะดูว่าจะเล่าเรื่องผ่านเพลงยังไง ลงท้ายก็เลือกเล่าผ่านออริกามิ เพราะเรารู้สึกว่าการพับกระดาษมันมีทั้งของญี่ปุ่น และของไทย ของญี่ปุ่นเขาจะเป็นนกกระเรียน ของไทยเป็นปลาตะเพียน ถ้ามันอยู่ด้วยกันก็น่าจะเป็นการส่วนผสมที่ดี
ต่อมาเป็นเพลง KFC (Koisuru Fortune Cookie) คุ้กกี้เสี่ยงทาย ตอนที่คุยกับพี่เอ๊ะ เราก็บอกเขาว่าเราชอบเพลงนี้มากเลย แปลมาแล้วภาษามันน่ารักมาก เขาก็บอกว่าทำยังไงก็ได้ให้คนฟังฟังแล้วรู้สึกว่าอยากจะออกไปซื้อคุ้กกี้ เราก็รู้สึกว่าอยากให้มันออกมาเป็นขนม เลยคิดออกมาตั้งแต่โลโก้เลย เราใช้ตัวรอยกัดแทรกเข้าไปในตัวอักษรซ่อนหัวใจไว้ในตัวอักษร ส่วนด้านใน พวกแพ็คเกจจิ้งของขนมต่างๆ เราก็เอามาเป็นพร็อพให้น้องถือ
เราก็ทำรีเสิร์ชในการที่จะให้น้องถือขนม คือให้น้องทำแบบสอบถามด้วย คืออยากให้เปิดมาเจอหัวใจจริงๆ แล้วเราก็นึกไปถึงวันวาเลนไทน์สมัยเด็กที่เรามีหัวใจไปแปะเพื่อน เราน่าจะมีหัวใจแถมไป พี่จ๊อบ (จ๊อบซัง—ณัฐพล บวรวัฒนะ ผู้จัดการวง) ก็ชอบ เลยให้มีสติ๊กเกอร์รูปหัวใจแถมไปในซีดีด้วย มีคำทำนายด้วย จะเป็นคำทำนายของน้องๆ ทั้ง 16 คน มันก็จะมีลูกเล่นค่อนข้างเยอะในตัวกล่องซีดี
เราทำกันเต็มที่ จนปลายปีเราย้อนกลับมาดู ก็พบว่างานมันคนละทิศคนละทางมากเลย อย่างโปรเจกต์ที่เราเพิ่งทำก็อยู่ในโรงเรียนร้าง ซึ่งตอนกลางปีเรายังทำในโรงแรมอยู่เลย พอมันรวมกันก็ดูสนุกดี
Life MATTERs : จากตอนแรกถึงตอนนี้ คุณพอใจกับการเติบโตของ The Uni_form แค่ไหน
บิ๊ก : จริงๆ ก็ไม่ได้คิดเหมือนกันว่ามันจะมีงานเข้ามาต่อเนื่อง หรือออฟฟิศมันจะใหญ่โตขึ้น เพราะตอนแรกก็ทำกันอยู่แค่ 2 คน อยู่ในห้อง 12 ตารางเมตร ทำโดยไม่คาดหวังว่ามันจะมีผลตอบรับอะไร เพียงแค่ทำสิ่งที่เราถนัดและชอบไว้ก่อน พอมันมีงานเข้ามาต่อเนื่อง ออฟฟิศเป็นที่รู้จัก เราก็รู้สึกดีใจเหมือนกันครับ
ซิท : เหมือนจริงๆ เราก็ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ
บิ๊ก : ไม่ได้คิดถึงปลายทางอะไรเลย รวมถึงลักษณะงานด้วยนะครับ เราจะชอบงานที่มีเรื่องระหว่างทาง
ซิท : เราทำกันเต็มที่ จนปลายปีเราย้อนกลับมาดู ก็พบว่างานมันคนละทิศคนละทางมากเลย อย่างโปรเจกต์ที่เราเพิ่งทำก็อยู่ในโรงเรียนร้าง ซึ่งตอนกลางปีเรายังทำในโรงแรมอยู่เลย พอมันรวมกันก็ดูสนุกดี
Life MATTERs : การลองทำสิ่งใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ สำคัญกับพวกคุณแค่ไหน
ซิท : คือบางทีเรารู้สึกว่าถ้ารอโจทย์ที่มาจากลูกค้าอย่างเดียวมันอาจจะไม่พอ เราอยากทำอะไรก็เซ็ตขึ้นมาเองเลย โดยที่ไม่ต้องรอโจทย์จากคนอื่นจะดีกว่า
บิ๊ก : หรือบางทีเราอยากร่วมงานกับใคร เราก็ไม่ต้องรอเขาติดต่อมา ไปชวนเขามาทำเองเลย อย่างโปรเจกต์ที่ทำกับศิลปิน สตูดิโอต่างๆ ก็เกิดจากเราไปชวนพวกเขา อย่างที่บอกว่ามันสนุกตรงที่เราได้เปลี่ยนคนร่วมงานด้วยเรื่อยๆ ได้พัฒนาสกิลในด้านที่เราไม่ถนัดด้วย
Life MATTERs : ส่วนงานที่ทำหลักๆ ก็ยังเป็นคอลลาจใช่ไหม
บิ๊ก : ก็ไม่ใช่ซะทีเดียว จริงๆ เราก็ไม่ได้กำหนดว่างานเราจะต้องเป็นคอลลาจทุกงาน หรือพยายามจะดึงให้เป็นคอลลาจอย่างเดียว เพียงแต่ลูกค้าหรือกลุ่มคนที่รู้จักเราก็จะรู้จักผ่านงานคอลลาจก่อน แต่จริงๆ แล้วเราก็มีงานลักษณะอื่น จริงๆ มันไปในทิศทางนั้นเพราะว่างานคอลลาจมันค่อนข้างเป็นลายเซ็นของสตูดิโอ
ซิท : บางทีงานอาร์ตเราก็ทำงานคอลลาจอยู่แล้ว พอมีงานคอมเมอร์เชียลเข้ามา ลูกค้าก็บอกว่าเขาเห็นงานเราจากงานอาร์ตก็อยากดึงมาใช้ มันก็เลยจะครอสกันไปมา
บิ๊ก : แต่อย่างงาน Free Form Festival ที่จัดในโรงเรียนร้าง เราก็ทดลองกันไปในรูปแบบอื่นเลย
ซิท : บิ๊กเขาก็จะกลับไปวาดลายเส้น เราก็กลับไปออกแบบตัวอักษร
บิ๊ก : น้องๆ ในทีมก็ใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์เข้าไปทำงานกับพื้นที่ มันมีการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานด้วย ซึ่งงานนี้เราก็ร่วมกับอีกสตูดิโอนึงที่เขาทำงานผ้า งานทอ งานเท็กซ์ไทล์ด้วยเหมือนกัน
Life MATTERs : คุณกลัวการแก่ไหม?
บิ๊ก : ไม่กลัวครับ เราพยายามหาเวลาไปเที่ยว หรือไปเวิร์กช็อปทักษะใหม่ๆ ที่เราไม่เคยทำ เรื่องใหม่ๆ ที่เราสนใจ บางทีก็จัดเวิร์กช็อปกันที่ออฟฟิศ ให้น้องๆ ได้มาเวิร์กช็อปด้วย
ซิท : ในทุกๆ ปีเราจะรับน้องฝึกงาน 5-6 คน ซึ่งเราก็จะได้เรียนรู้จากพวกเขา
บิ๊ก : แล้วอีกอย่างหนึ่งคือ เราเคยคุยกับพี่ทอม วรุฒม์ เค้าก็บอกว่าอย่าอยู่บ้านจนเฉา ให้ออกมาข้างนอก อย่างน้อยออกจากบ้านเราได้แต่งตัวแล้ว นี่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้อัพเดตสิ่งใหม่อยู่ตลอด
ซิท : หรือเวลาไหนที่รู้สึกล้าๆ เราก็จะไปหยิบเอาโปรเจกต์ที่คิดขึ้นมาเองเอามาทำ สลับๆ กันไประหว่างการทำงานครับ นอกจากนั้นก็ออกไปเจอคนอื่นๆ คุยกับคนอื่น ทำงานกับคนอื่น
Life MATTERs : แล้วมีวิธีเลือกสตูดิโอหรือศิลปินที่อยากร่วมงานด้วยยังไงบ้าง
บิ๊ก : หนึ่งก็คือเขาต้องทำงานที่มีลักษณะแตกต่างจากเรา ทั้งด้านรูปแบบการทำงาน และสไตล์งาน แล้วก็เป็นคนรู้จักด้วยนะ (หัวเราะ) ส่วนใหญ่จะเป็นคนรู้จักครับ เพราะว่าก็ยังไม่กล้าที่จะไปชวนคนที่ไม่รู้จักกันเลย
ซิท : คนที่เราชอบงานเขา อันนี้น่าจะเป็นหลัก สไตล์งานอาจจะเป็นคอลลาจเหมือนกันก็ได้ เราก็เคยชวน โต๊ด (นักรบ มูลมานัส) พี่ทอม (วรุฒม์ ปันยารชุน) พี่หลง (เศรษฐพงศ์ โพวาทอง) ที่ทำงานคอลลาจเหมือนกันมาทำด้วยกัน
Life MATTERs : ลายเซ็นของศิลปินคอลลาจแต่ละคนคืออะไร
บิ๊ก : สำหรับเราน่าจะมาจากของสะสม หรือว่าสิ่งที่เขาสนใจเป็นพิเศษ อย่างของออฟฟิศเราส่วนใหญ่มันจะมาจากหนังสือที่เราสะสม ของเก่า สื่อสิ่งพิมพ์จากร้อยปีที่แล้ว ของแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเราก็เอามาใช้เป็นแรงบันดาลใจ ลายเซ็นต์เลยน่าจะมาจากงานอดิเรกบางอย่างของพวกเรา
ซิท : คืองานคอลลาจมันต้องใช้วัตถุดิบ ซึ่งวัตถุดิบเหล่านี้อาจทำให้ศิลปินแต่ละคนทำงานออกมาได้แตกต่างกัน
บิ๊ก : คนทั่วไปอาจจะมองว่างานคอลลาจเป็นอะไรที่ง่าย ซึ่งจริงๆ มันก็ง่ายแหละ แต่ในความง่ายที่ใครก็ทำได้ เราจะทำอย่างไรให้มันออกมาแตกต่าง มันง่ายแต่มันก็ยาก เหมือนเป็นดาบสองคม
Life MATTERs : แล้ววัตถุดิบที่มองว่าเป็นลายเซ็นของ The Uni_form เลยคืออะไร
บิ๊ก : ไม่เคยคิดเหมือนกันเนอะ
ซิท : น่าจะเป็นพวกของสะสมผสมกับภาพถ่ายของเรา อย่างบิ๊กจะเป็นพวกภาพถ่ายสตรีท รูปคน รูปอาคาร ส่วนของเราก็จะเป็นรูปธรรมชาติ ผสมกับพวกหนังสือเก่า
บิ๊ก : บางทีเราไปซื้อพวกเฟอร์นิเจอร์หรือของแต่งบ้าน เราก็ไม่ได้เอาของพวกนั้นมาใช้ทำงานเลยนะครับ แต่มันก็มาต่อความคิดของเราอีกที เช่นเราชอบหนังของเก้าอี้ตัวหนึ่งมาก เราสนใจในเท็กซ์เจอร์ของมัน เราก็อาจจะเอาเท็กซ์เจอร์นั้นมาในงานได้
ซิท : อย่างหนังสือเก่า พวกหนังสือยุค 50s มันก็ไม่ใช่จะมีกันทุกคน มันน่าจะทำให้เราต่าง ด้วยความยากของการหาวัตถุดิบ ส่วนใหญ่คนที่เป็นศิลปินคอลลาจจะชอบสะสมอะไรแบบนี้อยู่แล้ว
บิ๊ก : แต่ระยะหลังเราก็พยายามจะเพิ่มงานที่ไม่ใช่คอลลาจอย่างเดียว อย่างน้องที่เพิ่งเข้ามาทำกับเราปีนี้เขาก็มีสกิลการวาดที่ดี เราก็พยายามผสมผสานทักษะนี้เพิ่มเข้าไปในงานของสตูดิโอ จริงๆ แล้วก็มั่วๆ ผสมนั่นผสมนี่เข้าไป (หัวเราะ) ไม่อยากใช้เทคนิคเดียว
คือยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้วนะครับ ทุกวันนี้อะไรมันก็ย้อนกลับมาได้ใหม่ เราว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรที่เราจะเอาสิ่งสองสิ่งมาสร้างให้มันเป็นงานชิ้นใหม่ จริงๆ มันน่าจะเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ ไม่ได้มองว่ามันเสียคุณค่าอะไรไปเลย
Life MATTERs : คิดอย่างไรกับประเด็นที่มีคนบอกว่าศิลปะชั้นสูง ไม่ควรถูกนำมาปะปนหรือลดทอนคุณค่าในอินเตอร์เน็ต
บิ๊ก : คือยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้วนะครับ ทุกวันนี้อะไรมันก็ย้อนกลับมาได้ใหม่ เราว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรที่เราจะเอาสิ่งสองสิ่งมาสร้างให้มันเป็นงานชิ้นใหม่ จริงๆ มันน่าจะเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ ไม่ได้มองว่ามันเสียคุณค่าอะไรไปเลย
แล้วถ้าพูดในกรณีคอลลาจ เอกลักษณ์ของงานคอลลาจก็คือการเสียดสีอยู่แล้ว การเอาสิ่งของที่มีอยู่แล้ว เอามาทำเนื้อหาให้มันใหม่ ซึ่งมันอยู่ที่เจตนา อย่างงานของเราในเล่ม The Uni_verse เราก็เอางานของศิลปินระดับมาสเตอร์มาใช้ทำงานเหมือนกัน ตั้งแต่ยุคอิมเพรสชั่นนิสม์จนมาถึงยุคแอ็บแสตร็กอะไรพวกนี้เลยโดยเราเปลี่ยนเนื้อหาให้กับมันใหม่
จริงๆ ศิลปินด้วยกันเองก็ไม่มีใครแบ่งชนชั้นหรอก ว่าคนทำงานเพนท์ติ้งต้องสูงศักดิ์ หรือคนทำงานปั้นคือช่าง ผมว่าศิลปินเขาไม่ได้คิดอย่างนั้น คนที่ไม่ได้ทำงานมากกว่าที่เข้าใจผิด เราไม่ได้ต่อว่าคนที่เขาออกมาพูดเรื่องนี้นะ แต่เขาอาจจะเข้าใจรูปแบบความคิดของศิลปินผิดเพี้ยนไปมากกว่า
Life MATTERs : การสร้างเนื้อหาใหม่ให้งานจากยุคเก่า ทำได้อย่างไรบ้าง
บิ๊ก : ขอยกตัวอย่างงานที่เราทำไปนะครับ คือพอพูดถึง The Uni_verse เราก็นึกถึงพื้นที่ว่าง พอได้คำว่าพื้นที่ว่าง เราก็มองไปที่งานของศิลปินระดับโลก ว่าเขาใช้พื้นที่ว่างกับรูปเขาอย่างไร เราไปค้นคว้าเกี่ยวกับพื้นที่หรือสเปซต่างๆ ในรูปของเขา ว่ามันมีอัตราส่วนอย่างไรระหว่างโพสิทีฟกับเนกาทีฟ แล้วเราก็เอางานที่เป็นเนกาทีฟมาใช้ทำงานของเรา มันก็เกิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา โดยที่เราก็ยังเคารพเทิดทูนงานของมาสเตอร์อยู่ คิดว่าถ้าเขามีชีวิตอยู่เขาก็คงชอบ
ซิท : เผลอๆ ถ้าไม่มีใครเอาทำอะไรมันอาจจะโดนลืมไปก็ได้ พอมาทำแล้วเกิดเรื่องราวใหม่ก็อาจทำให้คนย้อนกลับไปดูต้นฉบับอีกทีหนึ่ง
Life MATTERs : ในอนาคต คุณคิดว่าวงการศิลปะจะเป็นไปในทิศทางไหน
บิ๊ก : เรานึกถึงยุคที่เป็นไฮบริด การตัดต่อพันธุกรรมระหว่างเทคนิค ภาพ ความเชื่อ ผสมแต่ละศาสตร์เข้าหากันได้หมด ไม่ใช่ว่างานปั้นก็งานปั้น เพนท์ติ้งก็เพนท์ติ้ง เราสามารถเชื่อมโยงงานของวิทยาศาสตร์เข้ามาผสมผสานกับงานศิลปะได้ หรือความรู้เชิงปรัชญาก็สามารถมารวมกับสถาปัตยกรรมได้ ทุกอย่างมันสามารถตัดต่อเข้าหากันได้หมด ฉะนั้นทิศทางหรือรูปแบบมันน่าสนใจตรงที่เราจะเอาอะไรมาผสมผสานให้มันเกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา
ซิท : เสริมนิดนึงคือมันอาจจะจับต้องได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่อยู่แต่ในแกลเลอรี่ที่คนเดินเข้าไปดูแบบเกร็งๆ มันอาจจะอยู่ตามรถไฟฟ้า หรืออยู่ข้างทาง คนสามารถเสพงานได้ง่ายขึ้น
บิ๊ก : ก่อนหน้านี้อาจจะมีมุมมองว่าคนที่ไม่ได้เรียนทางด้านศิลปะ จะเสพศิลปะน้อย หรือเข้าถึงศิลปะได้ยาก แต่ผมว่าทิศทางมันเปลี่ยนไปแล้วครับ มีนักสะสมเกิดขึ้นใหม่เรื่อยๆ อย่างในงานอาร์ตบุ๊กแฟร์ ก็เจอนักศึกษาแพทย์มาเดินซื้องาน
ก็กลับไปถึงที่บอกว่าแต่ละศาสตร์มันจะสามารถเชื่อมหากัน บางทีงานศิลปะของเราอาจจะไปสร้างแรงบันดาลใจให้กับอาชีพอื่นๆ ก็ได้
Photos by Adidet Chaiwattanakul