เมื่อไม่นานมานี้ เทรลเลอร์หนังแอนิเมชั่นเรื่อง Isle of Dogs ของ Wes Anderson—ผู้กำกับชาวอเมริกันวัย 48 ปี—เพิ่งอวดโฉมสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก สร้างความตื่นเต้นให้แฟนหนังของผู้กับลายเซ็นชัดคนนี้เป็นอย่างมาก เพราะแม้หนังเรื่องนี้จะไม่ใช่หนังแอนิเมชั่นเรื่องแรกของเวส แต่มู้ดแอนด์โทนของหนังก็ไม่ได้ใกล้เคียงกับ Fantastic Mr. Fox (2009) สต็อปโมชั่นเรื่องล่าสุดของเขาเสียทีเดียว นั่นทำให้เกิดการคาดเดาไปต่างๆ นานาถึงความเป็นไปได้ของหนังว่าจะออกมาในรูปแบบใดกันแน่
ที่ผ่านมา หนังของแอนเดอร์สันมี ‘เครื่องหมายการค้า’ (trade mark) หรือภาพจำที่ชัดเจนอยู่ในทุกองค์ประกอบ จนเราอยากชวนทุกคนมาคาดการณ์กันเล่นๆ ว่าหนังเรื่องใหม่ที่จะออกฉายเดือนมีนาคมปีหน้านั้นจะมีลายเซ็นของเขาตกหล่นอยู่ในจุดไหนของภาพยนตร์บ้าง
และนี่คือเช็คลิสต์ 5 สิ่งที่ไม่มีไม่ได้ในหนังของเวส แอนเดอร์สัน ที่เมื่อหนังลงโรงเราคงได้รับคำเฉลยว่าองค์ประกอบเหล่านี้จะยังอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันหรือไม่
1. ความคราฟต์แบบสุดขั้วในทุกรายละเอียด
เมื่อพูดถึงงานของเวส แอนเดอร์สัน แน่นอนว่างานภาพต้องเป็นเรื่องแรกๆ ที่คนส่วนมากนึกถึงเพราะงานด้านวิชวลของเขานั้นมีเอกลักษณ์ยากจะหาใครเทียบ ทั้งเรื่องของรายละเอียดที่ต้องคงเนี้ยบ เป๊ะ ทุกกระเบียดนิ้ว สีสันที่สดใสจนดูเกินโลกแห่งความเป็นจริง อย่างเตนท์สีเหลืองสดที่ตั้งอยู่กลางบ้าน หรือวอลเปเปอร์สีแดงสดลายม้าลายสีขาวตัดดำในเรื่อง The Royal Tenenbaums (2001) หรือเรื่องของโลเคชั่นที่สวยจนละสายตาแทบไม่ได้และชวนให้อยากรู้ว่าพี่เขาไปเจอโลเคชั่นแบบนี้ได้ยังไง เช่น ฉากโรงแรมสุดอลังการใน The Grand Budapest Hotel (2014)
ไม่ใช่แค่เราที่สงสัยแต่คนอีกมากมายก็ยังตั้งคำถามเช่นกัน (แน่ละ) จนแอนเดอร์สันเคยเผยเบื้องหลังการหาโลเคชั่นเหล่านี้ไว้บ้าง เช่น โลเคชั่นโรงเรียนในเรื่อง Rushmore (1998) นั้นเป็นโรงเรียนเก่าของเขาเอง ส่วนโลเคชั่นริมทะเลแสนสวยใน Moonrise Kingdom (2012) นั้นได้มาจากการเสิร์ชหาใน Google Earth!
ความคราฟต์ของแอนเดอร์สันไม่ได้หยุดที่ของใหญ่เท่านั้น แต่ในรายละเอียดทั้งพรอพประกอบฉากหรือคอสตูมก็ได้รับการใส่ใจอย่างที่สุด โดยเอกลักษณ์ของแอนเดอร์สันดูเหมือนจะเป็นชุดยูนิฟอร์มที่เขาหยิบมาใช้บ่อย ส่วนในเรื่องของพร็อพก็มักจะความคราฟต์ระดับที่ ‘สร้าง’ พรอพขึ้นมาเองบ่อยๆ เช่น การเพนท์ฉากใน The Grand Budapest Hotel (ที่เป็นไปเพื่อลดต้นทุนแต่ผลออกมาสวยงามเหมือนเทคนิกที่ใช้กันในหนังยุคเก่าซึ่งแอนเดอร์สันโปรดปราน) หรือการร่วมกับแบรนด์หลุยส์ วิตตองสร้างคอลเลคชั่นกระเป๋าเดินทางขึ้นมาเป็นพร็อพในเรื่อง The Darjeeling Limited (2007) ที่ใครๆ ก็อยากได้ (แต่เสียใจด้วยเพราะกระเป๋าเหล่านั้นถูกประมูลไปด้วยราคาสูงลิบลิ่วจากผู้ไม่ประสงค์จะเอ่ยนามตั้งแต่หนังออกฉายนู่นแล้ว)
note: แอนเดอร์สันยังมีกิมมิกเล็กๆ เป็นการแอบใส่ชื่อหนังลงไปในในเรื่องแบบเนียนๆ ด้วย เช่น การตั้งชื่อโรงเรียนในเรื่อง Rushmore ว่าโรงเรียน ‘Rushmore’ และทำป้ายโรงเรียนขนาดใหญ่เบิ้มขึ้นมาจริงๆ, การใส่พรอพหนังสือนิยายสีชมพูสดใสเรื่อง ‘The Grand Budapest Hotel’ หรือหนังสือเกี่ยวกับครอบครัว ‘The Royal Tenenbaums’ ลงไปในหนังชื่อเดียวกัน
2. พาเลตสีสดใสทั้งในและนอก (บ้าน)
มาถึงเรื่องของสีที่เป็นเอกลักษณ์อย่างที่สุดของแอนเดอร์สัน เขามักจะเลือกใช้สีสันประมาณ 4-5 สีเป็นพื้นฐานของสีที่ปรากฏในเรื่องและออกแบบสีในองค์ประกอบต่างๆ ให้สอดคล้องกับสีนั้นๆ จนมีคนเรียกชุดสีของเวสในแต่ละเรื่องว่าเป็น ‘world-bulding palette’ หมายถึงชุดสีที่เป็นพื้นฐานการสร้างโลก (ด้านวิชวล) ในหนังเรื่องหนึ่งๆ ของแอนเดอร์สันขึ้นมาทีเดียว
ที่สำคัญคือแอนเดอร์สันไม่เคยกลัวที่จะใช้สีสันที่ดูน่ารักหรือมีความ feminine เช่น ใน The Grandbudapest Hotel โทนสีหลักของหนังก็ออกไปทางสีชมพูนมเย็น สีม่วงแปร๋น สีแดงสด แล้วเบรกด้วยสีน้ำเงินทึบทึม ทั้งยังชอบใช้สีสันที่ตัดกันสุดๆ หรือแม้แต่การใช้แม่สีเป็นหลัก อย่างใน The Life Aquatic with Steve Zissou ที่มีสีหลักเป็นสีฟ้า แดง และเหลืองแบบไม่แคร์ใคร
แน่นอนว่าเราทุกคนย่อมมีสีโปรด กับแอนเดอร์สันเองก็ไม่มีข้อยกเว้นเพราะเขาเคยยอมรับว่าเขาลำบากใจเมื่อเลือกใช้สีเหลืองเป็นสีผ้าใบเต๊นท์ในเรื่อง Moonrise Kingdom เพราะมันดันไปซ้ำกับเต๊นท์สีเหลืองใน The Royal Tenenbaums ของเขาพอดิบพอดี
แต่สุดท้ายก็ต้องยอมเพราะ “มันไม่มีเต๊นท์สีอื่นที่ผมชอบเท่าไหร่แล้ว” ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังย้ำว่าแม้พรอพจะดูคล้ายกันได้แต่กับเรื่องอื่นๆ โดยรวมเขาก็ “ไม่อยากให้ใครสักคนพูดกับผมว่า นี่มันเหมือนเรื่องที่แล้วที่คุณทำเลยนี่” อยู่ดี
งานกล้องของแอนเดอร์สันนั้นสไตล์จัดจนแม้แต่คนที่ไม่เคยเรียนภาพยนตร์เลยมาดูหนังของเขาแล้วก็ยังสัมผัสได้ ด้วยเอกลักษณ์การจัดวาง object ไว้กลางเฟรมแบบเป๊ะๆ ไม่ว่าจะเป็นมุมใกล้หรือกว้างไกล แค่ไหนก็ตาม แม้แต่ในช็อตที่ใช้การแพนหรือทิลต์กล้อง (การเคลื่อนกล้องแบบตรงๆ ในแนวระนาบและแนวดิ่ง) จากมุมหนึ่งไปอีกมุม สิ่งที่อยากให้คนโฟกัสไม่ว่าจะเป็นนักแสดงหรือสถานที่ก็จะมาต้องอยู่กลางเฟรมจนได้ภาพที่สมมาตรเป๊ะทั้งสิ้น
วิธีการเคลื่อนกล้องในหนังของแอนเดอร์สันยังมีภาพให้จดจำอีกมาก ทั้งการใช้ภาพสโลวโมชั่นตอนจบเรื่องในแทบทุกเรื่องยกเว้นเรื่อง The Darjeeling Limited การใช้มุมกล้อง Bird’s-Eye View การถ่ายภาพกว้างมากๆ ด้วยเลนส์แบบ anamorphic จนทำให้ภาพบิดเบี้ยวผิดสัดส่วนไปบ้าง การระเบิดซูม หรือการแทร็กกล้องตามนักแสดงที่กำลังเคลื่อนไหวทั้งเดิน วิ่ง หรือเต้นเป็นจังหวะก็ตาม
ที่น่าสนใจคืองานของแอนเดอร์สันซึ่งโดดเด้งท่ามกลางผู้กำกับร่วมสมัยได้รับแรงบันดาลใจอย่างมากจากหนังเก่าหลายเรื่อง ซึ่งเขามักเลียนแบบภาพมาแบบช็อตต่อช็อตเพื่อเป็นการทริบิวต์ให้แรงบันดาลใจเหล่านั้นของเขา เช่น ฉากปิกนิกระหว่างตัวเอกใน Moonrise Kingdom ที่ทริบิวต์ให้กับซีนแบบเดียวกันในหนังคลาสสิคเรื่อง Melody (1971) ฉากใน The Life Aquatic with Steve Zissou ที่ล้อมาจาก Star Wars หรือแม้แต่ฉากพิมพ์จดหมายใน The Royal Tenenbaums ที่คล้ายคลึงกับฉากเขียนจดหมายในเรื่อง It’s the Great Pumpkin, Charlie Brown (1966) หรือการ์ตูนเรื่องสนูปปี้นั่นเอง
4. พล็อตเรื่องตลกร้ายบนความสัมพันธ์ที่แตกร้าวของครอบครัว
ไม่ใช่แค่งานด้านภาพที่เป็นเอกลักษณ์แต่เนื้อเรื่องของแอนเดอร์สันก็มีสเน่ห์เฉพาะตัวไม่แพ้กันแบบที่เปิดมาเห็นภาพกับไดอาล็อกแรกก็พอรู้แล้วว่านี่เป็นงานของใคร โดยพล็อตแทบทุกเรื่องของเขา (หรือที่แอนเดอร์สันเคยกล่าวว่า “ถ้าหนังของผมสามารถเรียกว่ามีพล็อตได้น่ะนะ”) ต้องมีความเกี่ยวพันกับครอบครัวที่แปลกประหลาดหรือไม่สมบูรณ์ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-ลูกหรือบทบาทความเป็นพ่อ หรือบ่อยครั้งก็มีเส้นเรื่องของการก้าวข้ามความโศกเศร้าอีกด้วย
ฟังเผินๆ อาจทำให้ผู้ที่ไม่เคยดูหนังของแอนเดอร์สันเข้าใจว่าโทนเรื่องต้องมีความซีเรียสอยู่พอประมาณแต่เอาเข้าจริงด้วย ‘ความเวส’ แล้วไม่ว่าจะเป็นบทพูดของตัวละครที่มักรัว เร็ว เรียบเฉย ไม่เน้นความสมจริง หรือเรื่องโทนของเรื่องที่ไม่เน้นดราม่าน้ำตาแตกแต่ชอบแฝงความตลก (ร้าย) ไว้ตลอดทางทำให้การดูหนังของเวสไม่ได้มีความรู้สึกระทมทุกข์ไปกับชะตากรรมหรือความสัมพันธ์ที่บิดเบี้ยวของตัวละคร ถึงอย่างนั้นก็มีหลายครั้งที่หนังของเขาทิ้งความรู้สึกหน่วงๆ ไว้ใจของเราเหมือนกัน
หลายคนวิเคราะห์ว่าการที่เรื่องราวของแอนเดอร์สันวนเวียนอยู่กับความสัมพันธ์ของครอบครัวและพี่น้องที่แตกสลายเป็นเพราะวัยเด็กของเขาที่ต้องเติบโตมาในบ้านที่พ่อแม่หย่าร้างกันซึ่งเขาเคยออกมาบอกว่าเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในช่วงเยาว์วัย อย่างไรก็ตาม ถึงพ่อแม่จะหย่ากันแต่แอนเดอร์สันกับพี่น้องก็ไม่ได้มีปัญหากันเองเหมือนในหนังของเขา (เช่น The Royal Tenenbaums หรือ The Darjeeling Limited) แต่กลับรักกันดีเสียด้วยซ้ำ เห็นได้จากการที่ Eric Chase Anderson น้องชายแท้ๆ ของแอนเดอร์สันที่เป็นนักวาดภาพประกอบมักโดดมาช่วยงานของพี่ชายอยู่บ่อยๆ ด้วยการวาดภาพที่ใช้เป็นพร็อพในหนังให้หรือช่วยทำแผนผังโลเคชั่นในเรื่องเพื่อให้แอนเดอร์สันเอาไปใช้สื่อสารกับทีมอาร์ตได้ง่ายขึ้น
note: บทพูดที่โดดเด่นและปรากฏอยู่ในหนังแทบทุกเรื่องของเขาคือบทพูดอย่างรวดเร็วเพื่ออธิบายแผนการอะไรสักอย่างพร้อมวิชวลสุดน่ารัก เช่น แผนการปล้นหรือแผนการหนีออกจากบ้าน เป็นต้น
5. เรื่องใหม่แต่นักแสดงเก่า
อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในหนังของแอนเดอร์สันคือนักแสดงหน้าเดิมที่วนเวียนเข้ามาเล่นหนังของเขาอยู่เสมอๆ ทั้ง Bill Murray ที่เล่นหนังของแอนเดอร์สันไปทั้งหมด 6 เรื่องและให้เสียงพากย์อีก 2 เรื่อง จากหนังยาวทั้งหมด 9 เรื่อง (รวมถึง Isle of Dogs ที่กำลังจะออกฉายนี้ด้วย) หรือ Owen Wilson เพื่อนรักตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัย Luke Wilson น้องชายของโอเว่น รวมไปถึงดาราใหญ่อย่าง Tilda Swinton, Edward norton หรือ Anjelica Huston ก็ตาม
อย่างที่เห็นว่านักแสดงของแอนเดอร์สันหลายคนเริ่มต้นจากการเป็นเพื่อนกันมาก่อน บางคน เช่น โอเว่น วิลสันก็ช่วยทั้งตอนเขียนบทและร่วมแสดงด้วย แต่นักแสดงบางส่วนก็กลายเป็นเพื่อนของเขาหลังจากทำงานร่วมกันหลายต่อหลายเรื่อง แต่ถึงจะพูดอย่างนี้ก็ไม่ได้แปลว่านักแสดงในหนังของแอนเดอร์สันจะมีแต่เพื่อนของเขาไปเสียทั้งหมดเพราะในหลายเรื่องเขาก็ทำการแคสต์นักแสดงใหม่ด้วยความคราฟต์ไม่แพ้การทำส่วนอื่นๆ ของหนัง
ตัวอย่างเช่น บทซีโร่ หรือล็อบบี้บอยในเรื่อง The Grand Budapest Hotel ที่ในบทเขียนไว้ว่ามาจากตะวันออกกลางก็ต้องใช้เวลาแคสต์กันเป็นปีๆ ทั้งจากประเทศในตะวันออกกลางไปจนถึงประเทศแถบแอฟริกาตอนเหนือ หรือ Jared Gilman กับ Kara Hayward นักแสดงนำเด็กทั้งสองคนใน Moonrise Kingdom ก็เป็นผู้ถูกเลือกจากเด็กเป็นร้อยๆ คนที่มาแคสติ้งทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น อาจพูดได้ว่านักแสดงของแอนเดอร์สันไม่ใช่แค่นักแสดงหน้าเดิมๆ เท่านั้นแต่ยังเป็นนักแสดง ‘เสียง’ เดิมด้วย เพราะแม้แอนเดอร์สันจะขยับไปทำหนังแอนิเมชั่นอย่าง Fantastic Mr. Fox หรือเรื่องล่าสุดอย่าง Isle of Dogs นี้เขายังใช้เพื่อนนักแสดงที่เคยร่วมงานกันมาพากย์ทั้ง Bill Murray, Jason Schwartzman, Edward Norton หรือแม้แต่ Eric Chase Anderson น้องชายของเขาเอง (ใช้น้องคุ้มสุดๆ )
หน้าตาหนังของแอนเดอร์สันมักดูเนี้ยบเป๊ะไปทุกกระเบียดนิ้วเหมือนคิดภาพมาหมดแล้วจากที่บ้านแต่เมื่อถูกถามถึงความลับในการทำงานผู้กำกับหนุ่มกลับบอกว่าแม้แต่ตัวเขาเองก็ไม่เคยเห็นภาพรวม ‘จริงๆ’ สักทีจนกว่าจะเปิดกล้องถ่ายวันแรกนู่นแบบที่เขากล่าวว่า
“มันยากสำหรับผมเหมือนกันที่จะเห็นภาพรวมทั้งหมดในคราวเดียว ผมต้องรวบรวมวัตถุดิบเพื่อหาไอเดียที่จะเอาสิ่งเหล่านั้นมาสร้างบางอย่างแม้จะยังไม่เห็นภาพที่เสร็จแล้ว ดังนั้นเมื่อเห็นทุกอย่างมารวมกันหมดจริงๆ ผมถึงเซอร์ไพรส์มาก จากนั้นเมื่อช็อตแต่ละช็อตถูกเอามาร้อยเรียงรวมกัน นั่นก็เป็นอีกเซอร์ไพรส์หนึ่ง”
ผลงานชิ้นแล้วชิ้นเล่าของแอนเดอร์สันทำให้เขาถูกยกให้เป็นผู้กำกับแบบ auteur ของยุคนี้ พูดให้ง่ายที่สุดคือผู้กำกับที่มีลายเซ็นชัดเจนเป็นของตัวเองทั้งในเรื่องพล็อต ภาพ เสียง และองค์ประกอบทั้งหมดทั้งมวล คนมากมายจึงนำหนังของเขามาตีความเพื่อค้นหาตัวตนของแอนเดอร์สันที่กระจัดกระจายอยู่ในแต่ละเรื่อง รวมทั้งปรัชญาจากตัวตนของเขาเอง
แต่เมื่อถูกถามถึงเรื่องนี้เขากลับกล่าวว่า “ผมไม่รู้ว่าคุณจะรู้จักผมดีขึ้นจากการดูหนังของผมหรือเปล่า แต่ผมคิดว่าคุณน่าจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผมมากขึ้น ส่วนคนดูแต่ละคนจะตีความไปอย่างไรก็สุดแท้”
ณ ตอนนี้เราทุกคนยังต้องรอถึงเดือนมีนาคมปีหน้าถึงจะได้รู้ว่า Isle of Dogs เรื่องใหม่นี้จะมีองค์ประกอบใดในลิสต์โผล่มาบ้าง หรือไม่แน่ ด้วยความสร้างสรรค์แบบหยุดไม่อยู่ของแอนเดอร์สันเราอาจจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ ที่มากกว่าลิสต์นี้ก็เป็นได้
อ้างอิง
https://www.youtube.com/watch?v=xv6o1K8lpBE
https://www.youtube.com/watch?v=JDeo49wtvdU
https://www.youtube.com/watch?v=C_5lCnwDEo4
https://www.youtube.com/watch?v=e7MXUKSlOoQ
https://www.youtube.com/watch?v=B0rJkpf7Si8