ก่อนที่สีฟ้า-น้ำเงิน หรือ blue color จะถูกจัดอันดับให้เป็นสีที่มนุษย์โปรดปรานมากที่สุด มันกลับเป็นสีที่ถูก ‘รู้จัก’ เป็นสีท้ายๆ ของบรรดาสีสันหลักบนโลกใบนี้ ทั้งที่ท้องฟ้าก็อยู่บนหัวของมนุษย์เรามาชั่วนาตาปีแล้วก็ตาม
จนถึงตอนนี้เราถูกแวดล้อมด้วยสีน้ำเงินมากมาย ทั้งในเฟสบุ๊คที่คุณกำลังท่องอยู่ บนธงชาติ หรือใน everyday look ของคุณเอง เฉดสีเข้มสีนี้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคนอย่างแยกไม่ออก เราอาจจะรู้สึกถึงมันบ้างแต่ไม่ได้ครุ่นคิดถึงมันบ่อยนัก
แต่สำหรับแวดวงประวัติศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี วรรณกรรม หรือการออกแบบ สีน้ำเงินมีแง่มุมหลากหลายที่น่าสนใจ ในแง่หนึ่งมันเป็นสัญลักษณ์แทนความมั่นคง บางครั้งเป็นสีที่สื่อถึงความหม่นเศร้า หรืออีกมุมยังคงเป็นสีที่สื่อถึงเพศชาย—ไม่ว่าคุณจะคุ้นเคยหรือผูกพันกับสีน้ำเงินในแง่มุมไหน เราก็มีอีก 7 ข้อที่อยากบอกเล่า เผื่อให้คุณได้รู้สึกรู้สาหรืออินกับเจ้าเฉดสีนี้ขึ้นอีกสักหน่อย
1. เกือบทุกอารยธรรมโบราณไม่มีคำว่า ‘สีน้ำเงิน’
ในมหากาพย์ The Odyssey นักประพันธ์ชาวกรีกโบราณอย่างโฮเมอร์บรรยายท้องทะเลว่าเป็น ‘สีแดงก่ำราวกับไวน์’ (wine-red)
ใช่ว่าเกิดเหตุอาเพศประการใด ทะเลยุคก่อนประวัติศาสตร์ก็ยังคงมีสีอย่างทุกวันนี้ ไม่ได้เป็นสีแดงก่ำ เพียงแต่ว่าอารยธรรมกรีกโบราณไม่มีคำว่า ‘สีน้ำเงิน’ อยู่ในพจนานุกรมต่างหาก (คงยังไม่มีพจนานุกรมด้วย แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น)
ในปี 1858 นักวิชาการชาวอังกฤษ William Gladstone เป็นคนแรกที่สังเกตว่าบทประพันธ์ยาวเหยียดของโฮเมอร์ไม่มีการกล่าวถึงสีน้ำเงินสักนิด จะมีก็แต่สีดำและสีขาวเป็นหลัก นานทีจึงจะมีสีอื่นๆ อย่างสีแดง เขียว และเหลืองแซมมาบ้างเล็กน้อย
เมื่อได้ยินดังนั้น Lazarus Geiger นักนิรุกติศาสตร์ (ผู้ศึกษาเรื่องการสื่อสารของมนุษย์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน)ชาวเยอรมัน จึงไปศึกษาเท็กซ์โบราณในอารยธรรมอื่นๆ เช่น ฮิบรู จีน อิสลาม ฮินดู ไอซ์แลนด์ ก็พบว่าอารยธรรมเหล่านี้ไม่มีคำว่าสีน้ำเงินเช่นกัน เว้นเพียง อารยธรรมอียิปต์เจ้าเดียวที่มีคำว่าสีน้ำเงินและมีสีย้อมสีน้ำเงินใช้ โดยสีย้อมดังกล่าวทำมาจากซิลิกาผสมมะนาว ทองแดง และอัลคาไลน์
2. เมื่อไม่มีคำว่าสีน้ำเงิน มนุษย์จึงไม่รับรู้สีน้ำเงินไปโดยปริยาย
อันที่จริงท้องทะเลก็เป็นสีน้ำเงิน และท้องฟ้าก็เป็นสีฟ้ามาตั้งแต่ยุคโบราณนั่นแหละ แต่พอไม่มีคำว่าสีน้ำเงิน สมองมนุษย์จึงไม่สามารถแยกแยะสีน้ำเงินออกจากสีอื่นๆ ได้นั่นเอง อาจจะฟังดูบ้าๆ หน่อย แต่มีนักวิจัยและนักวิชาการหลายคนพิสูจน์ประเด็นนี้มาแล้ว
ตัวอย่างที่เด่นชัดคือการวิจัยของ Jules Davidoff ผู้ออกเดินทางไปประเทศนามิเบีย อันเป็นที่อยู่ของชนเผ่า Himba ซึ่งมีภาษาของตัวเอง และแน่นอน—ภาษาของพวกเขาไม่มีคำว่าสีน้ำเงิน หรือถ้าพูดให้เจาะจงลงไปอีก ภาษาของพวกเขาเรียกสีน้ำเงินเป็นสีเขียว
การวิจัยของ Davidoff ง่ายมาก เขาให้อาสาสมัครจากชนเผ่าดูรูปสีเหลี่ยมสีเขียว 10 รูป และรูปสี่เหลี่ยมสีน้ำเงิน 1 รูปที่เรียงกันเป็นวงกลม แล้วให้พวกเขาชี้ว่าสี่เหลี่ยมใดต่างจากพวก ซึ่งไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าพวกเขาแยกไม่ออก! สำหรับชาวเผ่า Himba สี่เหลี่ยมทุกรูปเป็นสีเขียวทั้งหมด
ในทางกลับกัน Davidoff ให้ชาวเผ่า Himba ดูรูปสี่เหลี่ยมสีเขียว 10 รูปและรูปสี่เหลี่ยมสีเขียวที่เฉดต่างกันนิดเดียว 1 รูป พวกเขากลับชี้ได้ทันทีว่าสี่เหลี่ยมใดต่างจากพวก ในขณะที่สายตาของพวกเราแยกไม่ออกด้วยซ้ำ!
น่าแปลก แต่พบว่าภาษามีอิทธิพลต่อการรับรู้ของมนุษย์อยู่มากทีเดียว!
3. สีน้ำเงินเป็นสีของราชวงศ์และชนชั้นสูงด้วยเหตุผลง่ายๆ—เพราะมันแพง!
หลังจากที่ผ่านกาลเวลา และมนุษย์รู้จักสีน้ำเงินกับทั่วทุกอารยธรรมแล้ว ในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 ชาวยุโรปใช้สีน้ำเงินที่สกัดจากต้นโวด (woad) ในการย้อมสีผ้า แต่การสกัดสีนั้นต้องใช้ต้นทุนการผลิตที่สูงมาก อีกทั้งสีย้อมจะอ่อนลงเรื่อยๆ ตามการใช้งาน สีน้ำเงินจากต้นโวดจึงกลายเป็นสีที่ใช้กันในหมู่คนรวยเท่านั้น
แต่เหนือฟ้าย่อมมีฟ้า สีต้นโวดว่าแพงแล้ว สีคราม (indigo) แพงยิ่งกว่า เพราะต้องนำเข้ามาจากอินเดีย แต่ข้อดีคือสีครามให้สีน้ำเงินที่สดสวยกว่าสีต้นโวดมาก คนที่ใช้สีครามจึงจำกัดอยู่เพียงเหล่าชนชั้นสูงและราชนิกูลในรั้วรอบขอบวัง โดยในยุคสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ถึงขั้นออกกฎหมายห้าม ไม่ให้บุคคลธรรมดาสวมเสื้อผ้าสีครามเด็ดขาด นับแต่นั้นสีน้ำเงินจึงกลายเป็นสีของชนชั้นสูงนั่นเอง
อย่างไรก็ดี คำว่า ‘เลือดสีน้ำเงิน’ หรือ ‘blue blood’ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสีต้นโวดและสีครามแต่อย่างใด อีกทั้งไม่ใช่คำเปรียบเปรยด้วย เพราะมันแปลตรงตัวมาจากคำภาษาสเปนว่า ‘sangre azul’ ซึ่งมีที่มาจากครอบครัวเก่าแก่และสูงศักดิ์ในสเปนที่มักอวดว่าตัวเองเป็นเผ่าพันธุ์บริสุทธิ์ เพราะเลือดเป็นสีน้ำเงิน ทั้งที่ความจริงแล้วพวกเขาแค่ผิวขาวมากๆ จนมองเห็นเส้นเลือดเป็นสีน้ำเงินก็เท่านั้น
4. ไม่ใช่แค่สีย้อมผ้าเท่านั้นที่แพง เพราะสีน้ำเงินของศิลปินก็แพงเวอร์วังเหมือนกัน
ในยุค Renaissance ศิลปินนิยมใช้สีน้ำเงินสด (ultramarine) ซึ่งได้มาจากการบดอัญมณี Lapis Lazuli ที่มีราคาแพงมากๆ เพราะนอกจากจะเป็นหินมีค่าแล้ว ยังต้องนำเข้าจากเหมืองในประเทศอัฟกานิสถานเท่านั้นด้วย ว่ากันว่าศิลปินหลายคนไม่สามารถเพนต์รูปให้เสร็จได้เพราะไม่มีเงินซื้อสีน้ำเงินนี่เอง
อีกหนึ่งสีน้ำเงินที่แพงมากๆ คือสีน้ำเงิน Cobalt ที่ใช้เพนต์เครื่องเคลือบพอร์ซเลนชื่อดังแห่งเมืองจิ่งเต๋อเจิ้น (Jingdezhen) ประเทศจีน โดยโรงงานผลิตต้องสั่งซื้อแร่ธาตุดังกล่าวมาไกลจากเปอร์เซีย ว่ากันว่าตอนนั้น Cobalt มีราคาแพงเป็นสองเท่าของทองเลยทีเดียว ของสีน้ำเงินในยุคนั้นเลยกลายเป็นของหรูหราไปโดยปริยาย
5. ศิลปินชื่อก้อง Pablo Picasso เคยวาดแต่รูปโทนสีน้ำเงินนานกว่า 4 ปี
ช่วงเวลากว่า 4 ปีนั้นเป็นที่รู้จักกันดีในนาม ‘Blue Period’ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปีค.ศ.1901 เมื่อปิกัสโซ่ได้ข่าวว่าเพื่อนรัก Carlos Casagemus ฆ่าตัวตายเพราะผิดหวังในความรัก ภาพวาดของเขาก็เริ่มสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกข้างในออกมาอย่างยากจะหลีกเลี่ยง (หรืออาจจงใจก็ไม่ทราบได้)
อันที่จริงตอนนั้นการงานปิกัสโซ่กำลังรุ่งโรจน์สุดๆ แต่เมื่อเขาตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า แล้วหันมาวาดแต่ภาพโทนสีน้ำเงิน แถมบุคคลที่วาดยังเป็นคนชายขอบในสังคมอย่างขอทานหรือโสเภณี เหล่านักวิจารณ์และอาร์ตดีลเลอร์ทั้งหลายจึงหันหน้าหนี ทำให้การเงินของเขาฝืดเคืองอยู่นานทีเดียว โดยงานยุค Blue Period ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของปิกัสโซ่คือ The Old Guitarist และแน่นอนว่าในทุกวันนี้ มันกลายเป็นของล้ำค่า
6. กางเกงยีนส์ไม่ได้ถูกย้อมครามเพื่อความคูล แต่ย้อมเพื่อตอบโจทย์ฟังก์ชั่นต่างหาก
หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องจุดเริ่มต้นของกางเกงยีนส์อยู่แล้ว ที่ว่าในยุคตื่นทองของอเมริกา นาย Levi Strauss ได้เปิดร้านขายของชำ (dry goods store) ในซานฟรานซิสโก โดยมีผ้าเดนิมเป็นหนึ่งในสินค้าของร้าน วันหนึ่งช่างเย็บผ้านามว่า Jacob Davis ได้รับโจทย์จากลูกค้าให้ตัดกางเกงใส่ทำงานที่แข็งแรง ไม่ขาดง่าย
เขาจึงเลือกใช้ผ้าเดนิมจากร้านของ Strauss มาตัดเป็นกางเกง แล้วตอกหมุดโลหะเพื่อเสริมความทนทาน และผลตอบรับก็ดีมากๆ จน Davis มองเห็นโอกาสทางธุรกิจตัดสินใจชักชวน Strauss มาลงทุนเย็บกางเกงยีนส์ขายด้วยกันเสียเลย
รู้เช่นนี้แล้วเรามาลองย้อนประวัติศาสตร์ไปไกลกว่านั้นอีกสักหน่อย ผ้าเดนิมนั้นถือกำเนิดขึ้นที่เมือง Genoa ประเทศอีตาลี ความแข็งแรงทำให้มันเป็นที่นิยมมากๆ ในหมู่คนงาน จนช่างฝีมือในเมือง Nimes ประเทศฝรั่งเศส พยายามจะทอผ้าแบบเดียวกัน ซึ่งผลสุดท้ายก็ได้ผ้าเดนิมที่คล้ายๆ กัน คือเป็นเส้นใยคอตตอนย้อมสีครามที่สานกันแน่นหนา
แล้วทำไมต้องย้อมสีคราม? คำตอบอยู่ที่ฟังก์ชั่นล้วนๆ ในขณะที่สีสังเคราะห์อื่นๆ สามารถย้อมถึงทุกส่วนของเส้นใย แต่ครามจะย้อมเพียงด้านนอกของเส้นใย เหมือนแค่เคลือบไว้ ดังนั้นทุกครั้งที่ซักสีครามบางส่วนจะหลุดออกมาพร้อมโมเลกุลเล็กๆ ของเส้นใยผ้า ผ้าจึงนุ่มขึ้น ทั้งยังกระชับเข้ากับร่างกายมากขึ้นด้วย เหมาะกับการทำงานหนักๆ ของคนงานเหมืองหรือคนตัดไม้เป็นอย่างยิ่ง และกว่าที่กางเกงยีนส์จะหลุดออกจากกรอบของ work wear มาสู่ไอเทมแฟชั่นก็เมื่อมันถูกจับไปขึ้นปกนิตยสาร Vogue ในช่วงปี 1930s เข้าโน่นแล้ว
7. สีน้ำเงินสดน่าหลงใหลอย่างไร? มีเพียง Yves Klein ศิลปินนักสังเคราะห์สีที่ให้คำตอบได้
ศิลปินชาวฝรั่งเศส Yves Klein คิดค้นสีน้ำเงินเจิดจ้าที่เขาตั้งชื่อว่า International Klein Blue (IKB) ด้วยความร่วมมือจากเจ้าของร้านอุปกรณ์ศิลปะ Eduard Adam และโรงงานผลิตสารเคมี Rhône-Poulenc โดย IKB เกิดจากการผสมผงสี ultramarine เข้ากับเรซินสังเคราะห์ชื่อว่า Rhodopas M60A ซึ่งช่วยให้สีคงความสดใสไว้ได้เนิ่นนาน
ในช่วงชีวิตอันแสนสั้นของศิลปินผู้จากโลกไปด้วยวัยเพียง 34 ปี อีฟ แกล็งสร้างสรรค์ผลงานที่ใช้สี IKB เป็นตัวเอกไว้หลายร้อยชิ้น ทั้งภาพวาด (ซึ่งบางชิ้นเป็นเพียงการระบายสีน้ำเงินลงไปทั้งผืนผ้าใบ) ประติมากรรม ไปจนถึงศิลปะแสดงสดที่เขาทาสีน้ำเงินสดนี้บนตัวผู้หญิง 3 คนแล้วให้พวกเธอประทับร่างกายลงบนผืนผ้าใบ!
ศิลปินและนักวิจารณ์หลายคนที่เห็นผลงานของแกล็งพากันก่นด่าถึงความตื้นเขินและกล่าวว่าเขาเป็นแค่พวกฉวยโอกาสอยากดัง ส่วนนักประวัติศาสตร์ศิลป์ก็ยังคงถกเถียงถึงความสำคัญของสีน้ำเงินในงานของแกล็งอยู่จนทุกวันนี้
บ้างก็บอกว่ามันเป็นการก้าวออกจากกรอบของงานศิลปะแบบนามธรรมที่โด่งดังในยุคนั้น บ้างก็บอกว่าเป็นการแสดงออกในประเด็นเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ บ้างก็บอกว่าแกล็งเป็นชาวคริสต์นิกายคาธอลิคที่เคร่งครัด ซึ่งสีน้ำเงินมีความเกี่ยวข้องกับศาสนา และอื่นๆ อีกมากมาย
ส่วนตัวเราคิดว่าจิตใจของศิลปินผู้ป่าวประกาศว่า ‘ท้องฟ้าคือผลงานชิ้นแรกของผม’ คงยากแท้หยั่งถึงกว่าที่หลายคนคาดเดา สุดท้ายแล้วคนเดียวที่จะสามารถไขข้อสงสัยได้ว่าสีน้ำเงินมีดีอะไรขนาดนั้น ก็มีแค่แกล็งเท่านั้น หรือบางครั้งมันอาจเป็นเพียงเหตุผลง่ายๆ—ก็แค่ชอบไง
อ้างอิง