‘หนังขาวดำตายแล้ว’ บางคนว่าไว้อย่างนั้นเมื่อการมาถึงของฟิล์มสี ทำให้หนังขาวดำค่อยๆ หายไปจากตลาด จนหนังโรงทุกวันนี้แทบจะมีแต่หนังสีสวยสดใสให้เราได้ชมกัน
แม้จะห่างหายไปจากจอเงินแต่หนังขาวดำกลับยังอยู่ในใจของใครหลายคน ทั้งผู้ชมที่ยังเสาะหาหนังคลาสสิกขาวดำมาดู หรือแม้กระทั่งผู้สร้างหลายคนที่พยายามฟื้นคืนชีพหนังขาวดำให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง เราจึงอยากพาผู้อ่านเข้าไปสัมผัส 7 สเน่ห์เฉพาะตัวของหนังขาวดำที่งานสีสวยแค่ไหน ก็ให้ไม่ได้
1. เมคอัพแฟนซี ต้องดูผ่านจอทีวีถึงจะได้ลุคปกติ
ย้อนกลับไปหลายทศวรรษก่อน ใครที่บังเอิญได้เข้าไปเห็นเบื้องหลังการถ่ายทำหนังหรือละครขาวดำคงต้องตกใจเมื่อเห็นว่าหน้าตานักแสดงที่ดูสวยสดบนจอทีวีอาจต้องแลกมาด้วยการระบายผิวเป็นสีฟ้าและทาปากสีเหลือง!
ที่เป็นอย่างนั้นเพราะหนังขาวดำก่อนศตวรรษที่ 20 มักถ่ายลงบนฟิล์มที่เรียกว่า Blue Sensitive Film คือฟิล์มที่มีความไวต่อเฉดสีฟ้าถึงสีม่วงสูง แต่ไม่ไวต่อเฉดสีเหลือง ส้ม และแดง ทำให้วัตถุโทนสีฟ้าจะกลายเป็นโทนสีขาวสว่างบนจอ ส่วนวัตถุที่มีสีเหลืองจนถึงแดงจะกลายเป็นเฉดสีดำไปเลย
ด้วยเหตุนี้ หน้านักแสดงไม่ว่าจะอันเดอร์โทนเหลืองหรือชมพูก็ไม่รอดที่จะมีผิวเข้มขึ้นบนจอ วิธีแก้จึงเป็นการลงแป้งหรือรองพื้นที่สีออกไปทางฟ้าเพื่อให้หน้าสว่าง ส่วนบริเวณที่อยากให้สีเข้มกว่าผิวหน้า เช่น ช่วงแก้มหรือคอนทัวร์ให้ใช้สีโทนเหลืองแต้ม ส่วนบริเวณปากถ้าอยากได้ลุคธรรมชาติก็ควรใช้ลิปสติกสีเหลือง แต่ถ้าต้องการลุคที่ดูเข้มขึ้นก็ใช้สีแดงไปได้เลย
โชคดีที่ความยากลำบากของการแต่งหน้าแบบนั้นค่อยๆ จางหายไปเมื่อหลังยุค 1920s มีการพัฒนาฟิล์มขาวดำที่ไวต่อเฉดสีต่างๆ เท่าๆ กัน (panthochromatic film) ทำให้เหล่านักแสดงไม่ต้องมีหน้าสีฟ้ามาจนถึงทุกวันนี้
2. เมื่อหนังรุนแรงเกินไป อาจจะดีกว่าถ้ากลายเป็นขาวดำ
แน่นอนว่าภาพที่ไร้สีสันคือข้อด้อยของหนังขาวดำสำหรับบางคน ถึงอย่างนั้น ภาพที่มีแค่เฉดสีขาวไปจนถึงดำนี้กลับกลายเป็นข้อดีในบางครั้ง เมื่อหนังมีการเลือดตกยางออกแบบหนักข้อ อย่างเช่นหนังเรื่อง Psycho ของ Alfred Hitchcock ที่มีฉากนองเลือดในห้องน้ำอันลือลั่นจนเขาเลือกที่จะทำหนังออกมาเป็นขาวดำ หลังโดนวิจารณ์หลายครั้งว่ามันดูแรงเกินไป (แม้บางคนจะมองว่าเหตุผลที่แท้จริงอาจจะเป็นการลดต้นทุนของหนังมากกว่า)
เรื่องน่าสนใจระหว่างถ่ายทำฉากนั้นคือฮิทช์ค็อกพบว่าน้ำสีแดงกลับดูสีอ่อนเกินไปจนไม่เหมือนเลือดเมื่ออยู่บนจอขาวดำเขาจึงใช้ช็อกโกแลตไซรัปยี่ห้อบอสโก้แทน เบื้องหลังฉากเลือดสาดนั้นจึงไม่ได้สยองขวัญแต่กลายเป็นอบอวลด้วยกลิ่นหวานหอมของซอสช็อกโกแลตแทน
3. Mad Max: Fury Road เคยเกือบได้ฉายในสีขาวดำ
หนังขาวดำอาจฮอตฮิตสู้หนังสีสันสดใสไม่ได้ในปัจจุบัน (หรือเรียกว่าทุกวันนี้มีหนังที่ทำเป็นสีขาวดำออกมานับเรื่องได้เลยดีกว่า) ถึงอย่างนั้นก็ยังมีผู้กำกับหลายคนที่หลงใหลในความคลาสสิกของหนังวินเทจอย่าง George Miller ผู้กำกับเรื่อง Mad Max: Fury Road (2015) ที่มีไอเดียบ้าคลั่ง ว่าจะสร้างหนังเรื่องนี้ออกมาในสีขาวดำ
แน่นอนว่าเรื่องนั้นเป็นไปไม่ได้สำหรับหนังสตูดิโอทุนยักษ์ทำให้มิลเลอร์ยอมแพ้ทำหนังออกมาเป็นภาพสีเพื่อฉายในโรง (ซึ่งแค่นี้ก็กวาดเงินและเข้าชิงรางวัลไปเพียบแล้ว) ถึงอย่างนั้นความต้องการของผู้กำกับวัย 72 ก็เป็นผลในที่สุดโดยในดีวีดีบลูเรย์ของ Mad Max: Fury Road นั้นมีทั้งหนังเวอร์ชั่นภาพสีและขาวดำที่มิลเลอร์บอกว่า “เวอร์ชั่นที่ดีที่สุดของหนังเรื่องนี้คือตอนเป็นสีขาวดำ แต่ในยุคนี้คนก็เก็บหนังขาวดำไว้ให้หนังอาร์ตเท่านั้นแหละ”
4. สุนทรียะผ่านภาพขาวดำ
สิ่งที่มิลเลอร์พูดไม่เกินความจริงนักเพราะปัจจุบันหนังหลายเรื่องก็ทำภาพเป็นขาวดำเพื่อสุนทรียะจริงๆ เช่น หนังเรื่อง The Artist (2011) ที่เล่าเรื่องราวของนักแสดงในยุค 1920s ซึ่งหนังในท้องตลาดล้วนยังเป็นสีขาวดำอยู่, Frances Ha (2012) ของผู้กำกับ Noah Baumbach หรือแม้แต่ Frankenweenie (2012) หนังแอนิเมชั่นของผู้กำกับสายดาร์กอย่าง Tim Burton ก็ยังทำออกมาเป็นขาวดำ
นอกจากสุนทรียะแล้ว การทำหนังขาวดำยังเพื่อสื่อความหมายที่เหนือกว่าเนื้อหาในหนัง เช่น เพื่อเป็นการทริบิวต์ให้กับหนังคลาสสิกหรือเพื่อทำให้ผู้คนมีอารมณ์ร่วมไปกับหนังมากขึ้นด้วย อย่างเรื่อง Nebraska (2013) หนังดราม่าฝีมือของ Alexander Payne ก็ทำภาพเป็นสีขาวดำเพื่อเน้นพลังอันยิ่งใหญ่ของทิวทัศน์ในเรื่องและเพื่อดึงผู้ชมให้มีความหดหู่ไปกับเรื่องราวไร้สีสันด้วย ทั้งหนังขาวดำยังมีสุนทรียะอีกอย่างคือการที่มันสร้างภาพที่ดูไม่จริงและ ‘เหมือนฝัน’ ให้กับโลกจริงเปี่ยมสีสันรอบตัวเราจนไม่น่าแปลกใจที่หลายคนจะหลงสเน่ห์ของหนังขาวดำอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
5. ขาวดำจนกลายเป็นสไตล์
สไตล์หนังขาวดำที่ผู้กำกับหลายคนในยุคนี้ต่างทริบิวต์ให้คือหนังฟิล์มนัวร์ (Film Noir) ที่เกิดขึ้นในยุคหนังขาวดำ โดยคำว่า Noir ในภาษาฝรั่งเศสแปลว่าดำ เนื้อหาของหนังประเภทนี้จะเน้นเรื่องความดาร์ก ด้านมืดในจิตใจของมนุษย์ หรือความหม่นเศร้าทั้งปวงซึ่งไปกันได้ดีกับภาพขาวดำ หรือแม้จะมีสีในภายหลังก็ยังเน้นสีที่ดูทึบทึมให้ดูหดหู่อยู่ดี
หนังอีกประเภทที่มักจะทำเป็นภาพขาวดำคือแนวหนังคัลต์ (Cult Film) หรือหนังนอกกระแสเนื้อหาสุดทางสำหรับคนดูเฉพาะกลุ่ม ซึ่งผู้สร้างยุคเก่าที่มีทุนจำกัดมักทำหนังคัลต์เกรดบีสีขาวดำเพราะมันถูกกว่า ส่วนหนังในยุคเราๆ ที่ต้องการทริบิวต์ให้กับหนังคัลต์ เช่นเรื่อง Ed Wood (1994) จึงเลือกทำภาพเป็นสีขาวดำเพื่อเน้นสไตล์หนังคัลต์ทุนต่ำนั่นเอง
6. พื้นที่สำหรับหนังทุนต่ำ
เป็นที่รู้กันว่าหนังขาวดำต้องการงบน้อยกว่าหนังที่มีสี โดยในอดีตเป็นเพราะฟิล์มสีมีราคาแพงกว่าฟิล์มขาวดำแถมยังเกิดอาการสีเพี้ยนได้ง่ายอีก ส่วนในปัจจุบันการถ่ายเป็นขาวดำนั้นเป็นเพราะถ้าถ่ายมาสวยแล้วก็สามารถข้ามขั้นตอนการทำสีหนังให้สวยงามไปได้เลย (แต่จริงๆ คนในวงการหนังก็บอกว่าถ้าเอาไปเกรดมันก็สวยกว่าอยู่ดีนั่นแลเพราะสามารถแก้ได้ทั้งเรื่องแสงเงาและมิติของภาพ) ทั้งฉากและพร็อพก็ไม่ต้องมีความคราฟต์ สีสวย หรือเหมือนจริงมากก็ได้เพราะภาพขาวดำจะช่วยอำพรางความไม่สมจริงให้เอง
แสงเงายังเป็นสิ่งที่ช่วยซ่อนความไม่เรียบร้อยของฉากในหนังขาวดำได้เพราะหนังขาวดำมักมีภาพที่คอนทราสต์จัด โดยเราสามารถจัดแสงให้ส่วนขอบฉากที่อาจเละเทะไปบ้างตกอยู่ในเงาซึ่งเมื่อมองผ่านจอแล้วจะกลายเป็นสีเข้มถึงดำจนข้อบกพร่องหายวับไปเลย
7. จากหนังขาวดำสู่สีสันนับพันในปัจจุบัน
หลายคนอาจจินตนาการว่าเมื่อมีฟิล์มสีออกมาในตลาดแล้วจะเป็นที่นิยมในทันที แต่เอาเข้าจริงในยุคแรกฟิล์มสีนั้นมีราคาแพงมาก ทั้งยังมีโอกาสสีเพี้ยน ฟิล์มขาวดำจึงยังครองความนิยมอยู่พักใหญ่ จนกระทั่งฟิล์มสีมีคุณภาพดีขึ้นและราคาเริ่มถูกลงเรื่อยๆ หนังขาวดำจึงค่อยๆ หายไปตามกาลเวลา
สิ่งหนึ่งที่ยืนยันว่าการเปลี่ยนผ่านจากการใช้ฟิล์มขาวดำมาเป็นฟิล์มสีนั้นไม่ใช่เรื่องปุบปับเพราะในช่วงปี 1940 จนถึงปี 1966 รางวัลสำหรับงานอาร์ตไดเรคชั่นในภาพยนตร์จากเวที Academy Award นั้นยังมีให้ทั้งหนังสีและหนังขาวดำ ก่อนที่จะรวมกันอย่างทุกวันในที่สุด
แต่ถึงรางวัลสำหรับหนังขาวดำโดยเฉพาะจะจากไปพร้อมๆ กับการจางหายของหนังเหล่านี้ในโรง สเน่ห์ของหนังขาวดำก็ยังทำให้คนทำหนังบางกลุ่มหลงใหลจนคำกล่าวที่ว่า ‘หนังขาวดำตายแล้ว’ ไม่น่าจะเป็นจริงได้ในเร็ววันอย่างแน่นอน
อ้างอิง