ช่วงเดือนที่ผ่านมา ทั่วโลกจับตามองกรณีพิพาทระหว่างสเปนและแคว้นคาตาลูญญาอย่างใกล้ชิด แม้ว่านี่จะไม่ใช่ประเด็นใหม่ ด้วยเป็นที่รู้กันว่าชาวคาตาลันภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์อันยาวนานและวัฒนธรรมท้องถิ่นอันรุ่มรวยของตนเป็นอย่างมาก รวมถึงอัตลักษณ์และภาษาถิ่นที่ไม่เหมือนส่วนอื่นใดของสเปน นักกิจกรรมและนักการเมืองชาวคาตาลันจึงต่อสู้และเคลื่อนไหวเพื่อการประกาศเอกราชชาติตัวเองมาเป็นเวลานานนับร้อยปีแล้ว
สถาปนิก อันตอนี เกาดี (1852-1926) คือหนึ่งในผู้ที่ออกไปเคลื่อนไหว ในตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่
เกาดีอาจไม่ได้เป็นที่รู้จักในฐานะนักกิจกรรมแนวหน้า เพราะหากพูดชื่อเกาดีเรามักนึกถึงงานสถาปัตยกรรมสุดแปลกตาหลายแห่งในบาร์เซโลนา เป็นอาคารสุดวิจิตรที่เล่นกับสีสัน เส้นโค้งและรูปทรงเรขาคณิตได้อย่างไม่เหมือนใคร เช่น Basílica i Temple Expiatori de la Sagrada Família มหาวิหารสุดอลังการที่สร้างมา 135 ปีแล้วก็ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์อย่างที่เกาดีเคยดีไซน์เอาไว้
แม้จะเข้มข้นในด้านงานออกแบบอย่างที่สุดแล้ว แต่ในทางการเมืองเอง เลือดคาตาลันเข้มข้นที่ไหลเวียนอยู่ในตัวของชายผู้ถือกำเนิดในเมือง Reus แห่งแคว้นคาตาลูญญา ก็ชักนำให้เขาเข้าร่วมการเดินขบวนประท้วงอยู่บ่อยครั้ง มีบันทึกว่า ในปี 1924 เกาดีถูกตำรวจทุบตีระหว่างเดินขบวนเรียกร้องให้เผด็จการ Primo de Rivera ยกเลิกการแบนภาษาคาตาลัน แถมยังถูกโยนเข้าคุกอยู่พักหนึ่งอีกต่างหาก
แม้การเดินขบวนของเกาดีอาจไม่ได้ปลดแอกแคว้นคาตาลูญญาได้อย่างใจหวัง แต่เขาเป็นสถาปนิกคนสำคัญของ Modernisme ขบวนการทางวัฒนธรรม (cultural movement) อันเป็นผลผลิตโดยตรงของความรักชาติของชาวคาตาลัน โดยสไตล์แบบ Modernisme นั้นพบในงานสถาปัตยกรรมเป็นหลัก และในงานวรรณกรรมรองลงมา
เช่นนี้ คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า เกาดีร่วมเรียกร้องอิสรภาพของแคว้นคาตาลูญญาผ่านผลงานสถาปัตยกรรมของเขา
กำเนิด Modernisme หรือ Art Nouveau สไตล์คาตาลัน
ย้อนกลับไปช่วงศตวรรษที่ 19 ในขณะที่ส่วนอื่นของสเปนประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอย อันเนื่องมาจากการสูญเสียเมืองขึ้นอย่างฟิลิปปินส์ คิวบา และเปอร์โตริโก แต่เศรษฐกิจของเมืองบาร์เซโลนา ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ในแคว้นคาตาลูญญา กลับเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ความมั่นคงทางเศรษฐกิจเช่นนี้ทำให้หัวใจรักชาติของชาวคาตาลันพองโตยิ่งกว่าเดิม และเชื่ออย่างสุดจิตสุดใจว่าแคว้นคาตาลูญญาควรประกาศตนเป็นประเทศแยกออกจากสเปน
ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้นทุกวัน ชนชั้นกลางในแคว้นคาตาลูญญาเพิ่มจำนวนมากขึ้น บรรดานักธุรกิจและผู้ประกอบการทั้งหลายพากันสะสมความมั่งคั่ง ซึ่งนำไปสู่ค่านิยมในการอุปถัมภ์ศิลปิน (patronage) ที่ชนชั้นกลางใหม่และชนชั้นสูงให้ความสำคัญเอามากๆ
อย่างเช่นที่นักอุตสาหกรรม Eusebi Güell เป็นผู้อุปถัมภ์อันตอนี เกาดี เพราะนอกจากจะแสดงถึงความร่ำรวยเงินทองและความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของตนแล้ว การอุปถัมภ์ศิลปิน—โดยเฉพาะศิลปินคาตาลันที่สร้างสรรค์ผลงานแบบคาตาลันแท้ๆ ยังเป็นการป่าวประกาศความรักในดินแดนของตนไปพร้อมๆ กันด้วย
ช่วงเดียวกันนั้น ขบวนการศิลปะแบบ Art Nouveau กำลังเป็นที่นิยมทั่วทั้งยุโรป แน่นอนว่าสเปนเองก็รับเอาสไตล์อาร์ตนูโวมาด้วย แต่ความพิเศษอยู่ตรงที่ ช่วงเดียวกันนี้เป็นช่วงเวลาแห่ง Renaixença หรือเรเนอซองต์ในแคว้นคาตาลูญญา ซึ่งคือการฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรมแบบคาตาลันนั่นเอง
ในช่วงเวลาเรเนอซองต์ เหล่าสถาปนิกที่ได้รับเงินอุปถัมภ์อย่างเต็มที่ จึงหยิบเอาอัตลักษณ์ของคาตาลันมาผสมลงไปในงานอาร์ตนูโวด้วย เกิดเป็น Modernisme อาร์ตนูโวแบบฉบับคาตาลันซึ่งเน้นเส้นสายอ่อนช้อย โมทีฟพืชพรรณธรรมชาติ และงานคราฟต์ท้องถิ่นของคาตาลัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ เมืองที่กำลังขยายตัวออกเพื่อรองรับกิจการและผู้คนที่เพิ่มขึ้นจึงมีสถาปัตยกรรมสไตล์ Modernisme ผุดขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากโปรเจกต์ส่วนตัวของสถาปนิก และจากการว่าจ้างของบรรดานักธุรกิจผู้อุปถัมภ์ที่ต้องการแสดงความรักชาตินั่นเอง
อันตอนี เกาดี สถาปนิกผู้หยิบจับสไตล์ Modernisme มาใช้ได้ไม่เหมือนใคร
อันตอนี เกาดีเป็นลูกชายคนสุดท้องจากลูกทั้งหมด 5 คนของ Francesc Gaudí i Serra และ Antònia Cornet i Bertran เขาป่วยออดๆ แอดๆ มาตั้งแต่เด็ก และทุกข์ทรมานอย่างมากกับโรคข้ออักเสบ เป็นเหตุให้เขาทานวีแกนอย่างเคร่งครัดตลอดชีวิต
อย่างไรก็ตาม ในอาการป่วยก็มีข้อดีแอบซ่อนอยู่ เพราะช่วงที่ถูกบังคับเกณฑ์ทหารเป็นเวลา 4 ปี (ตามกฎหมายของสเปนสมัยก่อน) เกาดีในวัยหนุ่มใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการลาป่วย เขาจึงมีเวลาไปร่ำเรียนด้านสถาปัตยกรรมที่ Llotja School และ Barcelona Higher School of Architecture จนจบการศึกษาในปี 1878 ปีเดียวกับที่เขารับใช้ชาติจนครบกำหนดพอดี
และในปีเดียวกันนั้นเกาดีได้นำผลงานออกแบบชิ้นแรกๆ ไปโชว์ในงาน Paris World’s Fair of 1878 ซึ่งสุนทรียะแบบโมเดิร์นของงานชิ้นนั้นไปต้องตาต้องใจนักธุรกิจผู้มั่งคั่งอย่าง Eusebi Güell เข้า เกาดีจึงได้ Güell เป็นผู้อุปถัมภ์ (ก่อนจะกลายเป็นเพื่อนกันในที่สุด) ที่จ้างให้เกาดีออกแบบและคุมการก่อสร้างสถาปัตยกรรมหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงผลงานสร้างชื่ออย่าง Park Güell และ Palau Güell ซึ่ง UNESCO ได้รับรองให้เป็น World Heritage Site เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สมัยเรียนสถาปัตยกรรมและหลังเรียนจบหมาดๆ เกาดีสนใจสถาปัตยกรรมแบบ Oriental และ Neo-Gothic ซึ่งยังคงปรากฏในผลงานช่วงหลังของเขาหลายชิ้น ก่อนจะผันตัวมาสร้างสรรค์ผลงานแบบ Modernisme ที่แม้จะเป็นสไตล์ที่ใครๆ ก็ทำกันในตอนนั้น แต่เกาดีก็พลิกแพลงจนเกิดเป็นผลงาน Modernisme ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองจนได้
โดยซิกเนเจอร์ของสถาปนิกมากฝีมืออยู่ที่การใช้รูปทรงที่มีความโค้งเว้าอย่าง hyperbolic paraboloid (ทรงแบบมันฝรั่งพริงเกิลส์), hyperboloid, helicoid และ cone ซึ่งเป็นการลดทอนรูปทรงของธรรมชาติ เช่น ภูเขา ต้นไม้ ถ้ำ แล้วใส่เข้าไปในสิ่งก่อสร้างของมนุษย์ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดเจนคือเสารูปทรงต้นไม้ใน Sagrada Familia งานมาสเตอร์พีซของเกาดีนั่นเอง
เกาดี ผู้ถูกขนานนามว่า ‘สถาปนิกของพระเจ้า’
นอกจากเลือดคาตาลันที่เข้มข้นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่อันตอนี เกาดีศรัทธาอย่างสุดหัวใจคือคริสตศาสนา เขาเป็นคาทอลิกที่เคร่งครัด และมักใส่องค์ประกอบแบบคริสต์ลงไปในงานสถาปัตยกรรมของตนอยู่เสมอ จนได้รับฉายาว่า God’s Architect หรือสถาปนิกของพระเจ้า ซึ่งตอกย้ำชัดเจนผ่าน Basílica i Temple Expiatori de la Sagrada Família (หรือเรียกสั้นๆ ว่า Sagrada Família นั่นแหละ) ซึ่งเกาดีตั้งใจบูรณาการความรู้ด้านสถาปัตยกรรมที่เขาสั่งสมมาทั้งชีวิตในการออกแบบและควบคุมงานก่อสร้าง
นอกเหนือรูปทรงจากธรรมชาติอันเป็นซิกเนเจอร์ของเกาดีแล้ว Sagrada Família ยังประกอบไปด้วยฟาซาด (façade) ที่เล่าเรื่องราวของการประสูติของพระเยซู (Nativity), การตรึงกางเขน (Crucifixion) และการคืนพระชนม์ของพระเยซู (Resurrection of Christ) ส่วนหอคอยทั้ง 18 นั้นสื่อถึงสาวกทั้ง 12, ผู้นิพนธ์พระวรสารทั้ง 4, พระนางมารีย์พรหมจารี และพระผู้เป็นเจ้า
ในช่วงรุ่งโรจน์ของชีวิตสถาปนิก เกาดีรับงานมากมาย มีอาคารที่เขาออกแบบเต็มบาร์เซโลนาไปหมด แต่ในช่วงท้ายๆ ของชีวิต เมื่อเขาเจอมรสุมหนัก ครอบครัว เพื่อน และผู้อุปถัมภ์เสียชีวิตภายในเวลาไล่เลี่ยกัน เกาดีจึงตัดสินใจอุทิศตนให้กับ Sagrada Família เขาย้ายออกจากบ้านที่ Park Güell แล้วไปอาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกับไซต์ก่อสร้าง มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่าสถาปนิกผู้นี้กล่าวกับเพื่อนร่วมงานว่า
“เพื่อนสนิทของผมตายหมดแล้ว ผมไม่มีครอบครัว ไม่มีคนจ้างงาน ไม่มีทรัพย์สินเงินทอง ไม่มีอะไรเลย ถึงเวลาแล้วที่ผมจะอุทิศเวลาทั้งหมดให้กับโบสถ์”
ในช่วง 14 ปีสุดท้ายที่อุทิศตนให้กับ Sagrada Família เกาดีใช้ชีวิตยิ่งกว่าสมถะ เขาแต่งกายด้วยเสื้อผ้าซอมซ่อ ซึ่งทำให้ผู้คนเข้าใจผิดว่าสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่คนนี้เป็นขอทานไร้บ้าน เมื่อเกาดีถูกรถรางชน จึงไม่มีใครสนใจจะช่วยเขา จนวันต่อมาหัวหน้าคนงานมาตามตัวและระบุตัวตนว่าเป็นเกาดี แต่ก็สายไปเสียแล้ว เขาบาดเจ็บหนักเกินเยียวยา แล้วจากไปในที่สุด
แม้จะหมดลมหายใจอย่างกะทันหัน แต่สถาปนิกอัจฉริยะรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่า Sagrada Família ไม่มีทางเสร็จสมบูรณ์ในช่วงชีวิตของตน เขาจึงสร้างโมเดลขนาดย่อมไว้เป็นไกด์ไลน์สำหรับสถาปนิกรุ่นหลังที่มารับช่วงต่อ แต่น่าเสียดายที่มันถูกไฟเผาทำลายไปบางส่วนในเหตุการณ์ Spanish Civil War เมื่อปี 1936 ทำให้การก่อสร้างต้องหยุดชะงักไปพักใหญ่ ก่อนจะเริ่มต้นดำเนินการต่ออีกครั้งในปี 1952 โดยทีมงานช่วยกันปะติดปะต่อวิสัยทัศน์ของเกาดีจากภาพวาดและโมเดลที่เหลืออยู่
มรดกที่เกาดีทิ้งไว้มีทั้งที่จับต้องได้และไม่ได้ เขาทิ้งผลงานสถาปัตยกรรมที่ทำให้ทุกคนที่พบเห็นตื่นตะลึง นักเรียนสถาปนิกต่างต้องศึกษางานของเขา และมีผู้คนนับร้อยชีวิตที่ทุ่มเทแรงกายและแรงใจเพื่อสร้างโบสถ์ให้เสร็จสมบูรณ์ แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่าร้อยปีแล้วตั้งแต่เจ้าของไอเดียเสียชีวิต
ส่วนมรดกที่จับต้องไม่ได้คือแพสชั่นแรงกล้าในงานที่ทำ หัวใจรักอย่างไม่มีข้อแม้ และศรัทธาที่ตั้งมั่น
สิ่งเหล่านี้—ชนรุ่นหลังอย่างเราๆ ท่านๆ น่าจะยังคงทึ่ง และสามารถเรียนรู้ต่อจากเกาดีได้ไม่รู้จบ
อ้างอิง